“City Connext” รวมพลังคนรุ่นใหม่ ร่วมสร้างเมืองให้ดึงดูดใจผู้คน
“หาดใหญ่” มีชื่อเสียงมายาวนานในการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การค้า และการขนส่งที่สำคัญของภาคใต้ เป็นแหล่งรวมความน่าสนใจนานา เช่น อาหาร สถาปัตยกรรมย่านเมืองเก่า วิถีชีวิตของผู้คนจากความเป็นเมืองพหุวัฒนธรรมที่มีการผสมผสานหลายเชื้อชาติศาสนา เรียกได้ว่ามี “ของดี” ซ่อนอยู่มากมายในเมืองนี้
แต่ความเป็นเมืองเก่าที่มีความหลากหลาย ยังมีบางสิ่งบางอย่างที่ “จม” หายไป การดึงจุดเด่นและความน่าสนใจของเมืองหาดใหญ่ขึ้นมานำเสนอให้ถูกใจคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่และนักท่องเที่ยวเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชน จึงเป็นงานสำคัญที่ต้องมีคนทำหน้าที่ในการผลักดัน
ที่ผ่านมา หนุ่มสาวชาว City Connext ได้มีผลงานที่น่าสนใจหลายเรื่อง เช่น อิเวนต์เดินเมือง “Hatyai Happens หาดใหญ่ทำที” หรือนิทรรศการในศาลเจ้า “Hatyai Invisible Shrines หาดใหญ่ ศาลลับแรร์” โดยล้วนได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากคนในชุมชนและนักท่องเที่ยว เราจึงอยากพาท่านผู้อ่าน มารู้จักแนวคิดและประสบการณ์ของตัวแทนคนรุ่นใหม่ไฟแรง 4 คน คือ คุณสุทธหทัย นิยมวาส คุณอณวิทย์ จิตรมานะ คุณสรวิชญ์ อังศุธาร และคุณสุตาภัทร ชากรี ที่ได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาเมืองท้องถิ่นแห่งนี้ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายกัน
แท้จริงแล้วคนกลุ่มนี้ไม่รู้จักกันมาก่อน แต่จากความสนใจที่ตรงกันในเรื่อง “คน-ชุมชน-เมือง-การปฏิสัมพันธ์-การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม” เป็นแรงดึงดูดพวกเขาเข้าหากัน ภายใต้โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการพัฒนาชุมชนเมือง หรือ “ริทัศน์ (RTUS[1])” ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป (EU) ในนาม “ริทัศน์ หาดใหญ่”
ที่น่าสนใจคือ แม้โครงการจะจบไปแล้วตั้งแต่ปลายปี 2564 แต่พวกเขายังคงเห็นศักยภาพของเมืองที่สามารถต่อยอดได้ จึงได้ร่วมกันก่อตั้งกลุ่ม “Hatyai Connext” ขึ้นมา เพื่อใช้สร้างการเรียนรู้ และเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของกลุ่มต่าง ๆ ของเมืองหาดใหญ่ โดยมีการจัดกิจกรรมในหลายช่องทางทั้ง online และ onsite เช่น การจัดทำสารคดีเพื่อเป็นสื่อกลางให้เยาวชนพูดถึงการพัฒนาพื้นที่สาธารณะในเมืองหาดใหญ่ การสร้างพื้นที่เรียนรู้และเป็นต้นแบบในการพัฒนาการจัดการขยะอินทรีย์ หรือการเปิดพื้นที่เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างเยาวชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับระบบขนส่งมวลชนของเมืองหาดใหญ่ และเมื่อทีมเห็นว่าการรวมตัวมีความเข้มแข็งมากพอแล้วจึงได้จัดตั้งเป็นบริษัท เดอะ ซิตี้ คอนเน็กซ์ จำกัด (City Connext) เมื่อช่วงเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมานี้เอง เนื่องจากต้องการที่จะขยายขอบข่ายงานไปยังเมืองในจังหวัดอื่น ๆ นอกเหนือจากหาดใหญ่
จุดแข็งของแต่ละคนเมื่อมาประกอบร่างรวมกันแล้ว ได้ช่วยทำให้การตีโจทย์และแก้ไขปัญหาเมืองสามารถทำได้อย่างสร้างสรรค์และลงตัว โดยคุณสุตาภัทร สาวน้อยนักกิจกรรมผู้คลุกคลีกับการลงพื้นที่ชุมชน เป็นแกนนำการลงพื้นที่พูดคุยทำความเข้าใจกับชุมชน ขณะที่คุณสุทธหทัย สถาปนิกผู้ใส่ใจเมืองหาดใหญ่บ้านเกิด รับหน้าที่เป็นดีไซเนอร์ออกแบบเมือง ด้วยความคาดหวังที่อยากเห็นการเติบโตทางวัฒนธรรมมากกว่าทางกายภาพ ในส่วนของคุณสรวิชญ์ วิศวกรโยธาได้เข้ามาช่วยเติมมุมมองในเรื่องการปรับโครงสร้างของเมืองและชุมชนเพื่อความยั่งยืน และสุดท้ายคุณอณวิทย์ นักการตลาดดิจิทัลรับผิดชอบดูแลการสื่อสารภายใต้โจทย์ที่ว่าจะพัฒนาเมืองและย่านชุมชนให้ยั่งยืนได้อย่างไร
พลังที่คนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ได้เติมให้กับเมืองก็คือ การเปิดให้มีพื้นที่ให้คนในชุมชนสื่อสารและถ่ายทอด “ของดี” ที่แอบซ่อนอยู่ ออกมาให้ภายนอกได้รับรู้มากขึ้น โดยเน้นสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ซึ่งเป็นตัวชี้วัดสำคัญในการประเมินผลความสำเร็จ โดยคุณสุทธหทัยเห็นว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือความร่วมมือจากชุมชนควรมาจากความสมัครใจ โดยต้องไม่ทำให้คนรู้สึกถูกบังคับให้พูด และจะให้ความสำคัญเรื่องความคิดสร้างสรรค์เป็นหลักไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมเล็กหรือใหญ่ โดยจะดึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และเยาวชน
ขึ้นชื่อว่า “เมือง” ย่อมประกอบด้วยคนหลายกลุ่มหลายช่วงวัยที่อยู่ร่วมกัน คุณสรวิชญ์เห็นว่าสิ่งนี้เป็นเสน่ห์ ทำให้การออกแบบทุกงานจะต้องทำด้วยความเข้าใจ สามารถเข้าถึงและรองรับความหลากหลายนี้ได้
เช่นเดียวกับคุณอณวิทย์ที่คำนึงถึงความแตกต่างของช่วงวัย จึงดูความสนใจของแต่ละกลุ่มเป็นลำดับแรก “โจทย์คือสารที่สื่อออกไปจะต้องไม่ทิ้งคนรุ่นเก่า และต้องโดนใจคนรุ่นใหม่ด้วย ฉะนั้น ความคิดสร้างสรรค์จึงสำคัญมาก”
ในขณะที่คุณสุตาภัทรย้ำว่า “เวลาทำอะไรสักอย่างต้องให้ผู้สูงวัยยังทำอย่างเดิมได้ และทำให้น้อง ๆ เยาวชนสามารถมาเจอกันตรงกลางได้ โดยใช้กระบวนการดีไซน์”
กิจกรรมเดินเมือง Hatyai Happens หาดใหญ่ทำที
การทำงานเมืองมีปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องมากมายให้คิด ให้แก้ไข แต่พวกเขายังเปี่ยมด้วยพลังความมุ่งมั่น เพื่อสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ แก่เมือง คุณสุทธหทัยเล่าว่า ประสบการณ์จาก Hatyai Connext สามารถตอบโจทย์ความเป็นตัวเอง เพราะได้ใช้ทักษะของสถาปนิกในการเก็บข้อมูล การทำความเข้าใจ การออกแบบโพรเจกต์ โดยเห็นว่าเป็นเสน่ห์ของงานเมืองที่ตนเองสามารถจับต้องได้ โดยเฉพาะการมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนมุมมองกับคนหลากหลายสาขาอาชีพเพื่อนำมาดีไซน์ ซึ่งเป็นความสนุกที่ทีมได้ทำร่วมกัน
คุณสุตาภัทรเล่าว่าจากการคลุกคลีกับคนในชุมชน พอได้เห็นงานออกมาและช่วยทำให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้น มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น เมืองมีชีวิตชีวาขึ้น คนรู้จักเมืองมากขึ้น ทำให้รู้สึกอิ่มเอมและมีกำลังใจในการขยายผลเพื่อให้คนอื่น ๆ ได้มีโอกาสสัมผัสความรู้สึกแบบเดียวกันนี้บ้าง
Hatyai Defines Youth นิทรรศการคนรุ่นใหม่หาดใหญ่ สื่อสารประเด็นพัฒนาเมือง
เช่นเดียวกันกับคุณอณวิทย์ที่รู้สึกดีกับการทำงานกับทีมงานที่ลงตัวเช่นนี้ อีกทั้งการได้นำปัญหาเมืองออกมาตีแผ่ช่วยเติมเต็มจิตวิญญาณ เพราะงานสร้างสรรค์พัฒนาเมืองเป็นงานที่ตนชอบอยู่แล้ว เป็นการสานฝันของตัวเองในสายงานโฆษณา
ขณะที่คุณสรวิชญ์มองว่า เสน่ห์ของงานอยู่ที่ทีมและผู้ใหญ่ในเมืองที่เปิดกว้าง ทำให้สามารถร่วมกันผลักดันเมืองด้วยแนวทางสร้างสรรค์ได้อย่างแท้จริง บางเรื่องแม้เป็นเพียงประเด็นเล็ก ๆ แต่ก็ถือว่าเป็นพื้นที่สำคัญในการทดลองทำไอเดียใหม่ ๆ
คนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ยังมีความใฝ่ฝันอีกมากมายที่จะสร้างบ้านเมืองให้สวยงามและเจริญรุ่งเรือง โดยงานของพวกเขาไม่ได้หยุดแค่พัฒนาสร้างสรรค์ชุมชน แต่ยังรวมถึงการขยายให้เป็นเมืองที่มีเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ creative economy เพราะฉะนั้น การทำงานของ City Connext จึงมีการศึกษาแนวทางในการนำไปต่อยอดตลอดเวลา เช่น Hatyai Happens ที่เป็นการเดินเมืองในจุดไข่แดง คือ ถนนสาย 1, 2, 3 และได้ต่อยอดมาเป็นนิทรรศการภาพถ่ายเล่าเรื่องเมืองหาดใหญ่ “404 HATYAI FILE NOT FOUND” นั่นเอง
(จากซ้ายไปขวา) คุณสุทธหทัย นิยมวาส คุณสุตาภัทร ชากรี คุณอณวิทย์ จิตรมานะ และคุณสรวิชญ์ อังศุธาร
หลาย ๆ ครั้งที่หลายคนอาจมองว่า การทำงานเมืองไม่ต้องใช้เงิน ไม่มีต้นทุน ไม่ต้องอยู่บนพื้นฐานของกำไร แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทุกขั้นตอนและทุกคนต่างมีต้นทุนเวลา การใช้ไฟ ค่าอาหาร แรงงานที่ลงพื้นที่ การทำงานอาจไม่ได้ต้องการสร้างผลกำไรมากมาย แต่ต้องเพียงพอที่จะไปต่อได้
ที่ผ่านมา กิจกรรมต่าง ๆ ของ City Connext ได้รับการสนับสนุนจากภาคธุรกิจน้อยใหญ่ในจังหวัดมาโดยตลอด บางโพรเจกต์ก็ได้รับความไว้วางใจให้เรารับผิดชอบบริหารจัดการทั้งหมด นอกจากนี้ พวกเขายังได้รับโอกาสจากภาครัฐด้วย เช่น โพรเจกต์ที่ทำร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเดินเมืองย่านฉื่อฉาง ซึ่งเป็นย่านงานคราฟต์ในหาดใหญ่ โดยจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปของร้านค้าภายในย่าน เช่น ร้านทอง ร้านไอศกรีม ร้านอาหาร ร้านดอกไม้ เพื่อเชื่อมโยงคนในชุมชนกับนักท่องเที่ยว หรือโครงการที่ทำร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่มีชื่อว่านิทรรศการในศาลเจ้า “Hatyai Invisible Shrines หาดใหญ่ ศาลลับแรร์” ซึ่งเกิดจากไอเดียที่ว่าคนไทยไม่น้อยที่เป็นสายมูเตลู และหาดใหญ่ก็มีศาลเล็กใหญ่กระจายอยู่ทั่วทุกชุมชน บางศาลอาจแฝงตัวอยู่ในที่ที่คนไม่รู้จัก หากจะจับมาทำเป็นนิทรรศการเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวหาดใหญ่น่าจะตอบโจทย์คนเหล่านี้ไม่น้อย จึงเกิดเป็นนิทรรศการในศาลเจ้าจริง เช่น ศาลเจ้าท่ามกุงหย่า (มูลนิธิศิริธรรม) และศาลเจ้ากวนอู เพื่อให้ทุกคนได้มาสัมผัสความสวยงามของสถาปัตยกรรมและบรรยากาศด้วยตัวเอง
จนถึงวันนี้ แม้ว่าผู้คนจะเริ่มสนใจคุณภาพชีวิตตัวเองมากขึ้น แต่งานของพวกเขายังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะยังมีโจทย์สำคัญต่อไปที่พวกเขาคาดหวังจะตีให้แตก นั่นก็คือการพัฒนางานออกมาให้สามารถสนองกับความต้องการของชุมชนที่จะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เพราะสำหรับพวกเขาแล้ว พลังความคิดสร้างสรรค์สามารถต่อยอดไปอีกยาวไกล และยังมีความท้าทายใหม่ ๆ ให้ฟันฝ่าอีก ซึ่งพวกเค้าไม่มองเป็นอุปสรรค แต่เป็นการสะสมองค์ความรู้จากสังคม คน และชุมชนมากกว่า
นิทรรศการ "Hatyai Invisible Shrines หาดใหญ่ ศาลลับแรร์" เปิดศาลเจ้าในหาดใหญ่ให้นักท่องเที่ยวรู้จัก
คุณสุตาภัทรเล่าว่า นอกจากใจกลางเมืองแล้ว ยังมีแผนจะขยายผลไปสู่การสร้างสรรค์ย่านชานเมืองให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เพื่อขยายกลุ่มเป้าหมายและความเป็นเมืองให้กว้างไกลออกไป และมีเป้าหมายที่จะทำงานในลักษณะเช่นนี้ในเมืองอื่น ๆ จังหวัดอื่น ๆ ที่มีคอนเน็กชันกันด้วย
ด้านคุณสรวิชญ์ซึ่งกำลังจะไปเรียนต่อ มุ่งหวังจะกลับมาช่วยบริษัทนำเทคโนโลยีมาสร้างสรรค์เมืองให้เป็นอัจฉริยะ (smart city) ควบคู่กับการสร้างสรรค์มรดกทางวัฒนธรรมให้ถูกจริตคนรุ่นใหม่
ส่วนคุณอณวิทย์ มีฝันที่จะมีโมเดลลักษณะนี้ โดยนำประสบการณ์มาวางแผนงาน เช่น การสร้างสรรค์พื้นที่หาดใหญ่โดยใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์เพื่อให้คนพื้นที่อื่นนำไปใช้เป็นแม่แบบ
คุณสุทธหทัยเผยความตั้งใจว่า ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่ได้รับโอกาสมา ในอนาคตหากมีโอกาสก็จะหยิบยื่นให้คนอื่นต่อไป เพราะมองว่า City Connext เป็นตัวกลางที่ช่วยสื่อสารให้คนรุ่นใหม่ เพื่อให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับพลังของสิทธิ์และเสียงของตัวเอง และมีโอกาสทำในสิ่งที่ต้องการได้มากขึ้น
[1] ย่อมาจาก ReThink Urban Spaces – การมีส่วนร่วมของเยาวชนในการพัฒนาชุมชนเมือง เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างองค์กรภาคประชาสังคมที่มีประสบการณ์ด้านวัฒนธรรม เยาวชน พลเมืองและการพัฒนาเมือง โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมศักยภาพของเยาวชนไทยในการมีส่วนร่วมกับการพัฒนาพื้นที่เมือง โดยมีพื้นที่ทำงานใน 5 ภูมิภาคในประเทศไทย ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น กาญจนบุรี หาดใหญ่ และกรุงเทพมหานคร