วันพรุ่งนี้ที่เกิดขึ้นแล้ว DIGITAL TRANSFORMATION ของภาคการเงินไทย ต้องเจออนาคตเร็วกว่าที่เคยเป็น
หากไม่นับการระบาดของโรคโควิด 19 ที่คร่าชีวิตผู้คนและสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง ในหลายมิติโลกที่พวกเรากำลังอาศัยอยู่นี้เป็นโลกอนาคตโลกที่การทำงานจากที่บ้านเป็นเรื่องปกติงานบริหารทั้งหมดทำผ่านการประชุมออนไลน์ การหาหมอก็เป็นแบบทางไกล และการใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นแบบ virtual ผ่านสมาร์ทโฟน
ก่อนจะเผชิญโรคร้ายผู้เชี่ยวชาญไม่ว่าจะแขนงไหนต่างก็มองว่า กว่าโลกแบบที่เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ทุกวันนี้จะมาถึง เร็วที่สุดก็ต้องปี 2568 เป็นอย่างน้อย ขณะที่รายงานในนิตยสาร The Economist ฉบับ The World In 2021 ชี้ว่า ภายในเวลาแค่ 3 เดือน การค้าขายออนไลน์เติบโตในอัตราที่เคยคาดว่าจะใช้เวลาถึง 10 ปี
ประเทศไทยกำลังเดินอยู่บนเส้นทาง digital transformation เช่นเดียวกัน
ภาคการเงินไทยนับว่าอยู่แถวหน้าของกระบวนการ digital transformation ในสังคมไทย ในด้านหนึ่ง การทำ digital transformation ของไทยได้เริ่มมาก่อนหน้าการแพร่ระบาดของโควิด 19 แล้ว และมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยยังพอเดินหน้าต่อไปได้ในภาวะที่การเชื่อมต่อทางกายภาพถูกจำกัดประชาชนและภาคธุรกิจยังสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ตลอดเวลาแม้จะถูกจำกัดการเดินทาง ขณะที่ผู้ให้บริการทางการเงินยังสามารถให้บริการทางการเงินในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้แม้บุคลากรของตนจะต้องทำงานจากที่บ้าน ไม่สามารถเจอกันเองและลูกค้าได้แต่ในอีกด้านหนึ่ง การแพร่ระบาดของโควิด 19 ก็สะท้อนถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการทำ digital transformation อย่างต่อเนื่อง
มีการคาดการณ์ว่า หลังการระบาดของโควิด 19 พฤติกรรมของประชาชนและภาคธุรกิจจะมีการเปลี่ยนไปอย่างถาวร วิถีชีวิตของผู้คนภาคธรุกิจ ภาคประชาสังคม กระทั่งภาครัฐเองก็มีแนวโน้มที่เริ่มต้นจากดิจิทัล (digital by default)
อนาคตเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็จะไม่หวนกลับอีก
การทำ digital transformation คือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการเก็บ จัดการและประมวลผลข้อมูลที่มีปริมาณมหาศาลและกำลังเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ ซึ่งจะช่วยให้การทำธุรกิจคล่องตัว ยืดหยุ่น ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง
ในฐานะที่ภาคการเงินเป็นหนึ่งในเสาหลักด้านเศรษฐกิจของประเทศ การทำ digital transformation ของภาคการเงินจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
หัวใจสำคัญของการทำ digital transformation ในภาคการเงินให้ประสบความสำเร็จ คือ การบริหารจัดการทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน
ในด้านอุปสงค์ การทำ digital transformation จะสำเร็จได้เมื่อประชาชนและภาคธุรกิจมีความพร้อม และมั่นใจที่จะใช้บริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัล ซึ่งในกรณีของไทยนั้น การแพร่หลายของสมาร์ทโฟน และการขับเคลื่อนงานด้านการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ระบบพร้อมเพย์ และ Standard QR Code ซึ่งเป็นการรับชำระเงินผ่านช่องทางดิจิทัลอย่างปลอดภัย ได้เพิ่มความสะดวกให้การทำธุรกรรมทางการเงินเกิดขึ้นได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ความแพร่หลายของการใช้ระบบพร้อมเพย์ และ Standard QR Code ได้มีส่วนเพิ่มอุปสงค์ต่อการใช้บริการทางการเงินอื่น ๆ ผ่านช่องทางดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ผลสำรวจจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกพบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสัดส่วนการใช้ mobile banking ต่อประชากรที่เข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตสูงที่สุดในโลกต่อเนื่องเป็นปีที่สาม การสำรวจดังกล่าวซึ่งทำโดย We Are Social และ Hootsuite ปี 2564 พบว่าในปีที่ผ่านมา 68.1% ของผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตในไทยที่มีอายุระหว่าง 16 - 64 ปี ใช้แอปฯ mobile banking ทุกเดือน
นอกจากนี้ โครงการช่วยเหลือจากภาครัฐในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 เช่นโครงการคนละครึ่ง และเราเที่ยวด้วยกันต่างเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ประชาชนและภาคธุรกิจมีความเข้าใจและมีความพร้อมในการใช้บริการทางการเงินดิจิทัลมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การเติบโตของอุปสงค์เพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ หากแต่ยังต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเติบโตนี้ด้วย โดยเฉพาะการให้ความรู้ถึงการใช้บริการทางการเงินดิจิทัลอย่างปลอดภัย ซึ่งเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้ digital transformation ของภาคการเงินไทยพัฒนาต่อเนื่อง
ในด้านอุปทาน องค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยก่อให้เกิด digital transformation มีทั้งในส่วนของ (1) ผู้ให้บริการทางการเงิน และ (2) ผู้กำกับดูแลที่จะช่วยสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการทำ digital transformation ของภาคการเงิน
ที่ผ่านมาผู้ให้บริการดั้งเดิม เช่น ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจต่างทราบดีถึงความสำคัญของ digital transformation และเร่งปรับกระบวนการภายในโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูลรูปแบบใหม่ ๆ มาปรับกระบวนการทางธุรกิจของตนอย่างกว้างขวาง
หนึ่งในกลยุทธ์เด่นของผู้ให้บริการทางเงิน คือ "การร่วมมือควบคู่ไปกับการแข่งขัน (coopetition)" กับผู้เล่นประเภทใหม่ เช่น บริษัทฟินเทค โซเชียลเน็ตเวิร์ก และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เพื่อนำเทคโนโลยีและข้อมูลมาพัฒนานวัตกรรมและให้บริการทางการเงินในรูปแบบดิจิทัลที่หลากหลายขึ้น
อย่างไรก็ตาม การจะช่วยให้ digital transformation ของภาคการเงินไทยเกิดขึ้นได้อย่างเต็มศักยภาพ และเป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้และผู้ให้บริการอย่างแท้จริง ภาครัฐจำเป็นต้องสนับสนุนในอีกสองส่วนสำคัญ คือ (1) การปรับกรอบกำกับดูแลและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ และ (2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบการเงินดิจิทัล
ในระยะต่อไป ภาครัฐจำเป็นต้องปรับปรุงกรอบการกำกับดูแลและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อกระตุ้น ให้ผู้ให้บริการสามารถแข่งขันกันนำข้อมูลมาพัฒนานวัตกรรมทางการเงินและมีการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินอย่างเหมาะสมในประเด็นสำคัญ ได้แก่
(1) สิทธิและความคุ้มครองในการจัดหาเก็บใช้ และดูแลรักษาข้อมูลส่วนบุคคลที่กำลังเกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งมีหลักการว่า ผู้ใช้บริการคือ "เจ้าของข้อมูล" ย่อมมีสิทธิที่จะเลือกให้ผู้ให้บริการรายใดสามารถเข้าถึงข้อมลูได้ตามความยินยอมของตน ทั้งนี้ การให้สิทธิใช้ข้อมูลเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาบริการสร้างนวัตกรรมการเงินดิจิทัล และกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค แต่ก็จำเป็นจะต้องป้องกันมิให้เกิดผลที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งรวมถึงการใช้ AI มาวิเคราะห์ข้อมูลอย่างไม่เหมาะสม
(2) การสร้างสนามแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างผู้เล่นในโลกของการเงินดิจิทัล ผู้เล่นกลุ่มต่าง ๆ จะมีระดับความเสี่ยงที่ต่างกันการกำกับดูแลจะต้องเปิดโอกาสให้ผู้เล่นใหม่ ๆ ที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยี รวมทั้ง virtual banks สามารถเข้ามาสร้างนวัตกรรมและแข่งขันให้บริการทางการเงินได้ แต่ไม่สร้างความเสี่ยงเชิงระบบ (risk proportionate) ซึ่งในส่วนนี้จะรวมถึงการปรับกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ regulatory sandbox ให้มุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการทดลองนวัตกรรมมากยิ่งขึ้น
(3) การทำ digital transformation ในกระบวนการกำกับดูแล ผู้กำกับดูแลจะต้องปรับกระบวนการของตนเอง ตั้งแต่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อการกำกับดูแล (SupTech) เช่น การใช้ AI มาช่วยในการประมวลผลข้อมูลต่าง ๆ ในระบบการเงินที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นทวีคูณ เพื่อให้สามารถกำกับดูแลผู้เล่นที่จะมีหลากหลายประเภทขึ้นได้อย่างเท่าทัน ตลอดจนการวางกรอบมาตรฐานรองรับ RegTech เพื่อเอื้อให้ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถปรับใช้เทคโนโลยีในการส่งข้อมูลแก่หน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งจะลดต้นทุนในการทำตามกฎระเบียบต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพกระบวนการกำกับดูแล ผู้กำกับดูแลจะต้องปรับกระบวนการของตนเอง ตั้งแต่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อการกำกับดูแล (SupTech) เช่น การใช้ AI มาช่วยในการประมวลผลข้อมูลต่าง ๆ ในระบบการเงินที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นทวีคูณ เพื่อให้สามารถกำกับดูแลผู้เล่นที่จะมีหลากหลายประเภทขึ้นได้อย่างเท่าทัน ตลอดจนการวางกรอบมาตรฐานรองรับ RegTech เพื่อเอื้อให้ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถปรับใช้เทคโนโลยีในการส่งข้อมูลแก่หน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งจะลดต้นทุนในการทำตามกฎระเบียบต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
บทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งของภาครัฐคือ การช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการเงินดิจิทัล ซึ่งถือได้ว่าเป็นสินค้าสาธารณะที่สร้างประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย
หัวใจสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลคือ การเชื่อมโยงระบบและข้อมูลระหว่างผู้ให้บริการหลายประเภท (interoperability) โดยมุ่งเน้นให้โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่กำลังพัฒนาอยู่นั้นมีลักษณะเป็น "สถาปัตยกรรมแบบเปิด (open architecture)" เพื่อที่ผู้ให้บริการทางการเงินจะสามารถใช้ประโยชน์ได้ร่วมกัน และพร้อมที่จะแข่งขันต่อยอดนวัตกรรมที่จะตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ รวมทั้งเชื่อมออกไปถึงผู้ให้บริการนอกภาคการเงิน เช่น บริษัทโทรคมนาคม ได้ด้วย
จากประสบการณ์ในหลาย ๆ ประเทศ พบว่า โครงสร้างพื้นฐานระบบการเงินดิจิทัลที่สำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลของภาคการเงินจะรวมถึง (1) ระบบ digital ID เพื่อช่วยในการยืนยันตัวตนให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลได้อย่างสะดวกและปลอดภัย (2) ระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะช่วยต่อยอดไปถึงบริการฝาก ถอน โอน จ่ายแบบดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง (3) ระบบการจัดเก็บ การส่งและการใช้ข้อมูลร่วมกัน ซึ่งรวมถึงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลต่าง ๆ เพื่อจัดเก็บข้อมูลที่จำเป็นในการสนับสนุนบริการการเงินดิจิทัล และการพัฒนามาตรฐานสำหรับ Application Programming Interface (API) เพื่อให้การส่งข้อมูลระหว่างสถาบันการเงินและผู้เล่นที่เกี่ยวข้องเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน และเป็นพื้นฐานสำคัญของการต่อยอดไปในการวางนโยบาย open banking ที่เปิดให้ผู้ใช้บริการอนุญาตผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่งสามารถเข้าถึงข้อมูลของตนได้ตามความต้องการ เพื่อนำไปพัฒนาบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของตนและมีความคุ้มครองที่เหมาะสม
เมื่ออนาคตมาเร็วกว่าที่คาดไว้ หนทางเดียวที่เราทำได้คือ การเตรียมรับมืออย่างดีที่สุดและมองหาโอกาสในคลื่นอนาคตที่กำลังเข้ามาการทำ digital transformation ของภาคการเงินคือหนึ่งในโอกาสที่สังคมเศรษฐกิจไทยยังสามารถไขว่คว้าได้ ในห้วงเวลาที่เราบอบช้ำจากวิกฤตสุขภาพและวิกฤตเศรษฐกิจรอบนี้ หากทำสำเร็จจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของประเทศได้ระยะยาว เพิ่มความสะดวกเพิ่มการเข้าถึง และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้บริการทางการเงินให้ดีขึ้นตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ส่งเสริมนวัตกรรมและการแข่งขันในฝั่งของผู้ให้บริการทางการเงินที่จะมีความหลากหลายมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านนั้นจะประสบความสำเร็จได้ก็ขึ้นอยู่กับหลายองค์ประกอบ โดยเฉพาะภาครัฐรวมทั้ง ธปท. ที่จำเป็นต้องดำเนินบทบาทในการสนับสนุนอย่างเหมาะสม ทั้งการปรับกรอบการกำกับดูแลกฎเกณฑ์ต่าง ๆ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการเงินดิจิทัล
วันพรุ่งนี้เกิดขึ้นแล้ววันนี้ วันต่อไปเราดีกว่านี้ได้ ถ้าเราพร้อม