BOT RAT พัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคด้วย DATA

night market in Chiangmai

    หนึ่งในพันธกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คือ การเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจการเงินให้มีเสถียรภาพ มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนและทั่วถึงทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยมีสำนักงานภาคทั้ง 3 แห่งเป็นทัพหน้าในการประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เสริมสร้างความสัมพันธ์กับประชาชนในทุกภูมิภาค รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงินที่คนในพื้นที่เชื่อใจเสมอมา

 

    คอลัมน์นี้จะพาไปทำความรู้จักอีกหน้าที่สำคัญของสำนักงานภาคในการติดตามและวิเคราะห์ประเด็นเศรษฐกิจการเงินท้องถิ่นในเชิงลึก เพื่อจับชีพจรเศรษฐกิจได้ครอบคลุม รวดเร็ว ทันการณ์ และตอบโจทย์การวางแผนและการตัดสินใจของประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐ ตลอดจนสนับสนุนและช่วยเหลือท้องถิ่นในการรับมือกับวิกฤตต่าง ๆ

ความต้องการข้อมูลเร็วช่วงโควิด 19 จุดเริ่มต้น BOT RAT

 

    การแพร่ระบาดของโควิด 19 สร้างบาดแผลและแรงกดดันต่อเศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ความท้าทายและสถานการณ์เศรษฐกิจการเงินที่ไม่แน่นอน ผู้ดำเนินนโยบายไม่อาจพึ่งพิงเพียงเครื่องชี้หลักแบบเดิม[1] ที่มีความถี่เป็นรายเดือนและล่าช้า เพราะต้องออกแบบนโยบายให้ทันสถานการณ์และทิศทางเศรษฐกิจที่ผันผวน จึงจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลเสริมจากแหล่งที่น่าเชื่อถือและหาได้อย่างรวดเร็ว เพื่อประเมินภาพและทิศทางเศรษฐกิจได้ทันการณ์

 

    ในต่างประเทศ หน่วยงานต่าง ๆ เริ่มมีการใช้ข้อมูลทางเลือกที่มีความน่าเชื่อถือ รวดเร็วและทันการณ์มากขึ้น อาทิ หน่วยงานด้านเศรษฐกิจของประเทศอังกฤษได้นำข้อมูลเร็ว (Real-time Indicators: RTIs) มาใช้ประกอบการติดตามภาวะเศรษฐกิจในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 เช่น ข้อมูลการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและเดบิตของประชาชน ข้อมูลตำแหน่งงานว่าง และข้อมูลเที่ยวบิน สำหรับหน่วยงานภาครัฐของไทย อาทิ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้นำข้อมูลทางเลือก Google Mobility มาเป็นเครื่องชี้เร็วสะท้อนการเดินทางของผู้คน ซึ่งช่วยประเมินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้รวดเร็วขึ้น

 

    ธปท. สำนักงานภาคทั้ง 3 แห่ง จึงได้ร่วมกันพัฒนา “เครื่องชี้เร็วเศรษฐกิจภูมิภาค” หรือ Regional Activity Tracker BOT (RAT) เพื่อติดตามภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคใน 4 ด้าน ได้แก่ การท่องเที่ยว การใช้จ่ายของประชาชน การจ้างงาน และภาคเกษตร ผ่านการใช้เครื่องมือดิจิทัลและเทคโนโลยี เพื่อใช้เป็นข้อมูลเสริมและนำมาวิเคราะห์ควบคู่กับเครื่องชี้เศรษฐกิจอื่น ๆ ได้รวดเร็วทันการณ์ ซึ่งช่วยยกระดับขีดความสามารถในการจับชีพจรและแนวโน้มเศรษฐกิจภูมิภาค และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม รวมทั้งช่วยตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายหลักอย่างกลุ่มผู้ประกอบการ องค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนที่สนใจ

 

4 สาขาการผลิต 10 เครื่องชี้ สะท้อนข้อมูลเศรษฐกิจทันการณ์

 

    ตามที่กล่าวไปข้างต้นว่า BOT RAT นำเสนอเครื่องชี้เร็วครอบคลุม 4 สาขาการผลิตที่สำคัญในภูมิภาค ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยว การใช้จ่ายของประชาชน การจ้างงาน และภาคเกษตร ซึ่งได้ข้อมูลทางเลือก (alternative data) มาจาก 10 เครื่องชี้ ประกอบด้วย (1) ปริมาณการเดินทางของนักท่องเที่ยวทั้งทางบกและอากาศ (2) การค้นหาที่พักบน Google (Hotel Insight with Google) (3) การซื้อสินค้าออนไลน์ (4) การขนส่งสินค้าผ่านรถบรรทุก (5) ความเชื่อมั่นการใช้จ่าย (6) ตำแหน่งงานเปิดรับใหม่ (7) ความเชื่อมั่นการจ้างงาน (8) ดัชนีความเสี่ยงภัยแล้งของพื้นที่เกษตร (9) ปริมาณน้ำในเขื่อน และ (10) ดัชนีราคาสินค้าเกษตรสำคัญ เครื่องชี้ที่กล่าวมา ได้มาจากการเปิดเผยของ Google, Wisesight (open data) และข้อมูลที่ได้รับจากหน่วยงานภายนอก[1] ซึ่งสามารถเข้าไปดูข้อมูลเหล่านี้ได้ตลอดเวลา ทำให้สามารถติดตามข้อมูลเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วทันการณ์มากขึ้น จากเดิมที่เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจมีความล่าช้าประมาณ 1 เดือน

 

    ธปท. มีกำหนดเผยแพร่ข้อมูล BOT RAT เป็นประจำทุกวันที่ 15 ของเดือน ผ่านรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจภูมิภาค BOT RAT Bulletin รวมถึงเผยแพร่สถิติเครื่องชี้ BOT RAT ซึ่งผู้ใช้งานสามารถนำไปใช้ประกอบการศึกษาหรือวิเคราะห์เพิ่มเติมได้

 

    เราลองมาดูว่า BOT RAT ช่วยให้ข้อมูลที่จำเป็นต่อการวิเคราะห์เศรษฐกิจใน 4 สาขาการผลิตอย่างไร

จับชีพจรการท่องเที่ยว

 

    ด้านการท่องเที่ยว ธปท. ได้จัดทำเครื่องชี้ปริมาณการเดินทางของนักท่องเที่ยวทั้งทางบกและทางอากาศ โดยเป็นข้อมูลที่ได้มาจากปริมาณการจราจรผ่านกล้องกรมทางหลวงและจำนวนผู้โดยสารผ่านสนามบิน ที่สะท้อนการเดินทางของผู้โดยสารชาวไทยและต่างชาติ ทำให้สามารถประเมินภาพภาวะการท่องเที่ยวของภูมิภาคได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

 

    นอกจากนี้ ธปท. ยังติดตามแนวโน้มและพฤติกรรมการท่องเที่ยวผ่านระบบฐานข้อมูลจองห้องพักล่วงหน้า (SiteMinder) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มด้าน hotel commerce แบบ open platform มาระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ข้อมูลยอดจองห้องพักล่วงหน้าจาก SiteMinder ยังมีข้อจำกัด เนื่องจากฐานข้อมูลครอบคลุมเฉพาะจังหวัดที่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวหลักเท่านั้น ปัจจุบัน ธปท. จึงได้ปรับเปลี่ยนมาใช้เครื่องชี้คำค้นหาที่พักจาก Hotel Insight with Google ซึ่งเป็นข้อมูลเร็ว มีความถี่เป็นรายวัน และมีความละเอียดระดับรายจังหวัด มาช่วยประเมินภาวะการท่องเที่ยวให้ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งช่วยลดข้อจำกัดของการใช้ข้อมูลจาก SiteMinder ได้เป็นอย่างดี การปรับปรุงเครื่องชี้โดยใช้ข้อมูลจาก Hotel Insight with Google จึงช่วยเสริมภาพภาวะการท่องเที่ยวได้ครอบคลุมในหลายมิติมากยิ่งขึ้น อาทิ การท่องเที่ยวภาคอีสาน และการท่องเที่ยวเมืองรอง  

BOT RAT Bulletin showing data in 3 dimensions

ดูความสนใจใช้จ่ายผ่าน Google Trends e-Commerce Index

 

 

    เดิมการติดตามการใช้จ่ายของประชาชน สะท้อนจากดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่ครอบคลุมเพียงการใช้จ่ายผ่านช่องทางปกติ (traditional trade) แต่การระบาดของโควิด 19 เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือการซื้อขายสินค้าที่ย้ายไปอยู่บนแพลตฟอร์มมากขึ้น ข้อมูลจาก e-Commerce Index จึงช่วยสะท้อนถึงการใช้จ่ายของประชาชนในพื้นที่ได้ โดย ธปท. ใช้ข้อมูลจาก Google Trends e-Commerce Index ที่สะท้อนถึงการซื้อสินค้าออนไลน์ และดัชนีการขนส่งสินค้าผ่านรถบรรทุก ที่สะท้อนการขนส่งสินค้าจากส่วนกลางมายังแต่ละภูมิภาค ทำให้การวิเคราะห์และประเมินภาพเศรษฐกิจทำได้รวดเร็วและลุ่มลึกขึ้น นอกจากนี้ ยังติดตามความเชื่อมั่นของการใช้จ่าย ผ่านเครื่องมือที่รวบรวมข้อมูลความคิดเห็นของผู้คนที่อยู่บนโลกออนไลน์ โดยได้จับคีย์เวิร์ดสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่าย เช่น รายได้ เงินเดือน หนี้สิน เพื่อสะท้อนถึงความมั่นใจในการใช้จ่ายของประชาชนในภูมิภาค 

จับกระแสการจ้างงาน

 

    อีกหนึ่งสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การจ้างงาน ซึ่งสามารถช่วยสะท้อนภาพการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดย ธปท. ได้จัดทำดัชนีตำแหน่งงานที่เปิดรับใหม่รวบรวมจากประกาศรับสมัครงานของนายจ้างผ่านเว็บไซต์ต่าง ๆ ซึ่งสะท้อนความต้องการแรงงานเชิงพื้นที่ และช่วยประเมินภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ ยังได้จัดทำดัชนีความเชื่อมั่นการจ้างงาน ที่รวบรวมประเด็นความคิดเห็นเกี่ยวกับการหางานของประชาชนบนโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ผ่านคีย์เวิร์ดสำคัญ เช่น สมัครงาน หางาน ตกงาน ซึ่งเปรียบเสมือนเสียงสะท้อนของประชาชนที่มีต่อการจ้างงานและความเป็นอยู่ในช่วงเวลานั้น ๆ  

เครื่องชี้เร็วภาคเกษตร สะท้อนกำลังซื้อของภูมิภาค

 

    หากจะพิจารณาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภูมิภาคให้ชัดเจนขึ้น จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเครื่องชี้เร็ว        ภาคเกษตร เพราะมีบทบาทต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและสะท้อนกำลังซื้อของประชาชนในพื้นที่ ซึ่ง ธปท. ได้นำข้อมูลดิจิทัลมาช่วยติดตามภาคการเกษตรเช่นกัน โดยเฉพาะการนำข้อมูลจาก GISTDA มาคำนวณเป็นดัชนีวัดความแห้งแล้ง และนำข้อมูลปริมาณน้ำในเขื่อนสำคัญ มาประเมินแนวโน้มผลผลิตทางการเกษตรของภูมิภาค นอกจากนี้ ยังได้นำดัชนีราคาสินค้าเกษตรสำคัญมาวิเคราะห์ร่วมด้วย เพื่อประเมินภาพภาวะเกษตรในภูมิภาคได้อย่างรอบด้านและครบถ้วนมากขึ้น

BOT RAT Bulletin (April 2023)_conclusion

การนำข้อมูลไปปรับใช้ของคนในแต่ละพื้นที่

 

    ความร่วมมือของทั้ง 3 สำนักงานภาค และองค์กรที่ให้ความอนุเคราะห์ข้อมูลในการพัฒนาเครื่องชี้เร็วที่มีความครอบคลุมและสะท้อนภาพในพื้นที่ รวมทั้งตอบโจทย์กับความต้องการของหลายภาคส่วน ส่งผลให้ BOT RAT ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือที่ช่วยเสริมมุมมองเชิงพื้นที่ และก่อให้เกิดประโยชน์ในหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ เช่น ธุรกิจร้านอาหารนำข้อมูลไปประเมินแนวโน้มการเดินทางของนักท่องเที่ยว และการใช้จ่ายของคนในพื้นที่ เพื่อวางแผนธุรกิจและบริหารสต็อกวัตถุดิบได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงช่วยในการตัดสินใจทำโพรโมชันเพื่อใช้เงินค่าโฆษณาให้คุ้มค่ากับช่วงเวลาที่เหมาะสม

 

    นักวิเคราะห์การเงินของธนาคารพาณิชย์และสมาคมธุรกิจท้องถิ่นนำข้อมูลที่ได้ไปประเมินภาพเศรษฐกิจและวางกลยุทธ์ธุรกิจ รวมถึงให้คำปรึกษาแก่ลูกค้า หอการค้าจังหวัดนำข้อมูลไปประกอบการประชุมเพื่อจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลเป็นหลัก (data-driven)

 

    หน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ยังได้นำเครื่องชี้ BOT RAT ไปใช้ประกอบการวางนโยบายด้านเศรษฐกิจ อาทิ ใช้ประเมินเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ ใช้ประกอบการเตรียมกิจกรรมและเตรียมรองรับการเดินทางเข้าพื้นที่ในช่วงเทศกาล นอกจากนี้ ยังสามารถใช้เป็นแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้ในการเล่าภาพเศรษฐกิจในเวทีประชุมต่าง ๆ เช่น ผู้บริหาร ธปท. นำข้อมูล BOT RAT ไปเล่าในเวทีประชุมแลกเปลี่ยนความเห็นกับสำนักงานคลังจังหวัด เพื่อร่วมกันประเมินภาพภาวะเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ หรือในการประชุมร่วมกับผู้แทนนายจ้างและลูกจ้างเพื่อให้ความเห็นในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 

พร้อมพัฒนาและปรับปรุงเครื่องชี้ให้ตอบโจทย์มากยิ่งขึ้น

 

    ในอนาคตทีม BOT RAT มีแผนพัฒนาเครื่องชี้เร็วให้ครอบคลุมมากขึ้น ผ่านการพัฒนาเครื่องชี้ดิจิทัลภาคการเงิน อาทิ ข้อมูลปริมาณธุรกรรมการโอนเงินผ่าน mobile banking และข้อมูลปริมาณการถอนเงินสดผ่านตู้ ATM เพื่อสะท้อนภาวะการใช้จ่ายและกำลังซื้อของประชาชนในภูมิภาค

 

    ทีม BOT RAT ยังคงไม่หยุดพัฒนา และให้ความสำคัญกับการมองไปข้างหน้าอยู่เสมอ ซึ่งท้ายที่สุด การพัฒนาเครื่องชี้ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อให้ผู้ดำเนินนโยบายสามารถดูแลและออกแบบนโยบายได้ตรงจุด รวมทั้งช่วยให้ผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่สามารถประเมินทิศทางภาวะเศรษฐกิจได้ชัดเจนมากขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจ โดย ธปท. และสำนักงานภาคทั้ง 3 แห่ง ยังคงมุ่งมั่นที่จะช่วยสนับสนุนภาคครัวเรือนและธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนในทุกมิติ ภายใต้ความท้าทายของโลกในยุคที่ข้อมูลเปลี่ยนแปลงไวกว่าที่เคยเป็น

[1] เครื่องชี้เดิม เช่น ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ซึ่งอาศัยข้อมูลจากหลายหน่วยงานมาประกอบการจัดทำ เนื่องจากดัชนีมีหลายหมวดการใช้จ่าย

 

[2] ข้อมูลที่ ธปท. ได้รับความอนุเคราะห์เพื่อนำมาพัฒนาเป็นเครื่องชี้ ซึ่งถือเป็นการบูรณาการความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งกรมทางหลวง กรมท่าอากาศยาน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กรมการจัดหางาน สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และ GISTDA

Tag ที่เกี่ยวข้อง

บทความ The Knowledge Knowledge Corner