ปรีชา หงอกสิมมา ชวนคนมาปลูกป่า 

ยอดกระปุกผ่านต้นไม้ ที่วนพรรณ การ์เด้น

        ในอดีตเมื่อพูดถึงภาคอีสาน คนคงนึกถึงแต่ภาพความแห้งแล้งและกันดารของพื้นดินที่ยากต่อการเพาะปลูก แต่ในวันนี้ ภารกิจพลิกฟื้นทุ่งเลี้ยงวัวที่ไม่มีต้นไม้สักต้นให้เป็นสวนป่าร่มรื่นในเวลาเพียง 15 ปี ได้เกิดขึ้นแล้วจากฝีมือของ “คุณปรีชา หงอกสิมมา” ด้วยประสบการณ์จากการทำงานในโครงการส่วนพระองค์ มูลนิธิชัยพัฒนา

local market

ภารกิจพลิกฟื้นผืนดินแห้งแล้งให้เขียวชอุ่ม

 

จุดเริ่มต้นของการทำสวนป่าหรือนวเกษตร เริ่มต้นจากเมื่อเรียนจบใหม่ ๆ คุณปรีชาได้ไปทำงานในมูลนิธิชัยพัฒนาที่จังหวัดนครนายก ทำหน้าที่เผยแพร่แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 หลาย ๆ เรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม หนึ่งในนั้นคือเรื่องการทำเกษตรทฤษฎีใหม่และการฟื้นฟูสภาพป่า ซึ่งเห็นว่านำมาใช้กับผืนดินของที่บ้านได้

 

หลังทำงานนาน 9 ปี คุณปรีชาได้ลาออกมาบุกเบิกปรับปรุงพื้นดินแห้งแล้งขนาด 14 ไร่ของครอบครัวที่ต้องได้รับการพัฒนาอย่างจริงจัง โดยน้อมนำแนวพระราชดำริเรื่องป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง คือ ป่าไม้ใช้สอย ป่าไม้กินได้ ป่าไม้เศรษฐกิจ และประโยชน์ในการช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ มาใช้ควบคู่กับทฤษฎีใหม่ในการจัดการทั้งพื้นที่และระบบน้ำกินน้ำใช้ โดยเริ่มจากการนำไม้ท้องถิ่นมาลองปลูกก่อน

 

“ผมเกิดมาที่ดินผืนนี้ก็โล่งเตียนแล้ว ทั้งที่ในอดีตเคยเป็นป่าเบญจพรรณ มีไม้ท้องถิ่นทั้งไม้ยางนา ไม้ตะเคียน จึงอยากนำไม้เหล่านี้กลับมาเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ”

การบริหารจัดการพื้นที่ด้วยเกษตรทฤษฎีใหม่

 

“ทฤษฎีกำหนดสัดส่วนของ น้ำ : อาหาร : ปลูกต้นไม้ : ที่อยู่อาศัย ไว้เท่ากับ 30 : 30 : 30 : 10 แต่พอมาใช้จริง ไม่จำเป็นต้องตรงตามทฤษฎี ปรับตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ที่นี่ผมเน้นเรื่องไม้ป่า พื้นที่ส่วนใหญ่จึงมีแต่ต้นไม้”

 

ต่อมา หลังจากค่อย ๆ ปลูก วางแผน และจัดการมาเรื่อย ๆ โดยพลิกฟื้นพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว อ้อย มัน และปอ ทำให้ดินที่เสื่อมสภาพที่เคยใช้ได้แค่เลี้ยงวัวเลี้ยงควาย กลับกลายมาเป็นสวนป่าที่ใช้ชื่อว่า “วนพรรณ การ์เด้น” ที่เต็มไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ เช่น ตะเคียนทอง ยางนา พะยูง และชุ่มชื้นไปด้วยบ่อกักเก็บน้ำสำหรับกินใช้ อีกทั้งยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหารการกินและยาสมุนไพรตามธรรมชาติ ซึ่งนอกจากจะเกิดประโยชน์ต่อครอบครัวแล้ว ยังเผื่อแผ่ไปถึงชุมชน อย่างในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด 19 คุณปรีชาก็ได้ทำแคปซูลสมุนไพรฟ้าทะลายโจรกว่า 60,000 เม็ด ที่เกิดจากป่าแห่งนี้ เพื่อแจกจ่ายให้กับชาวบ้านด้วย

 

คุณปรีชาได้อธิบายถึงการบริหารจัดการตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยหัวใจอยู่ที่การจัดการพื้นที่เพื่อจัดการน้ำซึ่งตามทฤษฎีจะต้องจัดการน้ำให้เป็น 30% ดังนั้น ภายในพื้นที่ 14 ไร่ จะแบ่งเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ คือบ่อเก็บน้ำฝน 2 บ่อ และมีน้ำบาดาลไว้สำรองหากไม่เพียงพอ โดยเฉพาะฤดูแล้งประมาณ 4 เดือน ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ และพื้นที่อีก 30% หรือประมาณ 5 ไร่ ใช้ปลูกข้าว ซึ่งนอกจากกินกันภายในครอบครัวแล้ว ยังเหลือสำหรับแบ่งปันเพื่อนบ้านและช่วยงานสาธารณกุศลด้วย เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง  ต่อมาอีก 30% หรือประมาณ 6 ไร่ จะเป็นพื้นที่ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้เศรษฐกิจ ที่สามารถนำไปแปรรูปได้อีกกว่า 50 ชนิด เช่น ไม้สัก ไม้ยางนา ตะเคียนทอง พะยูง พยอม มะฮอกกานี ที่เหลือ 10% เป็นพื้นที่สำหรับอยู่อาศัย

K.Preecha

การขายกล้าไม้และไม้ประดับ เช่น กลุ่มอโกลนีมา กลุ่มบอนสี กลุ่มเฟิร์น เป็นรายได้เสริมสำหรับการใช้ชีวิตประจำวัน

ตอบโจทย์ลดค่าใช้จ่ายในระยะสั้น และออมเงินผ่านต้นไม้ในระยะยาว

 

กว่าสองทศวรรษที่อยู่กับเกษตรทฤษฎีใหม่ ประโยชน์ที่เห็นชัดเจนจากคำบอกเล่าของคุณปรีชา คือการลดรายจ่าย เพราะในน้ำมีปลา ในนามีข้าว และยังมีผลผลิตพืชผักและผลไม้นานาชนิด รวมถึงการเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ ทำให้มีเพียงค่าใช้จ่ายพื้นฐานในแต่ละเดือน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าใช้จ่ายในการเดินทางต่าง ๆ

 

“ที่นี่หาอาหารการกินได้เกือบทั้งหมด ซื้อจากข้างนอกน้อยมาก แม้รายรับอาจไม่มาก แต่บ้านไม่ต้องเช่า ข้าวไม่ต้องซื้อ ถ้าอยู่เป็น ค่าใช้จ่ายก็น้อยมาก”

 

ส่วนเรื่องของผลตอบแทนในระยะสั้นนั้น แม้อาจยังไม่เห็นชัดเจน แต่ที่ผ่านมาก็มีรายได้จากกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการขายกล้าไม้และไม้ประดับ ทั้งกลุ่มอโกลนีมา กลุ่มบอนสี กลุ่มเฟิร์น ที่มีอยู่กว่า 3,000 กระถาง

 

สำหรับระยะยาวในอีก 5-10 ปีข้างหน้า คุณปรีชามีแผนที่จะต่อยอดไปสู่การทำเฟอร์นิเชอร์ไม้ โดยผนึกกำลังกับเครือข่ายธนาคารต้นไม้ในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงที่มีสมาชิกอยู่เกือบ 70 ครัวเรือน ซึ่งคาดว่าจะมีต้นไม้ที่ปลูกไว้รวมกว่า 1 แสนต้น มาแปรรูปทำเฟอร์นิเชอร์ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมองการขยายผลไปถึงการตั้งโรงเรียนช่างฝีมือและโรงเลื่อย เพื่อฝึกฝนวิชาชีพเพิ่มมูลค่าของไม้ให้คนในชุมชนด้วย 

 

“การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ หากไม่ทำเรื่องไม้ยืนต้น เท่ากับต้องหาเงินทุกวัน หยุดเมื่อไรก็ไม่มีเงินเข้ากระเป๋า หรือถ้าปลูกพืชเชิงเดี่ยวก็ต้องลงทุนใหม่ทุกครั้ง ต้องควักทุนตลอด และไม่รู้จะคุ้มทุนหรือไม่ แต่ถ้าปลูกไม้เศรษฐกิจ ไม้ยืนต้น ไม้ป่า เท่ากับออมเงินระยะยาว”

 

สิ่งที่คุณปรีชาเน้นย้ำอยู่เสมอคือ “เป้าหมายของการปลูก ไม่ใช่เพื่อตัด” แต่คือการออมเงินไว้สำหรับในอนาคต เพราะผลผลิตจากไม้ยืนต้นและไม้เศรษฐกิจที่มีกว่า 500 ต้นที่วนพรรณ การ์เด้น นับวันมูลค่าจะยิ่งเพิ่มขึ้น จากต้นละห้าบาทสิบบาทในวันแรกที่ซื้อกล้ามาปลูก เมื่อเวลาผ่านไป 20-30 ปี มูลค่าก็จะเพิ่มขึ้นเป็นหลักพันหลักหมื่น เปรียบเสมือนการหยอดกระปุกไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดได้มีเงินเก็บออมหลักล้านไว้ใช้ในบั้นปลายชีวิตและเป็นมรดกสำหรับลูกหลาน

ิbig tree

คุณปรีชาในป่าปลูกที่อุดมไปด้วยไม้ยืนต้นและไม้เศรษฐกิจที่วนพรรณ การ์เด้น

ชวนชุมชนปลูกป่า ช่วยโลกกักเก็บคาร์บอน

 

แม้จะเดินมาได้ค่อนข้างไกลแล้ว แต่คุณปรีชาเองก็ยังไม่ได้มองว่าตนเองประสบความสำเร็จ และยังคงมุ่งมั่นที่จะไต่ระดับไปเรื่อย ๆ จากวันแรกที่ตั้งเป้าแค่ขอให้ต้นไม้ได้เติบโต ไม่ตายเสียก่อน มาสู่ขั้นที่สองคือ การมีต้นไม้ไว้เป็นร่มเงา เป็นแหล่งอาหาร เป็นที่อยู่อาศัย เป็นพี่เลี้ยงให้แก่ต้นไม้รุ่นต่อ ๆ ไปได้ จวบจนมาสู่ขั้นที่สามคือ การให้ต้นไม้เป็นแม่พันธุ์ ขยายผลต่อไปอีกในวันข้างหน้า และขั้นสุดท้ายคือ การสร้างมูลค่าเพิ่มจากต้นไม้เพื่อต่อยอดรายได้สำหรับเลี้ยงครอบครัว ตลอดจนพัฒนาไปเป็นห้องเรียนธรรมชาติ เพื่อให้คนมาเรียนรู้และได้มีแรงบันดาลใจในการปลูกต้นไม้ และช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม

 

“ไปทุกที่ก็ชวนคนปลูกต้นไม้” คือคำพูดที่แสดงถึงความตั้งใจของคุณปรีชา โดยเล่าว่าในอดีตชวนไปก็ไม่ค่อยมีคนสนใจ จึงตระหนักได้ว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ การทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง จึงเริ่มมีคนเข้ามาสอบถามขอคำแนะนำ จนมาถึงทุกวันนี้ที่มีคนปลูกตามกันหลายครอบครัวในชุมชนในหมู่บ้าน และได้รับการสนับสนุนและมีเครือข่ายธนาคารต้นไม้ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. และหน่วยงานราชการต่าง ๆ อีกทั้งยังมีหลายองค์กรได้เชิญไปให้ความรู้ มาขอศึกษาดูงาน มาจัดกิจกรรมและสัมมนาในพื้นที่ ซึ่งเป็นการช่วยสร้างเม็ดเงินและรายได้สู่ชุมชนอย่างหนึ่ง

 

ยิ่งไปกว่านั้น คุณปรีชายังมีแผนที่จะเดินหน้าไปสู่เรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้ โดยใช้ต้นไม้เป็นตัวดูดซับก๊าซเรือนกระจกเอาไว้ และอยากที่จะมีฐานข้อมูลไว้สำหรับต่อยอดเรื่องการขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งคงต้องศึกษากฎหมาย ระเบียบวิธีการ และเทคโนโลยีที่จะนำมาช่วยตรวจสอบและวัดปริมาณคาร์บอนที่ลดได้ให้เป็นที่ยอมรับต่อไป

ข้อควรคิดสำหรับผู้ที่อยากเริ่มปลูกต้นไม้

 

สำหรับผู้รักต้นไม้ที่มีใจอยากจะปลูก แต่อาจเคยล้มเหลว และคิดว่าต้องเป็นคนมือเย็นเท่านั้นจึงจะปลูกอะไรขึ้น คุณปรีชาได้ให้ข้อคิดพร้อมปลุกใจให้เรียนรู้ ขอเพียงมีความตั้งใจจะลงมือทำ

 

“เรื่องมือร้อนมือเย็น ยังไม่มีทฤษฎีมารองรับ แต่คิดว่าอาจอยู่ที่ใจและพฤติกรรมของเรามากกว่า เช่น การให้ปุ๋ย การรดน้ำ ถ้าเราใจเย็น น้ำหนักมือเวลาหยิบจับก็จะแตกต่างจากคนที่ทำอะไรใจร้อน เร่งรีบ เพราะอาจไม่ระมัดระวังและทำต้นไม้ช้ำได้ หรือแม้แต่ดูแลเยอะเกินไปก็ไม่ดีเช่นกัน”

 

นอกจากนี้ คุณปรีชายังกล่าวว่า หัวใจสำคัญคือการคิดให้ตกผลึกว่าต้องการปลูกต้นไม้เพื่อประโยชน์ด้านใด ปลูกเพื่อการอนุรักษ์ ปลูกเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หรือปลูกเพื่อให้ที่อยู่อาศัยร่มรื่น เพื่อจะได้จัดการวางแผนการปลูกได้อย่างเหมาะสม

 

“ผมไม่ได้ปลูกต้นไม้เป็นอาชีพหลักที่ใช้เลี้ยงครอบครัว จึงไม่ได้ปลูกเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่ผมปลูกเพื่ออนุรักษ์และเป็นที่อยู่อาศัย ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจจึงถือเป็นผลพลอยได้ เป็นงานเสริม เป็นเงินออม และหลักประกันรายได้ในบั้นปลายชีวิต”

 

นอกจากนี้ คุณปรีชาได้แนะนำว่า จากประสบการณ์ที่ทำงานประจำมานานพอสมควร หากท่านใดคิดจะลาออกเพื่อมาทำอาชีพปลูกต้นไม้เต็มตัวจะต้องวางแผนให้รอบคอบ และเตรียมทุกอย่างไว้ให้พร้อมก่อน โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการเงินและพื้นที่ โดยที่ดินที่มีอยู่ทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องนำมาปลูกป่า แต่สามารถแบ่งไปทำกิจกรรมอย่างอื่นได้ด้วย

 

จากพื้นเพเป็นลูกชาวไร่ชาวนา คุณปรีชาจึงเชื่อว่าอยู่กับไร่กับนา อย่างไรก็ไม่อดแน่นอน แต่ก็ต้องหาวิธีการเพิ่มมูลค่า เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ที่ดิน เพิ่มพูนความรู้ เช่น วิธีการที่เหมาะสม การวางแผนจัดการพื้นที่ และการวางแผนทางการเงินควบคู่กันไปด้วย

 

“เราคิดว่า เมื่อเรามีความรู้พอที่จะจัดการได้ และเราเชื่อในเกษตรทฤษฎีใหม่ ถ้าทำตามพระราชดำรัส อย่างไรก็ไม่อดอยากแน่”

Tag ที่เกี่ยวข้อง

BOT Magazine Inspiration Interview เศรษฐกิจภูมิภาค