จับกระแสความเสี่ยงโลก ประเด็นร้อนที่ต้องติดตาม

 

 

ต้นปี 2566 ในขณะที่โลกกำลังปรับตัวเข้าสู่ยุค new normal ภายหลังการระบาดของโควิด 19 เริ่มคลี่คลายลง เครื่องจักรทางเศรษฐกิจทำงานได้มากขึ้น อุปสงค์โลกปรับตัวเพิ่มขึ้น การเดินทางท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศฟื้นตัว แต่ผู้กำหนดนโยบายก็ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงหลายด้านที่จะฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและสร้างความไม่แน่นอนในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitical risks) เช่น สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลต่อราคาอาหารและพลังงาน ทำให้ทั่วโลกประสบปัญหาค่าครองชีพพุ่งสุงขึ้น อุปสงค์โลกปรับตัวขึ้นรวดเร็ว ในขณะที่ยังมีข้อจำกัดด้านอุปทาน ขาดแคลนทั้งแรงงานและปัจจัยการผลิต ทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มยืดเยื้อ และความตึงเครียดระหว่างจีน-สหรัฐฯ ยังคงกระทบการค้าโลกและห่วงโซ่การผลิตเป็นวงกว้าง

 

จับกระแสความเสี่ยงโลก ประเด็นร้อนที่ต้องติดตาม

 

อีกทั้งเมื่อมองไปในระยะข้างหน้ายังมีกระแสการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สำคัญ ทั้งการปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลและการรับมือกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง จะ disrupt กิจกรรมทางเศรษฐกิจในรูปแบบเดิมที่เราคุ้นชิน จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งว่าเราจะรับมือความเสี่ยงและความไม่แน่นอนเหล่านี้ พร้อมทั้งปรับตัวอย่างยืดหยุ่นและยั่งยืนได้อย่างไร

 

จากรายงาน Global Risks Report 2023 ของ World Economic Forum ประกอบกับการคาดการณ์ของสำนักเศรษฐกิจ และ think tank ต่าง ๆ สามารถจับกระแสความเสี่ยงแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ (1) ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและสังคม (2) ความเสี่ยงด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี และ (3) ความเสี่ยงที่เกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งล้วนมีผลกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินที่เป็นหัวใจหลักของภารกิจธนาคารกลางได้

 

THE TOP GLOBAL RISKS IN 2023

 

ด้านเศรษฐกิจและสังคม


ความเสี่ยงอันดับต้น ๆ ที่จะฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ย่อมหนีไม่พ้นอัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้เกิดวิกฤตค่าครองชีพในหลายประเทศ แม้ธนาคารกลางจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ก็ยังอยู่ระหว่างรอดูผลของนโยบายว่าจะดึงเงินเฟ้อลงมาอยู่ในกรอบเป้าหมายได้หรือไม่ เงินเฟ้อที่สูงขึ้นเป็นผลของ supply-side pressure [1]เป็นหลัก รัฐบาลหลายประเทศโดยเฉพาะในยุโรปจึงได้ออกมาตรการช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ เช่น กำหนดเพดานค่าไฟฟ้า และอุดหนุนค่าใช้จ่ายครัวเรือน แต่ก็มีข้อจำกัดด้านงบประมาณในที่สุด โดยเฉพาะหากสงครามในยูเครนยังยืดเยื้อไปเรื่อย ๆ และส่งผลต่อเนื่องถึงราคาอาหารและพลังงาน

 

ด้านเศรษฐกิจและสังคม

 

นอกจากนี้ การยกเลิกนโยบายคุมเข้มโควิดเป็นศูนย์ที่รัฐบาลจีนบังคับใช้มายาวนาน ยังไม่แน่ชัดว่าจะส่งผลในทางบวกหรือลบเพียงใด โดยแม้จะช่วยให้ภาคการผลิตสินค้ากลับมาสู่ระดับปกติได้มากขึ้น แต่ก็อาจจะมีอุปสงค์ที่ค้างจากช่วงก่อน (pent-up demand) สูงมากจนสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อได้เช่นกัน รวมทั้งหากจีนต้องกลับมาล็อกดาวน์อีก ก็จะส่งผลต่อห่วงโซ่การผลิตอีกระลอก ผู้ดำเนินนโยบายการเงินและการคลังของประเทศต่าง ๆ จึงต้องหาจุดสมดุลของการดูแลเงินเฟ้อกับการประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และช่วยลดภาระของประชาชนจากวิกฤตค่าครองชีพไปด้วย

 

การทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางทั่วโลกเพื่อรับมือเงินเฟ้อ เป็นสัญญาณของการสิ้นสุดยุคดอกเบี้ยต่ำ ดังนั้น ปัญหาภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก จึงเป็นอีกความเสี่ยงที่ต้องจับตา เนื่องจากปริมาณหนี้ของทั้งภาครัฐและเอกชนที่เพิ่มขึ้นมากในปี 2563 แม้จะทยอยปรับลดลงเล็กน้อยในปี 2564 และปี 2565 แต่ก็ยังสูงกว่าระดับก่อนวิกฤตโควิด 19 เมื่อมีภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้น จะทำให้ภาคเอกชนและลูกหนี้รายย่อยกลุ่มเปราะบางเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น และภาครัฐที่มีหนี้สาธารณะสูงอยู่แล้ว ก็จะมี buffer สำหรับรองรับวิกฤตระลอกใหม่ได้ลดลง และลดความสามารถของภาครัฐในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับอนาคตด้วย

         

ปัจจัยต่อมาคือ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ และการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (deglobalization) มีแนวโน้มส่งผลให้ปริมาณการค้าโลกชะลอตัวลง เกิดการย้ายฐานการผลิต อาจทำให้ต้นทุนการผลิตปรับสูงขึ้น และกระทบการลงทุนระหว่างประเทศ

         

การแข่งขันระหว่างจีน-สหรัฐในหลายมิติ ทั้งด้านการค้า การลงทุน ความมั่นคง และเทคโนโลยี อาจนำพาโลกเข้าสู่สงครามเย็นยุคใหม่ ความขัดแย้งของสองประเทศมหาอำนาจย่อมส่งผลต่อห่วงโซ่การผลิตและการค้าโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างกรณีที่สหรัฐฯ สั่งห้ามส่งออกชิปประมวลผลคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ไปยังจีน ส่งผลกระทบต่อบริษัทเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการผลิตอื่น ๆ ที่ต้องการเซมิคอนดักเตอร์ชิปในการผลิตสินค้า สงครามข้อมูลและการแข่งขันกันเป็นผู้นำเทคโนโลยี 5G ระหว่างทั้งสองประเทศ ก็เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศขนาดกลางและเล็ก

         

สำหรับสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ผ่านมาครบหนึ่งปี และส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ผันผวนเป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งมาจากการใช้มาตรการกีดกันทางเศรษฐกิจตอบโต้กันนั้น จากผลสำรวจ Global Risks Perception Survey[2] คาดว่าสงครามจะยังยืดเยื้อและสร้างความผันผวนต่อไปในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องให้เกิดความแตกแยก แบ่งขั้วทั้งในด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี รวมทั้งบั่นทอนความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านต่าง ๆ และจะเป็นต้นทุนต่อประเทศกำลังพัฒนาและประเทศยากจนที่ต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับโลกใหม่มากขึ้น

         

กระแส deglobalization ที่เห็นได้จากนโยบายสนับสนุนการย้ายฐานการผลิตกลับมาในประเทศ (reshoring) ของประเทศเศรษฐกิจหลัก เช่น การประกาศนโยบายของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ระบุให้โครงการของรัฐต้องใช้วัสดุก่อสร้างทุกชนิดที่ผลิตในสหรัฐอเมริกา และการผ่านกฎหมาย CHIPS and Science Act เพื่อทุ่มเม็ดเงินลงทุน 280,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และการวิจัยและพัฒนาในระยะ 10 ปีข้างหน้า สำหรับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นก็ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานของตนเอง โดยการกระจายห่วงโซ่การผลิตไปในหลายประเทศและหลายทวีปมากขึ้น รวมทั้งการสนับสนุนให้บริษัทเอกชนย้ายฐานการผลิตสินค้าจำเป็น เช่น อาหาร เครื่องมือแพทย์ และเวชภัณฑ์ รวมทั้งวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมกลับไปยังประเทศของตน

         

นโยบายเหล่านี้อาจทำให้เกิดห่วงโซ่การผลิตที่สั้นลง การผลิตในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอาจจะมีการแยกส่วนกระจายไปยังประเทศต่าง ๆ น้อยลง ซึ่งจะทำให้ประเทศกำลังพัฒนาเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตโลกของอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้ยากขึ้น ตลอดจนเกิดการลงทุนระหว่างประเทศและการถ่ายทอดเทคโนโลยีลดน้อยลง

         

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัยทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงไทยที่มีอัตราการเกิดใหม่ของประชากรลดลง ในขณะที่อายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้น การที่เศรษฐกิจมีประชากรวัยทำงานน้อยลง อาจนำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต ส่งผลต่อผลิตภาพ (productivity) ของประเทศ และกดดันให้ค่าจ้างแรงงานปรับสูงขึ้น ซึ่งข้อจำกัดด้านแรงงานและค่าจ้างอาจมีผลต่อการพิจารณาเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตของบริษัทข้ามชาติ นอกจากนี้ การมีประชากรสูงอายุในสัดส่วนที่สูงขึ้นก็จะเพิ่มภาระของภาครัฐในเรื่องค่าใช้จ่ายระบบสาธารณสุข และระบบสวัสดิการประกันสังคมที่มีเงินสมทบใหม่น้อยลง แต่มีภาระรายจ่ายเงินชดเชยหลังเกษียณอายุและประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น

 

ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล  


ในโลกปัจจุบันที่เทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนาอย่างก้าวกระโดด และเข้ามามีส่วนในทุกระบบของสังคม ได้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของภาคธุรกิจและความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก แต่ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน อาชญากรรมไซเบอร์เป็นภัยคุกคามหลักที่สามารถสร้างความเสียหายต่อทั้งระบบเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจ และประชาชนทั่วไปได้เป็นวงกว้าง และเกิดขึ้นได้ในหลายรูปแบบ ทั้งเรื่องการรั่วไหลของข้อมูลธุรกิจและข้อมูลส่วนบุคคล การหลอกลวงฉ้อโกงหรือทุจริต รวมไปถึงการจารกรรมข้อมูล (cyber espionage) มีการประเมินโดย Statista's Cybersecurity Outlook[3] ว่าความเสียหายจากอาชญากรรมไซเบอร์ทั่วโลกภายใน 5 ปีข้างหน้า อาจมีมูลค่าสูงถึง 23.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพิ่มขึ้นจาก 8.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2565

 

ทำความรู้จักอัตราตอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ

 

สำหรับภาคการเงินที่ผนวกเอาเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์และการให้บริการ ก็มีความเสี่ยงจากการถูกโจมตีระบบ ทำให้เกิดความสูญเสียทางการเงินและบั่นทอนความเชื่อมั่นในสถาบันการเงิน ตัวอย่างที่เป็นข่าวดังของปี 2565 เช่น ในเดือนกันยายน Revolut ซึ่งเป็นสตาร์ตอัปฟินเทคผู้ให้บริการทางการเงินดิจิทัลรายใหญ่ในยุโรป ถูกโจรกรรมข้อมูลลูกค้ามากกว่า 50,000 ราย โดยข้อมูลส่วนตัวที่รั่วไหลไปมีทั้งชื่อ ที่อยู่ อีเมล และเลขที่บัตรเดบิตบางส่วน และในเดือนตุลาคม BidenCash ซึ่งเป็น dark web ที่ใช้ซื้อขายข้อมูลบัตรในกลุ่มมิจฉาชีพ ได้ปล่อยข้อมูลบัตรเครดิตของลูกค้ามากกว่า 1.2 ล้านราย โดยส่วนใหญ่เป็นบัตรที่ออกโดยสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ซึ่งมีรายละเอียดทั้งชื่อลูกค้า ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ เลขที่ประกันสังคม และชื่อธนาคารผู้ออกบัตร ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ได้

         

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ทำให้เกิดปัญหาการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น มีการใช้เทคโนโลยี visual and audio deepfakes ในการทำอาชญากรรม ตัวอย่างความเสียหายที่เกิดจากการใช้ deepfakes เช่น ในปี 2563 เกิดกรณีที่อาชญากรไซเบอร์ใช้ AI deepvoice เลียนเสียงของผู้บริหารของบริษัทแห่งหนึ่งสั่งให้ธนาคารในฮ่องกงโอนเงิน 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปยังบัญชีของอาชญากร[4]

         

แม้ในภาคการเงินจะยังไม่ได้มีการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้อย่างกว้างขวาง แต่ด้วยการพัฒนาของเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด AI จึงมีศักยภาพในการนำมาประยุกต์ใช้ได้ในหลายด้าน ตั้งแต่ช่วยในการตัดสินใจลงทุนบริหารสินทรัพย์ ประเมินความเสี่ยงของการปล่อยสินเชื่อ automate ขั้นตอนการพิจารณาเอกสาร ออกแบบผลิตภัณฑ์การเงินที่ตรงกับพฤติกรรมของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนใช้ตรวจจับธุรกรรมผิดปกติ อย่างไรก็ตาม การใช้เทคโนโลยี deep learning ก็เป็นไปได้ที่จะเกิดความไม่เป็นกลางของอัลกอริทึม (algorithmic bias) ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ป้อนเข้าไป หรืออาจจะมีลักษณะเป็น black box ที่ไม่สามารถอธิบายผลของการตัดสินใจโดย AI ได้ ประเด็นที่ท้าทายคือการวางกรอบสำหรับ AI governance เพื่อให้มั่นใจว่าการใช้ AI model ในการตัดสินใจต่าง ๆ มีความเป็นธรรม เชื่อถือได้ และโปร่งใส

 

ด้านการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ และทรัพยากรธรรมชาติ


ผลสำรวจในรายงาน Global Risks Report 2023 พบว่า วิกฤตที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติเป็น 6 ใน 10 ความเสี่ยงสำคัญที่จะส่งผลกระทบทั่วโลกในระยะ 10 ปีข้างหน้า ทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนทั่วโลกต่างตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องพัฒนาขีดความสามารถในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ยังมีความเป็นไปได้สูงมากว่าโลกจะไม่สามารถขับเคลื่อนเพื่อดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (net zero) ได้ตามกรอบเวลาที่ตั้งไว้

 

ผลการสำรวจ Global Risks Perception Survey ในรายงาน Global Risk Report 2023

 

ประเด็นที่เป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวด้านสภาพภูมิอากาศ ทั้งการบรรเทาผลกระทบและการปรับตัวด้านสภาพภูมิอากาศ (climate change mitigation และ adaptation) คือ หลายประเทศยังขาดแผนการปรับตัวที่ชัดเจนเพื่อกำหนดแนวทางให้ภาคเอกชนตั้งเป้าหมายปรับตัวตาม นอกจากนี้ ภาคการเงินและธุรกิจยังไม่สามารถรวมความเสี่ยงทางการเงินและทางกายภาพที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (internalize climate-related financial risk and physical risk) เข้าไปในโมเดลธุรกิจและการวางแผนทางการเงินได้อย่างเหมาะสม หน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับการสนับสนุนให้ภาคการเงินและธุรกิจสามารถประเมินความเสี่ยง และกำหนดมาตรฐานสากลในการเปิดเผยข้อมูลและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องได้ อันจะช่วยให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรทางการเงินสำหรับการปรับตัวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยกระดับความโปร่งใสของข้อมูลด้านความยั่งยืน สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาลได้อย่างมีประสิทธิผล

         

นอกจากนี้ ประเทศเศรษฐกิจหลัก เช่น สหภาพยุโรป ยังมีการใช้มาตรการจัดเก็บภาษีก๊าซเรือนกระจกก่อนข้ามพรมแดนสำหรับสินค้านำเข้า หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) เพื่อกระตุ้นการปรับตัวของภาคธุรกิจให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยในปี 2026 จะจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมบนสินค้าที่นำเข้าจากประเทศที่ไม่มีระเบียบควบคุมการปล่อยคาร์บอน สำหรับสินค้า 5 กลุ่ม ได้แก่ ปูนซีเมนต์ ปุ๋ย เหล็ก อลูมิเนียม และกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนของผู้ผลิตสินค้าส่งออกไปยังสหภาพยุโรป และในอนาคตก็เป็นไปได้มากว่าเราจะเห็นมาตรการทางการค้าในลักษณะนี้เพิ่มมากขึ้นเพื่อกดดันให้ผู้ประกอบการทั่วโลกปรับกระบวนการผลิตให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลง

           

ดังนั้น กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เช่น พลังงานฟอสซิล ปิโตรเคมีภัณฑ์ และปูนซีเมนต์ จึงต้องเร่งปรับตัวให้มีการชดเชยคาร์บอน (carbon offsetting) ในกระบวนการผลิต อีกทั้งการเดินหน้าลดก๊าซเรือนกระจกในภาพใหญ่ ก็จำเป็นที่จะต้องมีแหล่งพลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียนที่มีราคาเหมาะสมและเชื่อถือได้ ภาครัฐจึงต้องเร่งปรับโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานควบคู่กันไปด้วย

 

ภาพประกอบ

 

ภัยธรรมชาติและสภาพอากาศที่รุนแรง เช่น อุณหภูมิที่สูงขึ้น น้ำท่วม ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และพายุที่มีความถี่และความรุนแรงสูงขึ้น เป็นความเสี่ยงทางกายภาพที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจได้เป็นวงกว้าง และกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องใช้งบประมาณจำนวนมากและต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้นเพื่อการซ่อมแซมฟื้นฟูและเยียวยา และยังทำให้ค่าใช้จ่ายด้านการประกันความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้นด้วย ตัวอย่างผลของสภาพอากาศเลวร้าย คือ ภาวะภัยแล้งและปรากฏการณ์น้ำค้างแข็งปกคลุมอย่างหนัก ที่เกิดขึ้นในบราซิลในปีช่วงปี 2564-2565 ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อปริมาณผลผลิตกาแฟ ที่บราซิลเป็นแหล่งส่งออกใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้ราคากาแฟพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี และยังมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงต่อไปอีกจากภาวะอากาศที่แปรปรวน

           

นอกจากนี้ ภาวะสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลงและทรัพยากรธรรมชาติที่มีจำกัด อาจทำให้เกิดการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต ทั้งอาหาร น้ำ พลังงาน และแร่โลหะที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิต World Economic Forum ประเมินว่าในระยะ 10 ปีข้างหน้า ความต้องการบริโภคอาหารทั่วโลกจะเพิ่มสูงขึ้น 1.4% ต่อปี ในขณะที่โลกสามารถผลิตอาหารเพิ่มขึ้นได้ 1.1% ต่อปี และจะมีความต้องการใช้น้ำสูงกว่าแหล่งน้ำจืดที่เข้าถึงได้ถึง 40% ซึ่งการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติและปัจจัยการผลิตเหล่านี้ ย่อมส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจและสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อผ่านต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าอุปโภคบริโภค

           

ความเสี่ยงทั้งสามกลุ่มที่กล่าวถึงข้างต้นยังมีความเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งหากเกิด shock หรือ trigger point ในช่วงเดียวกัน ก็จะทำให้ผลกระทบทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นได้ เช่น ประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องการเงินทุนเพื่อการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว ต้องเผชิญกับอุปสรรคจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง ต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้นและสภาพคล่องในระบบการเงินโลกลดลง รัฐบาลที่มีข้อจำกัดทางงบประมาณก็อาจจะไม่สามารถช่วยบรรเทาภาระของประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตค่าครองชีพ

           

โลกข้างหน้าเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและความเสี่ยง แต่ละประเทศย่อมมีความสามารถรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ได้ไม่เท่าเทียมกัน สิ่งที่เราต้องเตรียมพร้อมอยู่เสมอคือรักษาความยืดหยุ่นในการปรับตัว และดูแลระบบเศรษฐกิจการเงินให้มีภูมิคุ้มกันทนทานต่อความเสี่ยงต่าง ๆ ได้ในแบบที่เจ็บตัวน้อยที่สุด หลักค่านิยมที่ ธปท. ยึดถือในการทำหน้าที่ คือ ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ ติดดิน จะยังเป็นเข็มทิศนำทางในการยึดมั่นหลักการที่ถูกต้อง คาดการณ์อนาคตและความเสี่ยง ร่วมมือกับทุกภาคส่วน และดำเนินนโยบายที่คิดรอบคอบปฏิบัติได้บนพื้นฐานของความเป็นจริง

 

[1] แรงกดดันด้านอุปทานที่เกิดจากราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น

[2] ข้อมูลจาก Global Risks Report 2023 | World Economic Forum

[3] Cybersecurity - Worldwide | Statista Market Forecast

[4] Fraudsters Cloned Company Director's Voice In $35 Million Bank Heist, Police Find I Forbes.com )

 

ผู้เขียน