ธปท. – หอการค้า

ยื่นมือประสาน ร่วมพัฒนาอีสานให้ก้าวหน้า

        ด้วยบริบทที่มีเอกลักษณ์ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน ทั้งในด้านโครงสร้างเศรษฐกิจ ทรัพยากร และวัฒนธรรม การกำหนดนโยบายจึงต้องสอดรับกับลักษณะเฉพาะของพื้นที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เล็งเห็นความแข็งแกร่งของผู้ประกอบการภาคอีสานซึ่งเป็นกำลังหลัก ทั้งในช่วงวิกฤตโควิด 19 และการเปลี่ยนแปลงที่จะเข้ามาเป็นความท้าทายที่ต้องได้รับการตอบสนองในอนาคต

 

        คอลัมน์ Executive’s Talk ขอพาผู้อ่านทุกท่านมาพูดคุยกับ ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อํานวยการอาวุโส ธปท. สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมด้วยคุณเข็มชาติ สมใจวงษ์ ประธานกิตติมศักดิ์หอการค้าขอนแก่น เกี่ยวกับภาพเศรษฐกิจ จุดแข็ง จุดอ่อน และทิศทางการพัฒนาภาคอีสานผ่านการทำงานร่วมกันของ ธปท. และภาคเอกชนบนเส้นทางการขับเคลื่อนภาคอีสานให้ก้าวหน้าและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

2 executives in room

Q: คิดอย่างไรกับคำพูดที่ว่า “ประเทศไทยไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ” และ “จังหวัดในภาคอีสานก็มีความเจริญไม่เท่ากัน”

 

คุณทรงธรรม : เห็นด้วยครับ และแน่นอนว่าอีสานก็ไม่ควรเป็นแค่ขอนแก่น หากเราปล่อยให้เมืองโตเดี่ยวใหญ่เกินไปโดยขาดการบริหารจัดการเมืองที่ดีจะก่อให้เกิดปัญหาสังคมเมือง การขาดโอกาสในการพัฒนาเมืองรองอื่น ๆ ให้เติบโตด้วยกัน ส่งผลให้แรงงานต้องย้ายถิ่นที่อยู่ส่งผลต่อสถาบันครอบครัว และสูญเสียความหลากหลายทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ คงต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาขอนแก่นเป็นเมืองที่มีลักษณะโตเดี่ยว มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานมากกว่าพื้นที่อื่น แม้แต่พื้นที่ห่างไกลของขอนแก่นก็ยังแตกต่างจากตัวเมืองอยู่มาก

 

อย่างไรก็ตาม ภาคอีสานมีการกระจายความเจริญไปสู่จังหวัดอื่นอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นนครราชสีมา อุดรธานี อุบลราชธานี ฯลฯ ซึ่งทิศทางเช่นนี้เป็นสิ่งที่ดีที่จะต้องรักษาเอาไว้ เพราะการกระจายความเจริญให้ทั่วถึงเป็นพื้นฐานสำคัญอย่างยิ่งต่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

 

คุณเข็มชาติ : ในสมัยก่อนด้วยข้อจำกัดเรื่องงบประมาณและปัจจัยการผลิต จึงทำให้ทุกอย่างกระจุกตัวอยู่ที่เมืองใหญ่ ๆ แต่ปัจจุบันระบบคมนาคมขนส่ง การสื่อสาร และฐานการผลิตกระจายตัวออกไปค่อนข้างมากแล้ว สิ่งที่อยากเห็นในระยะต่อไปก็คือ การผลักดันให้หลาย ๆ จังหวัดของไทยเชื่อมต่อกับเมืองสำคัญของโลกมากขึ้น จะทำให้สัมผัสได้อย่างแท้จริงว่าประตูเข้า-ออกของไทยมีมากกว่ากรุงเทพฯ อย่างภาคอีสานก็มีหลายเมืองที่ติดชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน และมีศักยภาพที่จะผลักดันให้เป็นเกตเวย์ของประเทศ เพื่อรองรับตลาดและโอกาสใหม่ ๆ 

Q: จุดเด่นของอีสานที่แตกต่างจากภาคอื่นคืออะไร และจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร

 

คุณทรงธรรม : ภาคอีสานมีจุดแข็งอยู่แล้วหลายอย่าง อย่างแรกคือ ภาคการเกษตรที่เป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญเพราะมีพืชเศรษฐกิจหลายชนิด หากโครงสร้างพื้นฐานมีความพร้อมก็จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการย้ายโรงงานที่เป็นฐานการผลิตเข้ามาตั้งที่ภูมิภาคนี้มากขึ้น ต่อมาคือแรงงานที่ต้นทุนไม่สูงและมีความคุ้มค่า เช่นเดียวกับแหล่งท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงแรม ร้านอาหาร สินค้าท้องถิ่น ที่มีคุณภาพและราคาที่แข่งขันได้ นอกจากนี้ ยังมีความพร้อมด้านโรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ และมหาวิทยาลัยในพื้นที่ อีกประการสำคัญคือ คนอีสานมีความอดทน ไม่ชอบความขัดแย้ง อัธยาศัยและไมตรีจิตที่ดี ซึ่งถือเป็น soft power ที่สำคัญอย่างหนึ่ง

 

คุณเข็มชาติ : ภาคอีสานมีศักยภาพสูง และยังมีกำลังซื้อจากประเทศเพื่อนบ้านข้างเคียง จุดเด่นอีกเรื่องที่สำคัญคือ ค่าครองชีพที่ไม่สูงและวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ โดยปี 2566 นี้ เทศกาลสงกรานต์ของขอนแก่นก็ได้รับการรับรองว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความคุ้มค่าของกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่าเมืองท่องเที่ยวเช่นภูเก็ตถึงกว่า 2 เท่า เหมาะกับการมาพักผ่อนหย่อนใจ

 

อีกหนึ่งจุดเด่นที่สำคัญคือ “คน” อยากให้เราเปลี่ยนมุมมองเรื่องคน ไม่อยากให้แบ่งว่าเป็นคนจังหวัดไหน เพราะทุกคนคือคนอีสาน นอกจากจะช่วยสร้างความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว จำนวนของคนอีสานที่มีมากกว่า 22 ล้านคน ยังเป็นประโยชน์ต่อการเจรจาการค้ากับต่างประเทศด้วย

bot executive

ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อํานวยการอาวุโส ธปท. สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

Q: ภาพเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด 19 ของภาคอีสานเป็นอย่างไร มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

 

คุณทรงธรรม : แต่เดิมรายได้จากภาคการท่องเที่ยวค่อนข้างน้อยอยู่แล้ว คิดเป็นเพียง 2% ของจีดีพีภาคอีสาน การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติจึงไม่ค่อยมีผลต่อภาคนี้มากนัก ทำให้การฟื้นตัวไม่ชัดเจนเท่ากับบางจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยว โควิด 19 ไม่ได้กระทบต่อการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว แต่กระทบทั้งวิถีชีวิต วิถีงาน และวิถีการผลิตของทั้งประเทศ

 

จากงานศึกษาของ ธปท. อีสาน เราได้เห็นข้อมูลว่าโควิด 19 ทำให้แรงงานย้ายออกจากภาคกลางและภาคตะวันออก กลับมายังภาคอีสานประมาณ 6.5 แสนคน แม้ปัจจุบันสถานการณ์จะคลี่คลายลงแล้ว แต่แรงงานคืนถิ่นเหล่านี้ก็ยังคงมีเหลืออยู่ในพื้นที่อีสานมากกว่า 3 แสนคน โดยทำงานอยู่ในภาคเกษตร บริการ และการค้า บางคนนำเอาความรู้และประสบการณ์ที่มีกลับมาปรับใช้ในบ้านเกิด ไปประกอบอาชีพใหม่ ๆ ที่มากับโควิด 19 มากขึ้น เช่น บริหารคลังสินค้า ไรเดอร์ส่งของ และค้าขายออนไลน์ เกษตรรูปแบบใหม่ คิดว่าสิ่งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยยกระดับการพัฒนาภาคอีสานได้

 

คุณเข็มชาติ : ข้อดีของอีสานคือ เรามีการผลิตและบริการมากกว่าการบริโภค เรามีทั้งวัตถุดิบ แรงงาน และศักยภาพด้านการผลิตทำให้ได้รับผลกระทบน้อยกว่าภาคอื่น ๆ พอเกิดโควิด 19 เราเห็นการย้ายฐานการผลิตเข้ามายังภาคอีสานมากขึ้น ด้วยจุดขายเรื่องการเป็นแหล่งแรงงาน ต้นทุนที่แข่งขันได้ และความคุ้มค่าในการลงทุน ทำให้ทรัพยากรคนที่มีศักยภาพของภาคอีสานที่เคยมุ่งเข้าสู่นิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกและภาคกลางในอดีต กลับมาอยู่ฐานการผลิตในพื้นที่จำนวนมากขึ้น

executive2

คุณเข็มชาติ สมใจวงษ์ ประธานกิตติมศักดิ์หอการค้าขอนแก่น 

Q: เราจะได้เห็นโอกาสใหม่ ๆ อะไรบ้าง จากการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งในภาคอีสาน 

 

คุณเข็มชาติ : ที่ผ่านมาประเทศไทยจัดส่งสินค้าผ่านทางเรือเป็นหลัก แต่ภาคอีสานไม่ได้อยู่ติดทะเล การเชื่อมโยงระบบขนส่งคมนาคมที่มีประสิทธิภาพและมีต้นทุนที่ต่ำลง จึงจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่มาสนับสนุนอนาคตของอีสาน หากการก่อสร้างระบบรางเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านแล้วเสร็จ เราจะมีศักยภาพเพิ่มขึ้นในฐานะจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศไทย

 

รถไฟความเร็วสูงจะช่วยขนส่งสินค้าจากภาคอีสานไปสู่ตลาดโลกด้วยต้นทุนค่าขนส่งที่ถูกลง ทำให้เรามีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและสินค้าแปรรูปทางการเกษตร เราก็เริ่มเห็นโรงงานต่าง ๆ เข้ามาตั้งในพื้นที่มากขึ้น อย่างที่ผ่านมาก็มีโรงงานอาหารฮาลาลมาตั้งที่อุดรธานีเพื่อส่งออกไปยังจีนและยุโรปด้วย อีกทั้งระบบรางยังเป็นโอกาสในการส่งออกสินค้าที่เราได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preference: GSP) จากประเทศเพื่อนบ้านและจากประเทศตะวันตก ขณะเดียวกันสินค้าจากจีนก็จะเข้ามาสู่ภาคอีสานได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น เพราะไม่ต้องไปอ้อมทางแหลมฉบังเหมือนที่ผ่านมา

 

นอกจากการคมนาคมทางรางแล้ว ภาคเอกชนยังได้ผลักดันเรื่องการขนส่งทางอากาศมาอย่างต่อเนื่อง โดยหอการค้าจังหวัดขอนแก่นก็ส่งเสริมเรื่องการบินผ่านการประชาสัมพันธ์สนามบินขอนแก่น รวมถึงผลักดันเรื่องการเพิ่มเที่ยวบินตรงมาตลอด เช่น Lao Central Airlines ซึ่งได้ให้บริการเส้นทางขอนแก่น-หลวงพระบางแบบเช่าเหมาลำ (charter flight) มาแล้วกว่า 8 ปี และปัจจุบันก็อยู่ระหว่างการเจรจากับ VietJet Air เพิ่มเติมเพื่อเปิดเส้นทางบินขอนแก่น-ดานังด้วย เป้าหมายสำคัญก็คือการทำให้สนามบินขอนแก่นเป็นที่รู้จักในฐานะสนามบินนานาชาติอย่างแท้จริง ทั้งยังเป็นการลดความแออัดของสนามบินหลักทั้ง 2 แห่ง และสามารถดึงดูดให้สายการบินอื่น ๆ เข้ามาให้บริการเส้นทางบินมากขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางบินตรงไปยังญี่ปุ่น ฮ่องกง หรือเวียดนาม โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปต่อเครื่องที่กรุงเทพฯ เพื่อให้ขอนแก่นเป็นอีกหนึ่งเมืองหลักด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาเกี่ยวกับการสร้างท่าเรือบก (dry port) ที่ขอนแก่นไว้แล้ว ซึ่งหากมีการลงทุนจริงก็จะเป็นประโยชน์ต่อห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมในพื้นที่ นำไปสู่การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

 

ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญก็คือนโยบายเรื่องสนามบินและเที่ยวบินตรงที่เชื่อมต่ออีสานกับเมืองต่าง ๆ ซึ่งต้องศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางให้ชัดเจนว่าจังหวัดใดควรมีสนามบินบ้าง อีกทั้งควรมีการวางกลยุทธ์และบทบาทของแต่ละจังหวัด เพื่อไม่ให้ทุกเรื่องกระจุกอยู่ในแค่จังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น อาจกำหนดให้นครราชสีมาเป็นนิคมอุตสาหกรรมเพราะอยู่ใกล้กับกรุงเทพมหานคร ขอนแก่นอาจเป็นแหล่งธุรกิจและบริการสำหรับจังหวัดข้างเคียง อุดรธานีอาจเป็นศูนย์รวมการค้าขายกับเพื่อนบ้านเพราะอยู่ใกล้กับประเทศลาว เรียกว่านำจุดแข็งของแต่ละจังหวัดมาใช้เป็นจุดขายให้ได้

executive3

Q: แบงก์ชาติมีภารกิจอะไรบ้าง และจะช่วยแก้ปัญหาความเปราะบางของภาคอีสานได้อย่างไร

 

คุณทรงธรรม : แบงก์ชาติอีสานมีภารกิจที่ค่อนข้างหลากหลาย อย่างแรกคือการรับฟังข้อมูลจากทุกภาคส่วนเพื่อนำไปวางนโยบายอย่างเหมาะสม สองคือการสื่อสารข้อมูลและนโยบาย เช่น ทิศทางเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือการใช้ระบบชำระเงินดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย เพื่อเอื้อให้ประชาชนสามารถปรับตัวให้เท่าทันและวางแผนการใช้ชีวิตบนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้อง

 

นอกจากนี้ แบงก์ชาติอีสานก็ยังมีการศึกษาเรื่องต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่ด้วย เช่น การเคลื่อนย้ายแรงงานของภาคอีสานจากสถานการณ์โควิด 19 และศึกษาว่าข้อมูลอะไรที่จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาภาคส่วนต่าง ๆ ได้บ้าง เช่น การเกษตรแบบยั่งยืนเพื่อทดแทนการเกษตรแบบเดิมที่ให้ผลิตผลต่ำ ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องน้ำของภาคอีสานที่มีพื้นที่ชลประทานเพียงแค่ 5% ของพื้นที่ เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับคนที่สนใจ

 

อีกอย่างที่เราทำมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมาก็คือ การนำเอาผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และเกษตรกรมาเจอกับสถาบันการเงิน รวมถึงให้ข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบและบริการทางการเงิน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่จะริเริ่มประกอบธุรกิจ หรือมีปัญหาสภาพคล่อง นอกจากนี้ ยังช่วยเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาเรื่องการชำระหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ การให้ความรู้ทางการเงิน ตลอดจนกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนทางการเงิน หากต้องการปรึกษาหรือแจ้งเหตุเกี่ยวกับบริการทางการเงิน แบงก์ชาติก็มีสายด่วน โทร. 1213 เพื่อให้คำปรึกษาและช่วยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้กับประชาชนโดยเฉพาะ สิ่งที่แบงก์ชาติได้ดำเนินการมาทั้งหมดนี้ ก็เพื่อสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก และทำให้คนมีภูมิคุ้มกันทางการเงินอย่างแท้จริง

 

สำหรับความเปราะบางของภาคอีสานที่เราให้ความสำคัญก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของความไม่เพียงพอและความไม่แน่นอนของแหล่งรายได้ ประชาชนส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร รายได้จะไม่แน่นอน ผันผวนสูง หากไม่มีความรู้เรื่องการบริหารการเงินจะเป็นจุดเปราะบางที่ก่อให้เกิดปัญหาหนี้สิน สำหรับแนวทางแก้ไขอย่างแรกก็คือ การให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชน อาทิแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อใช้วางแผนการลงทุนและการใช้จ่าย เรื่องที่สองคือ การให้ความรู้ทางการเงิน ผ่านการจัดกิจกรรมและรูปแบบที่สอดคล้องกับความรู้ความเข้าใจของประชาชน เรื่องที่สามคือ การป้องกันภัยทางการเงิน เพื่อให้รอดพ้นจากกลโกงของมิจฉาชีพที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน โดยเราได้รวบรวมกรณีที่เกิดขึ้นจริงเพื่อเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนได้รับทราบและระมัดระวังตัว

 

สิ่งที่อยากจะเน้นย้ำก็คือ ภารกิจทั้งหมดที่ว่ามานั้น แบงก์ชาติไม่ได้ทำเพียงคนเดียว แต่เรามีเครือข่ายกลุ่มต่าง ๆ อยู่จำนวนมาก โดยมีเป้าหมายที่จะเจาะลึกลงไปให้ถึงประชาชนระดับฐานรากให้มากขึ้น ในปีนี้เราได้ลงระดับจังหวัด เริ่มจากจังหวัดที่เปราะบางในมิติรายได้เฉลี่ยต่อหัว นั่นก็คือหนองบัวลำภู ด้วยการลงไปถึงระดับหมู่บ้านที่มีอยู่ 717 แห่ง ในการจัด “โครงการเสริมแกร่งการเงินกองทุนหมู่บ้าน” มุ่งเน้นการให้ความรู้แก่กองทุนหมู่บ้านซึ่งเป็นองค์กรการเงินฐานรากที่ทำหน้าที่เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียน และเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุมชน โดยจัดกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการบรรยายให้ความรู้ และการจัดเวิร์กช็อปกับตัวแทนกองทุนหมู่บ้านมากกว่า 2,000 คน เพื่อส่งเสริมความรู้ทางการเงิน สนับสนุนให้ประชาชนออมเงิน และเปลี่ยนพฤติกรรมทางการเงินไปในทางที่เหมาะสม รวมถึงรู้ทันเรื่องภัยการเงิน เพื่อนำไปบอกต่อกับคนในชุมชนเพื่อขยายผลในวงกว้างต่อไป

 

นอกจากนี้ เรายังลงไปให้ความรู้ถึงระดับสถานศึกษาในระดับมัธยมศึกษา เพราะปัจจุบันเด็ก ๆ สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา จึงมีความเสี่ยงที่จะถูกล่อลวงได้ การให้ความรู้เด็ก ๆ แต่เนิ่น ๆ นอกจากเป็นเกราะป้องกันเด็ก ๆ แล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้นำความรู้ที่ได้ไปบอกต่อกับครอบครัวด้วย นอกจากเราออกไปหาประชาชนแล้ว ในปีนี้เราเปิดให้ประชาชนสามารถเข้ามาหาเราได้ด้วย โดยแบงก์ชาติอีสานได้เปิด “หม่องเฮียนฮู้” ให้กับประชาชน นักเรียน นักศึกษา เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ระดมสมอง ไร้พรมแดน และเป็น co-working space ใช้ทำงานและแลกเปลี่ยนความเห็น ตลอดจนนำวิทยากรใหม่ ๆ มาเผยแพร่ให้กับคนอีสานด้วย

 

คุณเข็มชาติ : ภาคเอกชนเองก็รู้สึกอุ่นใจที่มีแบงก์ชาติอยู่ในภาคอีสาน ทุก ๆ เดือน เราจะมีประชุมร่วมกันของผู้ประกอบการ แบงก์ชาติก็มาเข้าร่วมรับฟัง ตลอดจนให้ข้อมูลและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ อีกทั้งความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนข้อมูล เช่น เรื่องสิทธิประโยชน์ด้านภาษีซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากต่อนักธุรกิจในภาคอีสานที่ต้องการจะไปลงทุนทำโรงงานในประเทศเพื่อนบ้าน หรือปัญหาข้อติดขัดที่เกี่ยวกับธุรกรรมการเงินต่าง ๆ

executive4

Q: แนวทางสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตของภาคอีสานเป็นอย่างไร

 

คุณเข็มชาติ : ภายใน 5 ปีข้างหน้า เมื่อรถไฟความเร็วสูงมาถึงจะนำพาโอกาสต่าง ๆ มาสู่อีสาน
แต่การที่จะคว้าโอกาสนั้นไว้ได้ เราต้องเร่งสร้างศักยภาพของตัวเองให้เท่าทัน  ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทักษะแรงงานให้ตรงกับความต้องการของตลาด ซึ่งอีสานก็มีจุดแข็งในเรื่องของการมีมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่ผลิตแรงงานที่มีคุณภาพอยู่แล้ว

 

อีกเรื่องที่สำคัญคือความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับกฎหมายและการเดินทางระหว่างไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม เพื่อผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวแบบไร้พรมแดน เพราะภาคอีสานอยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมรดกโลกที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง เช่น อยุธยา เสียมเรียบ จำปาศักดิ์ หลวงพระบาง ฮอยอัน ซึ่งมีพลังในการดึงดูดผู้คนจากทั่วโลกให้อยากมาเยี่ยมชมได้มากกว่าแค่การโพรโมตสถานที่ท่องเที่ยวในแผ่นดินไทยอย่างเดียว

 

นอกจากนี้ ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด จึงจำเป็นต้องกำหนดจังหวัดที่จะพัฒนานำร่องในด้านต่าง ๆ อย่างเหมาะสม อย่างโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจอีสาน (Northeastern Economic Corridor: NeEC - Bioeconomy) ที่จะเริ่มนำร่องใน 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย ซึ่งยังต้องประชาสัมพันธ์ให้ตัวเองเป็นที่รู้จัก และเติมเสน่ห์ด้วยสิทธิประโยชน์ด้านต่าง ๆ เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนไทยและต่างชาติ โดยต้องอาศัยทั้งคนที่รู้ลึกรู้จริงเกี่ยวกับจุดแข็งของพื้นที่อย่างภาคเอกชน และคนที่เข้าใจนโยบายและมีข้อมูลเชิงลึกอย่างภาครัฐในการทำงานร่วมกันเพื่อให้โครงการต่าง ๆ ประสบความสำเร็จ

 

คุณทรงธรรม : ด้วยจุดแข็งเรื่องภูมิศาสตร์ที่มีจุดเชื่อมต่อกับเพื่อนบ้าน ตลอดจนความพร้อมในด้านวัตถุดิบ แรงงาน โครงสร้างพื้นฐานทั้งการศึกษาและการแพทย์ จึงค่อนข้างเชื่อมั่นว่าในอนาคตข้างหน้า อีสานต้องดีขึ้นกว่าเดิม

 

สำหรับปัจจัยสนับสนุนสำคัญอย่างแรกก็คือ ช่องทางทำมาหากิน ทั้งที่ดินทำกิน การสร้างเศรษฐกิจแบบใหม่ ๆ ด้วยการพัฒนาธุรกิจและบริการที่มีศักยภาพเพื่อดึงดูดผู้คนเข้ามาในพื้นที่ ขยายตลาดให้กว้างขึ้น และสร้างการจ้างงานและเม็ดเงินให้เพิ่มขึ้น เป็นสิ่งที่ต้องทำต่อเนื่อง ซึ่งภาครัฐมีบทบาทอย่างยิ่งในการกำหนดนโยบายและเงินอุดหนุนอย่างตรงจุด และผลักดันให้ประชาชนปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต เพื่อให้เกษตรกรมีผลิตภาพในการผลิตสูงขึ้น มีเกษตรกรรมรูปแบบใหม่ ๆ ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม ให้มีการเคลื่อนย้ายคนจากภาคการเกษตรไปสู่ภาคการผลิตและภาคบริการที่เป็นที่ต้องการ และมีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจมากขึ้น

 

ปัจจัยต่อมาคือ การเสริมความเข้มแข็งของภาคเอกชน ต้องบอกว่าภาคอีสานมีผู้ประกอบการที่เข้มแข็งมากอยู่แล้ว และมีบทบาทในการช่วยเสนอแนะทิศทางการพัฒนาและผลักดันหลายเรื่องให้อีสานก้าวหน้ามาโดยตลอด  ซึ่งท่านผู้ว่าการแบงก์ชาติได้ให้นโยบายกับสำนักงานภาคทุกแห่งว่า เราจะต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือภาคเอกชนและประชาชนให้ได้มากที่สุด อะไรที่ปลดล็อกได้ อะไรที่ขาด อะไรที่เกิน ก็ช่วยปรับให้สมดุลเข้าที่เข้าทาง อีกปัจจัยก็คือ การทำให้คนอีสานได้ตระหนักและรู้ทันโอกาสและความเสี่ยงต่าง ๆ ในโลกยุคใหม่

 

สุดท้ายก็คือการปรับทัศนคติและความเข้าใจผิด ๆ ที่เกี่ยวกับอีสาน ไม่ว่าจะเป็นภาพลักษณ์เรื่องความร้อน ความแล้ง แหล่งท่องเที่ยวที่ไม่น่าสนใจ เพราะผมเองเมื่อได้มีโอกาสมาอยู่ที่นี่ ได้มาเห็นกับตา สามารถยืนยันได้ว่า อีสานมีเสน่ห์เฉพาะตัวที่รอให้ผู้คนได้มาเห็นอีกมากมาย

executive5

Tag ที่เกี่ยวข้อง

เศรษฐกิจภูมิภาค Thought Leader Interview Executive Talk BOT Magazine
executive talk คลิกชม VDO