เมื่อโลกเปลี่ยน ธุรกิจต้องเปลี่ยนโลก

พระสยาม

 

การทำธุรกิจไม่ใช่เรื่องยาก แต่การจะสร้างธุรกิจให้ประสบความสำเร็จนั้นไม่ง่าย และหากกล่าวถึงสมรภูมิธุรกิจที่แข่งขันดุเดือด คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพูดถึงจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น "เมืองปราบเซียน"

 

 แม้เชียงใหม่จะมีศักยภาพโดดเด่นด้านการท่องเที่ยว แต่ยังเป็นศูนย์กลางธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาหารด้วย ทว่ามีธุรกิจเพียงหยิบมือเท่านั้นที่สามารถอยู่รอดและเติบโตได้ แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่เป็นการ disrupt ปรับตัวเอง ก่อนจะถูก disrupt ท่ามกลางกระแสดิจิทัลและความยั่งยืนภายใต้บริบทของโลกใหม่ ธุรกิจเหล่านี้เข้าใจความท้าทาย พร้อมเปลี่ยนแปลง และมองเห็นทางออกจากการปรับตัว ทั้งการนำพลังของเทคโนโลยีมาช่วยขับเคลื่อนองค์กร การนำข้อมูลมาช่วยพัฒนาต่อยอดธุรกิจ รวมถึงการใช้กลยุทธ์การตลาดในการสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง

          บทความนี้จะฉายภาพเส้นทางธุรกิจอาหาร จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ แต่ผู้นำมีวิสัยทัศน์ที่เห็นภาพใหญ่ จึงปรับตัวก่อนโลกเปลี่ยน พร้อมสร้างจุดแข็งและนำพาธุรกิจขึ้นมาอยู่ชั้นแนวหน้าในปัจจุบัน 

 

sunsweet

 

"Digital Transformation" เชื่อมเกษตรชุมชน สู่อุตสาหกรรมระดับโลก

 

 

จากหนุ่มโรงงานสู่เจ้าของธุรกิจข้าวโพดหวาน


 

หลายท่านคงเคยเห็นผลิตภัณฑ์พร้อมรับประทานในร้านสะดวกซื้ออย่างข้าวโพดหวาน มันหวาน มันม่วง ไปจนถึงธัญพืช ภายใต้แบรนด์ KC ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของบริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) ผู้ส่งออกข้าวโพดหวานรายใหญ่ของโลกที่มี ดร.องอาจ กิตติคุณชัย เป็นประธานกรรมการบริหาร

 

ดร.องอาจ กิตติคุณชัย

 

ดร.องอาจเริ่มทำงานจากอาชีพพนักงานโรงงานผลิตอาหารกระป๋อง หลังจากได้เรียนรู้ระบบของทั้งโรงงาน จึงผันตัวเข้าสู่ธุรกิจซื้อขายสินค้าเกษตร ต่อมาเล็งเห็นว่าควรแปรรูปสินค้าเหล่านี้เพื่อเพิ่มมูลค่า จึงลงทุนสร้างโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรหลายชนิด จากนั้นได้ก่อตั้งบริษัทซันสวีทในปี 2540 แต่วิกฤตต้มยำกุ้งในปีเดียวกันทำให้ซันสวีทถูกกระทบหนัก ส่งผลให้ ดร.องอาจเปลี่ยนวิธีคิดไปมองหาผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนขึ้น

 

ภาพประกอบ

 

การผลิตสินค้าหลายชนิดใช้ต้นทุนสูง และผลผลิตไม่แน่นอนจากปัจจัยด้านฤดูกาล ซันสวีทจึงเปลี่ยนมาเน้นแปรรูปข้าวโพดหวานเป็นหลัก เนื่องจากผลิตได้ตลอดทั้งปีและมีความต้องการจากทั่วโลก แม้การผลิตสินค้าเพียงชนิดเดียวจะมีความเสี่ยงอยู่บ้าง แต่ ดร.องอาจเลือกที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องข้าวโพดหวานอย่างแท้จริง และมุ่งพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืนด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นรากฐานขับเคลื่อนการทำงานตลอดทั้ง supply chain ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะการทำเกษตรอัจฉริยะ (smart farming)

 

 

Smart Farming คือ หัวใจของการเติบโต 


 

สิ่งสำคัญของการทำธุรกิจส่งออกอาหาร คือ การควบคุมปริมาณและคุณภาพของผลผลิต ซันสวีทจึงบริหารความเสี่ยงดังกล่าวด้วยการทำ contract farming ซึ่งมีเกษตรกรเข้าร่วมกว่า 2 หมื่นรายทั่วภาคเหนือ พื้นที่ปลูกรวมประมาณ 1 แสนไร่ ผลผลิตประมาณ 1.5 แสนตันต่อปี โดยซันสวีทได้เริ่มทำโครงการเกษตรอัจฉริยะตั้งแต่ปี 2555 เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นการจัดการระบบน้ำและการให้ปุ๋ยด้วยเทคโนโลยีทันสมัย รวมถึงการติดตั้งสถานีตรวจวัดอากาศแบบเรียลไทม์

 

โดรนพ่นยา

 

ซันสวีทร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและบริษัทเอกชนหลายแห่ง อาทิ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการนำเทคโนโลยี IoT (Internet of Things) มาใช้ทำเกษตรแม่นยำ โดยระบบจะตรวจวัดความชื้นในดินแล้วทำการจ่ายน้ำอัตโนมัติ รวมทั้งมีเซนเซอร์วิเคราะห์ธาตุอาหาร ทำให้รู้ว่าต้องเสริมด้วยปุ๋ยสูตรใด การจัดการดินที่ถูกต้องจะช่วยลดต้นทุนได้ถึง 30% และช่วยให้ผลผลิตมีคุณภาพดีขึ้น

 

ภาพประกอบ

 

 นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับบริษัทสกายวีไอวี ใช้โดรนรวบรวมข้อมูลการเพาะปลูกในทุกมิติ ตั้งแต่การทำแผนที่รังวัด การคำนวณผลผลิตต่อไร่จากการวัดค่าชีวมวล การวิเคราะห์สุขภาพพืช รวมถึงการเฝ้าระวังโรคพืช เพื่อช่วยให้ควบคุมได้เร็วและตรงจุด ซันสวีทยังนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตในโรงงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความแข็งแกร่งด้านมาตรฐานสินค้า ทั้งการใช้เครื่องฆ่าเชื้ออุณหภูมิสูง hydrolock sterilizers เป็นรายแรกในประเทศไทย และเครื่อง X-ray ตรวจสอบสิ่งปนเปื้อน รวมทั้งใช้เทคโนโลยี IQF (Individual Quick Freezing) ในการผลิตข้าวโพดหวานแช่แข็ง ซึ่งช่วยให้สามารถขยายกำลังการผลิตได้จากเดิม 3 เท่า หรือประมาณ 2 หมื่นตันต่อปี

 

สินค้าข้าวโพด

 

ยึดหลักความยั่งยืน พัฒนาคนและสังคม


 

ดร.องอาจเชื่อมั่นว่าเกษตรกรไทยมีศักยภาพ หากส่งเสริมอย่างเป็นระบบจะช่วยยกระดับคุณภาพผลผลิตและสร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะความรู้ด้านเทคโนโลยี และการปรับใช้เครื่องมือที่เหมาะสม บริษัทจึงได้ร่วมกับศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจัดทำหลักสูตรสอนปลูกข้าวโพดหวานเป็นแห่งแรกของโลก เพื่อสร้างความพร้อมให้เกษตรกรในการเป็น contract farming

           ซันสวีทยังให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม โดยร่วมมือกับบริษัท บริลเลี่ยนท์ พาวเวอร์ จำกัด ทำโครงการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนพื้นที่หลังคาโรงงาน โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพที่ได้จากซังข้าวโพด โครงการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลจากกะลาปาล์ม รวมทั้งโครงการลดการใช้กระดาษและพลาสติก และงดการใช้บรรจุภัณฑ์โฟม อีกทั้งยังมีแผนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนโดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG[1] อย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืนตามมาตรฐานของนานาชาติ

          ปัจจุบันซันสวีทเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมข้าวโพดหวานของไทย มีสัดส่วนการส่งออกประมาณ 25-30% ของตลาดส่งออกที่มีผลผลิตราว 2.1 แสนตันต่อปี โดยส่งออกข้าวโพดบรรจุกระป๋องไปมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ด้วยยอดขายกว่า 2 พันล้านบาทต่อปี

 

 

 

โลกดิจิทัล ปฏิวัติธุรกิจร้านอาหาร


 

shabugu

 

"Data Analytic" อาวุธลับร้านชาบูยุคดิจิทัล

 

"data is the new oil" เป็นคำกล่าวที่ไม่เกินจริง โดยเฉพาะในยุคที่โลกธุรกิจถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ข้อมูลมหาศาลกลายเป็น big data ที่ถูกสร้างขึ้นทุกวันเปรียบเสมือนสินทรัพย์มีค่าที่รอการนำไปต่อยอด ปัจจุบันหลายธุรกิจได้นำ big data มาใช้ประกอบการตัดสินใจ กำหนดกลยุทธ์องค์กร และสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน ธุรกิจร้านอาหารก็เช่นกัน

 

ชาบูกุ

 

ชาบูกุ ร้านดังของจังหวัดเชียงใหม่ เปิดกิจการมาแล้วกว่า 10 ปี ได้นำซอฟต์แวร์ระบบจัดการร้านอาหาร (Point of Sale: POS) มาช่วยวิเคราะห์ยอดขาย บริหารสต๊อก รวมทั้งเก็บข้อมูลเชิงพฤติกรรมของลูกค้าเพื่อนำเสนอโพรโมชันที่ตรงใจ แต่การใช้ซอฟต์แวร์สำเร็จรูปก็มีข้อจำกัด เพราะร้านอาหารแต่ละประเภทมีความต้องการข้อมูลที่แตกต่างกันไป ที่สำคัญ ร้านจะไม่ได้รับลิขสิทธิ์ในซอฟต์แวร์และฐานข้อมูลของลูกค้าตนเอง เนื่องจากส่วนใหญ่เช่าโปรแกรมและพื้นที่เก็บฐานข้อมูลใช้เป็นรายเดือน

 

เส้นทางสู่ Data-driven Marketing


 

 จาก pain point ดังกล่าว เจ้าของธุรกิจชาบูกุ คุณปฐพงค์ อักษรวนิช และคุณภัครดา ปรีชาดิลกกุล จึงได้ชักชวน ดร.ปริวัตร เขื่อนแก้ว กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยดาต้าอนาไลซิส ให้มาช่วยพัฒนาโดยนำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก (data analytic) มาใช้

 

เจ้าของธุรกิจชาบูกุ คุณปฐพงค์ อักษรวนิช

 

ในระยะแรกเป็นการพัฒนาระบบจัดการร้าน ซึ่งเน้นในเรื่องการบริหารจัดการความสัมพันธ์ เช่น ระบบสมาชิก การให้ส่วนลด และการจัดโพรโมชันแบบเฉพาะเจาะจง เนื่องจากมีระบบที่ช่วยวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าแบบรายบุคคล อาทิ เมนูที่สั่งบ่อย ค่าใช้จ่ายต่อบิล หรือช่วงเวลาที่มาใช้บริการ ทำให้สามารถนำเสนอสินค้าได้ตรงใจลูกค้าและกระตุ้นการซื้อซ้ำ ส่งผลให้ปัจจุบันมีสมาชิกแล้วกว่า 1 หมื่นราย

 

ร้านชาบูกุ

 

 นอกจากนี้ ยังมีระบบรายงานยอดขายซึ่งช่วยคำนวณรายรับ-รายจ่าย และจัดอันดับสินค้าขายดี เพื่อจับทิศไปทำกลยุทธ์การตลาดสำหรับเมนูที่ใช่และกำไรดี ระบบยังสามารถรับคำสั่งซื้อได้จากทั้งหน้าร้านและดิลิเวอรีโดยไม่ผ่านแอปพลิเคชันสั่งอาหาร แต่เลือกใช้บริการส่งของจากแอปพลิเคชันแทนซึ่งมีค่าใช้จ่ายราว 60-70 บาทต่อคำสั่งซื้อ ทำให้ไม่ต้องเสียค่า GP (Gross Profit) จึงประหยัดต้นทุนได้มากขึ้น

           ข้อมูลจากลูกค้ายังช่วยสะท้อนทำเลที่เหมาะสมต่อการลงทุนขยายสาขาไปยังพื้นที่ของกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุดมากขึ้น ปัจจุบันชาบูกุมี 4 สาขา และอยู่ระหว่างขยายสาขาแห่งที่ 5 โดยพิจารณาเลือกทำเลจากพื้นที่ที่มีลูกค้าดิลิเวอรีจำนวนมาก จะเห็นว่าการมีระบบ data analytic ที่ตอบโจทย์ ทำให้ธุรกิจสามารถวางแผนการตลาดได้เฉพาะเจาะจง ปรับใช้กลยุทธ์ที่เหมาะสม สอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้าได้ดีขึ้น

 

พัฒนาต่อไม่หยุดยั้ง ในโลกแห่งข้อมูล


 

ชาบูกุอยู่ระหว่างพัฒนาระบบจัดการวัตถุดิบ เช่น ระบบแจ้งเตือนเมื่อวัตถุดิบเหลือน้อย และระบบสั่งซื้ออัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยให้สามารถวางแผนการใช้วัตถุดิบได้อย่างเหมาะสม ลดต้นทุนในการสต็อกวัตถุดิบ และลดความเสี่ยงต่อการสูญหาย นอกจากนี้ การมีระบบที่ดียังเอื้อต่อการป้องกันการทุจริต เพิ่มความคล่องตัว และวางกลยุทธ์ได้เหนือคู่แข่ง ด้วย big data และสายตาที่มองเห็นโอกาสในธุรกิจอยู่เสมอ ทำให้ชาบูกุยืนหยัดอยู่แถวหน้าของธุรกิจร้านชาบูในจังหวัดปราบเซียนอย่างเชียงใหม่ และยังครองใจลูกค้าได้เสมอ

 

ส่งต่อ DNA จากรุ่นสู่รุ่น


 

Brand Modernization

 

"Brand Modernization" กลยุทธ์พลิกตำนานสู่ความร่วมสมัย

 

ธุรกิจที่อยู่รอดได้อย่างยาวนาน นอกจากการปรับตัวด้านเทคโนโลยีและขับเคลื่อนธุรกิจด้วยข้อมูลแล้ว บางรายยังเลือกใช้กลยุทธ์พลิกภาพลักษณ์แบรนด์เก่าให้กลับมามีชีวิตชีวา เช่นเดียวกับกรณีของ "ชาตรามือ" ที่ปรับภาพลักษณ์แบรนด์ใหม่จนเข้าไปอยู่ในใจของผู้บริโภคทุกยุคสมัยทุกวัยได้อย่างไม่ตกเทรนด์

          คุณเศรษฐิกิจ เรืองฤทธิเดช ผู้จัดการโรงงานใบชาสยาม ทายาทรุ่นที่ 3 เล่าว่า ธุรกิจชาตรามือเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2468 ในรุ่นอากง ได้เปิดร้านชา "ลิมเมงกี" ที่เยาวราช นำเข้าผลิตภัณฑ์ชาจากจีนมาขายให้ลูกค้าชาวจีนที่มาตั้งรกรากในไทย ส่วนคนไทยไม่นิยมดื่มชาร้อน จึงเริ่มนำชาแดงของจีนมาประยุกต์ด้วยการชงผสมนมและเสิร์ฟพร้อมน้ำแข็งและได้รับความนิยมอย่างมาก ต่อมาในปี 2488 จึงเริ่มขยายกิจการและทำไร่ชาเองที่จังหวัดเชียงราย ก่อนก่อตั้งแบรนด์ "ชาตรามือ"

           ทายาทรุ่นที่ 2 เน้นการขายส่งให้กับร้านชาทั่วประเทศในฐานะแบรนด์ชาหลังร้าน ในยุคนั้นชาตรามือต้องพบกับความท้าทายเรื่องความนิยมดื่มชาลดลง และตลาดมีเครื่องดื่มหลายประเภทเป็นตัวเลือก ทำให้ชื่อเสียงของชาตรามือเงียบหายไป จนเมื่อปี 2560 ทายาทรุ่นที่ 3 ใช้กลยุทธ์นำแบรนด์เข้าไปใกล้ชิดผู้บริโภค  โดยเปิด kiosk ชาตรามือ ชงขายเป็นแก้วให้ลูกค้าตามแหล่งชุมชน พร้อมกับคิดค้นสูตรใหม่ ๆ เพื่อสร้างจุดขายที่แตกต่างจากร้านอื่น และใช้การบอกต่อบนโลกออนไลน์เพื่อให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง นอกจากนี้ ยังใช้กลยุทธ์สร้าง brand awareness โดยออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้โดดเด่นสวยงาม จดจำง่าย และนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แม้ร้านชาพร้อมดื่มจะไม่ใช่ธุรกิจที่สร้างรายได้หลัก แต่ก็ทำให้ชาตรามือเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น

 

ร้านชาตรามือ

 

ไม่หยุดพัฒนา มองหาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ 


 

ชาตรามือเปลี่ยนมุมมองผู้บริโภคจากชากระป๋องตามร้านชาโบราณ มาเป็นแบรนด์ที่มีความร่วมสมัย ทั้งยังทุ่มเทให้กับการวิจัยและพัฒนาเพื่อรักษามาตรฐานคุณภาพ รวมถึงเติมไอเดียให้กับผลิตภัณฑ์ใหม่เสมอ สินค้าที่กลายเป็น talk of the town คือ ชากุหลาบ ซึ่งเริ่มจากความตั้งใจทำออกขายช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ แต่ด้วยสรรพคุณเป็นยาระบาย ทำให้กระแสตอบรับดีเกินคาด จึงกลายเป็นเมนูขายดีประจำร้านจนถึงทุกวันนี้ นอกจากนี้ ยังแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นไอศกรีม soft serve และขนมปังสังขยา เพื่อสื่อสารว่าผลิตภัณฑ์ชาตรามือสามารถนำไปทำเมนูอื่นได้ด้วย

           จากการจัดอันดับ World's 50 most delicious drinks ของสำนักข่าว CNN ในปี 2561 ชาไทยติดอันดับ 27 ของเครื่องดื่มที่อร่อยที่สุดในโลก สะท้อนโอกาสของชาไทยในตลาดโลก ซึ่งชาตรามือก็อยู่ระหว่างพัฒนาชาขวดพร้อมดื่ม เพื่อตอบรับโอกาสนี้

 

ชาตรามือ

 

ปรับตัวตามกระแสเทคโนโลยีและยึดหลักความยั่งยืน


 

เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ชาตรามือได้ยกระดับการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เช่น GMP Codex และ Halal และได้เริ่มนำระบบ automation มาใช้ในกระบวนการผลิต รวมถึงการนำ big data มาวิเคราะห์เทรนด์ตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังมุ่งพัฒนาสู่กระแสความยั่งยืน โดยเน้นการใช้พลังงานสะอาด และเปลี่ยนจากการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินมาเป็นก๊าซ เพื่อทำให้สิ่งแวดล้อมและสุขภาพพนักงานดีขึ้น

         คุณเศรษฐิกิจกล่าวทิ้งท้ายว่า "หากมีการสนับสนุนวิธีการเพาะปลูกและแหล่งเงินทุนให้กับเกษตรกรอย่างเหมาะสม รวมทั้งสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างเข้มแข็ง เราอาจได้เห็นผลิตภัณฑ์จากธุรกิจของคนไทยผงาดในเวทีระดับโลก ซึ่งจะมีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน"

         จากตัวอย่างที่หยิบยกมาทั้ง 3 ธุรกิจสะท้อนให้เห็นว่า ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมีปัจจัยคล้ายคลึงกัน นั่นคือการมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ สามารถปรับตัวและใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด รวมทั้งมีความซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภคโดยการรักษามาตรฐานและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และยึดหลักการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการนำพาธุรกิจให้ประสบความสำเร็จท่ามกลางกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว