เศรษฐกิจถดถอย (Economic Recession)
ในช่วงที่ผ่านมา เป็นที่ถกเถียงกันว่าเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ recession หรือเปล่า นักวิเคราะห์เศรษฐกิจบางสำนักฟันธงว่าโลกอาจเข้าสู่ recession ในปี 2566 นี้ ขณะที่หลายสำนักบอกว่ายังเป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง
แล้ว recession คืออะไร?
ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (economic recession) หรือนิยมเรียกย่อ ๆ ว่า recession มีหลายนิยามแตกต่างกัน หากยึดตามนิยามของ NBER[1] คือ ภาวะการลดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้างอย่างมีนัยสำคัญ กินเวลายาวนานหลายเดือน และดูตัวชี้วัดหลายตัวร่วมด้วย ได้แก่ (1) รายได้ของบุคคลหักด้วยรายจ่าย (2) ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (nonfarm payrolls) (3) ตัวเลขการจ้างงานของครัวเรือน (4) รายจ่ายเพื่อการบริโภค (5) ยอดขายสินค้า และ (6) การผลิตในภาคอุตสาหกรรม
ส่วนภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค (technical recession) คือ ภาวะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ติดลบติดต่อกันอย่างน้อย 2 ไตรมาส ซึ่งอาจไม่ได้สะท้อนวัฏจักรเศรษฐกิจโดยรวม แต่เรามักได้ยินสำนักข่าวใช้ในการรายงานข่าว เพราะดูจากแค่จีดีพีอย่างเดียว ซึ่งสามารถหาได้ง่ายและรวดเร็ว
การถดถอยของเศรษฐกิจมีหลายรูปแบบ ยกตัวอย่างที่เราเคยได้ยินกันบ่อย ๆ จากข่าวในช่วงการระบาดของโควิด 19 เช่น (1) ภาวะถดถอยแล้วฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว (V-shaped) (2) ภาวะถดถอยช่วงสั้น ๆ แล้วฟื้นตัว (U-shaped) (3) ภาวะถดถอยแล้วฟื้นตัว แต่กลับไปถดถอยใหม่ก่อนที่จะฟื้นตัวอีกครั้ง (W-shaped หรือ Double-dip recessions) และ (4) ภาวะถดถอยแล้วใช้เวลานานในการฟื้นตัว (L-shaped)
เศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้รับแรงกระแทกจากการระบาดของโควิด 19 จนเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2563 ต่อมาภายหลังการระบาดของโควิด 19 คลี่คลายลง เศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญกับเงินเฟ้อสูงและภาวะการเงินที่ตึงตัวขึ้น เศรษฐกิจสหรัฐฯ จึงเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคในช่วงไตรมาส 1-2 ของปี 2565 โดยดูจากจีดีพีที่หดตัว -1.6% และ -0.6% ตามลำดับ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับมาขยายตัวได้อีกครั้งที่ 3.2% ในไตรมาส 3 และ 2.9% ในไตรมาส 4 ของปี 2565[2]
สำหรับทิศทางในปี 2566 นี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเติบโตลดลงจากปี 2565 ที่ 2.0% ไปอยู่ที่ 1.4% ในปี 2566 เนื่องจากความเสี่ยงด้านการใช้จ่ายของผู้บริโภคจะชะลอตัวลง และผลกระทบจากการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ แต่ยังไม่ถึงกับเข้าสู่ภาวะถดถอย
แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจไม่สดใสนักแต่ IMF มองเศรษฐกิจโลกในทิศทางที่ดีขึ้น โดยประมาณการล่าสุดในเดือนมกราคมปีนี้ IMF คาดว่าจีดีพีโลกในปี 2565 จะขยายตัว 3.4% และลดลงเล็กน้อยในปี 2566 เหลือ 2.9% ซึ่งสูงกว่าที่ประมาณการไว้เมื่อเดือนตุลาคมปีก่อน แสดงให้เห็นการฟื้นตัวได้ดีเกินคาดในหลายประเทศ IMF รายงานเพิ่มเติมว่า ยังไม่พบภาวะการถดถอยของจีดีพีโลกหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัว (GDP per Capita) ซึ่งมักเห็นสัญญาณเหล่านี้ เมื่อโลกกำลังจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
[1] NBER (National Bureau of Economic Research) เป็นหน่วยงานวิจัยด้านเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา นอกจากติดตามภาวะเศรษฐกิจแล้วยังเป็นผู้ประกาศวัฏจักรเศรษฐกิจ (economic cycle) ซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง รวมถึงการประกาศว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ economic recession
[2] หมายเหตุ : ข้อมูลจีดีพี Q4/2565 เป็นข้อมูลรอบแรก และเป็นการเติบโตโดยเทียบไตรมาสต่อไตรมาสและปรับผลของฤดูกาลออก (%QoQ s.a. annualized), ข้อมูลจาก US Bureau of Economic Analysis