มองอนาคตเมือง ผ่านเลนส์คนรุ่นใหม่
ปัจจุบันคนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเรื่องสำคัญของโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เล็งเห็นพลังของคนรุ่นใหม่ที่เข้มแข็งและเต็มไปด้วยความมั่นใจ ในปีที่ผ่านมา ธปท. จึงได้จัดสัมมนาวิชาการ ทั้งในกรุงเทพฯ ที่มีช่วงเปิดเวทีรับฟังความเห็นในหัวข้อ “อนาคตเศรษฐกิจไทย ในมุมมองคนรุ่นใหม่” และสำหรับ 3 ภูมิภาค (ภาคเหนือ-เชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-ขอนแก่น และภาคใต้-สงขลา) ในหัวข้อ “มองอนาคตเมือง ผ่านเลนส์ของคนรุ่นใหม่่” ด้วยตระหนักว่าพวกเขาเป็นคนรุ่นต่อไปที่จะขับเคลื่อนนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งบรรยากาศการพูดคุยกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ทั้ง 3 ภาค ที่มีนักเรียนระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา มหาวิทยาลัย รวมถึงกลุ่มที่เพิ่งทำงาน (first jobber) พวกเขาเหล่านี้ มีทั้งพลัง มองเห็นโอกาส ความหวัง และเปี่ยมล้นไปด้วยแรงบันดาลใจในการพัฒนาเมืองที่เป็น “บ้านเกิด” สำหรับบางคน และเป็น “เมืองรัก” ของอีกหลายคน
จากการพูดคุยกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ในการสัมมนาวิชาการ มีหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ที่พวกเขาอาศัยอยู่ อาทิ การทำงานที่บ้านเกิดบ้าง เมืองที่อยากให้เป็น แถมท้ายด้วยการสื่อสารของ ธปท. ว่าจะทำอย่างไรให้โดนใจและเข้าถึงคนรุ่นใหม่ ซึ่งสามารถสรุปได้ 5 ประเด็น แบ่งเป็น 2 ปรับโครงสร้างพื้นฐาน และ 3 ต่อยอดจุดแข็งในพื้นที่
ปรับระบบการศึกษา น้อง ๆ มีความเห็นตรงกันทั้ง 3 ภาค ในเรื่อง (1) ให้โรงเรียนสนับสนุนการเรียนรู้ชีวิต ทั้งด้านวิชาการและไม่ใช่วิชาการ เช่น การค้นหาตัวตนและทัักษะที่ตลาดแรงงานต้องการ ที่นอกเหนือไปจากวิชาแนะแนว โดยให้เรียนรู้เร็วขึ้นตั้งแต่มัธยมศึกษาตอนต้น เพราะถ้ารอมัธยมศึกษาตอนปลายก็อาจหาตัวตนไม่ทันแล้ว การเรียนรู้ทางการเงินทั้งด้านภาษี ความมั่นคงทางการเงิน และโอกาสในการลงทุน และ (2) ลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ซึ่งกลุ่มคนรุ่นใหม่เห็นว่าโรงเรียนดี ๆ มักอยู่ในเมืองใหญ่ นักเรียนในโรงเรียนรอบนอกสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ดีได้ยาก โรงเรียนรัฐยังมีความแตกต่างจากโรงเรียนเอกชน จึงอยากเห็นโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มากขึ้น ปลูกฝังให้นักเรียนได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ รวมถึงสร้างระบบค่าตอบแทนที่จูงใจให้ผู้ที่มีจิตวิญญาณความเป็นครูมีกำลังใจในการทำงานมากขึ้น เชื่อมโยงไปถึงการผลิตสื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ เพราะเชื่อว่าสื่อที่ดีสามารถเปลี่ยนชีวิตได้
ปรับระบบขนส่งมวลชน มุมมองของน้อง ๆ ที่เชียงใหม่และสงขลาเห็นว่า ควรมีการปรับปรุงระบบขนส่งมวลชน โดย (1) จัดเส้นทางการเดินรถให้ครอบคลุมและมีจุดขึ้นลงชัดเจน เพื่อให้คนในพื้นที่ใช้ชีวิตประจำวันอย่างสะดวกปลอดภัย และง่ายต่อนักท่องเที่ยวในการเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวหลักของเมือง (2) เพิ่มทางเลือกในการเดินทาง เช่น รถบัสโดยสารและรถไฟฟ้า เพื่อไม่ให้มีการผูกขาด มีความเป็นธรรมในการกำหนดราคา และเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเลือกใช้บริการที่เหมาะสมกับรายได้ของตนเองโดยไม่จำเป็นต้องซื้อรถส่วนตัว (3) นำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ เช่น พัฒนาแอปพลิเคชันตรวจสอบตำแหน่งและตารางการเดินรถประจำทาง
แทรมน้อยลูกอีสาน
รถไฟฟ้ารางเบาหรือรถแทรม ได้รับบริจาคจากฮิโรชิมาแทรม ประเทศญี่ปุ่น ด้วยการสนับสนุนงบประมาณขนส่งจากบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง ในระยะแรกมีเป้าหมายเพื่อใช้ในการศึกษาเรียนรู้หลักสูตร ระบบราง ต่อมามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) วิทยาเขตขอนแก่นร่วมกับ บมจ. ช ทวี และภาคส่วนอื่น ๆ ได้วิจัยและพัฒนาต่อยอดจนสร้างรถแทรมได้สำเร็จ เป็นรถไฟฟ้าฝีมือคนไทยขบวนแรก ในระยะต่อไปจะเริ่มทดลองวิ่งและประสานความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเกิดการใช้งานได้จริง รองรับความเป็น Smart City ของจังหวัดขอนแก่น
ที่มา: https://theactive.net/read/first-khonkaen-tram/ https://www.khonkaenthinktank.com/news_view.php?id=78
ต่อยอดการใช้เทคโนโลยีและข้อมูลเพื่อประโยชน์ของพื้นที่ ใน 2 ด้าน (1) ด้านเกษตร ทั้ง 3 ภาคมีคนที่ประกอบอาชีพเกษตรเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะภาคอีสาน ซึ่งการนำเอาเทคโนโลยีและข้อมูลมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตร ก็จะถือเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ เป็นแรงจูงใจทางหนึ่งที่จะทำให้คนรุ่นใหม่ได้มีงานในพื้นที่ ไม่ต้องไปกระจุกตัวอยู่ที่เมืองใหญ่ เพราะทั้ง 3 ภาคล้วนมีศักยภาพในด้านทรัพยากรที่สามารถพัฒนาต่อไปได้ (2) ด้านการพัฒนาเมืองให้เป็น Smart City หรือ Data Center Hub อย่างขอนแก่นที่มีจุดแข็งด้านการผลิตแรงงานในพื้นที่ โดยเฉพาะด้านไอที เพราะมีสถานศึกษาที่มีความพร้อมและผู้ประกอบการรวมกลุ่มกันเข้มแข็งมาก ซึ่งเอื้อให้มีโอกาสพัฒนาต่อได้ไม่ยาก
ต่อยอดเวทีความคิด สนับสนุนให้คนรุ่นใหม่สร้างหรือมีเวทีในการแสดงความคิดเห็นและร่วมออกแบบนโยบาย โดยปัจจุบันมีเวทีและแพลตฟอร์มที่เกิดจากคนรุ่นใหม่มากขึ้น เพื่อไว้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในระดับชุมชน ทั้งจากภาคเอกชน ภาครัฐ และคนในชุมชน นอกจากนี้ ยังอยากให้นำความเห็นของคนรุ่นใหม่ไปต่อยอดหรือไปทำจริง นอกจากนี้ ควรเพิ่มโอกาสให้คนรุ่นใหม่มีเวทีแสดงความสามารถในภูมิภาคมากขึ้น โดยไม่ต้องเดินทางไปที่กรุงเทพฯ เช่น การจัดประกวดการประดิษฐ์หุ่นยนต์ การจัดแสดงนิทรรศการ รวมทั้งควรมีพื้นที่สาธารณะ เพื่อทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มคนที่มีความต้องการคล้ายกัน ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบศูนย์การเรียนรู้หรือสวนสาธารณะ ซึ่งปัจจุบันพอมีบ้างแต่บางส่วนยังไม่ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน หรือยังไม่เป็นที่รู้จักของคนในพื้นที่
พื้นที่แสดงความเห็นของคนรุ่นใหม่เพื่อทำให้เมืองน่าอยู่
ปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่หลายกลุ่มในท้องถิ่นที่มีแรงบันดาลใจอยากทำให้เมืองหรือชุมชนน่าอยู่ยิ่งขึ้น คนกลุ่มนี้จึงเริ่มเปิดพื้นที่เพื่อเล่าพัฒนาการของเมืองและกิจกรรมต่าง ๆ เหมือนเป็นการโฆษณาเมืองของพวกเขา ขณะเดียวกันก็ไม่นิ่งเฉยที่จะขอความคิดเห็นและแสดงออก เพื่อหาทางให้เมืองของพวกเขาน่าอยู่ยิ่งขึ้นไปอีก อย่างเพจ iChiangmai และเพจ Hatyai Connext จะมีโพสต์ เช่น “จะดีแค่ไหนหากชุมชน เมือง จังหวัด ของเรามีพื้นที่สาธารณะที่ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์” “คำบอกเล่าจากคนต่างถิ่น... บทสัมภาษณ์จากคนต่างจังหวัดและชาวต่างชาติย้ายมาอยู่เชียงใหม่” หรือ “บ้าน อาหาร และความคิดถึง เพราะเราเองก็เชื่อว่า ทุกคนต่างมีจานโปรดที่ทำให้นึกถึง “บ้าน””
ต่อยอดเอกลักษณ์ ศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรมที่มีเสน่ห์ของเมืองเก่าให้เข้ากับการใช้ชีวิตของคนสมัยใหม่ “Modernized the Old City” เป็นคำที่ผู้เข้าร่วมสัมมนาใช้ อย่างที่เชียงใหม่ มีการผสมผสานความเป็นล้านนาแบบดั้งเดิม ควบคู่ไปกับการพัฒนาเมือง เช่น โครงการ Visit ช้างม่อย เป็นการสร้างแบรนด์ให้กับชุมชนด้วยการชุบชีวิตเมืองเก่าจากย่านธุรกิจเดิม ที่ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีจนการค้าขายเงียบไป พลิกฟื้นให้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยว มีร้านกาแฟ ร้านขนม ร้านขายเครื่องหัตถกรรมที่มีเอกลักษณ์สะท้อนวิถีชีวิตแต่ผสมความเก๋ไก๋ทันสมัยเข้าไป มีคนรุ่นใหม่มาช่วยรีวิวร้านค้าต่าง ๆ ร่วมกับเจ้าของร้านในพื้นที่ ซึ่งมีทั้งคนรุ่นใหม่และรุ่นพ่อแม่ทำงานร่วมกันอย่างลงตัว
ด้านสงขลาก็อยากให้รักษาและพัฒนาจุดแข็งของเมืองที่มีกลิ่นอายของความหลากหลายทางวัฒนธรรม เช่น ย่านเมืองเก่าของหาดใหญ่ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า สาย 1, 2, 3 เป็นถนนที่ยังคงสถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีสที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน ความหลากหลายและรสชาติของอาหารจีน มุสลิม ไทยภาคใต้ เพราะหาดใหญ่ไม่ได้มีดีแค่ไก่ทอด แต่ยังมีร้านอาหารดั้งเดิมที่ขึ้นชื่อจำนวนมาก จนเรียกได้ว่าเป็นเมืองแห่งอาหาร สร้างคุณค่าเพิ่มให้คนต่างเมืองและต่างชาติรู้จักอาหารท้องถิ่นได้อีกมาก
หลังจากที่คุยกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ทั้ง 3 ภาคแล้ว นอกจากมองเห็นพลังโอกาส ความหวัง และแรงบันดาลใจแล้ว เรายังเห็นว่า คนรุ่นใหม่กลุ่มนี้เชื่อในแนวคิดที่ว่า “small change, make a big difference.” และเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงต้องค่อยเป็นค่อยไป พวกเขามี mindset ที่เปิดกว้าง มองไกล อยากทำร่วมกันกับคนในชุมชน และเรียนรู้ประสบการณ์จากคนรุ่นพ่อแม่ และมีความภูมิใจในการประกอบอาชีพที่ท้องถิ่น ถ้าทำงานอยู่บ้านได้ ก็อยากอยู่พัฒนาบ้านเกิด
เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ขยายเครือข่าย มีเวทีที่ได้รู้จักกับคนในพื้นที่ทั้งจากภาคเอกชน ภาครัฐ และสถาบันการศึกษา เพื่อเพิ่มช่องทางในการส่งเสียง ส่งต่อความคิด ให้ไปถึงกลุ่มคนหรือหน่วยงานที่มีความสามารถในการดำเนินงานต่อไป เช่น กลุ่ม Young Entrepreneur Council อาจารย์มหาวิทยาลัย และผู้กำกับการตำรวจ
ภายในปี 2567 สำนักงานภาคทั้ง 3 แห่งจะทยอยเปิดอาคารสำนักงานบางส่วนให้เป็นพื้นที่ที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ธปท. เปิด “หม่องเฮียนฮู้” แหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ของชาวอีสาน ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมเป็นประจำเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และจัดกิจกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชน อาทิ การจัดนิทรรศการ พื้นที่ระดมความคิด และการเสวนาในประเด็นที่อยู่ในความสนใจ
รับฟังและนำความเห็นของคนรุ่นใหม่มาผนวกเข้ากับการทำงานของ ธปท. โดยเฉพาะด้านการสื่อสาร ให้เข้าใจง่ายขึ้น เข้าถึง และตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ตลอดจนมีความน่าสนใจในเชิงสร้างสรรค์ จึงได้เชิญกลุ่มคนรุ่นใหม่มาร่วมสนทนาเรื่อง “การสื่อสารภัยทางการเงินอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ” ซึ่งได้รับคำแนะนำที่น่าสนใจมากมาย
เพื่อต่อยอดจากการรับฟังข้างต้น ในช่วงกลางปี 2566 ธปท. จะจัดการแข่งขันออกแบบการสื่อสาร BOT communication hackathon โดยโจทย์คือต้องสามารถนำไปใช้งานจริง และเข้าถึงประชาชนในทุกช่วงวัย ในเรื่องภัยทางการเงิน เพื่อให้ได้แนวทางการสื่อสารกับประชาชนในรูปแบบและวิธีการที่เหมาะสม สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย
ธปท. ต้องขอบคุณกลุ่มคนรุ่นใหม่ สถาบันการศึกษา คุณครูอาจารย์ รวมถึงผู้บริหารจากหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ ที่เล็งเห็นความสำคัญของคนรุ่นใหม่กับการพัฒนาเมือง จากจุดเริ่มต้นความร่วมมือในปีที่ผ่านมา ธปท. จะมุ่งสานความเห็นและคำแนะนำอันเป็นประโยชน์ที่ได้รับจากการทำงานทั้งในด้านนโยบาย และการสื่อสารต่อไปในอนาคต