Fin. ดี Happy Life เพื่อสุขภาพการเงินดีทั่วไทย 

        คุณดาว (นามสมมุติ) ได้นำหลักการแก้หนี้ที่ได้เรียนรู้จากการอบรมโครงการ Fin. ดี Happy Life ไปใช้จริง ทั้งการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขายทรัพย์สินที่ไม่จำเป็น และรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิตด้วยการหาสินเชื่อที่ดอกเบี้ยต่ำกว่ามาปิดหนี้ ทำให้ค่างวดลดลง ประหยัดดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายได้มากขึ้น จนสามารถลดสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้จาก 71% เหลือเพียง 14% ของรายได้ต่อเดือน มีเงินสำหรับการใช้จ่ายและออมเพื่ออนาคตมากขึ้น ความเครียดลดลง ความสุขเพิ่มขึ้น คุณดาวจึงได้ถ่ายทอดเรื่องราวของตนเองให้แก่เพื่อนพนักงานในที่ทำงานและเครือข่าย เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ สร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้ที่ประสบปัญหาหนี้สินว่ายังมีทางออก หากได้รับคำแนะนำที่เหมาะสม เลือกวิธีที่ปฏิบัติได้จริง ตั้งใจและลงมือทำจริง ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาให้คลี่คลายไปได้

Fin D

    เรื่องราวของคุณดาวเป็น 1 ในความสำเร็จของโครงการ Fin. ดี Happy Life ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมความรู้ทางการเงินที่แบงก์ชาติได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2562 เพื่อมุ่งเน้นให้ความรู้ทางการเงิน ปลูกฝังทัศนคติที่เหมาะสม และกระตุ้นการสร้างพฤติกรรมทางการเงินที่ดีสำหรับคนวัยทำงาน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของระบบเศรษฐกิจ มีความสามารถในการหารายได้ เข้าถึงสินเชื่อได้ง่าย แต่ยังมีบางส่วนที่มุ่งใช้จ่ายเพื่อสร้างความสุขเพียงอย่างเดียว ไม่ได้วางแผนทางการเงินเพื่ออนาคต ท้ายที่สุดหากขาดทักษะทางการเงินที่ดี[1] จะนำไปสู่ปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว ส่งผลต่อปัญหาหนี้ครัวเรือนและระบบเศรษฐกิจในระยะยาว

    โครงการนี้จึงเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของทีมงานแบงก์ชาติทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ในการออกแบบเนื้อหาและสื่อการให้ความรู้ที่ครอบคลุมทั้งเรื่องการวางแผนการเงินและการบริหารจัดการหนี้ที่เข้าใจง่าย น่าสนใจ ใช้ได้จริง และดำเนินการในลักษณะ train the trainers ฝึกอบรมตัวแทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทั่วประเทศให้เป็น “วิทยากรทางการเงินประจำหน่วยงาน (Fin. Trainer)” ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ จัดกิจกรรมกระตุ้นพฤติกรรมทางการเงิน รวมถึงผลักดันการสร้างสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้พนักงานในหน่วยงานของตนเองเป็นผู้มีทักษะทางการเงินที่ดี 

 

    นอกจากนั้น ในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ที่แบงก์ชาติมีความจำเป็นต้องสื่อสารนโยบายไปยังประชาชนอย่างเร่งด่วนและทั่วถึง โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหาหนี้สิน เช่น แนะนำวิธีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ รวมถึงมาตรการในการช่วยเหลือลูกหนี้ของแบงก์ชาติและสถาบันการเงิน โครงการจึงได้ประสานงานผ่านเครือข่าย Fin. Trainer ที่มีอยู่ทุกภูมิภาค ในการกระจายข้อมูลข่าวสารจากแบงก์ชาติไปยังประชาชน เพื่อเป็นแนวทางช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาหนี้ให้สามารถรอดพ้นจากภาวะวิกฤตในช่วงเวลาดังกล่าวได้

 

    จากการรวมพลังขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมความรู้ทางการเงินแก่กลุ่มคนวัยทำงานระหว่างแบงก์ชาติและหน่วยงานต่าง ๆ  ปัจจุบันมีหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 270 แห่งทั่วประเทศ สร้าง Fin. Trainer ได้กว่า 1,600 คน สื่อสารและจัดกิจกรรมให้แก่เพื่อนพนักงานรวมทั้งสิ้นกว่า 150,000 คน ซึ่งผลสำเร็จของโครงการที่ผ่านมาพบว่า ผู้เข้าร่วมโครงการมีความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมทางการเงินเป็นไปในทางที่ดีขึ้น เช่น มีสัดส่วนเงินออมต่อรายได้และเงินออมเผื่อฉุกเฉินเพิ่มขึ้น ในขณะที่สัดส่วนหนี้สินต่อรายได้ลดลง รวมถึงมีการแบ่งเงินเป็นส่วน ๆ ก่อนใช้จ่าย พยายามลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ตรวจสอบภาระหนี้ และหาแนวทางในการบริหารจัดการหนี้อยู่เสมอ เช่น ศึกษาวิธีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การเจรจากับเจ้าหนี้ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จากสื่อให้ความรู้ที่แบงก์ชาติได้จัดทำขึ้น อันเป็นการเสริมเกราะป้องกันและเตรียมตัวแก้ไขปัญหาจากสถานการณ์ทางการเงินต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต 

 

    นอกจากนั้น ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดความสำเร็จของโครงการ ส่วนหนึ่งเกิดจาก Fin. Trainer ที่มีความมุ่งมั่นเป็นแบบอย่างที่ดี ดังเช่นเรื่องราวของคุณดาว และมีการออกแบบกิจกรรมให้เหมาะสมกับพื้นที่ วิถีชีวิตและความต้องการที่แตกต่างกันของพนักงานแต่ละหน่วยงาน เช่น กิจกรรม “ผ้าป่าเงินออม” ที่ชวนพนักงานตัดใจเก็บเงินจากการซื้อของที่ไม่จำเป็นมาผูกไว้ที่ต้นผ้าป่าในช่วงเข้าพรรษา และคืนเงินเมื่อออกพรรษาเพื่อให้พนักงานนำเงินนั้นไปออมแทน หรือในหน่วยงานที่ชื่นชอบการเสี่ยงโชค Fin. Trainer ก็ได้แนะนำให้ซื้อสลากออมทรัพย์แทนการซื้อหวย ซึ่งการปรับรูปแบบกิจกรรมให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของหน่วยงาน การสื่อสารอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้พนักงานรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม นำไปสู่การเรียนรู้และสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมทางการเงินไปในทางที่ดีได้ อย่างที่ผู้เข้าร่วมโครงการท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า “การสร้างวินัยทางการเงินก็เหมือนการปลูกต้นไม้ ค่อย ๆ ดูแล ใส่ปุ๋ย พรวนดิน วันหนึ่งต้นไม้ก็จะมอบดอกผลนั้นให้กับเรา”

 

Khun Songtham 1

ผ้าป่าเงินออม กิจกรรมที่ให้พนักงานออมเงินผ่านต้นผ้าป่า

    ดังนั้น “การสร้างทักษะทางการเงินที่ดี จึงเปรียบเสมือนการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันปัญหาทางการเงิน” ซึ่งแบงก์ชาติมีความตั้งใจที่จะขยายผลร่วมกับหน่วยงานและเครือข่ายพันธมิตรทั่วประเทศ เพื่อร่วมสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้แก่คนวัยทำงานในวงกว้างมากขึ้น เพราะหากคนวัยทำงานสามารถบริหารจัดการการเงินของตนเองได้ มีวินัยในการใช้จ่าย บริหารจัดการหนี้ได้อย่างเหมาะสม ปัญหาทางการเงินก็จะลดลง ส่งผลให้มีความสุขในชีวิตมากขึ้น สามารถทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพอันจะส่งผลดีต่อหน่วยงาน สังคม และระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อให้คนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนต่อไป 

conversation 2

[1] ทักษะทางการเงิน ประกอบด้วย ความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมทางการเงิน

 

[2] ผลการดำเนินโครงการปี 2565 ฉบับเบื้องต้น (preliminary)  จากการประมวลผลแบบสำรวจหลังเข้าร่วมโครงการจนถึงเดือนธันวาคม 2566 จำนวน 1,195 ชุด ปัจจุบันอยู่ระหว่างการประมวลผลฉบับสมบูรณ์ 

Tag ที่เกี่ยวข้อง

BOT Magazine Financial Wisdom ความรู้ทางการเงิน วางแผนทางการเงิน การออมเงิน