LOCALISM การกลับมาของกระแสท้องถิ่นนิยม
ในอดีต กระแสโลกาภิวัตน์ (globalization) ที่เกิดจากการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งและเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้ประเทศต่าง ๆ มีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกันทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง ภาคธุรกิจต่างก็มองหาของดีกว่าและราคาถูกกว่าเพื่อนำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่เมื่อใดที่ประเทศประสบปัญหาจากปัจจัยภายนอกก็มักจะหันกลับมาให้ความสำคัญกับความมั่นคงภายใน เกิดความชาตินิยม (nationalism) กันมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น คำขวัญที่ว่า “Make America Great Again” ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีที่มาจากปัญหาการขาดดุลทางการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมนำมาสู่การส่งเสริมให้มีการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นและสนับสนุนบทบาทของชุมชน ทั้งในด้านการผลิต การบริโภค และการบริหารจัดการพื้นที่มากขึ้น หรือที่เรียกว่า “localism” นั่นเอง
จากการสำรวจ 50 ตลาดจากหลายประเทศทั่วโลกของบริษัท Kantar ที่ปรึกษาด้านการวิเคราะห์และข้อมูลแบรนด์ ในปี 2563 พบว่า โควิด 19 ได้เร่งให้เกิด localism โดย 2 ใน 3 ของประเทศทั่วโลกมีความต้องการซื้อสินค้าและบริการที่มีแหล่งผลิตในประเทศ และแบรนด์ท้องถิ่นได้รับความนิยมมากขึ้น ขณะที่สินค้าจาก supplier รายใหญ่ของโลกอย่างจีนกลับได้รับความนิยมลดลง เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากมาตรการควบคุมโควิด 19 ของจีนที่ทำให้ต้องปิดการผลิตและระบบคมนาคมขนส่ง
ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานโลก โดยเฉพาะสินค้าประเภทธัญพืช ซึ่งยูเครนเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก สงครามระหว่างทั้งสองฝ่ายทำให้ธัญพืชขาดแคลนและราคาสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อทั้งผู้ผลิตในอุตสาหกรรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงผู้บริโภคทั่วโลก
ด้วยเหตุนี้ ภาคธุรกิจจึงต้องทบทวนกระบวนการ แหล่งวัตถุดิบ และปริมาณสต็อก โดยเปลี่ยนวิธีคิดจากเดิมที่เน้นต้นทุนและประสิทธิภาพ มาเป็นความมั่นคงและการกระจายความเสี่ยงแทน นำมาซึ่งแนวคิดการปรับสัดส่วนด้านทรัพยากรการผลิตให้พึ่งพาตนเองมากขึ้น บางรายเปลี่ยนไปกระจายแหล่ง supplier ไม่ให้กระจุกตัวอยู่เพียงไม่กี่แหล่ง
Global Risk Report ปี 2565 เปิดเผยว่า บริษัทกว่า 50% เห็นว่าความเสี่ยงห่วงโซ่อุปทานมีมากกว่าประโยชน์ที่เคยได้รับ เช่น ต้นทุนที่ต่ำกว่า อีกทั้งผลการสำรวจของ McKinsey ในปี 2565 พบว่า กว่า 80% ของผู้นำด้านห่วงโซ่อุปทานมีการจัดหาวัตถุดิบจาก supplier หลายรายมากขึ้น อย่างบริษัทในสหรัฐอเมริกามีการขยายจำนวนประเทศในการจัดหาวัตถุดิบ บางรายเพิ่มศักยภาพของคลังสินค้าเพื่อรองรับความเสี่ยงกรณีที่ความต้องการเพิ่มขึ้นหรือต้องกักตุนวัตถุดิบได้
ในญี่ปุ่น ธนาคารของรัฐก็มีนโยบายให้เงินอุดหนุนแก่บริษัทที่ต้องการย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ อีกทั้งผู้ประกอบการยังปรับการลงทุนใหม่ จากเดิมที่เน้นการสร้างโรงงานขนาดใหญ่ มาเป็นการเปิดโรงงานขนาดเล็กในพื้นที่ที่ใกล้กับลูกค้าและแหล่งวัตถุดิบในชุมชน ตลอดจนหันไปใช้ช่องทางขนส่งจากผู้ประกอบการในพื้นที่มากขึ้น
ท่าเรือในยูเครนกลับมาเปิดการขายธัญพืชในเดือนสิงหาคม 2565
ไม่เพียงแต่ส่งผลด้านการผลิต แต่ท้องถิ่นนิยมยังลงลึกถึงผู้บริโภครายย่อยแบบเรา ๆ ท่าน ๆ โดยตรง เมื่อความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการเติบโตของอีคอมเมิร์ซในปัจจุบันได้ช่วยทลายข้อจำกัดด้านระยะทาง ผู้นิยมท้องถิ่นจึงไม่ได้หยุดการซื้อขายสินค้าไว้เฉพาะในท้องถิ่นของตัวเองเท่านั้น
แพลตฟอร์ม “Ma Zone Quebec” ขายสินค้าท้องถิ่นในรัฐควิเบก ประเทศแคนาดา หรือแพลตฟอร์ม “Tienda Cerca” ที่เชื่อมโยงร้านค้าในเมืองโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย เทรนด์นี้ทำให้ผู้ประกอบการร้านออนไลน์ชูจุดเด่นของแต่ละพื้นที่ บอกเล่าเรื่องราวอย่างสร้างสรรค์ เชื่อมโยงแบรนด์
เข้ากับวัฒนธรรมชุมชนอย่างน่าประทับใจ และช่วยสร้างศักยภาพการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการรายเล็ก ตลอดจนช่วยขยายตลาดให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นด้วย
แนวคิดท้องถิ่นนิยมยังสอดคล้องความยั่งยืน เพราะเมื่อผู้คนหันมาสนใจท้องถิ่น ก็เริ่มมีความใส่ใจและหวงแหนทรัพยากรมากขึ้น ผู้บริโภคจึงมีแนวโน้มที่จะเลือกซื้อสินค้าจากแบรนด์ท้องถิ่นที่มีการดำเนินงานที่โปร่งใสและยั่งยืน กระแสดังกล่าวทำให้แบรนด์ระดับโลกเองก็หันมาใช้กลยุทธ์ที่เน้นการเชื่อมโยงกับชุมชน และการรักษาสิ่งแวดล้อมมาเป็นจุดขายมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ไม่ว่าในอนาคตกระแสโลกจะพัดไปในทิศทางใด แต่ความเข้มแข็งของท้องถิ่นจะกลายเป็นกำลังสำคัญใหม่ ที่จะช่วยให้ประเทศสามารถ
แอปพลิเคชัน Tienda Cerca แพลตฟอร์มที่รวบรวมร้านค้าในชุมชน