ชวนขึ้นเหนือเพื่อ “เกาให้ถูกที่คัน” และส่องความสำคัญของความสัมพันธ์
ฝนแรกของเดือนพฤษภาคมตกลงมาต่อเนื่องยาวนาน บอกให้รู้ว่าฤดูแล้งที่มาพร้อมฝุ่นควันกำลังจะหายไป ทิวทัศน์ดอยสุเทพตั้งตระหง่านปรากฏชัดขึ้นใหม่ผ่านกระจกใสในอาคารธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคเหนือ ประตูห้องเปิดไว้แล้ว เมื่อไปถึง คุณพรวิภา ตั้งเจริญมั่นคง ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท. สำนักงานภาคเหนือ ยิ้มต้อนรับเหล่าทีมงานและคุณบุญชู กมุทมาโนชญ์ ประธานสมาพันธ์ SME ไทยภาคเหนือ ผู้ร่วมสนทนาในประเด็นความร่วมมือของ ธปท. และภาคเอกชนในการพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาค
คุณพรวิภา : มองว่าจุดแข็งของภาคเหนือมีสามประเด็นหลักคือ หนึ่งทรัพยากรธรรมชาติ เป็นแหล่งต้นน้ำ ดินดี เหมาะแก่การเพาะปลูก สองที่ตั้งใกล้กับประเทศเพื่อนบ้าน เดินทางค้าขายสะดวก และสามคือต้นทุนทางวัฒนธรรมที่นำไปต่อยอดทางเศรษฐกิจได้มาก
คุณบุญชู : ต้นทุนทางวัฒนธรรมแต่ละจังหวัดก็มีอัตลักษณ์ต่างกัน ดูได้จาก SMEs ในภาคเหนือที่มีสินค้าหลากหลาย เป็นข้อได้เปรียบในการจำหน่ายสินค้า อีกทั้งยังมีตลาดชายแดนอย่างแม่สายและแม่สอดรองรับทั้งในแบบทางการและแบบท้องถิ่น หรือการค้าขายที่เกิดขึ้นตามพรมแดนธรรมชาติ และยังมีโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์เข้ามารองรับ ล่าสุดกระทรวงคมนาคมร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทยกำลังสร้างทางรถไฟ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี 2571 นี่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญ งบประมาณลงทุนจากรัฐบาลนับเป็นเงินเจ็ดหมื่นสองพันล้านบาท กลายเป็นจุดที่เชื่อมโยงการค้าขายในภูมิภาค ปลุกให้เศรษฐกิจตื่นตัว บางคนบอกว่ารถไฟก็อยู่แค่เชียงราย แต่อย่าลืมว่าสินค้ามาจากหลายพื้นที่ ถ้าภาคเหนือตอนล่างอย่างอุทัยธานีต้องการขยายตลาดรองรับสินค้าเกษตรด้วยการส่งไปจีน ก็ต้องผ่านเส้นทางนี้
คุณบุญชู : ส่วนใหญ่มักแบ่งเป็นเหนือตอนบนและเหนือตอนล่าง[1] เมื่อก่อนเราอาจมองว่าเหนือตอนบนเป็นจุดขายทางการท่องเที่ยว แต่ในเชิง SMEs เราจะเห็นเลยว่าทุกจังหวัดมีจุดขายต่างกัน ซึ่งโลจิสติกส์จะช่วยเชื่อมโยงภาคเหนือเข้าด้วยกัน ในขณะเดียวกันจะยิ่งกระตุ้นให้แต่ละพื้นที่ต้องเน้นความแตกต่าง
คุณพรวิภา : คนมักจำเชียงใหม่ว่าเป็นไฮไลต์ของภาคเหนือ แต่ตอนนี้คนเริ่มรับรู้แล้วว่าจังหวัดอื่นก็โดดเด่นมาก ล่าสุดยูเนสโกให้เชียงใหม่และสุโขทัยเป็น 2 ใน 59 เมืองสร้างสรรค์ของโลก ทำให้จังหวัดอื่นใช้โมเดลนี้ในการบอกเล่าจุดเด่นของตัวเองให้เป็น Creative Lanna ทั้งภูมิภาค ไม่ใช่แค่จังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจเองทำให้เราต้องทำงานมากขึ้นเรื่องการพัฒนา เช่น ตัวเลข Gross Regional Product (GRP) ของภาคเหนือ คิดเป็นสัดส่วนของเชียงใหม่สูงถึง 20% ในขณะที่ลำดับถัดไปอย่างกำแพงเพชร นครสวรรค์ เชียงราย เหลือแค่ 8-9% เป็นเลขตัวเดียวแล้ว ห่างกันเท่าตัว โจทย์คือเราจะทำอย่างไรให้ความเจริญกระจาย ไม่ใช่แค่เรื่องการท่องเที่ยว แต่ต้องทำรอบด้าน
คุณพรวิภา : เวลานึกถึงภาคเหนือเรามักนึกถึงการท่องเที่ยว แต่โควิด 19 ที่ผ่านมา ทำให้เห็นเลยว่าเมื่อการท่องเที่ยวล้ม มันกระทบเป็นวงกว้าง ภาคบริการ 40% ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร ขนส่ง กิจกรรมกลางแจ้งโดนกันหมด บทเรียนแรกเลยคือการกระจายความเสี่ยงทั้งกลุ่มเป้าหมาย และประเภทธุรกิจที่จะหวังพึ่งการท่องเที่ยวอย่างเดียว หรือนักท่องเที่ยวจากชาติเดียวไม่ได้
คุณบุญชู : ถ้าดูตัวเลข SMEs ในภาคเหนือประมาณ 6-7 แสนราย อันนี้คือตัวเลขบนดิน แต่ที่เหลือซึ่งอาจเกือบเท่าตัวยังอยู่ใต้ดิน จุดอ่อนของ SMEs ในภูมิภาคนี้คือพวกเขาไม่รู้ว่าเขาเป็น SMEs อย่างชาวนาแต่ก่อนปลูกข้าว เดี๋ยวนี้ปลูกข้าวแล้วตั้งชื่อต่าง ๆ เช่น ข้าวลืมผัวบ้าง ข้าวลืมเมียบ้าง (หัวเราะ) ทำบรรจุภัณฑ์ แบบนี้ก็เป็น SMEs แล้ว แต่เขาไม่รู้ หรือบางคนไม่อยากยอมรับเพราะความเข้าใจผิดต่าง ๆ ว่าการขึ้นมาอยู่บนดินมันต้องถูกตรวจสอบ มีเรื่องภาษีเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งที่จริงแล้วการอยู่ใต้ดินมันทำให้เขาพลาดโอกาสหลายอย่าง เข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร การอบรม หรือแหล่งทุน ก็ทำให้เขาเองโตยาก เราเองก็ยื่นมือเข้าไปหาเขายากด้วย
คุณพรวิภา : ในภาคเหนือส่วนใหญ่จะเป็น micro SMEs เกือบ 5 แสนจาก 6-7 แสนราย ด้วยความที่ขนาดเล็กมาก ข้อจำกัดก็จะเยอะ ทั้งเรื่องการรวมกลุ่ม เครื่องมือในการเข้าถึงข่าวสาร วินัยทางการเงินซึ่งก็มาจากเรื่องความรู้ทางการเงินด้วย ธปท. รับรู้ถึงปัญหานี้ แต่เราไม่มีทรัพยากรมากพอจะเข้าหา SMEs ได้ทั่วถึง เราเลยจับมือกับสมาพันธ์ฯ เพื่อกระจายการอบรมเรื่องความรู้ทางการเงินทั้งในเรื่องการทำบัญชี การสร้างวินัยทางการเงิน การขอสินเชื่อต่าง ๆ เพื่อให้ SMEs ทำได้ถูกต้อง โปร่งใส และเป็นความมั่นคงทางการเงินพื้นฐานของเขาต่อไป
คุณบุญชู : ธปท. มีองค์ความรู้เรื่องการเงินอยู่แล้ว ทางสมาพันธ์ฯ จึงติดต่อไปว่าเราต้องการความรู้พวกนี้ โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงแหล่งทุน การเจรจาต่อรองกับสถาบันการเงิน เพราะระหว่างการทำธุรกิจมันมีอุปสรรคแน่นอน เมื่อก่อนเวลาสถาบันการเงินนัดหมาย SMEs จะไม่กล้าไป เพราะไม่รู้ว่าจะคุยอย่างไร พอไม่มีความรู้เขาก็กลัว บางทีถูกดำเนินการทางกฎหมายจากปัญหาหนี้ แต่พอมีโครงการ “หมอหนี้เพื่อประชาชน”[1] ที่ทำให้เขามีความรู้ เมื่อเกิดปัญหาใดเขาก็เข้าไปคุยเลย เจรจาตามระเบียบ ทำให้ปัญหาการติดเครดิตบูโรในภาคเหนือน้อยลงเมื่อดูจากสถิติ บางครั้งก็เป็นการอบรมความรู้เรื่องการทำบัญชี ก่อนหน้านี้ เขาคิดว่าซื้อมาขายไป ขายให้มาก ๆ เข้าไว้ก็พอ แต่บางรายยิ่งขายดียิ่งเป็นหนี้ เพราะเขาไม่เคยทำบัญชีมาก่อน ไม่รู้ต้นทุนและกำไรที่แท้จริง แต่พอได้เห็นบัญชี เขาก็รู้ว่าจะต้องปรับตรงไหน พวกนี้คือผลลัพธ์โดยตรง ส่วนผลพลอยได้คือกำแพงเส้นบาง ๆ ระหว่างสถาบันการเงินและ SMEs มันค่อย ๆ หายไป สมัยก่อน SMEs กลัวสถาบันการเงินมาก เขารู้สึกว่าเกินเอื้อม เพราะเราไม่เคยได้คุยกัน แต่พอได้พูดคุย ทำงานร่วมกันแล้วเขารู้สึกว่านี่คือพี่ คือที่ปรึกษาที่พร้อมจะช่วยเขา ผมอยากส่งเสียงแทน SMEs ให้สถาบันการเงินทำสิ่งที่ทำอยู่ในตอนนี้ต่อไป เพราะว่าเดินมาถูกทางแล้ว นี่คือการเกาให้ถูกที่คัน ยังมี SMEs อีกหลายรายที่เขายังกลัวที่จะขึ้นมาบนดินอยู่ แต่หลายคนเริ่มเปิดใจ กล้าประกาศว่าฉันคือ SMEs นะ จากการมีความรู้ว่าต้องทำอย่างไร เขามีสิทธิอะไรบ้าง
คุณพรวิภา : พอเรามีสมาพันธ์ฯ เข้ามาเป็นตัวกลางช่วยประสานให้โดยตรงก็ช่วยให้เราแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด เช่น ให้คำปรึกษาว่าสามารถปรับหนี้จุดไหนได้บ้างให้เหมาะสมกับรายได้ในปัจจุบัน เพื่อเข้าไปเจรจาต่อรองกับธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ซึ่งอาจจะจัดรีไฟแนนซ์ หรือขายทรัพย์สินบางอย่างเพื่อลดภาระหนี้
ปัญหาหนี้ครัวเรือนมันส่งผลกระทบในทุกระดับ ทั้งประชาชนรายย่อยและ SMEs ขนาดเล็ก ซึ่งโครงการหมอหนี้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาดังกล่าวในการอุดรอยรั่วตั้งแต่ในระดับครัวเรือน ไม่ให้ร้าวไปถึงเศรษฐกิจระดับประเทศ หรือถ้าสมาพันธ์ฯ เห็นว่ารายไหนมีศักยภาพสามารถขอทุนโครงการได้แต่เขาไม่รู้ข้อมูลหรือไม่พร้อม เราก็พร้อมสนับสนุน เพราะ SMEs เป็นหน่วยหนึ่งที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 35% ของจีดีพีรวมของประเทศ และเป็นแหล่งสร้างงานสร้างรายได้ ซึ่งแรงงานในภาคเหนือนับเป็นสัดส่วนมากถึง 16% ของแรงงานในประเทศ ถ้าเขาแข็งแรง เศรษฐกิจก็มั่นคงไปด้วย ในทางตรงกันข้าม ถ้าวินัยทางการเงินเขาบกพร่อง ตั้งตัวไม่ได้ เป็นหนี้เยอะ เศรษฐกิจประเทศก็สั่นคลอนไปด้วย
คุณพรวิภา : สำนักงานภูมิภาคของ ธปท. ทั้งสามแห่งเป็นเหมือนแขนขาให้สำนักงานใหญ่เพื่อเชื่อมโยงกับภูมิภาค เรารับข้อมูลเชิงลึก เห็นปัญหาหน้างาน ลงพื้นที่สม่ำเสมอ จัดทำ focus group เล็กบ้างใหญ่บ้าง หลายรูปแบบให้คนได้คุยกัน แล้วส่งข้อมูลกลับให้สำนักงานใหญ่เพื่อให้เขาเห็นว่านโยบายไหนได้ผล ตรงไหนต้องแก้อะไร และให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด เพราะหลายอย่างเราคิดในเชิงทฤษฎี แต่บังคับใช้ไม่ค่อยได้ผล เพราะไม่เข้ากับบริบทหรือความต้องการของคนในพื้นที่
ยกตัวอย่าง ในช่วงแรกของวิกฤตโควิด 19 ธปท. ออกโครงการ soft loan ที่มีลักษณะหว่านแหช่วยเป็นวงกว้าง เพื่อรีบช่วยเหลือเบื้องต้น เพราะตอนนั้นเรามองว่า ผลกระทบโควิด 19 แรงแต่สั้น แต่กลายเป็นว่าวิกฤตนี้หนักและยืดเยื้อกว่าคาด และส่งผลกระทบที่ไม่เท่าเทียมกัน ทำให้บางกลุ่มที่ควรได้รับความช่วยเหลือ อาจเข้าไม่ถึงเงินช่วยเหลือตรงนี้ เราเลยปรับปรุงเป็นสินเชื่อฟื้นฟูเพื่อให้ตรงความต้องการของแต่ละรายมากขึ้น เพราะปัญหาแต่ละรายก็ไม่เหมือนกัน
การให้ความรู้ทางการเงินก็เช่นกัน ทุกคนรู้ว่าการลงทุนดีและสำคัญ แต่สำหรับเขาบอกว่าออมเงินยังยากเลย จะเอาที่ไหนไปลงทุน เราก็ต้องรับฟังและเริ่มจากจุดที่เขาอยู่ หรือแม้แต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างภาษาที่เป็นทางการไป ไม่ใช่ภาษาท้องถิ่นเขาก็ไม่เข้าใจ ตรงนี้ก็เป็นข้อมูลที่เราได้มาจากการลงพื้นที่ ทำให้เราเห็นว่าต้องปรับและต่อยอดอย่างไร หรือโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน เรารู้ว่ามันได้ผล แต่กำลังคนเราไม่พอ เราก็จับมือกับสมาพันธ์ฯ ธนาคารต่าง ๆ BOI หรือแม้แต่กลุ่มราชภัฏที่จะจบไปเป็นครู ทำโครงการให้เขาเห็นว่าเขาสามารถเก็บเงินแสนได้จริง แล้วเขาก็จะช่วยกันเผยแพร่ความรู้ทางการเงิน เมื่อจบไปเป็นครู ก็นำไปสอนเยาวชนตั้งแต่วัยเรียน ให้มีภูมิคุ้มกันติดตัวแต่แรก หรือแม้แต่ผลักดันโครงการนี้เป็นหลักสูตรออนไลน์เพื่อขยายผลไปทั่วประเทศ เพื่อให้ SMEs ทั่วประเทศเข้าถึงได้ตามเวลาและสถานที่ที่เขาสะดวกที่สุด
นอกจากการอุดรอยรั่วแล้ว เราก็ต้องหาทางเสริมความแข็งแกร่งด้วย โดยดูจากเทรนด์โลก ทั้งเรื่องกรีนและดิจิทัลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าที่เขามี เพราะแม้ภาคเหนือจะมีจุดแข็งหลายอย่าง เป็นแหล่งผลิตของสินค้ามากมาย แต่รายได้ต่อครัวเรือนของภาคเหนือกลับต่ำสุดในประเทศ จึงต้องดูว่าจะทำอย่างไรให้ดีขึ้น ใช้เทคโนโลยีอะไรได้บ้าง เช่น smart farming หรือระบบต่าง ๆ เพื่อการกระจายความเจริญไม่ให้กระจุกอยู่แค่เมืองใหญ่ เหมือนที่เลขาธิการของ BOI ใช้คำว่า “ไฮเทคและไฮทัช” ส่วนของไฮเทคเราก็มีหน่วยงานด้านการศึกษา ทั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และแม่โจ้ที่สนับสนุนการสร้างนวัตกรรม หาเทคโนโลยีการเกษตรมาสร้างมูลค่า ส่วนไฮทัชเราก็มีศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาอยู่แล้ว ทำอย่างไรจะขยายผลได้ เรื่องนี้ ธปท. เจ้าเดียวทำไม่ได้ ต้องสร้างพันธมิตรร่วม เพราะเศรษฐกิจมันสัมพันธ์กับเรื่องอื่นหมดเลย
คุณพรวิภา : เราเองไม่ใช่คนเหนือแต่กำเนิด แต่ประจำที่สำนักงานใหญ่อยู่หลายปีและทำงานร่วมกับสำนักงานภาคอยู่แล้ว พอผู้ใหญ่หาคนทำงานมาประจำสำนักงานภาคก็รู้สึกว่าท้าทาย เพราะสำนักงานภาคเป็นเหมือน mini ธปท. มีงานทุกฟังก์ชันเหมือนสำนักงานใหญ่ ฉะนั้น คนที่นี่จะได้ฝึกทำทุกอย่างเลย ทั้งงานหน้าบ้านหลังบ้าน เราเพิ่งมาทำงานได้หลังโควิด 19 ก็เป็นช่วงที่ต้องฟื้นฟูความสัมพันธ์กับคนในพื้นที่กับภาคีต่าง ๆ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้ามาหาได้ตลอด ทำให้เขาสบายใจและวางใจที่จะบอกปัญหากับเราอย่างตรงไปตรงมา เราก็จะได้แก้ถูกจุด และทำให้งานไปต่อกันได้ทั้งหมด ซึ่งก็เป็นแนวคิดเดียวกันกับการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ คือเราอยากให้คนมอง ธปท. ว่าเป็นที่ปรึกษาที่เขาเชื่อมั่นได้ นึกอะไรไม่ออก ขอให้นึกถึงเรา เข้าหาเราได้
สิ่งหนึ่งที่ประทับใจมากคือคนทำงานที่นี่ ด้วยความที่จำนวนคนเรามีจำกัดแต่งานมีทุกฟังก์ชัน หนึ่งคนต้องทำแทบทุกอย่าง เขียนบทวิเคราะห์ ประสานงาน ลงพื้นที่ แก้ปัญหาไอที ช่วยงานส่วนรวม แต่ไม่มีใครเกี่ยงงานเลย ทุกคนพร้อมร่วมมือกันมาก เราย้ำเสมอเรื่องความร่วมมือทั้งระหว่างสถาบันและภาคี และเราก็เห็นจากความร่วมมือในสำนักงานว่ามันช่วยขับเคลื่อนงานยากให้สำเร็จได้จริง ๆ
หากมีอะไรก็อยากให้พูดคุยกัน เพราะไม่เพียงแต่ห้องทำงานที่เปิดกว้างเพื่อต้อนรับพนักงานที่ต้องการเข้ามาปรึกษา แต่ประตูของสำนักงานภูมิภาคก็พร้อมต้อนรับทุกภาคส่วนและยินดีให้ความร่วมมือเสมอ
คุณบุญชู : ผมว่ากำแพงที่เคยกั้นขวางระหว่างสถาบันการเงินและกลุ่ม SMEs ท้องถิ่นได้ทลายลงแล้ว และ SMEs รู้สึกอุ่นใจที่มี ธปท. ซึ่งเปรียบเสมือนคนกลางในการให้ความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาควบคู่กับส่งต่อองค์ความรู้แก่กลุ่ม SMEs ในภาคเหนือเป็นอย่างดี ผมอยากให้ ธปท. ทำต่อไปอย่างที่ทำมาตลอดครับ
ประตูใจที่เปิดกว้างเป็นสื่อสร้างความสัมพันธ์ ท่าทีฉันมิตรและความสนิทใจระหว่างผู้นำจากสองสถาบันทำให้เห็นความสำคัญของความสัมพันะ์ระหว่างคนทำงานอันเป็นประเด็นที่ถูกเอ่ยถึงตลอดการสนทนาเป็นนำ้หล่อเลี้ยงช่วยให้งานไม่ว่าจะยากเพียงใดก็ลื่นไหลได้
[1] กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน เชียงราย น่าน พะเยา และแพร่ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิจิตร และอุทัยธานี
[2] โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน ให้ข้อมูลและคำแนะนำแก่ลูกหนี้เกี่ยวกับการบริหารหนี้ และการจัดการด้านการเงินเบื้องต้น ตลอดจนคำแนะนำเกี่ยวกับมาตรการและช่องทางในการติดต่อกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://app.bot.or.th/doctordebt/enterprise.html