ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA
ขับเคลื่อนภารกิจวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล
การระบาดของโควิด 19 สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงต่อวิถีชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะได้ผลักดันให้เกิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งในชีวิตประจำวัน การทำงาน รวมถึงการขับเคลื่อนองค์กรของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน การเข้ามากำกับดูแลและเร่งพัฒนาจึงเป็นภารกิจสำคัญของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มี ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการของ ETDA ในช่วงวิกฤตนี้
ความท้าทายของ ETDA ในภาวะที่การระบาดของโควิด 19 ยังคงรุนแรง คือการเร่งดำเนินงานด้านดิจิทัลเพื่อรองรับสถานการณ์ได้ทัน และการทำ digital transformation ให้องค์กรต่าง ๆ รวมไปถึงการประสานความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรที่ ดร.ชัยชนะเห็นว่าเป็นสิ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน
"ในช่วงการระบาดของโควิด 19 งานแรกที่เข้ามาคือ การวางกฎระเบียบของการประชุมออนไลน์ จากเดิมที่ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)1 กำหนดว่าการจะประชุมออนไลน์ได้ หนึ่งในสามขององค์ประชุมต้องอยู่ในที่เดียวกัน และต้องอยู่ในประเทศ ซึ่งในช่วงที่มีการระบาดอย่างรุนแรงทำแบบนั้นไม่ได้ กระทบไปถึงการประชุมของผู้ถือหุ้นบริษัทใหญ่ ๆ เราจึงพยายามหาช่องทางที่จะทำให้การประชุมออนไลน์ถูกต้องตามกฎหมาย โดย ณ ตอนนั้นมีการออก พ.ร.ก. ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 25632 ETDA จึงร่วมกับกระทรวงดิจิทัลฯ เร่งออกประกาศกระทรวงเกี่ยวกับมาตรฐานการประชุมออนไลน์3 ที่มั่นคงปลอดภัย รวมถึงเร่งทำระบบรับรองระบบการประชุมออนไลน์ให้กับผู้ให้บริการรายต่าง ๆ4 ถือเป็นกิจกรรมแรกที่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด 19 เพื่อทำให้การประชุมผ่านระบบออนไลน์สามารถดeเนินได้อย่างถูกกฎหมาย" ดร.ชัยชนะกล่าวถึงการผลักดันกฎหมายการประชุมออนไลน์หรือการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-meeting) ซึ่งเป็นงานที่ต้องเร่งดำเนินการ เพื่อให้สามารถตอบโจทย์สถานการณ์ที่ทุกองค์กรต้องเผชิญ
ดร.ชัยชนะให้ทัศนะเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า "การเปลี่ยนมาประชุมออนไลน์ กระบวนการและรูปแบบการเชิญประชุม การตอบรับ การลงชื่อเข้าร่วม และการเข้าประชุมเปลี่ยนไปทั้งหมด ทำให้การประชุมมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ง่ายขึ้น และประหยัดเวลา ดังนั้น โครงสร้างพื้นฐานต้องรองรับแบบ integrated life คือทั้งการใช้ชีวิตส่วนตัวและการทำงานไปพร้อมกัน"
สำหรับการดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ETDA ของ ดร.ชัยชนะ มีวาระรวมทั้งสิ้น 4 ปี นอกเหนือจากเป้าหมายตามภารกิจหลักแล้ว โดยส่วนตัวยังมีความตั้งใจที่จะผลักดันเรื่องสำคัญ 6 เรื่องให้เกิดขึ้นให้ได้ เรื่องแรก คือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (digital ID) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะเชื่อมต่อการยืนยันตัวตนจากทุกภาคส่วนเข้ามาไว้ด้วยกัน
เรื่องที่ 2 คือการจัดทำ digital standard landscape ของบริการดิจิทัลที่ธุรกิจจำเป็นต้องมี เพื่อสร้างความพร้อมและรองรับการต่อยอดระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ เช่น e-signature, e-timestamping, e-document เป้าหมายเรื่องที่ 3 คือการผลักดันหน่วยงานของรัฐให้มีระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ เรื่องที่ 4 คือการพัฒนาองค์ความรู้ด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้กับคนไทย เรื่องที่ 5 คือการใช้ข้อมูลดิจิทัลให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสุดท้ายเรื่องที่ 6 คือการผลักดันให้ ETDA เป็นองค์กรต้นแบบของการทำ digital transformation เริ่มด้วยการใช้งานระบบ e-office ที่รองรับเอกสารและลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์
"หน้าที่หลัก ETDA คือส่งเสริมให้คนทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำในการทำงาน ลดความผิดพลาด และทำให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเร็วขึ้น สิ่งที่เราได้ดำเนินการไปแล้วและเห็นผลชัดเจนเป็นรูปธรรม เช่น ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-tax invoice) ปัจจุบัน มีการใช้ระบบนี้มากกว่า 1,000 ล้านใบต่อปี และอยู่ระหว่างการพัฒนาร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรเพื่อให้ช่วยขยายผลการดำเนินงาน เช่น เรื่องใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-receipt) ที่ร่วมมือกับโรงพยาบาลศิริราช และกำลังพัฒนาใบรับรองแพทย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้ในระยะต่อไป"
ดร.ชัยชนะกล่าวว่า แต่ละเรื่องที่ตั้งเป้าหมายไว้ไม่ง่ายเลย อย่างเรื่อง digital ID ถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่อยากผลักดันให้เกิดในสมัยที่ตนยังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ETDA "การที่จะส่งเสริมให้คนทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เราต้องดำเนินการในหลายมิติ เช่น การออกมาตรฐานกลาง และกระบวนการรับรองตามมาตรฐานการให้ความรู้ที่ถูกต้องตามข้อกำหนดในกฎหมาย รวมถึงการสนับสนุนหน่วยงานหลักในการดูแลด้าน cybersecurity และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และสุดท้ายคือการเข้าไป engage หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือและสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน"
ในการขยายผลโครงการต่าง ๆ ETDA พยายามร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรให้ได้มากที่สุด แม้บางอย่างอาจใช้เวลาหาข้อตกลงร่วมกันนานมาก อย่างกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลต้องใช้เวลาเกือบ 20 ปี จึงจะสามารถผลักดันให้เกิดขึ้นได้ แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศไทย
"อยากเห็น ETDA เป็นองค์กรที่ได้รับความไว้วางใจจากเพื่อนหน่วยงานในเครือข่าย รวมทั้งหน่วยงานที่กำกับดูแลให้ความไว้ใจ อยากทำงานด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการออกมาตรฐานรับรองและนโยบายต่าง ๆ ซึ่งผมมีความฝันที่จะผลักดันให้ ETDA ไปยืนบนจุดนั้นให้ได้" ดร.ชัยชนะระบุ
"งานด้านดิจิทัลถือเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องสร้างความเชื่อมั่น หลายเรื่องต้องสร้างสมดุลระหว่างนโยบายในการกำกับดูแล และการส่งเสริมผู้ประกอบการให้พัฒนาธุรกิจใหม่ ๆ ซึ่ง ETDA ที่มีจำนวนพนักงานเพียง 170 คน ย่อมไม่สามารถดำเนินการได้เต็มที่ ดังนั้น ต้องอาศัยเครือข่ายพันธมิตรที่เป็นหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนช่วยขยายผล ขณะเดียวกัน ต้องทำให้องค์กรเป็นต้นแบบของการดำเนินการในหลาย ๆ เรื่องเพื่อสร้างความเชื่อมั่น"
ดร.ชัยชนะกล่าวว่า ETDA ได้พัฒนาโครงการต้นแบบต่าง ๆ และเปิดให้หน่วยงานผู้สนใจเข้าร่วมทดสอบภายใต้ digital service sandbox หรือโครงการทดสอบนวัตกรรม หรือบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ก่อนการให้บริการจริงภายในสภาพแวดล้อมและบริการที่จำกัด เพื่อให้สามารถรองรับ business model ใหม่ ๆ ได้อย่างมั่นคงปลอดภัย มีความน่าเชื่อถือ และประชาชนสามารถใช้ประโยชน์และเข้าถึงอย่างมีประสิทธิภาพ
"ETDA มีหลายโครงการที่พัฒนาระบบ e-service ต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งหากทำได้จะช่วยให้เกิดการพัฒนาระบบธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างกว้างขวาง และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศหมุนได้เร็วขึ้น ยกตัวอย่างเช่น โครงการสวัสดิการของรัฐที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด 19 ซึ่งน่าจะมีการต่อยอดไปได้อีกมาก ข้อดีคือทำให้ภาครัฐมีข้อมูลที่บูรณาการมากขึ้น และลดโอกาสการทุจริต"
ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด 19 ธุรกิจอีคอมเมิร์ซซึ่งเดิมสูงอยู่แล้ว ยิ่งเติบโตมากขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ โดยธุรกิจอีคอมเมิร์ซในปี 2563 มีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท เติบโตขึ้น 35% จากปี 2562 ขณะเดียวกัน สัดส่วนของผู้ถูกหลอกลวงทางอิเล็กทรอนิกส์ก็มากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยนับเฉพาะการแจ้งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ 1212 OCC (1212 Online Complaint Center) ก็มีสถิติในปี 2563 จำนวน 44,159 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 2.8% และเพิ่มขึ้นทุกปี5 จึงเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ ETDA จะต้องทำให้ประชาชนมีความรู้เท่าทัน เพื่อให้ทำธุรกรรมได้อย่างมั่นคงปลอดภัย และไม่ถูกละเมิดสิทธิ
"ในช่วงที่ผ่านมา ธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีการปรับตัวค่อนข้างมาก จากการระบาดของโควิด 19 ผู้ขายต้องปรับตัวขนานใหญ่ เพราะขายหน้าร้านไม่ได้แล้ว มีทั้งปรับแล้วรอด กับคนที่ปรับไม่ได้ และต้องปิดกิจการไป ปัจจุบันทุกธุรกิจต้องทำอีคอมเมิร์ซ คนปรับตัวได้ เริ่มวิ่งได้ คนไปต่อไม่ได้ ต้องหาธุรกิจใหม่ แต่ต้องเป็นอีคอมเมิร์ซ เพราะระบบการค้าแบบเดิมไปต่อไม่ได้แล้ว"
แน่นอนว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วย่อมมีปัญหาตามมา ดร.ชัยชนะเล่าว่า ในช่วงที่ผ่านมา มีกรณีข้อมูลผู้ซื้อสินค้ารั่วไหล ETDA มีหน้าที่เชิญผู้เกี่ยวข้องให้มาชี้แจง ให้ความรู้ และวางแนวทางเบื้องต้น ซึ่งขั้นต่อไปคือ การยกร่าง พ.ร.ฎ. กำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัล6 เพื่อเป็นข้อมูลให้เรารู้ว่าแพลตฟอร์มดำเนินธุรกิจอะไร มีขนาดธุรกิจเท่าไหร่ แพลตฟอร์มมีหน้าที่ต้องรายงานทุกปี ซึ่งจะช่วยวิเคราะห์ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น รวมไปถึงมีการออกแบบแนวทางการดูแลผู้บริโภคให้ดียิ่งขึ้น
"แนวทางการกำกับดูแล เราต้องเอากฎหมายเป็นที่ตั้ง กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ เอาเป็นตัวตั้งขั้นต่ำที่ทุกคนต้องทำตาม การจะสร้างสมดุลระหว่างการกำกับดูแลและการสนับสนุนธุรกิจ ต้องเริ่มด้วยข้อกำหนดขั้นต่ำ เช่น กฎหมายให้เก็บข้อมูลส่วนบุคคลเท่าที่จำเป็นต้องแจ้งชัดเจน ตามด้วยให้ทางเลือก ซึ่งเป็นสิทธิของเจ้าของข้อมูลว่าจะให้หรือไม่ การอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ข้อมูล คนที่เก็บข้อมูล ต้องคิดให้ดี คิดให้เยอะ ต้องหาจุดสมดุลให้ได้" ดร.ชัยชนะระบุ
อย่างโครงการสวัสดิการของรัฐผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" ถือเป็นโครงการที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้คนใช้งานธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เกือบ 100% สามารถต่อยอดมาตรการได้เร็ว ถ้าในประเทศมีเป้าหมายเดียวกัน ร่วมมือร่วมใจไปด้วยกัน จะเกิดผลพลอยได้ตามมาอีกมาก มีการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกันมากขึ้นนำไปสู่การปรับปรุงประสิทธิภาพของหน่วยงานในการดูแลประชาชน แต่สิ่งสำคัญต้องมีธรรมาภิบาลมากขึ้นตามไปด้วย
ดร.ชัยชนะกล่าวว่า หัวใจสำคัญคือการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจให้ประชาชนในเรื่องธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ หากจะอธิบายเรื่องที่เข้าใจยากก็ต้องสร้างประสบการณ์ไปพร้อม ๆ กัน สิ่งที่ ETDA ดำเนินการมีสองส่วน อย่างแรกคือการให้ความรู้ เช่น การพัฒนาหลักสูตรต่าง ๆ ไปสู่การเปลี่ยนผ่านเป็นดิจิทัล และสองก็คือ การลงพื้นที่ให้ความรู้ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางอย่างเด็กและคนสูงอายุซึ่งถูกล่อลวงได้ง่าย รวมถึงการทำคลิปเพื่อสื่อสารกับกลุ่มต่าง ๆ ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียและช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ
"สิ่งสำคัญคือ ต้องมีพันธมิตรที่เข้าใจ สามารถช่วยขยายผลได้ เช่น เรื่องอีคอมเมิร์ซเป็นความรู้ที่ต้องการกระจายไปให้ถึงคนเยอะที่สุด ETDA จึงจับมือกับมหาวิทยาลัยหลายแห่ง และอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานในท้องถิ่น ทำให้เกิดตัวคูณความสำเร็จ บางคนถามว่าทำเรื่องออนไลน์แล้วทำไมต้องลงพื้นที่ คำตอบคือ เพราะบางครั้งการใช้ระบบออนไลน์สื่อสารกับคนที่ไม่เข้าใจเรื่องออนไลน์มันไม่เวิร์ก ต้องเข้าไปจับมือทำ"
ดร.ชัยชนะกล่าวด้วยว่า หลักการสำคัญอีกประการหนึ่งที่ยึดเป็นแนวปฏิบัติคือ เราต้องทำตัวเป็นน้ำไม่เต็มแก้ว พร้อมที่จะเรียนรู้ตลอดเวลา การได้ทำงานร่วมกับเพื่อน ๆ ที่มีหลายแบบ รวมทั้งรุ่นพี่รุ่นน้องต้องพร้อมเรียนรู้จากพวกเขาอยู่เสมอ เพื่อให้งานที่เราทำสำเร็จและใช้งานได้จริง นั่นคือเป้าหมายสูงสุด
"ผมไม่เชื่อว่า เราจะสามารถทำงานตัวคนเดียวได้ถึงแม้ว่าจะมีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันการทำงานไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ก็ตาม ในการทำงานให้สำเร็จนั้นเราต้องมีทีมงานที่เข้มแข็ง นี่คือหัวใจในการทำงานของผม"
1 ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 74/2557 เรื่อง การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์: www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/E/124/11.PDF
2 พระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563: www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/A/030/T_0020.PDF
3 ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง มาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563: www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/122/T_0024.PDF
4 การรับรองระบบควบคุมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-meeting): www.etda.or.th/th/Our-Service/e-meeting.aspx
5 อัปเดตการแจ้งเรื่องร้องเรียนที่ 1212 ประจำเดือน ก.ค. 64: www.facebook.com/ETDA.Thailand
6 ETDA เปิดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. ... : www.etda.or.th