ผสานพลังงานคนแบงก์ชาติ เหนือ ใต้ อีสาน

กับภารกิจเชื่อมโยง-ดูแลเศรษฐกิจภูมิภาค

        ภารกิจหลักของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการดูแลเสถียรภาพให้เหมาะสมกับการเติบโตของเศรษฐกิจ นอกจากทีมงานที่ปักหลักที่สำนักงานใหญ่ กรุงเทพมหานครแล้ว ยังมีฟันเฟืองสำคัญที่ขับเคลื่อนเคียงคู่กันมาตลอด นั่นคือสำนักงานภาคทั้ง 3 แห่ง ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ พระสยาม BOT MAGAZINE ฉบับนี้ จะพาไปทำความรู้จักตัวแทนคนแบงก์ชาติจากทั้ง 3 ภาค ที่ต่างทุ่มเทกำลังเพื่อเข้าถึงเข้าใจปัญหาของคนท้องถิ่น เชื่อมโยงส่วนกลางกับภูมิภาค และมุ่งหวังจะสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนให้คนทุกพื้นที่ 

bot people

งานภูมิภาค มอบประสบการณ์ที่แตกต่าง มองเห็นปัญหาจริงในพื้นที่

 

คุณพิมพ์ชนกประทับใจการทำงานในส่วนสำนักงานภาค เพราะได้ใกล้ชิดประชาชนจากการลงพื้นที่
ได้เรียนรู้หน้างานที่หลากหลาย และได้ข้อมูลที่ค่อนข้างลึกจากผู้ประกอบการหรือเกษตรกร “เกษตรกรเป็นหนี้ค่อนข้างเยอะและไม่สามารถชำระหนี้ จนตกทอดไปสู่ลูกหลาน สำนักงานภาคทั้ง 3 ภาคจึงร่วมมือกับสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์  ทำโครงการแก้ไขปัญหาหนี้เกษตรแบบองค์รวม ให้ความรู้ด้านการเงิน ส่งเสริมให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อสามารถมาจ่ายหนี้ได้ โดยได้ลงพื้นที่ไปคุยกับเกษตรกรจริง ๆ ในภาคเหนือเพื่อเห็นปัญหา หาแนวทางแก้ไขให้หลุดพ้นจากวงจรภาระหนี้ พยายามคิดเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มาใช้ช่วยในการปรับพฤติกรรมจ่ายหนี้ด้วย โครงการนี้ถ้าสำเร็จก็จะช่วยเหลือเกษตรกรได้ค่อนข้างเยอะ 

 

“ส่วนงานท่องเที่ยวเป็นความท้าทายเพราะเราเปิดประเทศแล้วหลังโควิด 19 เริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเยอะขึ้น แต่พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวก็เปลี่ยนไป ต้องศึกษาพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปว่ากระทบกับรายได้นักท่องเที่ยวยังไง ต้องพยายามมองหาเครื่องชี้วัดใหม่ ๆ ที่เหมาะกับสถานการณ์

 

“การได้มาทำงานสำนักงานภาครู้สึกว่าสามารถช่วยเหลือคนได้เยอะเหมือนกัน  ทำให้เราได้เห็นว่าจริง ๆ แล้วเขาต้องการให้เราช่วยเหลืออะไร และพยายามคิดรูปแบบในการสื่อสารให้เข้าถึงเขาได้มากที่สุด มองว่าในอนาคตคงเน้นการทำงานที่เป็นประโยชน์กับส่วนรวม และปรับปรุงการทำงานให้ตอบโจทย์คนในพื้นที่ให้มากที่สุด”

 

คุณชิตชัยก็เห็นสอดคล้องกันว่าการทำงานในภูมิภาค โดยเฉพาะการรับเรื่องร้องเรียน ทำให้ได้รับรู้ปัญหาแท้จริงที่คนในพื้นที่ประสบอยู่ เพื่อสะท้อนไปยังผู้บริหารให้เร่งแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน “เรื่องมิจฉาชีพหลอกลวงก็สะท้อนไปว่าต้องให้ธนาคารมีเบอร์ที่ประชาชนโทรร้องเรียนได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อทำให้รู้สึกว่าเขายังมีที่พึ่ง มีคนคอยช่วยแก้ปัญหาอยู่ หรือในช่วงโควิด 19 ที่มีผลกระทบกับเศรษฐกิจ มีเคสร้องเรียนเข้ามาว่าชำระหนี้ไม่ได้ โดนบังคับคดีจะถูกยึดทรัพย์ยึดบ้านไปขายทอดตลาด เราต้องช่วยประสานงาน อธิบายให้เข้าใจกระบวนการทางกฎหมาย จากนั้นมาวางแผนทางการเงินใหม่ร่วมกับลูกหนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาการค้างชำระ เป็นการช่วยเหลือประชาชนอย่างจริงจังและจริงใจ

 

“อีก 2 ปี ผมจะเกษียณอายุ ตลอดการทำงานก็ทำหน้าที่อย่างดีที่สุด 30 ปีที่ผ่านมา ในการทำงานกับ ธปท. องค์กรที่ดูแลนโยบายการเงิน ดูแลทุนสำรองของประเทศ ช่วยเหลือประชาชน นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างสูงสุดครับ”

สำนักงานภาคเหนือ ลงพื้นที่จริง เห็นปัญหา ให้คำปรึกษาหาทางแก้ 

 

เริ่มกันที่สำนักงานภาคเหนือ กับ 2 ตัวแทนต่างเจเนอเรชัน คุณชิต-ชิตชัย กิตติศรีอนันต์ ส่วนเศรษฐกิจ วัย 58 ปี ที่แม้พื้นเพเป็นคนอุดรธานี แต่มาเรียนต่อปริญญาตรีและโทที่เชียงใหม่ และลงหลักปักฐานอยู่กับแบงก์ชาติ องค์กรที่ใฝ่ฝันมายาวนานถึง 30 ปี กระทั่งจะเกษียณในอีก 2 ปีข้างหน้านี้แล้ว หน้าที่รับผิดชอบของคุณชิตชัย เริ่มต้นจากตำแหน่งผู้ตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2537   ก่อนย้ายไปส่วนงานวิเคราะห์ธุรกิจการเงิน ในการดูแลกลุ่มปล่อยกู้เงินด่วนแต่คิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดมาก ดำเนินการล่อซื้อและจับกุมร่วมกับตำรวจ กระทั่งปี 2555 มีการจัดตั้งศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน เปิดสายด่วนคอลเซนเตอร์ โทร. 1213 รับเรื่องร้องเรียนและให้คำปรึกษากรณีประสบปัญหาการเงิน คุณชิตชัยจึงได้รับมอบหมายงานเป็นผู้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ประสานงาน แก้ปัญหาขัดข้องที่เกิดขึ้นระหว่างประชาชนกับธนาคารมาจนถึงทุกวันนี้

 

งานของเราเชื่อมโยงกับภารกิจหลักในด้านการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนหรือของภาคธุรกิจ เป็นปัญหาหนี้สินที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงก่อนและหลังโควิด 19 ซึ่งตอนนี้ปัญหายังเรื้อรังอยู่ รวมถึงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการถูกมิจฉาชีพหลอก ซึ่งเป็นภารกิจที่จะต้องยับยั้งให้เร็วที่สุดเพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชน”

 

คุณปูเป้-พิมพ์ชนก แย้มสงค์ ผู้วิเคราะห์อาวุโส ส่วนเศรษฐกิจการเงินภาค 1-3 บัณฑิตเศรษฐศาสตร์ไฟแรงที่อยู่ส่วนกลางได้เพียงปีเดียวก็ขอย้ายมาประจำสำนักงานภาคเหนือตั้งแต่ปี 2562 ด้วยความมุ่งหวังอยากสัมผัสประสบการณ์ลงพื้นที่จริง รับผิดชอบงานในตำแหน่งผู้วิเคราะห์อาวุโส ส่วนงานวิเคราะห์เศรษฐกิจของภาคเหนือที่ประกอบด้วย 17 จังหวัด โดยได้รับมอบหมายให้ดูแลภาคการเกษตรอยู่ประมาณ 3 ปี ล่าสุดเพิ่งย้ายไปดูแลภาคการท่องเที่ยว   

 

“งานวิเคราะห์เศรษฐกิจนี้เชื่อมโยงกับเรื่อง smooth takeoff ในภาพใหญ่ นั่นคือการทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง ด้วยการวิเคราะห์ประเมินเศรษฐกิจของภาคเหนือ อย่างภาคการเกษตร ต้องไปเรียนรู้ก่อนว่าการเกษตรเขาทำกันยังไง ปลูกและเก็บเกี่ยวช่วงไหน เพื่อวิเคราะห์ราคาของพืชผล และหาตัวชี้วัดที่เหมาะสม”    

north bot people

สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประสานทุกส่วนเพื่อประโยชน์ประชาชน

 

สองหนุ่มสาวผู้มีความมุ่งมั่น ตัวแทนสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็มีเรื่องราวดี ๆ ที่ได้ลงมือทำมาแบ่งปัน

 

คุณแอน-อรรินท์ มุลคุตร ผู้วิเคราะห์อาวุโส ส่วนเศรษฐกิจการเงินภาค 1-3 สาวสวยสายเลือดแบงก์ชาติ ผู้รับผิดชอบงานแมคโครภาคการเงิน การติดตามภาวะเศรษฐกิจ และโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจและธุรกิจระหว่าง ธปท. กับภาคธุรกิจ หรือ Business Liaison Program (BLP) โดยไปพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกับภาคธุรกิจและสถาบันการเงิน เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองภาวะและแนวโน้มธุรกิจ ติดตามข้อมูลเร็วที่เกิดขึ้น ว่าเกิดจากอะไร เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการประเมินภาพเศรษฐกิจ และยังมีงานให้ความรู้ทางการเงิน รวมถึงการดูแลพี่น้องประชาชนในภาคผ่านการสื่อสารกับ stakeholder ด้วย

 

คุณเอิร์ธ-ปุญญวิชญ์ เศรษฐ์สมบูรณ์ ผู้วิเคราะห์อาวุโส ส่วนเศรษฐกิจการเงินภาค 1-3 หนุ่มอีสานผู้เริ่มต้นงานแบงก์ชาติที่สำนักงานใหญ่ ก่อนขอย้ายมาประจำสำนักงานบ้านเกิด รับผิดชอบงานด้านเศรษฐกิจการเงิน ติดตาม ประเมิน และวิเคราะห์ผลกระทบต่าง ๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่เพียงพอให้แก่ภาคธุรกิจ ภาคครัวเรือน หรือนักลงทุน

งานวิเคราะห์และประเมินภาวะเศรษฐกิจอีสาน จะช่วยให้ภาคธุรกิจมีความมั่นใจว่าได้ตัดสินใจบนพื้นฐานที่ลดความเสี่ยงได้มากที่สุดและมีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น ถือว่าตอบโจทย์เป้าหมายองค์กรในการผลักดันงานด้านเศรษฐกิจการเงิน และการจับชีพจรต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว

 

เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลนั้น การรวบรวมข้อมูลตัวเลขเป็นส่วนหนึ่ง แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องเข้าถึง stakeholder ต่าง ๆ ทั้งภาคธุรกิจ สถาบันการเงิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการลงพื้นที่เพื่อให้มั่นใจว่าได้ข้อมูลที่จับชีพจรได้ทันการณ์และรอบด้านจริง ๆ เพื่อส่งผลกลับไปยัง ธปท. ส่วนกลางที่เป็นผู้ออกแบบนโยบาย เป็นการสื่อสารสองทาง

 

 “เราได้พัฒนาเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อใช้จับชีพจรเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยใช้ข้อมูลในมิติที่หลากหลายของภาคธุรกิจ การค้า การผลิต ทั้งผู้ส่งออกรายใหญ่และรายเล็ก ซึ่งการติดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หรือผลกระทบจากนโยบายต่าง ๆ ต้องพยายามให้ครอบคลุมมากที่สุด รวมถึงต้องสร้างการมีส่วนร่วมกับแต่ละพื้นที่ด้วย”

Esan BOT people

อุปสรรค การแก้ปัญหา นำไปสู่ผลงานที่ภาคภูมิใจ

 

คนทำงานทุกคนมักเจอปัญหาอุปสรรคเมื่อได้ลงมือจริง แต่ทั้งคู่ต่างมองมุมบวก คุณปุญญวิชญ์เห็นว่าทุกปัญหาที่ผ่านเข้ามา ยิ่งเพิ่มประสบการณ์เรียนรู้ และเป็นบันไดให้ไม่พลาดในก้าวต่อไป ส่วนคุณอรรินท์มองการสร้างคอนเน็กชันว่าจำเป็นต่อความสำเร็จของงาน ประสบการณ์และวิธีคิดบวกนำไปสู่ความภูมิใจของทั้งคู่

 

คุณปุญญวิชญ์เล่าถึงการนำความท้าทายที่เจอมาเป็นโจทย์ในการพัฒนาการทำงานว่า “ก่อนสงกรานต์ ในเวทีการประชุมส่วนราชการจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นเป็นประธาน ผมกับทีมได้นำเสนอข้อมูลเครื่องชี้เร็วเศรษฐกิจภูมิภาค (Regional Activity Tracker) สะท้อนผ่านดัชนีการเดินทางทางบกจากปริมาณจราจรจากกล้องจราจรของกรมทางหลวง ณ เส้นทางสำคัญของภูมิภาคผ่านดัชนีการเดินทางทางอากาศจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนของภูมิภาคที่เดินทางโดยเครื่องบิน พบว่าปีนี้ที่อั้นมาจากโควิด 19 จะเห็นคนเดินทางกลับมาบ้านเยอะ และจะใช้จ่ายมาก ทำให้ผู้ว่าฯ สั่งการไปที่นายอำเภอเพื่อเตรียมการรองรับคนกลับบ้านช่วงเทศกาล และการใช้จ่ายสะพัดในพื้นที่ได้ทันท่วงที

 

“เครื่องชี้มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมาก เช่น ช่วงโควิด 19 ที่ในช่วงเดือนเมษายน 2563 มีคำสั่งล็อกดาวน์ เราต้องประเมินสถานการณ์แบบเรียลไทม์ จึงได้พัฒนาการใช้ข้อมูลจากโลกออนไลน์ต่าง ๆ เช่น Facebook Movement Range, Google Trend, Social Listening”

 

ส่วนคุณอรรินท์ได้เล่าถึงความประทับใจจากการลงพื้นที่จริงว่า “เราได้รับฟังและได้เข้าใจถึงปัญหาของผู้ประกอบการเชิงลึกจริง ๆ รวมถึงได้มีโอกาสเข้าไปช่วยประชาชนเรื่องแก้หนี้ด้วย ทำให้รู้ว่าปัญหามีหลากหลายและซับซ้อนกว่าที่คิด อีกความภูมิใจหนึ่งคือมีโอกาสได้ต้อนรับและดูแลผู้บริหารของธนาคารกลางต่างประเทศที่มาประชุมที่ภาคอีสาน ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก”

 

นอกจากนี้ในที่ทำงานคุณอรรินท์ก็ได้ชื่อว่าเป็นมิสอับดุล โดยเล่าว่า “ในช่วงโควิด 19 ได้เป็น อสม. และอยู่งาน HR เป็นช่วงที่รู้สึกว่าทำงานหนักมาก เพื่อเตือนและให้ความรู้แก่พนักงานเกี่ยวกับเรื่องโควิด 19 โดยต้องติดตามแนวปฏิบัติจากทางสำนักงานใหญ่ พอใครสงสัยอะไรก็จะมาถามเรา ส่วนเรื่อง HR อื่น ๆ ใครมีปัญหาก็จะมาปรึกษาเรา เรื่องที่รู้ก็ตอบไป ที่ไม่รู้ก็หาข้อมูลให้ หาไม่ได้จริง ๆ ก็ติดตามสืบว่าจะต้องไปถามใครได้”

 

ทั้งคู่ต่างมีความสุขและภาคภูมิใจกับงานที่ทำ ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประชาชนและประเทศโดยรวม ต่างมุ่งมั่นเดินและสานต่อบนเส้นทางที่คนรุ่นก่อนแผ้วถางสร้างความเชื่อมั่นต่อแบงก์ชาติมายาวนาน

สำนักงานภาคใต้  ความสัมพันธ์อันดีส่งผลสู่ความสำเร็จ

 

หลังจากพบตัวแทนบุคลากรสำนักงานภาคเหนือและอีสานไปแล้ว ต้องไม่พลาดที่จะล่องใต้ไปเจอกับอีกสองตัวแทนจากหาดใหญ่ที่มีอุดมการณ์การทำงานแรงกล้าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน  

 

คุณหมุย-ขนิษฐา วนะสุข เจ้าหน้าที่งานบริหารอาวุโส งานบริหารกิจการสำนักงานภาค เริ่มเข้ามาทำงานที่ ธปท. ในปี 2533 จากการชักชวนของเพื่อน ในตำแหน่งนับคัดธนบัตร และต่อมาก็ย้ายมาอยู่ส่วนวิชาการ และสุดท้ายคืองานบริหารกิจการสำนักงานภาค ที่ดูเรื่องสวัสดิการและ CSR การผ่านงานหลายส่วนงานทำให้ต้องพัฒนาตนเองตลอดเวลา โดยเฉพาะงานวิชาการที่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์เป็นอย่างดี เพื่อสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้ศึกษาต่อปริญญาโท เศรษฐศาสตร์เพิ่มเติม

 

คุณอ๊อฟ-ธนายุส บุญทอง ผู้วิเคราะห์อาวุโส งานเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานภาคใต้ หนุ่มใต้ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและโทด้านเศรษฐศาสตร์ เข้าร่วมงานที่สำนักงานภาคใต้ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในปี 2559 โดยมีความมุ่งมั่นที่จะนำความรู้ความสามารถมาใช้ในบ้านเกิด

 

south BOT people

ความไว้วางใจ ปัจจัยสำคัญในการบรรลุเป้าหมาย

 

การทำงานของสำนักงานภาค ส่วนหนึ่งคือการส่งข้อมูลเศรษฐกิจในพื้นที่ให้กับส่วนกลางเพื่อไปดำเนินนโยบายของประเทศ ซึ่งการเก็บข้อมูลนั้นเกี่ยวข้องกับคน และเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า งานที่เกี่ยวข้องกับคนไม่เคยเป็นเรื่องง่าย

 

แต่ในมุมของคุณขนิษฐามองว่า ข้อได้เปรียบของงานส่วนภูมิภาคมาจากการทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ประกอบการหรือคนในท้องถิ่น ทำให้เกิดความไว้วางใจและความเชื่อใจ การได้ข้อมูลที่รวดเร็ว ถูกต้อง ครบถ้วนจากผู้ประกอบการในช่วงเกิดปัญหาเศรษฐกิจ ล้วนเกิดจากความไว้วางใจ และการร่วมมือให้ข้อมูลเชิงลึกจากผู้ประกอบการทั้งสิ้น ขณะที่คุณธนายุสชี้ประเด็นว่าสิ่งที่ส่วนภูมิภาคต้องทำคือ การบริหารความคาดหวังของคนในพื้นที่  ซึ่งต้องพยายามสื่อสารความเป็นแบงก์ชาติที่ต้องยึดหลักการที่ชัดเจน และยึดถือประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก ไม่ใช่ประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง นอกจากนี้ ต้องทำหน้าที่สื่อสารนโยบายของแบงก์ชาติที่อาจจะเข้าใจยากให้คนในพื้นที่เข้าใจได้ง่าย และสามารถถ่ายทอดต่อไปได้อย่างถูกต้อง

 

ทั้งสองคนต่างถ่ายทอดมุมมองความท้าทายของงานที่ต้องพบเจอ โดยคุณขนิษฐาในวัย 58 ปี มีมุมมองน่าสนใจเกี่ยวกับทัศนคติการทำงานมาถ่ายทอดสู่รุ่นน้องร่วมสำนักงานภาคว่า “ในช่วงวัยเริ่มแรกทำงานจะมองทุกอย่างเป็นปัญหาและอุปสรรคไปหมด แต่ถึงตอนนี้มองย้อนกลับไป ทั้งหมดไม่ใช่ปัญหาเลย การปรับเปลี่ยนนโยบาย หรือการโยกย้ายงาน เราไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง เรายังมีพี่ ๆ คอยดูแล มีหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานคอยช่วยเหลือสนับสนุนอยู่เสมอ ขอเพียงแค่เราเปิดใจยอมรับการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น ทุกอย่างก็จะผ่านไปด้วยดี” ส่วนคุณธนายุส ซึ่งรับผิดชอบในการติดตาม ศึกษา และวิเคราะห์เศรษฐกิจภาคใต้เล่าว่า “ปัจจุบันความท้าทายในงานมีมากขึ้น ทั้งมิติของงานที่ทั้งกว้างและลึกขึ้น ต้องเร็วขึ้น และบางครั้งมาพร้อม ๆ กัน จึงต้องเรียนรู้และพัฒนาทักษะใหม่ ๆ อยู่เสมอ และบริหารเวลาให้เกิดประสิทธิภาพที่สุด รวมถึงหาวิธีจัดการงานประจำให้ใช้เวลาสั้นลงแต่ยังคงคุณภาพ เพื่อสำรองเวลาสำหรับงานใหม่ ๆ ที่ยากขึ้น”

มุ่งมั่นสานงาน เอื้อประโยชน์ประชาชน

 

หนึ่งในความมุ่งหวังของคนทำงานคือ งานที่ทำนั้นก่อให้เกิดประโยชน์ ซึ่งหนึ่งในความภาคภูมิใจของคุณขนิษฐาคือ การได้ให้ความรู้เกี่ยวกับธนบัตรแก่ประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก การสอนดูธนบัตรปลอม และการให้ความรู้เรื่องธนบัตรชำรุด ไม่ว่าจะไฟไหม้ ปลวกกัด รวมถึงภูมิใจที่ได้ร่วมดูแลนักเรียนทุนมูลนิธิ 50 ปี ธปท. ที่ได้มอบทุนการศึกษาแก่เด็กที่ขาดโอกาส พนักงานและคณะผู้บริหารทุกคนที่เกี่ยวข้องต่างทุ่มเท ดูแล ประคับประคองน้อง ๆ ให้ผ่านอุปสรรค จนสำเร็จการศึกษาตามที่หวังไว้

 

ทางด้านคุณธนายุสยอมรับว่าทั้งภูมิใจและประทับใจที่ทุกวิกฤตเศรษฐกิจ แบงก์ชาติเข้ามามีบทบาทสำคัญในการประคองเศรษฐกิจและภาคธุรกิจ ให้ค่อย ๆ พลิกฟื้นกลับมาได้เสมอ อย่างเช่นวิกฤตโควิด 19 ปี 2563 เศรษฐกิจภาคใต้ซึ่งพึ่งพารายได้จากภาคการท่องเที่ยวสูง ได้รับผลกระทบหนัก หลายธุรกิจรายได้แทบเป็นศูนย์ แต่ยังมีภาระค่าใช้จ่ายต่อเนื่อง

 

“ตอนนั้นผมอยู่ทีมแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจและธุรกิจกับภาคธุรกิจ (BLP) ทีมงานต้องช่วยกันประสานภาคธุรกิจภาคใต้ เพื่อประเมินผลกระทบในภาพรวมและรายงานสำนักงานใหญ่ จนกระทั่งมีมาตรการช่วยเหลือออกมา ก็ได้มีการช่วยสื่อสารมาตรการต่าง ๆ ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนติดตาม รับฟัง และสะท้อนปัญหาให้สำนักงานใหญ่รับทราบ เป็นความภาคภูมิใจของการทำงานในแบงก์ชาติภาคใต้ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของฟันเฟืองเล็ก ๆ ในการประคองเศรษฐกิจและภาคธุรกิจไว้ได้อีกครั้งหนึ่งในช่วงวิกฤต”

 

สิ่งที่เห็นได้ชัดจากทั้ง 3 ภาคคือ วัฒนธรรมองค์กรของแบงก์ชาติที่พนักงานมุ่งมั่นทำงานเพื่อประเทศ ในขณะเดียวกัน ภายในองค์กรเองก็มีความผูกพันและมีความเอื้อเฟื้อดูแลกันระหว่างคนแบงก์ชาติเองในทุกระดับ
รุ่นพี่ได้รับมาอย่างไร ก็ปลูกฝังสานต่อเพื่อดูแลน้อง ๆ ในรุ่นต่อไปจนกลายเป็น DNA ของแบงก์ชาติ 

Tag ที่เกี่ยวข้อง

BOT Magazine Interview BOT People เศรษฐกิจภูมิภาค
north2

คุณชิต-ชิตชัย กิตติศรีอนันต์
ส่วนเศรษฐกิจ

north1

คุณปูเป้-พิมพ์ชนก แย้มสงค์ ผู้วิเคราะห์อาวุโส ส่วนเศรษฐกิจการเงินภาค 1-3 

Esan2

คุณแอน-อรรินท์ มุลคุตร ผู้วิเคราะห์อาวุโส ส่วนเศรษฐกิจการเงินภาค 1-3

คุณเอิร์ธ-ปุญญวิชญ์ เศรษฐ์สมบูรณ์ ผู้วิเคราะห์อาวุโส ส่วนเศรษฐกิจการเงินภาค 1-3

south1

คุณหมุย-ขนิษฐา วนะสุข เจ้าหน้าที่งานบริหารอาวุโส งานบริหารกิจการสำนักงานภาค

south2

คุณอ๊อฟ-ธนายุส บุญทอง ผู้วิเคราะห์อาวุโส งานเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานภาคใต้