จีนเปิดประเทศ : โอกาสและความเสี่ยง
กว่า 3 ปีที่โลกต้องเผชิญกับวิกฤตด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจจากการระบาดของโรคโควิด 19 แต่ละประเทศต้องระดมกำลังและงัดเอามาตรการต่าง ๆ มาควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อพร้อมทั้งลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องความเข้มงวดในการต่อกรกับโควิด 19 ก็คือจีนซึ่งเป็นประเทศแรกที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อ จีนได้ใช้นโยบายกำหนดเป้าหมายจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด 19 เป็นศูนย์ หรือ Zero-COVID และบังคับใช้มาตรการคุมเข้มหลายอย่างที่กลายเป็นอุปสรรค และทำให้การเดินทางทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศลดลงมาก เป็นการปิดประเทศเช่นเดียวกับอีกหลายแห่งทั่วโลก
นอกจากผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศแล้ว การปิดประเทศของจีนซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศที่มีความสัมพันธ์กับจีนทั้งทางตรงและทางอ้อม เราจึงอยากชวนท่านผู้อ่านย้อนดูเหตุการณ์และผลที่เกิดขึ้น รวมถึงที่มาของการกลับทิศทางนโยบายโควิด 19 ของจีนอย่างสิ้นเชิง เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อจีนกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง ว่าจะเป็นโอกาสในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของใคร และมีความเสี่ยงอะไรที่ซ่อนอยู่
ตั้งแต่พบผู้ติดเชื้อโควิด 19 รายแรกที่เมืองอู่ฮั่นเมื่อเดือนธันวาคม 2562 รัฐบาลจีนได้ดำเนินนโยบาย Zero-COVID มาต่อเนื่องจนถึงปี 2565 เนื่องจากข้อจำกัดในการรองรับผู้ป่วยทั้งจำนวนเตียงในโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้จีนต้องการควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อให้ต่ำที่สุดด้วยมาตรการที่เข้มงวดหลายอย่าง เช่น การล็อกดาวน์อย่างเด็ดขาด (The Great Lockdown) โดยปิดการเดินทางเข้า-ออกมณฑลที่พบผู้ติดเชื้อ รวมถึงให้ประชาชนรายงานสถานะสุขภาพและการเดินทางผ่านแอปพลิเคชัน Health Code และกำหนดให้ลงทะเบียนก่อนเดินทางข้ามเมือง นอกจากนี้ ยังมีมาตรการที่เป็นอุปสรรคในการเดินทางระหว่างประเทศ เช่น หากจะเดินทาง เข้าประเทศจีนจะต้องกักตัวในสถานที่ของทางการ 24 วัน จำกัดจำนวนเที่ยวบินเข้าประเทศ และลงโทษสายการบินที่พบว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด 19 โดยสารมา ทำให้จำนวนคนที่เข้า-ออกจีนลดลงจนแทบจะหยุดชะงัก
เมื่อย้อนไปไล่เรียงดูผลกระทบต่อเศรษฐกิจพบว่า จีดีพีของจีนติดลบหรือชะลอการขยายตัวลงตามระลอก
การระบาดที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แต่ที่น่าสนใจคือเศรษฐกิจจีนสามารถฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับปกติได้ในเวลาไม่นาน ทั้งยังสามารถรักษาอัตราการเติบโตไว้ได้แม้ว่ายังคงปิดประเทศอยู่ ซึ่งเป็นผลจากการปรับนโยบายทางเศรษฐกิจภายหลังวิกฤตการเงินโลกในปี 2551 มาเป็น "การพึ่งพาตนเอง" มากขึ้น เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงการประกาศใช้ยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนาน (dual circulation) ในปี 2563 ที่เน้นสมดุลของเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอก โดยแม้ว่าการส่งออกจะยังคงเป็นแหล่งรายได้สำคัญ โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มเวชภัณฑ์ และสินค้าจำเป็นสำหรับการทำงานที่บ้าน แต่ก็ได้หันมาให้ความสำคัญกับการผลิตและการบริโภคในประเทศมากขึ้นด้วย ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศยังคงดำเนินต่อไปได้ เมื่อจีนสามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อให้น้อยที่สุดได้ และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้เร็ว สวนทางกับหลายประเทศที่เดินตามรอยการล็อกดาวน์ของจีน ซึ่งเศรษฐกิจหดตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ จีนยังพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองและหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ อีกทั้งได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่งคั่งร่วมกัน (common prosperity) มากขึ้น โดยเข้ามาควบคุมธุรกิจเพื่อแก้ปัญหารวยกระจุกจนกระจาย และเข้าไปจัดการกับธุรกิจที่เป็นปัญหา เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ทำให้ก่อหนี้เกินตัวและปัญหาฟองสบู่ซึ่งทำให้ตัวเลขจีดีพีไม่สูงเหมือนในอดีต แต่คาดว่าจะมีความยั่งยืนในระยะยาว
การปิดประเทศของจีนซึ่งเศรษฐกิจมีสัดส่วนเกือบ 20% ของจีดีพีโลกย่อมมีผลต่อหลายประเทศ และที่เห็นได้ชัดเจนคือผลกระทบในภาคการค้าและบริการ ด้วยข้อจำกัดด้านการเดินทางและขนส่ง ทำให้นักท่องเที่ยวจีนที่เคยออกท่องเที่ยวทั่วโลกมากถึง 155 ล้านทริปในปี 2562 ลดลงเหลือเพียงไม่ถึง 30 ล้านทริปในช่วงวิกฤตโควิด 19 เช่นเดียวกับการส่งออกและนำเข้าสินค้าที่มีข้อจำกัดจากอุปสรรคด้านระบบโลจิสติกส์ อาทิ การปิดท่าเรือขนส่งสำคัญในจีนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดทำให้ระยะเวลาขนส่งสินค้านานขึ้น และการปิดโรงงานที่ส่งผลต่อภาคการผลิต ขณะที่ความต้องการสินค้าในช่วงการระบาดของโควิด 19 ที่เพิ่มสูงขึ้นยังกดดันต้นทุนค่าขนส่ง เช่น ราคาตู้คอนเทนเนอร์ และค่าระวางเรือให้สูงขึ้นไปด้วย
การระบาดของโควิด 19 อย่างรุนแรงและมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดนำมาซึ่งปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบและแรงงาน ทำให้จีนต้องปิดโรงงานในเมืองสำคัญ เช่น เมืองเซี่ยงไฮ้และเมืองเซินเจิ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาความไม่ต่อเนื่องในกระบวนการผลิต จนเกิดภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานของภาคการผลิต (supply chain disruption) ในสินค้าหลายอย่าง เช่น รถยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ จนทำให้ผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการและกระทบต่อหลายประเทศในเอเชียรวมถึงไทยด้วย ซึ่งนอกจากปัญหาระยะสั้นแล้ว ยังส่งผลระยะยาวต่อความเชื่อมั่นของบริษัทต่างชาติมากขึ้น เพิ่มเติมจากเดิมที่มีความกังวลเรื่องปัญหาการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงทำให้การย้ายโรงงานออกจากจีนมีให้เห็นมากขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยงเรื่องฐานการผลิต ขณะที่การเปิดโรงงานใหม่ก็มีน้อยลง
สัญญาณที่กดดันให้รัฐบาลจีนต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงนโยบายมีให้เห็นมาเรื่อย ๆ ทั้งการประท้วงของประชาชนในหลายพื้นที่จากความรู้สึกกดดันเพราะมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดและยาวนาน อีกทั้งการบริโภคของชาวจีนที่มีแนวโน้มลดลง ทำให้ในช่วงต้นปี 2565 รัฐบาลจีนต้องปรับนโยบายให้เจาะจงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น หรือ Dynamic Zero-COVID โดยทยอยผ่อนเกณฑ์ควบคุมลง เช่น ล็อกดาวน์เฉพาะอาคารที่พบผู้ติดเชื้อแทนการปิดทั้งมณฑล ลดจำนวนวันที่ต้องกักตัวในสถานที่ของทางการเหลือ 5 วัน ปรับเปลี่ยนให้กักตัวในที่พักมากขึ้น และยกเลิกการจำกัดจำนวนเที่ยวบินเข้าจีน อีกทั้งยังสนับสนุนการบริโภคของประชาชนและธุรกิจผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น กระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศที่มีสัดส่วนประมาณ 5% ของจีดีพี ลดอัตราดอกเบี้ยสวนทางกับโลก รวมไปถึงผ่อนปรนเกณฑ์เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์และเทคโนโลยี
นอกจากเหตุผลเฉพาะหน้าแล้ว จีนยังมีเป้าหมายระยะยาวที่ต้องการไปให้ถึง นั่นคือ การยกระดับให้จีนเป็นประเทศพัฒนาปานกลาง (medium-developed country) ภายในปี 2578 โดยประเมินจากจีดีพีต่อหัวของชาวจีนที่จะต้องเพิ่มขึ้นเป็น 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2578 จาก 12,500 ดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2564 ซึ่งหมายถึงจีนต้องมีจีดีพีเฉลี่ยที่ 4.7% ในช่วงปี 2564-2578 และด้วยตัวเลขจีดีพีที่ 8% ในปี 2564 ทำให้ปี 2565 ซึ่งจีดีพีจีนโตไม่ถึง 3% กลายเป็นปีแรกที่จีนพลาดเป้าหมายและเป็นสัญญาณให้จีนต้องเร่งหาโอกาสเพื่อพลิกฟื้นกลับมาให้ได้
แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในจีนยังสูงกว่า 1 ล้านคน ในเดือนธันวาคม 2565 แต่ส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยมาก เป็นจังหวะให้จีนเปลี่ยนนโยบายจาก "โควิดเป็นศูนย์ (Zero-COVID)" เป็น "อยู่กับโควิด (Living with COVID)" ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นการพลิกโฉมที่ทั่วโลกต่างคาดไม่ถึง โดยให้ยกเลิกการกักตัว ผ่อนปรนการตรวจเชื้อและติดตามผู้ป่วย รวมถึงหยุดรายงานตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อ
การปลดล็อกประเทศจีนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการระบาดของโควิด 19 ระลอกล่าสุดที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 ว่าอาจลุกลามมากขึ้น โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) คาดว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดระลอกใหญ่ขึ้นอีกภายหลังเทศกาลตรุษจีน ซึ่งชาวจีนจะสามารถเดินทางกลับบ้านหรือท่องเที่ยวได้โดยไม่ต้องลงทะเบียนเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อน่าจะเพิ่มขึ้นมากตามหัวเมืองใหญ่ ๆ และคงกดดันเศรษฐกิจจีนในไตรมาสแรกของปีนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงยังเป็นปัจจัยซ้ำเติม แต่จากสถิติที่ผ่านมาคาดว่าเศรษฐกิจจีนน่าจะฟื้นกลับมาได้ในไตรมาส 2 เมื่อสถานการณ์ในประเทศคลี่คลาย การท่องเที่ยว การบริโภค การผลิต และการลงทุนภาครัฐฟื้นตัวกลับมา การเปิดประเทศของจีนในครั้งนี้ นอกจากสร้างความเชื่อมั่นแล้วยังสร้างความคาดหวังว่าจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยเฉพาะการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน
แม้ว่าชาวจีนจะมีพาสปอร์ตไม่ถึง 10% ของประชากร แต่ก็นับเป็นจำนวนมากถึง 120 ล้านคน โดยคาดว่า จากความอัดอั้นและเงินที่ออมไว้ในช่วงปิดประเทศจะทำให้เกิดการ "เที่ยวล้างแค้น" คือออกมาท่องเที่ยว ต่างประเทศนานขึ้นและใช้เงินมากกว่าปกติ เป็นโอกาสและความหวังให้ประเทศที่ชาวจีนนิยมไปเที่ยวอย่างฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไทยที่นักท่องเที่ยวจีนมีสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดในช่วงก่อนโควิด 19 ซึ่งคาดว่าในปีนี้ ไทยคงได้มีโอกาสต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ต่ำกว่า 25 ล้านคน
อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นและอุปสรรคในการเดินทางและขนส่งสินค้าที่หมดไป น่าจะทำให้ทิศทางการค้าระหว่างจีนดีขึ้น โดยเฉพาะสำหรับประเทศคู่ค้าหรือประเทศที่เป็นห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคให้กับจีน เช่น ไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกง ไทย และเกาหลีใต้ ทั้งในกลุ่มสินค้าที่จีนมีความต้องการเพิ่มขึ้น เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รถยนต์ และเซมิคอนดักเตอร์ และกลุ่มสินค้าที่จีนมีข้อจำกัดในการผลิต เช่น ผัก ผลไม้ อาหารแปรรูป สินค้าอุปโภคบริโภค และเชื้อเพลิง ซึ่งแน่นอนว่าไทยเราเองก็น่าจะได้อานิสงส์จากการเปิดประเทศครั้งนี้เพราะจีนเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 2 ของไทย ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 12% ของการส่งออกทั้งหมด
ความเสี่ยงระยะสั้นคงหนีไม่พ้นการกลายพันธุ์และการระบาดระลอกใหม่ของโควิด 19 ในจีน จากข้อเท็จจริงว่าชาวจีนได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นค่อนข้างน้อย ขณะที่การกลับไปปิดประเทศแบบเดิมคงไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนัก ดังนั้น ทางออกของรัฐบาลจีนจึงเป็นการสกัดกั้นการระบาดให้อยู่ในวงที่ควบคุมได้ ควบคู่ไปกับการสนับสนุนให้ประชาชนฉีดวัคซีนกระตุ้น โดยเฉพาะการฉีดวัคซีน mRNA ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันที่ดีกว่า ซึ่งจีนมีแผนที่จะพัฒนาเพื่อผลิตใช้เองภายในประเทศ
นอกจากนี้ อุปสงค์ของจีนที่เพิ่มขึ้นจากการเปิดประเทศทำให้เกิดความกังวลว่าจะส่งผลต่ออุปทานของสินค้าโภคภัณฑ์ ทำให้ราคาปรับสูงขึ้นอีกและซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อที่มีอยู่เดิม เนื่องจากจีนบริโภคน้ำมันสูงถึง 1 ใน 5 ของโลก รวมถึงใช้เหล็ก ทองแดง นิกเกิล และสังกะสี สูงกว่าครึ่งหนึ่งของโลก อีกทั้งยังอาจมีผลทำให้ยุโรปขาดแคลนก๊าซธรรมชาติเนื่องจากไม่สามารถนำเข้าก๊าซส่วนเกินของจีนมาทดแทนการนำเข้าจากรัสเซียได้แล้ว
อีกหนึ่งความเสี่ยงที่เริ่มตั้งแต่ก่อนวิกฤตโควิด 19 และมีพัฒนาการต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ ก็คือการแข่งขันทางเทคโนโลยี (tech war) ที่สหรัฐอเมริกาได้แบนการส่งสินค้าเทคโนโลยีและสงครามไปยังจีน รวมถึงไม่สนับสนุนให้คนเก่ง ๆ ไปทำงานกับบริษัทสัญชาติจีนด้วย ซึ่งคงส่งผลให้เป้าหมายการพึ่งพาตนเองทางเทคโนโลยีของจีนทำได้ยากและช้าลง เป็นปัจจัยกดดันห่วงโซ่การผลิตสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง จนอาจทำให้เกิดความขาดแคลนและกระทบต่อการส่งออกของโลกได้
แม้ว่าการเปิดประเทศของจีนจะเป็นเสมือนสัญญาณว่าสงครามระหว่างโลกกับโควิด 19 สิ้นสุดลงแล้ว แต่ก็ไม่ควรชะล่าใจเพราะมีสงครามใหม่ที่กำลังจะปะทุขึ้นอีกครั้งจากการแข่งขันระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ซึ่งต้องจับตาพัฒนาการและผลกระทบที่จะเกิดกับเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยต่อไป
ข้อมูลอ้างอิง :
China's share of global gross domestic product (GDP) I STATISTA
Number of outbound visitor departures from China I STATISTA
WHO working with China on Lunar New Year COVID risks I REUTERS
What the great reopening means for China and the world I The Economist
Take that, covid! "Revenge" tourism takes off I The Economist
China's rapid reopening will stir the global economy I Financial Times
China Boost for Flagging World Economy Looms as Reopening Starts I Bloomberg