เมื่อความผันแปรของโลกคือโอกาสของประเทศไทย 
ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้าง "เศรษฐกิจใหม่" 
ในสายตานฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ แห่งบีโอไอ

 

 

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) นับเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไทยมากว่า 50 ปี โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ เป็นหัวหอกในการดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนระยะยาวในประเทศไทย เช่น โรงงานผลิตรถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี อุตสาหกรรมหลักเหล่านี้ของประเทศ บีโอไอล้วนมีส่วนในการวางรากฐานทั้งสิ้น

 

 

แม้จะประสบความสำเร็จอย่างสูง แต่อุตสาหกรรมไทยและบีโอไอกำลังเผชิญกับความท้าทายของโครงสร้างเศรษฐกิจที่ต้องปรับเปลี่ยนให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเศรษฐกิจโลก นี่เป็นเหตุผลที่บีโอไอเปลี่ยนแปลงวิธีคิด ยุทธศาสตร์ และทิศทางการทำงานใหม่ โดยมีเป้าหมายคือการสร้าง "เศรษฐกิจใหม่"

 

 

เมื่อความผันแปรของโลกคือโอกาสของประเทศไทย  ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้าง "เศรษฐกิจใหม่"  ในสายตานฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ แห่งบีโอไอ

 

 

หลังโควิด 19 เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้จะยังมีความท้าทายอยู่หลายประการจากความผันผวนในเศรษฐกิจการเมืองโลก ในด้านของการลงทุนจากต่างประเทศ สถานการณ์ของไทยเหมือนหรือต่างจากภาพใหญ่ของเศรษฐกิจโลกหรือไม่ อย่างไร

 


 

          หลังสถานการณ์โควิด 19 เริ่มคลี่คลาย การส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การขอรับการส่งเสริม การอนุมัติ ไปจนถึงการออกบัตรส่งเสริมของบีโอไอ โดยในปี 2565 มีการขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 2,119 โครงการ (เพิ่มขึ้น 41%) มูลค่าเงินลงทุนมากกว่า 664,000 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 39% จากปี 2564) ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าช่วงก่อนโควิด 19  โดยในส่วนของการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) เพิ่มขึ้น 36% สะท้อนว่าการลงทุนเริ่มฟื้นตัว และนักลงทุนต่างประเทศสนใจเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น

 

ส่วนจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติและการออกบัตรส่งเสริมก็เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2564 โดยในขั้นการออกบัตรส่งเสริม ถือว่าใกล้เคียงกับการลงทุนจริงมากที่สุด เพราะมักจะเกิดขึ้นเมื่อมีเงินทุนเข้ามาและบริษัทเตรียมที่จะลงทุนจริง โดยในปี 2565 มีการออกบัตรส่งเสริม 1,490 โครงการ (เพิ่มขึ้น 9%) มูลค่าเงินลงทุนกว่า 489,000 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 21%) เป็นสัญญาณที่ดีว่าจะมีการลงทุนเกิดขึ้นจริงในอีก 1-2 ปีข้างหน้าเพิ่มมากขึ้น

 

 

บีโอไอเพิ่งประกาศวิสัยทัศน์ในทศวรรษที่ 6 ว่า "ส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจใหม่" คำถามคือ "เศรษฐกิจใหม่" ในสายตาบีโอไอมีหน้าตาแบบไหน ต่างจากเศรษฐกิจเก่าแบบที่เป็นอยู่อย่างไร

 


 

"เศรษฐกิจใหม่" คือ เศรษฐกิจที่เพิ่มศักยภาพให้กับประเทศในระยะยาว บีโอไอมองว่ามี 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่ (1) innovative เป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ (2) competitive เป็นเศรษฐกิจที่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน สามารถปรับตัวได้เร็ว และสร้างการเติบโตสูง และ (3) inclusive เป็นเศรษฐกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมทั้งการสร้างโอกาสและลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ

          

เหล่านี้เป็นหน้าตาของเศรษฐกิจใหม่ที่บีโอไอต้องการผลักดัน และได้นำมาเป็นแนวคิดหลักในยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนในระยะ 5 ปีข้างหน้า (ปี 2566-2570)

 

ในเชิงรูปธรรมแล้ว บีโอไอจะผลักดันเศรษฐกิจใหม่ผ่านการส่งเสริมการลงทุนซึ่งเป็นพันธกิจหลักขององค์กรอย่างไร

 


 

 

ในเชิงรูปธรรมแล้ว บีโอไอจะผลักดันเศรษฐกิจใหม่ผ่านการส่งเสริมการลงทุนซึ่งเป็นพันธกิจหลักขององค์กรอย่างไร

 

 

ในการสร้างเศรษฐกิจใหม่ ส่วนหนึ่งบีโอไอผลักดันผ่านการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ผ่านมา รัฐบาลมีอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 สาขา ที่คาดหวังให้เป็นเครื่องยนต์ใหม่ของไทย ซึ่งก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ บีโอไอได้กำหนดเป้าที่ชัดเจนขึ้น โดยจะเน้นการสร้างฐานอุตสาหกรรมใน 5 สาขาหลักที่จะเป็น "อุตสาหกรรมมุ่งเป้า" ในระยะ 5 ปีข้างหน้า ได้แก่ อุตสาหกรรม BCG [1] อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (รถ EV) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์          

 

 

ในทางเศรษฐศาสตร์ การที่รัฐเลือกสนับสนุนบางภาคอุตสาหกรรมและไม่เลือกบางอุตสาหกรรม มักจะถูกตั้งคำถามเสมอ บีโอไอจะอธิบาย 5 อุตสาหกรรมที่เลือกนี้อย่างไร

 


 

 

 

ทั้ง 5 สาขาเป็นอุตสาหกรรมที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจสูง เรียกได้ว่าเป็น game changers ที่จะทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจใหม่ได้ และเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพสูงพอที่จะเป็น hub ของภูมิภาคได้ด้วย

          

อุตสาหกรรม BCG เป็นสาขาที่ไทยมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เนื่องจากมีความหลากหลายทางชีวภาพ มีทรัพยากรธรรมชาติและผลผลิตทางการเกษตรมาก ดังนั้น เราจึงมีขีดความสามารถที่จะต่อยอดได้มาก ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีชีวภาพเข้ามาช่วยยกระดับด้านการเกษตร อาหาร หรืออุตสาหกรรมการแพทย์ ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรม BCG ก็เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจสำคัญ รวมทั้งการผลิตและใช้วัสดุรีไซเคิลหรือการลดของเสีย ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เรามีศักยภาพสูงมาก

 

 

อุตสาหกรรม BCG

 

 

อุตสาหกรรม EV เป็นการต่อยอดฐานเดิมของเราอย่างชัดเจน ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์อันดับ 1 ของอาเซียนและเป็นอันดับ 10 ของโลกมายาวนานหลายสิบปี วันนี้เราต้องการที่จะยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไปสู่ EV ซึ่งเป็นเทรนด์ของทั่วโลก ที่ผ่านมารัฐบาลผลักดันนโยบายนี้อย่างเต็มที่ด้วยการออกมาตรการส่งเสริมรถ EV แบบครบวงจรเป็นประเทศแรกในภูมิภาค โดยส่งเสริมทั้งผู้ผลิตและสร้างตลาดในประเทศไปพร้อมกัน นอกจากนี้ รัฐยังส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศรถ EV ทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตชิ้นส่วนสำคัญ การผลิตแบตเตอรี่ และการสร้างสถานีชาร์จ เพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตหลักของรถไฟฟ้าในอนาคต

          

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นฐานเดิมของภาคการผลิตไทยเช่นกัน ที่ผ่านมาไทยเป็นฐานการผลิตผลิตภัณฑ์ในระดับกลางน้ำ โดยเฉพาะในขั้นการประกอบและทดสอบ แต่วันนี้เรามุ่งมั่นอยากจะยกระดับไปสู่ฐานการผลิตต้นน้ำ ทั้งการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ การสร้างวงจรรวมบนแผ่นเวเฟอร์ นอกจากนี้ บีโอไอยังมุ่งหวังด้วยว่า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ "สมาร์ตอิเล็กทรอนิกส์" ด้วยการนำระบบเซ็นเซอร์ Internet of Things (IoT) หรือระบบสมองกลฝังตัว (embedded system) มาใช้มากขึ้น

          

ในส่วนของอุตสาหกรรมดิจิทัล จุดแข็งของไทยคือโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่มีความสมบูรณ์ ทั้งความพร้อมของเทคโนโลยี 5G ความครอบคลุมของโครงข่ายโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ต ทำให้เรามีโอกาสพัฒนาไปเป็นศูนย์กลางข้อมูลและบริการคลาวด์ของภูมิภาคได้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ Amazon Web Services (AWS) ก็ประกาศว่าจะลงทุนในไทยมากกว่า 1.9 แสนล้านบาทในช่วง 15 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ อุตสาหกรรมดิจิทัลยังเป็นตัวช่วยยกระดับ (enabler) ที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมอื่น ๆ และจะทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล (digital transformation) ของผู้ประกอบการไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น

          

สาขาสุดท้ายคืออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เป็นสาขาที่ไทยมีศักยภาพสูงมาก ทั้งในเรื่องของซอฟต์พาวเวอร์การท่องเที่ยว ศิลปะ การออกแบบต่าง ๆ รวมถึงดิจิทัลคอนเทนต์อย่างแอนิเมชันและเกมด้วย ตอนนี้ไทยมีจำนวนเกมเมอร์เป็นอันดับต้น ๆ ของภูมิภาค และบุคลากรไทยก็มีขีดความสามารถในการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มต่าง ๆ ดังนั้น โอกาสที่ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาเกมจึงมีอยู่มากเช่นกัน

         

อันที่จริงต้องบอกว่า ทั้ง 5 อุตสาหกรรมล้วนส่งเสริมซึ่งกันและกัน เพราะผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ มีความซับซ้อนต้องใช้ความรู้หลายศาสตร์ หากทำได้สำเร็จก็จะพาไทยไปสู่เศรษฐกิจใหม่ได้

 

 

อุตสาหกรรมสร้างสรรค์

 

 

เราพอเห็นอยู่ว่า innovativeness และ competitiveness อยู่ตรงไหนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย แต่ในแง่ของ inclusiveness อาจจะยังไม่ชัด อุตสาหกรรมเป้าหมายจะช่วยเพิ่มแรงงานที่มีทักษะ เพราะต่างใช้เทคโนโลยีที่ทดแทนแรงงาน บีโอไอแก้โจทย์ inclusive อย่างไร ต้องมีมาตรการหรือยุทธศาสตร์เฉพาะเพิ่มเติมหรือไม่

 


 

อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ก็ถือว่าสร้างงาน เพียงแต่ต้องเป็นแรงงานที่มีทักษะสูง และในทางกลับกัน คนหรือแรงงานก็เป็นแรงดึงดูดสำคัญที่สุดในการดึงบริษัทเทคโนโลยีเข้ามาลงทุน ดังนั้น บีโอไอจึงต้องวางยุทธศาสตร์ด้านคนไว้สองด้าน ทั้งการสร้างคนและการดึงคน เปิดช่องในการอำนวยความสะดวกในการนำเข้าผู้เชี่ยวชาญต่างชาติให้เข้ามาช่วยเราพัฒนาประเทศด้วย

          

ในโลกใหม่ รัฐไม่ใช่พระเอกในการสร้างคนที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมอีกต่อไป แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่ภาคเอกชนหรือภาคอุตสาหกรรมต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้น บีโอไอจึงมีมาตรการให้สิทธิประโยชน์เพื่อสนับสนุนให้ภาคเอกชนรับนักศึกษาฝึกงานในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และให้สิทธิพิเศษเพิ่มเติมกับการฝึกอบรมพนักงานในหลักสูตรเทคโนโลยีขั้นสูงในอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งการกระตุ้นให้บริษัทที่มีศักยภาพจัดตั้งสถาบันฝึกอบรมหรือสถาบันการศึกษาขึ้นมาช่วยพัฒนาคน ที่ผ่านมามีตัวอย่างดี ๆ ของหลายบริษัท เช่น กลุ่ม ปตท. ที่ลงทุนจัดตั้งสถาบันวิทยสิริเมธี กลุ่มซีพีที่จัดตั้งสถาบันปัญญาภิวัฒน์ บริษัทโตโยต้าที่ทำวิทยาลัยเทคโนโลยียานยนต์ และบริษัท IRPC ที่ทำวิทยาลัยปิโตรเคมี

          

อีกด้านที่ต้องทำพร้อมกันคือ การจัดหาบุคลากรให้กับอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถจะสร้างคนได้ทัน โดยบีโอไอมีมาตรการอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนนำเข้าผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศสำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มเป้าหมาย อีกทั้งยังได้มีการตั้ง one stop service ที่จามจุรีสแควร์ ร่วมกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และกระทรวงแรงงาน เพื่ออำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน ล่าสุดเมื่อปลายปี 2565 ก็ได้เปิดตัว "Long-term Resident Visa (LTR)" ซึ่งเป็นวีซ่าประเภทใหม่ระยะยาว 10 ปี โดยมาพร้อมกับใบอนุญาตการทำงาน และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ รวมทั้งให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีกับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทักษะสูงด้วย

          

 

มาตรการสร้างคนและดึงคนไม่ได้ขัดแย้งกันแต่เกื้อหนุนกัน การดึงดูดชาวต่างชาติศักยภาพสูงให้เข้ามาช่วยยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมาย หากทำสำเร็จ เศรษฐกิจโดยรวมก็จะขยายตัวสูง อีกทั้งไทยจะมี talent pool ขนาดใหญ่ ดึงดูดให้บริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาลงทุนเพิ่มเติม ความต้องการบุคลากรก็จะเพิ่มขึ้น ก็จะยิ่งเป็นตัวเร่งในการสร้างคนมากขึ้นด้วย

 

 

ในระดับโลก ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการลงทุนสีเขียว (green investment) กำลังถูกพูดถึงอย่างมาก ในสหรัฐฯ และยุโรปก็มีการลงทุนทั้งในโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมสีเขียวอย่างมหาศาล บีโอไอมองประเด็นนี้อย่างไร

 


 

สิ่งแวดล้อมและการลงทุนสีเขียวเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสอดคล้องกับแนวคิดเรื่อง inclusive การเลือกอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยก็สอดคล้องกับเทรนด์นี้ โดยเฉพาะการพัฒนาอุตสาหกรรม BCG ที่เป็นจุดแข็งของไทย ภาคธุรกิจเองก็เห็นความจำเป็นในการปรับตัวตามแนวทาง ESG [2] บริษัทชั้นนำเกือบทุกแห่งทั้งในสหรัฐฯ ยุโรป หรือเอเชีย ล้วนมีเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญ ทำให้การเลือกแหล่งลงทุนจะคำนึงถึงแหล่งที่มีพลังงานหมุนเวียนเพียงพอ ซึ่งประเทศไทยมีความโดดเด่นในเรื่องนี้ เพราะมีขีดความสามารถที่จะจัดหาพลังงานสะอาดป้อนให้กับภาคอุตสาหกรรมได้ ตรงนี้เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทชั้นนำตัดสินใจเข้ามาลงทุน

          

อีกด้านหนึ่ง บีโอไอก็เล็งเห็นแนวโน้มของการลงทุนสีเขียวเช่นกัน จึงออกมาตรการที่ช่วยกระตุ้นให้บริษัทปรับตัวมาใช้เทคโนโลยีสีเขียว เครื่องจักรประหยัดพลังงาน และใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น รวมทั้งการยกระดับมาตรฐานเพื่อความยั่งยืนในระดับสากล เช่น GAP, FSC, PEFCs, ISO22000

          

ในประเด็นเรื่อง inclusive มีอีกมิติหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การพัฒนาชุมชนและสังคม บีโอไอได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคมภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้บริษัทที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอมีส่วนร่วมช่วยพัฒนาชุมชนในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการเกษตร การแปรรูปสินค้าท้องถิ่น การท่องเที่ยวชุมชน การจัดการสิ่งแวดล้อมในชุมชน หรือช่วยพัฒนาโรงพยาบาลและสถาบันการศึกษาในชุมชน

 

 

เราเห็นวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนของบีโอไอ แต่ในแง่เครื่องมือ บีโอไอก็ถูกตั้งคำถามเยอะว่ามีค่อนข้างจำกัด โดยเฉพาะการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีเป็นธงนำเพื่อดึงดูดนักลงทุน บีโอไอมองเรื่องนี้อย่างไร

 


 

 

เราตระหนักดีว่าการจะทำให้ไทยมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติการลงทุน ลำพังการให้สิทธิประโยชน์ไม่เพียงพอ ยุทธศาสตร์ใหม่ของบีโอไอจึงเพิ่มเครื่องมือในการส่งเสริมการลงทุนที่หลากหลายขึ้น โดยอาจแบ่งเครื่องมือหลักเป็น 3 ส่วน ได้แก่

          

เครื่องมือแรก การให้สิทธิประโยชน์แบบ whole package ที่ครอบคลุมทั้งมาตรการที่เป็นภาษีและไม่ใช่ภาษี การคิดแบบนี้มีความสำคัญ โจทย์คือจะทำอย่างไรที่จะบูรณาการเครื่องมือสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ที่มีอยู่กระจัดกระจายให้มาเป็นแพ็กเกจที่มีพลังดึงดูดการลงทุน ถ้ามองแบบนี้จะเห็นว่าการส่งเสริมการลงทุนของไทยยังมีเครื่องมืออีกมาก เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษีของกระทรวงการคลัง สิทธิประโยชน์ด้านการเงินของกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน หรือกองทุนของหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รวมทั้งการอำนวยความสะดวกในการนำเข้าผู้เชี่ยวชาญเข้ามาทำงาน นอกจากนี้ ยังมีพันธมิตรที่เป็นธนาคารหลัก ๆ อีกหลายแห่งที่พร้อมจะมาร่วมมือสนับสนุนด้านการเงินให้กับนักลงทุน 

 

 

วิสัยทัศน์ที่ชัดเจนของบีโอไอ

 

 

เครื่องมือที่สองคือ การให้บริการแบบครบวงจรทั้งก่อนและหลังการลงทุน โดยเราจะเข้าไปช่วยดูแลนักลงทุนตั้งแต่ก่อนตัดสินใจลงทุนจนไปถึงเริ่มทำธุรกิจจริง ๆ ว่านักลงทุนต้องการอะไร ติดปัญหาอะไรบ้าง เพื่อเข้าไปช่วยปลดล็อกอุปสรรค ทำให้มีความสะดวกมากที่สุดในการลงทุนในไทย ในแง่นี้ บีโอไอกำลังเพิ่มบทบาทการเป็น "facilitator" ด้วย จากเดิมที่เป็น "promoterคอยสนับสนุนการลงทุนผ่านการให้สิทธิประโยชน์เป็นหลัก โดยปัจจุบันมีโครงการนำร่อง one stop service สำหรับการจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคในไทย โดยบีโอไอร่วมกับอีก 3 หน่วยงานหลัก ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย กรมสรรพากร และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทำแพลตฟอร์มเพื่อให้บริการแบบจุดเดียวจบตั้งแต่การให้ข้อมูล ให้คำปรึกษา ไปจนถึงการอำนวยความสะดวกและช่วยติดตามในการขอใบอนุญาต

          

เครื่องมือที่สามคือ การสร้างระบบนิเวศ (ecosystem) เพื่อรองรับการลงทุน ล่าสุดบีโอไอเพิ่งตั้งคณะอนุกรรมการชุดใหม่ เรียกว่าคณะ Ease of Investment ซึ่งมีเป้าหมายให้การลงทุนในไทยมีความสะดวกมากที่สุด โดยทำงานร่วมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในแต่ละด้าน เพื่อจะทำให้นักลงทุนต่างชาติมั่นใจว่า หากเลือกลงทุนในไทยแล้วจะได้รับการอำนวยความสะดวก ไม่ติดขัด และตัดสินใจเข้ามาลงทุนในที่สุด

          

ทั้งหมดนี้ทำให้บีโอไอต้องปรับบทบาทไปเป็น "connector" ด้วย เพราะมีลูกค้าที่หลากหลาย ทั้งบริษัทไทย-ต่างชาติ บริษัทขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ในแง่ของพื้นที่ก็มีทั้งส่วนกลาง-ส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ หากสามารถเชื่อมโยงบริษัทเหล่านี้ได้ ก็จะเกิดโอกาสใหม่ ๆ ยกตัวอย่าง เวลาเชิญชวนบริษัทใหญ่ ๆ มาลงทุนในไทย เราไม่ต้องการให้เขานำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศทั้งหมด แต่อยากให้ซื้อจากผู้ผลิตในประเทศด้วย ดังนั้น บีโอไอจึงต้องเชื่อมผู้ซื้อให้เจอผู้ขาย ทำให้บริษัทต่างชาติเห็นว่าผู้ผลิตไทยสามารถผลิตชิ้นส่วนที่มีคุณภาพและมาตรฐานให้กับเขาได้ เราทำเช่นนี้มาหลายสิบปี ในปีหนึ่ง ๆ บีโอไอได้จัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงกว่า 50,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งสามารถสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานระดับโลกได้อย่างดี

 

 

แน่นอนว่า สิ่งที่บีโอไอเห็นและอยากทำนั้น อยู่ในบริบทโลกที่เต็มไปด้วยความผันผวน ไม่แน่นอน อีกทั้งยังต้องแข่งกับคู่แข่งที่ได้ชื่อว่าดำเนินนโยบายส่งเสริมการลงทุนแบบดุดันอย่างสิงคโปร์และเวียดนาม แล้วไทยจะอยู่ตรงไหนท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงเช่นนี้

 


 

 

ในโลกการลงทุน ทุกประเทศมีจุดแข็งของตัวเองและเหมาะกับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน อยู่ที่ว่าจะตีโจทย์อย่างไร

          

สำหรับประเทศไทย นักลงทุนมองว่าเป็นแหล่งลงทุนที่มีความโดดเด่น โดยเฉพาะสำหรับอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี โดยจุดแข็งของไทยในสายตาของนักลงทุนคือ มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีหลายด้านและมีคุณภาพสูงที่สุดในภูมิภาค ทั้งถนนหนทาง ท่าเรือ สนามบิน นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่จะรองรับการลงทุน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลด้วย นอกจากนี้ ไทยยังมีห่วงโซ่อุปทานที่ครบวงจรที่สุดในภูมิภาค สามารถรองรับอุตสาหกรรมหลัก ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ หรือเคมีภัณฑ์ ในส่วนของแรงงาน แม้เราจะเข้าสู่สังคมสูงวัยแต่ก็มีสิ่งที่สามารถทดแทนได้คือคุณภาพของบุคลากร ทั้งวิศวกรและช่างเทคนิค ซึ่งมีความพร้อมที่จะปรับตัวไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตได้ อีกประการที่สำคัญก็คือ สภาพแวดล้อมที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นมิตรกับนักลงทุนต่างชาติ เพราะที่ผ่านมามีนโยบายเปิดรับและสนับสนุนการลงทุนอย่างต่อเนื่อง 

 

 

บริษัทชั้นนำทั้งในสหรัฐ ยุโรปหรือเอเชีย

 

 

ความผันผวนไม่แน่นอนในโลกปัจจุบัน ทำให้คนพูดถึง "ความยืดหยุ่น (resiliency)" กันมาก แต่นโยบายส่งเสริมการลงทุนเป็นเรื่องที่ต้องวางแผนระยะยาว ทำอย่างไรถึงจะทำให้การดึงดูดการลงทุนของไทยมีความยืดหยุ่นมากพอที่จะรับมือกับความผันผวน

 


 

 

ปัจจัยในการเลือกแหล่งลงทุนของบริษัทชั้นนำเปลี่ยนแปลงไปมาก เมื่อก่อนการลงทุนจะเลือกจากขนาดตลาด โครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบของภาคธุรกิจ แหล่งวัตถุดิบ รวมทั้งดูต้นทุนเป็นหลัก แต่ในปัจจุบันนักลงทุนให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นกับการเลือกลงทุนในที่ที่มีความเสี่ยงต่ำ

          

resiliency กลายเป็นจุดแข็งอย่างหนึ่งของไทย เพราะในช่วงโควิด 19 เราเป็นไม่กี่ประเทศในโลกที่ยังผลิต นำเข้าและส่งออกได้อย่างต่อเนื่องแทบไม่สะดุด ไม่มีการล็อกดาวน์ในวงกว้างที่กระทบภาคการผลิตเหมือนประเทศอื่น ๆ และมีการจัดหาวัคซีนให้กับพนักงานในนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานอย่างรวดเร็ว สิ่งเหล่านี้ทำให้บริษัทชั้นนำเชื่อมั่นว่า ไทยสามารถเป็นฐานการผลิตที่มีขีดความสามารถในการจัดการวิกฤตได้ค่อนข้างดี

          

ปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์เป็นอีกปัจจัยที่กำหนดทิศทางการลงทุนในโลก เพราะที่ผ่านมา ความขัดแย้งทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้าและสงครามทางทหาร เริ่มส่งผลต่อธุรกิจอย่างชัดเจนแล้ว ตอนนี้บริษัทชั้นนำกำลังวางแผนการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงให้กระทบธุรกิจน้อยที่สุด ในแง่นี้ การที่ไทยมีจุดยืนและภาพลักษณ์ที่ดีบนเวทีโลก ทั้งในแง่การรักษาสมดุลอำนาจและการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับนานาประเทศ ทำให้นักลงทุนต่างชาติมองไทยเป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ ที่เป็น "พื้นที่ไร้ความขัดแย้ง"

          

อีกหนึ่งความเสี่ยงในโลกการลงทุนคือ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถ้าเราทำให้แหล่งพลังงานหมุนเวียนมีความมั่นคงก็จะเป็นโอกาสของเราอีก เพราะบริษัทชั้นนำต่าง ๆ ไม่ได้วางเป้าการใช้พลังงานสะอาดแค่ตัวเองเท่านั้น แต่คาดหวังให้ทั้งองคาพยพเดินไปด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นซัพพลายเออร์และพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ

 

 

ฟังที่พูดมาทั้งหมดแล้วคล้ายกับว่าการเปลี่ยนแปลงของโลกครั้งนี้ ดูจะเข้าทางไทยอยู่ไม่น้อย

 


 

 

ใช่ครับ ตอนนี้ไทยเราอยู่ในช่วงจังหวะสำคัญมาก ๆ ในการช่วงชิงการลงทุนที่มีคุณภาพเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายและสร้างเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ 

 

 

[1] Bio-Circular-Green Economy (BCG) หมายถึง เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เป็นเศรษฐกิจแนวใหม่ที่ภาครัฐและเอกชนต่างให้ความสำคัญ มีเป้าหมาย คือ การปกป้องสิ่งแวดล้อม การลดปัญหาโลกร้อน และเน้นพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างทั่วถึงบนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

[2] Environmental Social และ Governance