DIGITAL FIRST ก้าวแรกของการมุ่งสู่องค์กรดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบของ ธปท.

 

 

 

1

ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาอำนวยความสะดวก และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อนและคลุมเครือ โดยมีพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต รูปแบบธุรกิจ บริการทางการเงินและระบบเศรษฐกิจเป็นตัวเร่งสำคัญ

 

Digital Mindset

 

ธปท. เป็นหนึ่งในองค์กรที่เห็นความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยมีการปรับโครงสร้างองค์กรให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงด้วยการจัดตั้ง Digital Transformation Office (TPO) ขึ้น เพื่อดูแลโครงการ BOT Digital Transformation และผลักดันให้เกิดการพัฒนาองค์กรไปสู่การเป็นองค์กรดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ โดยมีจุดมุ่งหมายให้เกิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูลเป็นเครื่องมือหลักในทุกกระบวนการทำงาน เพื่อช่วยให้พนักงานทำงานได้อย่างมีความสุข และทำให้องค์กรเดินหน้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ต้องเริ่มจากทัศนคติ ดังนั้น สิ่งที่ส่งผลต่อความสำเร็จของโครงการฯ เป็นอย่างมาก คือ "Digital First" โดยการส่งเสริมให้พนักงานมีทัศนคติเปิดรับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หรือเรียกว่า digital mindset พร้อมกับการพัฒนาความรู้และทักษะให้เท่าทัน และใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย (digital capability) นำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงและพัฒนาการทำงาน รวมถึงการสร้างนวัตกรรมเพื่อให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น และยกระดับให้ ธปท. ก้าวสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล สำหรับการดำเนินการตาม Digital First นั้น มีเป้าหมาย 4 ด้าน คือ เพื่อทดลอง ประยุกต์ใช้ เรียนรู้ และแบ่งปัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเหล่านี้ จึงได้แบ่งงานเป็น 5 ด้าน ได้แก่ (1) การสร้าง BOT Digital Champion Network (2) การพัฒนา BOT Digital Learning Board (3) การส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมผ่าน BOT Design Thinking Center (4) การสนับสนุน BOT Innovation Lab & BOT Powerup by Crenovator และ (5) การพัฒนาแอปพลิเคชัน MyBOT

2

 

สร้างเครือข่ายด้วย Digital Champion

 

การสร้าง BOT Digital Champion Network เป็นการสร้างเครือข่ายของพนักงาน ธปท. จากหลายสายงานให้เป็น Change Agent ที่เรียกว่า Digital Champion ผ่านโครงการ Digital Bootcamp ในปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาไปแล้ว 2 รุ่น ได้ Digital Champion กว่า 100 คน มีบทบาทในการสนับสนุนโครงการด้วยการเป็น (1) learner เรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ ๆ สร้าง digital mindset และพัฒนาความสามารถด้านดิจิทัล (2) creator คิดและเสนอโครงการ โดยนำความรู้มาประยุกต์ใช้ ทดลอง พัฒนาให้ตอบโจทย์ และนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับงาน ธปท. และ (3) influencer ช่วยผลักดันให้คนในฝ่ายตนเองรับเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ โดยจะเผยแพร่ความรู้ แบ่งปันประสบการณ์ และเป็นที่ปรึกษาในการใช้เทคโนโลยี รวมถึงนำผลตอบรับที่ได้มาส่งต่อให้โครงการฯ เพื่อใช้ออกแบบวิธีการทำงานใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์การทำงานที่หลากหลายของแต่ละฝ่ายงานได้อย่างตรงจุด

4

 

เรียนรู้ทักษะใหม่ได้ทุกที่ทุกเวลา

 

การพัฒนา BOT Digital Learning Board (LMS365) เป็นการนำเอาแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้เชื่อมโยงกับ Microsoft 365 ซึ่งจะช่วยให้พนักงานสามารถเรียนรู้เนื้อหาบทเรียนต่าง ๆ ทางออนไลน์ได้สะดวก โดยสามารถจัดหลักสูตรให้เหมาะกับทักษะที่ต้องการพัฒนา และฝ่ายงานยังสามารถสร้างหลักสูตรเพื่อให้พนักงานในฝ่ายเรียนรู้เพิ่มเติมได้ ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์เรื่องการฝึกอบรมพนักงานเข้าใหม่ หรือพนักงานที่หมุนเวียนงานได้ เนื่องจากพนักงานสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลาและทุกอุปกรณ์ แม้จะต้องทำงานจากที่บ้าน นอกจากนี้ BOT Digital Learning Board ยังถูกใช้เป็นแพลตฟอร์มหลักสำหรับโรงเรียนผู้ตรวจสอบมาตั้งแต่ปี 2563 ทำให้เกิดความสะดวกแก่ผู้ดูแลหลักสูตร ในการเผยแพร่หลักสูตร ติดตาม และประเมินผลจากแพลตฟอร์มกลาง ลดการทำงานหลายขั้นตอน รวมทั้งผู้เรียนก็สามารถบริหารจัดการเวลาในการเรียนรู้ได้ตามความสะดวกของตน สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา และเข้าถึงจากหลากหลายอุปกรณ์ได้อย่างคล่องตัว ช่วยให้การอบรมเป็นไปได้อย่างราบรื่น แม้อยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19

 

ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมผ่าน BOT Design Thinking Center

 

มีการนำเอากระบวนการ design thinking ซึ่งเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจปัญหาของผู้เกี่ยวข้อง หรือ stakeholder เพื่อนำเสนอทางแก้ไขปัญหาแบบใหม่ที่อาจไม่เคยคิดมาก่อนหรือเป็นปัญหาที่คนส่วนใหญ่คิดว่าทำไม่ได้ มาช่วยให้ส่วนงานต่าง ๆ ภายใน ธปท. พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการของส่วนงาน ในการตอบสนองกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแท้จริง โดยสามารถทดลอง เรียนรู้ และประยุกต์ใช้ design thinking ไปช่วยออกแบบโครงการสำคัญ ๆ ของ ธปท. เช่น แนวทางการพัฒนา Ecosystem สำหรับการให้บริการดิจิทัลแฟ็กเตอริง (Digital Factoring)

 

ห้องทดลองนวัตกรรม

 

นอกจากนี้ ธปท. ยังสนับสนุนให้มีการจัด BOT Innovation Lab & BOT Powerup by Crenovator เป็นการสร้างนวัตกรรมและวัฒนธรรมองค์กรแบบ bottom up ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้พนักงานสามารถท้าทายตัวเองด้วยการลองทำอะไรใหม่ ๆ ร่วมกันเสนอความคิดเพื่อแก้ไขปัญหาและลองนำไอเดียมาพัฒนาต่อยอด บางอย่างสามารถนำมาใช้ในการทำงานของ ธปท. ได้จริง ตั้งแต่เสนอไอเดีย ทดลองทำ และพยายามก้าวข้ามอุปสรรค จนสามารถประสบความสำเร็จในการนำไปใช้ได้จริง หรือสามารถไปต่อได้ตามความตั้งใจ

4

 

ทำงานสะดวกด้วยแอปพลิเคชัน MyBOT

 

มีการพัฒนาแอปพลิเคชัน MyBOT ให้เป็นจุดรวมแอปพลิเคชันทุกอย่างสำหรับพนักงานให้อยู่ในที่เดียว เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงาน โดยรวม "EasyMeet" ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันสำหรับจองห้องประชุมต่าง ๆ ภายใน ธปท. และ "มีของ" แอปพลิเคชันสำหรับการตรวจสอบครุภัณฑ์ด้านไอที โดยเพิ่มความสามารถใหม่ เช่น ค้นข้อมูลพนักงานและติดตามข่าวสาร ซึ่งการพัฒนาด้านนี้ยังช่วยสนับสนุนให้พนักงานไอทีได้เพิ่มพูนทักษะการพัฒนาแอปพลิเคชันอีกด้วย

 

โครงการ Digital Transformation ของ ธปท. นอกจากจะดำเนินการผ่านแนวทาง Digital First แล้ว ยังมีแนวทางอื่น ๆ ที่ช่วยผลักดันให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับปรุงกระบวนการทำงาน เพิ่มประสิทธิภาพ ได้แก่ การนำ collaboration & productivity tools อย่างเช่น MS Teams มาใช้งานเพื่อปรับเปลี่ยนองค์กรไปสู่การเป็น digital workplace ที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ปรับปรุงทุกกระบวนการทำงาน ให้รองรับวิธีการทำงานวิถีใหม่ที่ต้องคล่องตัว และสนับสนุนการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การนำ Robotic Process Automation (RPA) มาช่วยในการทำงานที่ต้องทำซ้ำ ๆ next generation platform คือ การยกระดับแพลตฟอร์มด้านเทคโนโลยี และบูรณาการระบบงานไอทีให้ทันสมัย คล่องตัว เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานหลากหลายด้าน รองรับภารกิจของ ธปท. และการเป็น data - driven organization ที่ใช้ข้อมูลเป็นหลักในการวิเคราะห์ ตัดสินใจ และกำหนดนโยบายในทุกระดับ เพื่อให้เกิดการทรานส์ฟอร์มองค์กรรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้ทันท่วงที และตอบโจทย์พันธกิจ ธปท. ในโลกที่ผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อนและคลุมเครือนี้ได้