สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดย ธปท. กับการต่อยอดใช้งานระหว่างประเทศ

 

 

 

1

ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ร่วมมือกับธนาคารกลางฮ่องกง (HKMA) พัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางในระดับสถาบันการเงิน (Wholesale Central Bank Digital Currency: Wholesale CBDC) เพื่อใช้ในการโอนเงินระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการ Inthanon-LionRock และปัจจุบันมีการขยายการพัฒนาในระยะที่ 2 ร่วมกับธนาคารกลางแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (CBUAE) และสถาบันศึกษาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (PBC DCI) ภายใต้โครงการ Multiple Currency CBDC Bridge Project (mCBDC Bridge) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการโอนเงินระหว่างประเทศ รวมถึงขยายรูปแบบดังกล่าวไปยังประเทศอื่น ๆ ในภายหลัง ซึ่งการออกแบบ Wholesale CBDC ครั้งนี้มีการนำเทคโนโลยีการประมวลผลแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger Technology: DLT) มาใช้ด้วย

 

CBDC สามารถแก้ปัญหาการโอนเงินและชำระเงินระหว่างประเทศ

 

ปัจจุบัน การโอนเงินระหว่างประเทศในระดับสถาบันการเงินต้องอาศัยตัวกลางที่เรียกว่า correspondent bank ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่สามารถทำธุรกรรมได้ทั้งฝั่งประเทศผู้ส่งและประเทศผู้รับ ส่งผลให้ธุรกรรมมีต้นทุนสูง ใช้ระยะเวลานาน และติดตามสถานะได้ยาก ดังนั้น การนำคุณสมบัติของ DLT ที่ลดบทบาทของตัวกลางมาใช้ในการออกแบบระบบเครือข่ายกลาง (Corridor Network) ที่สถาบันการเงินของแต่ละประเทศสามารถเชื่อมกับระบบดังกล่าวได้และใช้ CBDC ที่ออกโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศในการโอนเงินระหว่างกัน ทำให้การโอนเงินระหว่างประเทศไม่ต้องผ่านตัวกลางอีกต่อไป

 

ผลการทดสอบจากโครงการ Inthanon-LionRock ระยะที่ 2

 

สำหรับโครงการ Inthanon-LionRock ระยะที่ 2 ธปท. และ HKMA ได้ขยายขอบเขตการใช้งาน CBDC ให้กว้างขึ้น ดังนี้

 

เพิ่มการออกแบบในการรองรับ CBDC หลายสกุล เพื่อเตรียมขยายขอบเขตไปยังประเทศอื่น ๆ

 

เพิ่มประเภทผู้เข้าร่วม นอกเหนือจากภาคการเงิน เพื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการเปิด Corridor Network ให้รวมถึงผู้เข้าร่วมรายอื่น ๆ เช่น บริษัทที่มีปริมาณธุรกรรมระหว่างประเทศสูง ผู้นำเข้า - ส่งออก และตลาดหลักทรัพย์

 

เพิ่มการทดสอบเชิงเทคนิค เช่น วิธีการรักษาข้อมูลส่วนตัว (privacy) และการรองรับธุรกรรมจำนวนมาก (scalability)

 

ทั้งนี้ โครงการฯ ระยะที่ 2 มีการใช้เทคโนโลยี Hyperledger Besu ซึ่งมีพื้นฐานการพัฒนาจาก Ethereum เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่เปิดกว้างและมีศักยภาพในการเชื่อมต่อกับระบบ DLT อื่น ๆ เพื่อการรองรับรูปแบบและนวัตกรรมทางการเงินด้านต่าง ๆ ในอนาคต

2

 

การขยายขอบเขตการทดสอบภายใต้โครงการใหม่ "mCBDC Bridge"

 

Multiple Currency CBDC Bridge Project หรือ mCBDC Bridge เป็นการต่อยอดจากโครงการ Inthanon-LionRock ระยะที่ 2 โดยร่วมกับ CBUAE และ PBC DCI ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 โดยสิ่งที่คาดหวังคือ การใช้ CBDC เพื่อลดอุปสรรคทางกิจกรรมการค้า การลงทุน และการปฏิบัติตามกฎระเบียบในการโอนเงินระหว่าง 4 ประเทศ รวมถึงการทดสอบเชิงธุรกิจที่หลากหลายและสมจริงมากขึ้น ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกหลายด้าน เช่น การกำหนดโครงสร้างการกำกับดูแลระบบ มาตรฐานด้านความลับของข้อมูลและการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของแต่ละประเทศ

 

ธปท. คาดหวังว่าโครงการ mCBDC Bridge จะมุ่งส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือจากธนาคารกลาง ทั้งในเอเชียและภูมิภาคอื่น เพื่อร่วมศึกษาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ ที่อาจนำมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการโอนเงินระหว่างประเทศได้ โดยหลังจากเสร็จสิ้นโครงการฯ จะมีการประเมินผลการทดสอบเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ของการนำโครงการ mCBDC Bridge มาใช้จริงในการโอนเงิน การค้า และการลงทุนระหว่างประเทศต่อไป

3
4