ถอดรหัส VIRTUAL BANK 
ข้อมูลที่ผู้ให้และผู้ใช้บริการควรรู้

หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดรับฟังความเห็นต่อแนวทางการอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา(virtual bank) ไปเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2566 คำว่า "virtual bank" และ "ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา" จึงกลายเป็นที่สนใจในแวดวงธนาคารและประชาชน พระสยาม BOT MAGAZINE จึงขอชวนผู้อ่านมาทำความรู้จักกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ใกล้ตัวที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย

 

Person

 

 

Virtual Bank คืออะไร

 


 

virtual bank หรือธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา[1] เป็นธนาคารพาณิชย์รูปแบบใหม่ที่ให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นหลักโดยไม่มีสาขา เครื่องถอนเงินสดอัตโนมัติ (ATM) หรือเครื่องฝากเงินสดอัตโนมัติ (CDM) เป็นของตนเอง แต่ยังสามารถให้บริการทางการเงินได้อย่างครบวงจร อย่างไรก็ตาม เพื่อให้บริการลูกค้าที่ยังต้องการใช้เงินสด หรือให้บริการที่ยังไม่สามารถทำผ่านช่องทางดิจิทัลได้อย่างเต็มรูปแบบ virtual bank อาจแต่งตั้งตัวแทนรับฝาก/ถอนเงิน หรือให้บริการผ่านเครือข่าย ATM ของธนาคารพาณิชย์อื่น ทั้งนี้ สำหรับในประเทศไทย ธปท. คาดหวังไว้ว่า virtual bank จะเข้ามายกระดับการให้บริการกับกลุ่มลูกค้ารายย่อยและธุรกิจ SMEs เป็นหลัก

 

10 อันดับ Neobank

 

แม้ธนาคารประเภทนี้จะจัดตั้งขึ้นมาสักระยะหนึ่งแล้วในต่างประเทศ แต่ยังถือว่าเป็นธนาคารประเภทใหม่ที่ไม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ และเรียกแตกต่างกันในแต่ละประเทศ เช่น digital bank (สิงคโปร์และมาเลเซีย) internet-only bank (เกาหลีใต้และไต้หวัน) neobank (สหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย) และ virtual bank (ฮ่องกง) สำหรับประเทศไทยจะใช้ชื่อ virtual bank เพื่อไม่ให้สับสนกับคำว่า mobile banking หรือ internet banking ซึ่งใช้เรียกช่องทางการให้บริการของธนาคารพาณิชย์ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน

 

 

ความแตกต่างระหว่าง Virtual Bank กับธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน

 


 

แม้จะให้บริการผ่านแอปพลิเคชันเหมือนกัน แต่จุดเด่นของ virtual bank ที่แตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ปัจจุบันอาจแบ่งได้เป็น 2 ด้านหลัก คือ 

           

(1) การไม่มีสาขาจะช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานให้ virtual bank โดยเฉพาะค่าสถานที่ และค่าจ้างพนักงานประจำสาขา หลุดออกจากกรอบของธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิมที่ยังพึ่งพาเจ้าหน้าที่หรือบุคลากรในหลายกระบวนการ หรือดำเนินงานบนโครงสร้างระบบเทคโนโลยีเดิมที่อาจไม่ค่อยคล่องตัว ทำให้มีข้อจำกัดในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบใหม่ ๆ ธปท. จึงคาดหวังว่า virtual bank จะเข้ามามีบทบาทในการออกแบบกระบวนการทำงานและการให้บริการใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาศัยประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ยืดหยุ่นคล่องตัว พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีและเร็วขึ้น

 

Starling Bank

 

(2) virtual bank ที่จะเปิดให้บริการจะต้องนำข้อมูลทางเลือกที่หลากหลายมาใช้วิเคราะห์พฤติกรรม เพื่อประกอบการนำเสนอบริการทางการเงิน ที่เหมาะกับความต้องการและความเสี่ยงของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งมิติด้านคุณภาพและราคา

           

จุดเด่นทั้ง 2 ด้านดังกล่าวจะสนับสนุนให้ virtual bank สามารถให้บริการลูกค้ารายย่อยที่เข้าไม่ถึงบริการของธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน (unserved) และกลุ่มที่เข้าถึงแล้ว แต่ยังได้รับบริการไม่เพียงพอหรือไม่ครบวงจร (underserved) ได้ดียิ่งขึ้น

 

จำนวนบัญชี

 

 

คนไทยจะได้ประโยชน์อะไรจาก Virtual Bank

 


 

ธปท. คาดหวังให้ virtual bank เข้ามาพัฒนานวัตกรรมในภาคการเงินควบคู่กับการดูแลความเสี่ยงที่อยู่บนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม (responsible innovation) โดยได้กำหนดเป้าหมายของ "สิ่งที่อยากเห็น (green line)" และ "สิ่งที่ไม่อยากเห็น (red line)" จากการเปิดให้มี virtual bank ไว้อย่างชัดเจน ดังนี้

 

คนไทยจะได้ประโยชน์อะไรจาก Virtual Bank

 

 

แนวทางดำเนินการของ ธปท. เพื่อให้ Virtual Bank ตอบโจทย์ที่ตั้งไว้

 


 

ธปท. ได้ออกแบบกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้ง virtual bank นับตั้งแต่การกำหนดคุณสมบัติและการคัดเลือกผู้ขอจัดตั้ง การประเมินความพร้อมก่อนเปิดให้บริการ ตลอดจนการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องไว้อย่างรัดกุม พร้อมกับสื่อสารเป้าหมายไว้อย่างชัดเจนล่วงหน้า เพื่อให้มั่นใจได้ว่า virtual bank ที่เปิดให้บริการสามารถบรรลุ green line โดยไม่มีพฤติกรรมหรือความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่ red line

          

สำหรับการกำหนดคุณสมบัติและการคัดเลือกผู้ขอจัดตั้ง ธปท. จะพิจารณาคัดเลือกจากผู้ยื่นขอจัดตั้งที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและเหมาะสมที่สุดเท่านั้น[2] เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะเข้ามาช่วยตอบโจทย์ให้บรรลุ green line ได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ธปท. เห็นว่าในระยะแรกของการเปิดให้มีผู้ให้บริการ virtual bank ซึ่งเป็นบริการรูปแบบใหม่ ก็ควรพิจารณาจำกัดจำนวนใบอนุญาตไว้ เพื่อไม่ให้มีจำนวนผู้ให้บริการมากเกินไปจนสร้างการแข่งขันอย่างรุนแรง และเป็นผลเสียต่อระบบการเงินในระยะยาว อีกทั้งยังเอื้อให้ ธปท. สามารถกำกับดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          

ธปท. จะเข้าไปประเมินความพร้อมก่อนเปิดให้บริการอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านไอที และระบบงานที่เกี่ยวข้องให้ได้ตามมาตรฐาน เพื่อให้มั่นใจได้ว่า virtual bank สามารถให้บริการได้ตามแผนอย่างราบรื่น มีมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการให้บริการตามหลักเกณฑ์ที่ ธปท. กำหนด เช่น ต้องใช้มาตรฐานการยืนยันตัวตนที่เข้มงวดเท่าเทียมกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไป เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่มิจฉาชีพจะใช้เป็นช่องทางการกระทำความผิด รวมทั้งมีกระบวนการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็นธรรม ทั้งการให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องครบถ้วน การขอความยินยอมในการใช้ข้อมูลลูกค้าอย่างเหมาะสม ตลอดจนมีแนวทางดูแลและคุ้มครองผู้ใช้บริการที่สะดวกและรวดเร็ว เช่น ผ่านบริการ live chat, call center หรือการทำ VDO call รวมทั้งมีแผนสำรองเพื่อให้ลูกค้าสามารถถอนเงินสดได้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน

          

ส่วนการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง virtual bank ที่เปิดให้บริการจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไป และจะถูกกำกับดูแลตามระดับความเสี่ยง โดย ธปท. จะให้ความสำคัญเป็นพิเศษในด้านความต่อเนื่องในการให้บริการของระบบไอที และประสิทธิภาพในการดูแลลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล นอกจากนี้ ในช่วง 3-5 ปีแรกที่เปิดดำเนินการ (phasing) ธปท. จะกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด และอาจกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมให้ virtual bank ปฏิบัติตามความเหมาะสม เพื่อให้มั่นใจได้ว่า สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคงโดยไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้ฝากเงินและระบบการเงิน เมื่อครบช่วงแรกแล้ว หาก ธปท. เห็นว่า virtual bank สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน โดยนำเสนอบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ green line และไม่ได้มีพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิด red line ธปท. จะพิจารณาให้ผ่านช่วง phasing โดยยกเลิกเงื่อนไขที่กำหนดให้ virtual bank นั้น ๆ ต้องปฏิบัติตาม 

          

นอกจากนี้ virtual bank นับเป็นสถาบันการเงินที่ต้องนำส่งเงินเข้าสถาบันคุ้มครองเงินฝากเช่นเดียวกับสถาบันการเงินประเภทอื่น นับตั้งแต่วันแรกที่เริ่มเปิดดำเนินการ ดังนั้น การฝากเงินที่ virtual bank จะได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกับการฝากเงินที่สถาบันการเงินประเภทอื่น

 

Mobile Banking

 

 

เมื่อไหร่คนไทยจะได้ใช้ Virtual Bank

 


 

หลังจากที่เสร็จสิ้นกระบวนการรับฟังความเห็นจากสาธารณชนเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ธปท. จะนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ มาใช้จัดทำหลักเกณฑ์การขอจัดตั้ง virtual bank ที่จะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณา ภายหลังจากหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ก็จะเริ่มกระบวนการเปิดรับสมัคร การพิจารณาคัดเลือก และการเตรียมความพร้อมของผู้ได้รับใบอนุญาต โดยคาดว่า virtual bank จะพร้อมเปิดดำเนินการแก่ประชาชนได้ภายในปี 2568