การสื่อสารส่วนภูมิภาค กลยุทธ์เข้าใจให้เข้าถึงคนต่างพื้นที่

     การสื่อสารกับผู้คนต่างถิ่นฐาน ต่างประสบการณ์ หรือต่างความเข้าใจ ไม่อาจยึดหลัก one size fits all ได้ แต่ต้องยื่นมือเข้าไปหาด้วยรูปแบบที่ต่างกันไป สำนักงานภาคของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการเป็นด่านหน้าทำงานใกล้ชิดกับผู้คนในท้องที่ จึงต้องคัดสรรวิธีการสื่อสารให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมและความสนใจของคนในแต่ละภูมิภาค เพื่อส่งสารไปให้ผู้รับสารได้อย่างทั่วถึง

 

    ก่อนหน้านี้สำนักงานภาคแต่ละแห่งของ ธปท. ช่วยสื่อสารนโยบายต่าง ๆ ไปสู่ผู้เกี่ยวข้องในภูมิภาค เมื่อโควิด 19 ระบาดในปี 2563 สำนักงานภาคยังมีหน้าที่สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือของ ธปท. เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการปรับตัวหรือเปลี่ยนโมเดลธุรกิจที่จะพยุงตัวให้รอดพ้นจากวิกฤตที่เกิดขึ้น ในปัจจุบันสำนักงานภาคยังมีบทบาทเพิ่มขึ้นในการเตือนภัยทางการเงินโดยใช้จุดแข็งเรื่องความใกล้ชิดกับคนในท้องที่ เข้าใจวัฒนธรรม ประเพณี และความเชื่อ มาคิดกลยุทธ์ที่จะสื่อสารให้คนภาคเหนือ ใต้ และอีสานรอดปลอดภัยจากกลโกง

talking people

อู้จาประสากำเมือง สื่อสารผ่านพลังศรัทธา

 

    ธปท. สำนักงานภาคเหนือตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ดูแลการสื่อสารครอบคลุม 17 จังหวัด โดยแบ่งช่องทางการสื่อสารตามผู้รับสาร 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ (1) กลุ่มเปราะบาง คือ ประชาชนฐานราก แรงงาน และผู้สูงอายุ (2) กลุ่มสื่อมวลชน รวมถึงอินฟลูเอนเซอร์ในโซเชียลมีเดีย ที่จะช่วยกระจายข้อมูลข่าวสารของ ธปท. ออกไปให้ประชาชนได้อย่างทั่วถึง และ (3) กลุ่มคนรุ่นใหม่วัยนักเรียน นักศึกษา ที่เป็นอีกกำลังสำคัญในการเผยแพร่ความรู้ได้อย่างรวดเร็ว

lecture on financial crimes in local area

การบรรยายให้ความรู้เรื่องภัยทางการเงินให้แก่สมาชิกกองทุนหมู่บ้าน ต.แม่ข้าวต้ม จ.เชียงราย

    เพื่อให้ชาวเหนือสนใจและเข้าใจข้อมูลข่าวสารของ ธปท. มากขึ้น เมื่อได้รับนโยบายจากส่วนกลางแล้ว สำนักงานภาคเหนือจึงมีกลยุทธ์เรียกความสนใจที่น่ารักอย่างการบรรยายและผลิตสื่อเป็นภาษาคำเมือง การลงพื้นที่เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับคนท้องถิ่น ทั้งยังให้ข้อมูลความรู้และคำปรึกษาด้านภัยทางการเงิน พร้อมทั้งนำข้อมูลที่ได้ส่งกลับให้ส่วนกลาง เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับจัดทำนโยบายที่ตรงเป้าและตอบโจทย์ยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เช่น ผู้นำชุมชน สำนักงานกองทุนหมู่บ้าน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด ฯลฯ ที่ทั้งให้คำแนะนำและยังนําข้อมูลของ ธปท. ไปช่วยสื่อสารอย่างต่อเนื่อง

monk with financial fraud poster

ธปท. ถวายข้อมูลและสื่อประชาสัมพันธ์เรื่องภัยทางการเงินแก่พระนักเทศน์

    อย่างไรก็ตาม ภัยทางการเงินซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบันก็ลุกลามไปทั่วทุกพื้นที่ ไม่เว้นแม้แต่ในชนบทที่ห่างไกล ทำให้สำนักงานภาคเหนือต้องหา “ผู้ส่งสาร” โดยอาศัยหลักคิด “บวร” บ้าน วัด โรงเรียน  จนได้พบกลุ่ม “พระนักเทศน์” ซี่งมีอิทธิพลต่อความเชื่อของชาวบ้านและวัฒนธรรมในชุมชน นอกจากจะนำพระธรรมคำสั่งสอนทางพุทธศาสนามาเผยแผ่แล้วยังสามารถนำมาผูกโยงกับหลักการใช้ชีวิต และภัยทางการเงินด้วย จากการลงพื้นที่หาข้อมูลพบว่าพระสงฆ์บางรูปก็หนีไม่พ้นภัยการเงิน และแต่ละท่านยินดีที่จะนำหลักธรรมกับภัยทางการเงินไปช่วยเตือนภัยให้ญาติโยมที่มาฟังธรรม เรียกได้ว่าไม่เพียงใช้ธรรมเทศนามาช่วยชาวบ้านให้พ้นทุกข์ แต่ยังนำพลังศรัทธามาช่วยให้ชาวบ้านพ้นภัยได้อย่างแท้จริง

join the broadcasting TV progam

ออกรายการเช้านี้ที่ภาคเหนือ

    ไม่เพียงเดินหน้าสื่อสารผ่านพลังศรัทธา แต่ในช่วงปลายปี 2566 นี้ ธปท. สำนักงานภาคเหนือยังมีแผนเปิดบ้านให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่จะมีการจัดแสดงนิทรรศการถาวรเรื่อง ความเกี่ยวข้องกับการมีอยู่ของ ธปท. สำนักงานภาคเหนือ ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจการเงิน ผู้ประกอบการ และผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ ในพื้นที่ ภัยทางการเงินในรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นและแนวทางป้องกัน รวมถึงมุมกิจกรรมเงินทองที่ต้องรู้ในชีวิตประจำวัน สำหรับให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเยี่ยมชมและศึกษาดูงาน

แหลงใต้ ผ่านเครือข่ายสื่อมวลชน

 

    ธปท. สำนักงานภาคใต้ตั้งอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ดูแลการสื่อสารครอบคลุม 14 จังหวัดในภาคใต้ มีผู้รับสารที่หลากหลาย ตั้งแต่ประชาชน ผู้ประกอบการ สถานศึกษา สถาบันการเงิน ไปจนถึงภาครัฐ โดยมุ่งหวังว่าจะเป็น “trusted advisor” หรือที่ปรึกษาที่น่าเชื่อถือของคนใต้

 

    เพื่อเข้าไปนั่งในใจคนใต้ การสื่อสารต้องทำอย่างจริงใจ จริงจัง และหนักแน่น ต้องใช้ตัวช่วยหลากหลาย ตั้งแต่การรับฟังประชาชนและภาคธุรกิจ การสร้างความร่วมมือกับชมรมธนาคารภาคใต้ การลงพื้นที่บรรยายเป็นภาษาท้องถิ่น ไปจนถึงการทำคอนเทนต์สื่อสารผ่านหนังตะลุง แต่ที่เข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการสื่อสารของ ธปท. สำนักงานภาคใต้ในช่วงปีที่ผ่านมาคือ “เครือข่ายสื่อมวลชน”

join the broadcasting radio program

การให้ความรู้เรื่องภัยทางการเงินที่สถานีวิทยุเทศบาลนครหาดใหญ่ FM. 96.0 MHz.

    ด้วยเล็งเห็นศักยภาพของสื่อมวลชนในการสื่อสารเป็นวงกว้าง เข้าถึงกลุ่มเปราะบางและประชาชนได้อย่างทั่วถึง ธปท. สำนักงานภาคใต้จึงจัดให้มีการอบรมความรู้ ให้ข้อมูลและข่าวสารโดยตรงแก่สื่อมวลชนผ่านการจัดประชุมกับสื่อ 14 จังหวัดในภาคใต้ พร้อมทั้งสื่อสารผ่านสถานีโทรทัศน์และวิทยุท้องถิ่นเป็นประจำทุกเดือน อาทิ รายการพิราบคาบข่าว ช่อง NBT สงขลา รายการห่วงชุมชน วิทยุชุมชนเทศบาลนครหาดใหญ่ และรายการเปิดเผยโปร่งใสใส่ใจข่าวสาร วิทยุชุมชนเทศบาลนครสงขลา  

 

    องค์กรภาครัฐและเอกชนเป็นอีก 2 กลุ่มที่สามารถกระจายข้อมูลจาก ธปท. ไปสู่ประชาชนในพื้นที่ได้เป็นวงกว้าง อาทิ หอกระจายข่าวในชุมชน สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด หอการค้า สภาอุตสาหกรรมภาคใต้ ฯลฯ ซึ่งมีการประชุมร่วมกันเป็นประจำเกี่ยวกับข้อมูลความคืบหน้า ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ และภัยทางการเงินที่เกิดขึ้นในพื้นที่

regional field trip

ลงพื้นที่ให้ความรู้ทางการเงินในโครงการจัดการเงินดีเพื่อชุมชนที่จังหวัดสงขลา เพื่อให้ตระหนักรู้เรื่องการออม การวางแผนการเงิน การจัดการหนี้ และระวังภัยการเงิน

    อีกหนึ่งภาคส่วนสำคัญที่ทำหน้าที่เป็นข้อต่อนโยบายจาก ธปท. ไปสู่ประชาชนคือสถาบันการเงิน จึงมีการประสานความร่วมมือระหว่าง ธปท. ชมรมธนาคารภาคใต้ และชมรมธนาคารจังหวัดต่าง ๆ เพื่อสื่อสารในประเด็นต่าง ๆ โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 รวมไปถึงการส่งเสริมให้สถาบันการเงินให้บริการแก่ประชาชนอย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม โดยจัดประชุมชี้แจงอย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันและเพื่อให้สถาบันการเงินในภูมิภาคสามารถนำนโยบายหรือมาตรการของ ธปท. ไปทำต่อได้อย่างถูกต้อง ตอบโจทย์ และทันการณ์ 

 

    ในอนาคตอันใกล้นี้ สำนักงานภาคใต้จะเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยมีทั้งการจัดแสดงนิทรรศการ แนะนำบทบาทหน้าที่ของ ธปท. ที่มีต่อเศรษฐกิจการเงินไทย รวมไปถึงการจัดเสวนาพูดคุยระหว่าง ธปท. กับประชาชน

เว่าอีสาน เตือนภัยผ่านกองทุนหมู่บ้าน

 

    ธปท. สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือตั้งอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น ดูแลเศรษฐกิจการเงินของภาคอีสานที่มีพื้นที่กว้างที่สุดในประเทศไทย มีประชาชนราว 1 ใน 3 ของประชาชนทั้งประเทศ และประมาณ 80% ยังกระจายอยู่ในเขตชนบท แผนการสื่อสารของภาคอีสานจึงต้องใช้เครือข่ายที่กว้างขวางเพื่อให้สามารถเข้าถึงท้องถิ่นได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะประชาชนฐานรากในพื้นที่ห่างไกล

 

    เครือข่ายและเครื่องมือที่สำนักงานภาคนำมาช่วยคือ “กองทุนหมู่บ้าน” ที่เปรียบเหมือนสถาบันการเงินประจำชุมชน แค่ในภาคอีสานก็มีกองทุนหมู่บ้านมากถึง 34,108 แห่ง ครอบคลุม 20 จังหวัด เหมาะกับการเป็นช่องทางกระจายข่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตือนภัยทางการเงินที่เป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบัน ธปท. จะส่งข่าวผ่านทาง Line ให้กับกรรมการกองทุนหมู่บ้าน เพื่อกระจายต่อไปยังกลุ่ม Line ของสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำคลิปเสียงเป็นภาษาอีสานเพื่อส่งให้แต่ละหมู่บ้าน ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรือใกล้เมือง เพื่อสื่อสารผ่านหอกระจายข่าว ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สามารถเข้าถึงประชาชนฐานรากได้อย่างทั่วถึง ประหยัด และมีประสิทธิภาพ

regional field trip re financial frauds

ลงพื้นที่กองทุนหมู่บ้าน จ.หนองบัวลำภู

    การสื่อสารที่ทรงพลังต้องใช้ความร่วมมือจากหลายฝ่าย สำหรับภาคอีสาน ธปท. ได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายความร่วมมือทั้ง 20 จังหวัดในภาคอีสาน ทั้งกลุ่มหอการค้า สภาอุตสาหกรรม ภาครัฐ ชมรมธนาคารจังหวัดต่าง ๆ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สื่อมวลชน และตำรวจ ในการสื่อสารนโยบาย ผลักดันมาตรการ อบรมให้ความรู้ และรับฟังข้อเสนอแนะ นอกจากนี้ ยังแลกเปลี่ยนข้อมูลภัยทางการเงินเพื่อตรวจสอบและแจ้งเตือนไปถึงแต่ละจังหวัดได้อย่างรวดเร็ว

 

    ไม่เพียงการสื่อสารทางเดียวอย่างการกระจายข่าว แต่ ธปท. ยังให้ความสำคัญกับการสื่อสาร 2 ทาง จึงพยายามรับฟังผลตอบรับจากผู้รับสารผ่านการประชุมร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรและประชาชน รวมทั้งจัดทำการสำรวจประชาชนภาคอีสานในปี 2565 เรื่องการสื่อสารนโยบายหรือมาตรการต่าง ๆ จาก ธปท. ไปยังภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ผลการสำรวจพบว่าการสื่อสารในภาคอีสานอยู่ในระดับปานกลางถึงดีที่สุด คิดเป็น 89.5% ของผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด

 

    แม้ผลตอบรับจะอยู่ในระดับที่น่าพอใจ แต่การสื่อสารยังต้องพัฒนาต่อไปไม่หยุด เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ธปท. สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้มีการ “เปิดบ้าน” สู่สาธารณชนเป็นครั้งแรก ด้วยการเปิด “หม่องเฮียนฮู้” ศูนย์การเรียนรู้แห่งใหม่ที่หมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็น hub การเรียนรู้ และสนับสนุนการแสดงออกทางความคิดของชาวอีสาน ผู้สนใจแวะเวียนไปใช้บริการได้ที่ “หม่องเฮียนฮู้” เปิดบริการเวลา 09.00-16.30 น. หรือโทรสอบถามได้ที่โทร. 0 4391 3555

local library

หม่องเฮียนฮู้ ณ ธปท. สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

    จะเห็นว่าประเทศไทยประกอบไปด้วยคนหลายเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ความเชื่อ และความสนใจ การที่จะสื่อสารนโยบาย มาตรการ ความรู้ และการเตือนภัยทางการเงินไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ของไทยจึงต้องใช้วิธีการหลากหลาย และความร่วมมือมากมายจากผู้เกี่ยวข้อง แต่ก็เพื่อเป้าหมายเดียว คือ การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกคนให้เท่าเทียม ไม่ว่าจะอยู่ที่จังหวัดไหน เราก็เป็นคนไทยทุกคน 

call 1213

Tag ที่เกี่ยวข้อง

BOT Magazine The Knowledge Knowledge Corner ความรู้ทางการเงิน