ปรับธุรกิจสู่โลกยุคใหม่ เท่าทันสถานการณ์อย่างยั่งยืน
กับมาตรการ "สินเชื่อเพื่อการปรับตัว"
ความรุนแรงและยาวนานของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ไม่เพียงส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง แต่ยังเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลากหลายมิติอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดบริบทโลกใหม่ที่หลายท่านอาจคุ้นชินกับคำว่า "new normal" ผ่านพฤติกรรมผู้บริโภค ความต้องการสินค้าบริการ และทิศทางการตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ช่องทางออนไลน์ดิจิทัลแพลตฟอร์มที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต การดูแลสิ่งแวดล้อมที่ถูกกำหนดเป็นเงื่อนไขด้านการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ หรือการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ที่เสริมศักยภาพธุรกิจ จนอาจส่งผลให้การทำธุรกิจในรูปแบบเดิม ๆ โดยไม่ปรับตัวอาจตกขบวน และไม่สามารถแข่งขันได้ในที่สุด
โลกยุคหลังโควิด 19 จึงเป็นความท้าทายอีกบทหนึ่ง ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ที่ได้ประคับประคองกิจการให้ผ่านพ้นช่วงที่ยากลำบาก ให้สามารถพลิกฟื้นกลับมาเติบโตและแข่งขันได้อย่างยั่งยืนต่อไป โดยได้หารือกับผู้แทนภาคเอกชนผ่านกลไกของหอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรม และสมาคมธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ กระทรวงการคลัง และกระทรวงพลังงาน ออกเป็นมาตรการ "สินเชื่อเพื่อการปรับตัว" มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2565 ซึ่งเป็นการต่อยอดและเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการ "สินเชื่อฟื้นฟู[1]" ภายใต้ พรก.การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 (พรก.ฟื้นฟูฯ) โดยมุ่งเน้นให้ผู้ประกอบธุรกิจที่พร้อมปรับตัวสามารถเข้าถึงแหล่งทุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อใช้ในการลงทุนพัฒนาเสริมศักยภาพธุรกิจใน 3 รูปแบบที่สอดรับทิศทางโลกอนาคต คือ (1) กระแสดิจิทัลเทคโนโลยี (2) กรอบการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ (3) นวัตกรรมแห่งโลกอนาคต
มาตรการสินเชื่อเพื่อการปรับตัวต่างจากมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการกู้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ โดยได้ปรับหลักเกณฑ์ให้เอื้อสำหรับการกู้เพื่อลงทุน ด้วยขนาดวงเงินสูงสุดที่ 150 ล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขการค้ำประกันที่ยืดหยุ่นขึ้น ซึ่ง ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หวังเป็นอย่างยิ่งว่ามาตรการนี้จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยผู้ประกอบธุรกิจ SMEs เตรียมพร้อมในการปรับตัวในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการดำเนินงาน และยกระดับความสามารถในการแข่งขัน รองรับบริบทโลกใหม่ โดยผู้ประกอบธุรกิจที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ของ ธปท. (ww.bot.or.th) ที่มาตรการสินเชื่อเพื่อการปรับตัวภายใต้ พรก.ฟื้นฟูฯ หรือติดต่อสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจได้โดยตรง โดยสามารถยื่นคำขอสินเชื่อได้จนถึงช่วงเดือนเมษายน 2567
ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่โลกหลังโควิด 19 มาตรการสินเชื่อเพื่อการปรับตัวจึงได้เข้ามาเป็นหนึ่งในฟันเฟืองในการช่วยเหลือ SMEs ในการพลิกฟื้นธุรกิจ แม้ในระยะแรกยอดการอนุมัติสินเชื่อยังไม่มากนัก ตามเศรษฐกิจที่ยังทยอยฟื้นตัว แต่มีการกู้เพื่อลงทุนในการปรับธุรกิจครบแล้วทั้ง 3 รูปแบบ ด้วยเม็ดเงินที่กระจายตัวในหลายจังหวัดทั่วทุกภูมิภาค และวงเงินสินเชื่อเฉลี่ยกว่า 10 ล้านบาทต่อราย สูงกว่าสินเชื่อฟื้นฟูที่เป็นสินเชื่อเพื่อใช้หมุนเวียนที่มีวงเงินเฉลี่ยราว 3-4 ล้านบาทต่อราย โดยหวังว่าผู้ประกอบธุรกิจที่มีความพร้อมและได้นำร่องในการปรับตัวแล้วกลุ่มนี้ จะเป็นตัวอย่างที่ดีที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวของ SMEs ในวงกว้างยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ พบว่าผู้ประกอบธุรกิจที่ขอสินเชื่อเพื่อการปรับตัวส่วนใหญ่ยังเป็น SMEs ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ขณะที่ SMEs ในภาคบริการอย่างโรงแรมและร้านอาหาร ซึ่งเพิ่งเริ่มฟื้นตัวหลังเปิดประเทศได้ไม่นาน ยังมีสัดส่วนไม่มากนัก (คิดเป็น 19% ของจำนวนลูกหนี้ที่ได้รับอนุมัติ) สอดคล้องกับการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจ (K-shaped recovery) โดยเห็นเคสตัวอย่างการปรับตัวที่หลากหลายและน่าสนใจ โดยเฉพาะสำหรับ SMEs ที่อยู่ระหว่างศึกษาโอกาสทางธุรกิจ สามารถนำไปปรับใช้และต่อยอดได้ทั้ง 3 รูปแบบการปรับตัว ดังนี้
รูปแบบแรก "การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (green)" เป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คิดเป็น 56% ของจำนวนลูกหนี้ที่ได้รับอนุมัติ โดย SMEs ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตหลายรายได้เข้ามาขอสินเชื่อเพื่อการปรับตัวเพื่อไปลงทุนติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ แบตเตอรี่เพื่อเก็บสำรองไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ หรือระบบสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงานที่สูงขึ้นและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงเพื่อไปลงทุนเครื่องจักรที่ผลิตพลังงานจากวัสดุชีวมวลหรือขยะ หรือแม้แต่ติดตั้งระบบการจัดการน้ำหรือระบบหมุนเวียนน้ำกลับมาใช้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า SMEs หันมาให้ความสำคัญกับเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
นอกจากนี้ ผู้ประกอบกิจการโชว์รูมรถยนต์หลายรายก็ปรับตัวให้รองรับกระแสยานยนต์ไฟฟ้า (Electronic vehicles: EV) โดยขอสินเชื่อเพื่อการปรับตัวไปลงทุนสร้างหรือปรับปรุงศูนย์ซ่อมบำรุงให้รองรับยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งต้องการเครื่องมือและอุปกรณ์ที่มีความเฉพาะ ขณะที่โรงงานบางแห่งได้ขอสินเชื่อเพื่อการปรับตัวเพื่อไปเปลี่ยนหัวเผาหม้อไอน้ำ (boiler) ที่ใช้ถ่านหินไปใช้เชื้อเพลิงชีวมวลแทน ซึ่งเป็นการช่วยลดมลพิษทางอากาศ
อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ บริษัทแห่งหนึ่งได้เห็นถึงโอกาสที่จะต่อยอดธุรกิจจากนโยบายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมการขนส่งทางเรือ โดยหันมาขอสินเชื่อเพื่อการปรับตัวเพื่อลงทุนพัฒนาระบบวิเคราะห์ข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สำหรับเรือขนส่ง ซึ่งจะช่วยให้เจ้าของเรือทราบปริมาณการปล่อย CO2 ในการขนส่งแต่ละครั้ง และนำไปสู่การหาวิธีควบคุมหรือลดปริมาณ CO2 ได้ต่อไป
รูปแบบที่สอง "กระแสดิจิทัลเทคโนโลยี (digital technology)" ซึ่งได้รับความนิยมรองลงมา
คิดเป็น 30% ของจำนวนลูกหนี้ที่ได้รับอนุมัติ โดย SMEs ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตหลายแห่งต้องการเปลี่ยนเครื่องจักรให้รองรับการทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ หรือซื้อหุ่นยนต์มาใช้เพื่อปรับกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ ลดความผิดพลาดจากแรงงานคน และอันตรายในการทำงานของบุคลากร เช่น ผู้ประกอบธุรกิจผลิตใบมีดและใบเลื่อยลงทุนในเครื่องเจียรและเครื่องเลื่อยที่มีแผงควบคุมและทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ ซึ่งช่วยให้กระบวนการผลิตรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น หรือผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายท่อเหล็กลงทุนในระบบงานจัดซื้อและบริหารสต๊อกสินค้า ซึ่งทำให้บริหารสินค้าคงคลังได้อย่างรวดเร็วและตรวจสอบได้ง่าย เป็นต้น
นอกจากผู้ประกอบการจะลงทุนในระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์แล้ว ยังให้ความสนใจในการพัฒนาความรู้และทักษะด้านเทคโนโลยีให้แก่บุคลากรและแรงงาน ให้สามารถใช้งานระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
รูปแบบที่สาม "ด้านนวัตกรรมแห่งโลกอนาคต (innovation)" พบว่าเกษตรกรบางรายเข้ามาขอสินเชื่อเพื่อการปรับตัวในการปรับปรุงโรงเลี้ยงสุกรให้เป็นระบบปิด เพื่อให้สามารถควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และการระบายอากาศในโรงเรือนได้ ลดการระบาดของโรค รวมไปถึงต้องการทำ smart farming เพื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการกระบวนการเพาะปลูกให้ได้ผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมก็เห็นถึงความสำคัญในการลงทุนปรับโฉมธุรกิจให้รองรับโลกยุค new normal รวมถึงโครงสร้างของประชากรที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากขึ้น จึงได้ขอสินเชื่อเพื่อการปรับตัวโดยลงทุนปรับเปลี่ยนพื้นที่ของโรงแรมให้รองรับแขกผู้สูงอายุหรือผู้พิการ เพื่ออำนวยความสะดวกและยกระดับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้มาเข้าพัก ซึ่งจะช่วยเสริมภาพลักษณ์ของโรงแรมและดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น
ตัวอย่างข้างต้นนี้ เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นที่สินเชื่อเพื่อการปรับตัวเข้าไปเป็นกลไกสำคัญสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ของไทยปรับตัวและพร้อมเดินหน้าธุรกิจต่อไปในโลกยุค new normal ได้อย่างยั่งยืน