รื่นวดี สุวรรณมงคล แม่ทัพผู้ปักธง SEC Digital Transformation

 

 

 

1

"ตลาดทุน" เป็นหนึ่งในภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา ด้วยความเชื่อมโยงไร้พรมแดนของโลกการลงทุน ตลาดทุนไทยจึงหนีไม่พ้นคลื่นความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และความคาดหวังของนักลงทุนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ต้องการการตอบสนองที่รวดเร็วยิ่งขึ้น ปัจจัยเหล่านี้นำไปสู่การปรับตัวของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนไทย

 

BOT พระสยาม Magazine ได้รับเกียรติจาก คุณรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ มาบอกเล่าแผนยุทธศาสตร์ในการปรับตัวสู่ "องค์กรดิจิทัล" หรือ "Digital SEC" ตลอดจนเป้าหมายและความท้าทายในการทำงานเพื่อปฏิรูปดิจิทัลของแม่ทัพหญิงคนนี้

 

 

"ลั่นกลองรบ" ในด้าน Digital Transformation

 

 ความพยายามของ ก.ล.ต. ในการปรับตัวสู่โลกดิจิทัลได้ดำเนินการมาอยู่แล้ว แต่ "ธงรบ" ในการขับเคลื่อน digital transformation ที่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนมากขึ้นทั้งต่อคนในองค์กรและคนภายนอก น่าจะพูดได้ว่าเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงที่คุณรื่นวดีเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการ ก.ล.ต. ในเดือนพฤษภาคม 2562

 

"ดิฉันมองว่า ถ้าจะขับเคลื่อน digital transformation ต้องมีผู้บริหารระดับสูงขององค์กรเข้ามาเป็น 'แชมป์เปี้ยน' ในเรื่องนี้ เพื่อทำหน้าที่ผลักดันอย่างเต็มที่และอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งขณะนั้น รองเลขาธิการ ก.ล.ต. ที่มีอยู่ 3 คน ก็มีเนื้องานเต็มมืออยู่แล้ว ดิฉันจึงขอตั้งสายงาน digital transformation และเพิ่มตำแหน่ง CIO (Chief Information Officer) ขึ้นมา และดูแลตรงโดยเลขาธิการ โดยมองว่า เราต้องการชี้ให้เห็นว่า ก.ล.ต. ให้ความสำคัญและมี commitment กับเรื่องนี้ และมองว่านี่เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องปรับการทำงานขององค์กร"

 

คุณรื่นวดีมองว่า การให้ความสำคัญกับโจทย์เรื่องดิจิทัลเป็นเรื่องเร่งด่วน และการขอให้เพิ่มตำแหน่งผู้บริหารเพื่อขับเคลื่อนในเรื่องนี้ ถือได้ว่าเป็น "จุดขาย" และเป็นผลงานชิ้นแรกของเลขาธิการ ก.ล.ต. หญิงผู้นี้ รวมทั้งเป็นก้าวแรกใน roadmap ของแผนยุทธศาสตร์ดิจิทัลองค์กร (Digital Transformation Strategy) ของ ก.ล.ต.

 

อย่างไรก็ดี การลั่นกลองรบครั้งนี้อาจไม่ได้รับการเห็นชอบ หากไม่มีปัจจัยเป็นแรงหนุนส่ง ได้แก่ ทิศทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทำให้ความต้องการของภาคประชาชนและภาคธุรกิจเปลี่ยนไป โดยเฉพาะเรื่องความสะดวกและรวดเร็ว ทิศทางการดำเนินงานของภาครัฐและการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์  พ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 เป็นต้น และอีกปัจจัยสำคัญคือ ความพร้อมของบุคลากร ก.ล.ต.

 

แผนยุทธศาสตร์ SEC Digital Transformation

 

หลังจากจัดตั้งสายงานทางด้าน digital transformation ในเดือนกรกฎาคม 2562 คุณรื่นวดีก็เริ่มประชุมจัดทำแผน "ยุทธศาสตร์ดิจิทัลองค์กร" เพื่อขับเคลื่อนงานด้านดิจิทัล ภายใต้วิสัยทัศน์ที่มุ่งสู่การเป็น "องค์กรที่มีความคล่องตัวสูง" พร้อมใช้ดิจิทัลในการทำงานเชิงรุก

 

 สำหรับแผนยุทธศาสตร์ดิจิทัลองค์กร ปี 2564 - 2566 มีเป้าหมายสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ (1) ยกระดับการให้บริการด้วยดิจิทัล (digital services) แบบ end-to-end เพื่อตอบโจทย์ด้านประสิทธิภาพ ประสบการณ์การใช้งานทุกที่ทุกเวลา และด้านความปลอดภัย (2) ยกระดับการกำกับดูแลโดยใช้ประโยชน์จากข้อมูล (data-driven regulator) ทั้งในมิติเชิงนโยบาย การกำกับตลาดทุน และการบริหารความเสี่ยง พร้อมทั้งให้มีการเปิดเผยข้อมูลสำคัญต่อประชาชน ควบคู่กับการดูแลคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และ (3) ยกระดับองค์กรและสร้างความพร้อมบุคลากรสู่องค์กรดิจิทัล (digital government) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

 

จากแผนยุทธศาสตร์นำมาสู่การจัดทำแผนปฏิบัติการของ ก.ล.ต. หรือ SEC Digital Service Roadmap ซึ่งมาถึงวันนี้ พบว่าการพัฒนาในหลายเรื่องมีความก้าวหน้ามาเป็นลำดับ โดย roadmap สำคัญ อาทิ การจัดทำระบบการให้ใบอนุญาตผู้ประกอบธุรกิจในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Licensing) ผ่านระบบศูนย์กลางบริการภาครัฐเพื่อภาคธุรกิจ (Biz Portal) การนำเทคโนโลยี digital ID มาใช้ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนในการทำธุรกรรมสำหรับบริการด้านดิจิทัลของ ก.ล.ต. โดยในปี 2564 มีการทดสอบใช้ digital ID ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มกลางภาครัฐที่พัฒนาโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) หรือ DGA เป็นต้น

 

 

2

 

 

 

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาบริการด้านระดมทุนและตัวกลาง ยกระดับบริการให้ลดการใช้กระดาษลง 100% โดยรับข้อมูลแบบ machine-readable และการจัดทำ Capital Market Data Center เพื่อเป็นแหล่งบริการข้อมูลที่สำคัญด้านตลาดทุนสำหรับประชาชน โดยอยู่ในรูปแบบของข้อมูลเปิดภาครัฐ (open government data) ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานข้อมูลเปิดภาครัฐที่ DGA กำหนดไว้

 

"โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล" ในตลาดทุนไทย

 

 

ช่วง 2 - 3 ปีนี้ ก.ล.ต. นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการแข่งขันและการเชื่อมโยง ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลและติดตามความเสี่ยงหลายมิติ อาทิ Digital Infrastructure & Account Aggregation เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระดมทุนและอำนวยความสะดวกในการเข้าสู่ตลาดทุนได้ง่ายขึ้น Professional Link อำนวยความสะดวกและลดภาระให้ผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุน Cyber Resilience & PDPA ยกระดับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ตลอดจนคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้ผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุน e-enforcement สร้างระบบในการช่วยชี้พฤติกรรม พิสูจน์รวบรวมพยานหลักฐาน และยกระดับการตรวจสอบทุจริต และ Capital Market Risk Dashboard ติดตามความเสี่ยงได้ทันเวลา เป็นต้น

 

"หนึ่งในโจทย์สำคัญของ SEC Digital Transformation คือการพัฒนาระบบที่เชื่อมโยงผู้ร่วมตลาดทุน
ทุกภาคส่วนเข้าด้วยกันแบบไร้รอยต่อ โดยรองรับทุกผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน และครอบคลุมกระบวนการในตลาดทุนตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ (end-to-end) โดยปรับให้เป็นดิจิทัล 100% พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ ซึ่งทั้งหมดนี้ช่วยให้กระบวนการในตลาดทุนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โจทย์นี้เรา 'คิดใหญ่' และ 'ตั้งเป้าสูง' มาตั้งแต่ต้น"

 

โจทย์ดังกล่าวนำมาสู่การริเริ่มโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของตลาดทุนไทย (Thai Capital Market Digital Infrastructure: DIF) ในเดือนกันยายน 2562 โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมเพื่อการพัฒนาตลาดทุน (Capital Market Development Fund: CMDF) ขณะนี้โครงการ DIF อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบภายใต้ sandbox โดยความร่วมมือของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย และสมาคมธนาคารไทย คาดว่าจะพร้อมทดสอบเฟสแรกในการเสนอขายตราสารหนี้ประเภทหุ้นกู้เอกชนได้ ภายในปี 2565

 

 นอกจากประโยชน์ทางตรงที่เกิดกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในตลาดทุนไทย โครงการ DIF ยังมีประโยชน์ในเชิงสัญลักษณ์ เพราะการประกาศพัฒนาเครือข่ายถนนสายกลางสู่ตลาดทุนไทย เป็นภาพสะท้อนว่าตลาดทุนไทยกำลังจะเปิดรับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลอย่างแท้จริง โดย DIF ถูกระบุอยู่ในแผนพัฒนาตลาดทุนไทย นอกจากนี้ ยังจะเชื่อมต่อกับโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานสำหรับบุคลากรในตลาดทุน ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานและเพิ่มประสิทธิภาพการติดตามการพัฒนาบุคลากรในตลาดทุน คาดว่าจะเริ่มให้บริการในไตรมาส 2 ปี 2565 หากทำสำเร็จ DIF จะทำให้ตลาดทุนไทยกลายเป็นลำดับต้น ๆ ในโลกที่มีการนำเครือข่ายบล็อกเชนมาใช้ด้วยความร่วมมือจากหลายฝ่ายจะทำให้ตลาดทุนไทยก้าวสู่การใช้เทคโนโลยีเต็มรูปแบบได้อย่างแท้จริง

 

ก.ล.ต. กับความท้าทายในตลาดทุนยุคดิจิทัล

 

"ระบบนิเวศในตลาดทุนที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะกฎหมายและเทคโนโลยี รวมถึงพลังการสื่อสารในโลกดิจิทัลอย่างโซเชียลมีเดีย ทำให้ ก.ล.ต. เราถูกท้าทายและกดดันในเรื่องความเร็ว เพราะความคาดหวังของผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน มักให้ความสำคัญกับความเร็วและความสะดวกเป็นอันดับแรก ๆ เหนือความรอบคอบตามหลักการไปเสียแล้ว แต่ ก.ล.ต. เป็นหน่วยงานของรัฐ เราต้องรักษาสมดุลระหว่างหลักการความเร็ว และความสะดวก ไม่เช่นนั้น มีโอกาสเกิดความเสี่ยงต่อตลาดทุนและผู้เกี่ยวข้องได้"

 

 คุณรื่นวดีอธิบายว่า ในการทำงานของ ก.ล.ต. รวมถึงหน่วยงานกำกับดูแลทุกแห่ง มักต้องชั่งน้ำหนักและสมดุลระหว่างการกำกับดูแลกับการพัฒนาอยู่เสมอ โดยในหลักปฏิบัติ "หลักการ" เป็นสิ่งที่ต้องยึดถือ แต่ขณะเดียวกัน ความคาดหวังของบุคคลภายนอกก็ต้องการคำตอบหรือการตอบสนองอย่างรวดเร็ว สิ่งที่ทำได้ คือการปรับปรุงการทำงานให้เร็วขึ้น ด้วยเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ การใช้พลังของข้อมูล ไปจนถึงการปรับโครงสร้างองค์กรแบบราบ (flat organization structure) และการเสริมสร้างความคล่องตัวให้องค์กรและบุคลากร ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ ก.ล.ต. กำลังทำอยู่

 

 "ด้วยพลังของคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาเสริมทัพใน ก.ล.ต. และพลังของการใช้เครื่องมือดิจิทัล ทำให้การทำงานของเรารวดเร็วขึ้น และตอบโจทย์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ดีขึ้น แต่ความคาดหวังของภายนอกมักมากกว่าสิ่งที่เราทำได้อยู่เสมอ คนของเราจึงต้องพร้อมปรับตัวและรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ผู้บริหารระดับสูงต้องให้ความสำคัญและขับเคลื่อนอย่างจริงจัง"

 

คุณรื่นวดีมองว่า ในโลกเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงและความผันผวน โดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวกระตุ้นความเร็ว ก.ล.ต. ต้องบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างความพร้อมและเพิ่มความสามารถในการรับมือการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงิน (3Regs)[1] เพื่อเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานและยกระดับภาคการเงินไทยเข้าสู่ดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อ

 

3

 

"4 ร." หลักทำงานสไตล์ SEC Digital

 

 การดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ดิจิทัลองค์กร ทำให้ ก.ล.ต. ได้รับรางวัลจากเวทีรางวัลรัฐบาลดิจิทัล ปี 2563 (DG Awards 2020) ถึง 4 รางวัล ได้แก่ รางวัลรัฐบาลดิจิทัล รางวัลหน่วยงานดีเด่นด้านการใช้ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ รางวัลหน่วยงานดีเด่นด้านการเปิดเผยข้อมูลผ่านศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ และรางวัลผู้นำองค์กรดิจิทัลดีเด่น ซึ่งคุณรื่นวดีเชื่อว่า ความสำเร็จทั้งในมิติของรางวัลและความก้าวหน้าตามแผนฯ จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าบุคลากร ก.ล.ต. ไม่มีศักยภาพในการรองรับและปรับตัวเข้าสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล ซึ่งต้องขอบคุณวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร ก.ล.ต. ในอดีต ที่ทุ่มทุนกับการสร้างศักยภาพทางด้านดิจิทัลให้แก่บุคลากรของ ก.ล.ต. มาอย่างเต็มที่

 

"พอเข้ามา ดิฉันก็มาต่อในก้าวที่ 8 หรือ 8.5 ได้เลย สิ่งสำคัญที่เข้ามาต่อยอด คือ หลักคิดว่า 'we are the team' ซึ่งเป็นหัวใจความสำเร็จของทุกงาน และหลักการทำงานแบบ '4 ร.' ได้แก่ (1) รุก คือ การทำงานเชิงรุก เพราะระบบนิเวศมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว (2) รวดเร็ว คือ การทำงานอย่างรวดเร็ว เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงและการดำเนินงานของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกกลุ่ม (3) ร่วมมือ เพราะการทำงานยุคนี้ ทำคนเดียวไม่ได้อีกแล้ว และ (4) รอบคอบ คือ ทำงานอย่างมีคุณภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้"

 

สำหรับคติในการทำงานของตัวเธอเอง เธอยึดคติ ดังนี้ (1) ทำให้ดีที่สุดในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย (2) เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง (3) พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง (4) มุ่งประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง และ (5) ทำงานด้วยความโปร่งใสและไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งเธอได้รับการปลูกฝังตั้งแต่สมัยทำงานที่ ก.ล.ต. ช่วงแรก (พ.ศ. 2535 - 2547) และยังเป็นหลักที่ยึดถือมาจนถึงทุกวันนี้

 

 สุดท้ายนี้ หนึ่งในเป้าหมายใหญ่ที่คุณรื่นวดีหวังอยากให้เกิดขึ้นในวาระเลขาธิการ ก.ล.ต. ของเธอ คือการขับเคลื่อน "แผนพัฒนาตลาดทุนไทย" เพื่อให้ตลาดทุนไทยเป็น "Capital Market for All" อย่างแท้จริง ซึ่งนั่นหมายถึงความหวังของเธอที่อยากเห็นประโยชน์และการเข้าถึงตลาดทุนเกิดกับประชาชน SMEs Startup และผู้ลงทุนรายย่อย จะเป็นจริงเร็วขึ้น

 

 

[1] ผู้กำกับดูแลภาคการเงินไทย ประกอบด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)