ณัฐนิช กิตยานุรักษ์

แม่เลี้ยงผลไม้เมืองเหนือแห่งไร่ชรินทร์พรรณ เชียงใหม่

        ความตั้งใจที่อยากกลับมาปักหลักที่บ้านเกิดเพื่อดูแลพ่อแม่ กับความคุ้นเคยในวิถีเกษตรที่เห็นมาตั้งแต่เด็ก ประจวบเหมาะกับมีพื้นที่ว่างแปลงหนึ่งของครอบครัว ทั้งหมดเพียงพอให้ตัดสินใจหันหลังจากชีวิตมนุษย์เงินเดือนมาสานฝันธุรกิจการเกษตรของตนเอง ถึงตอนนี้ก็เข้าสู่ปีที่ 10 แล้วที่คุณณัฐนิช กิตยานุรักษ์กับสามี คุณสาธิต วงค์ศรีวิลัย ได้ทุ่มกำลังทั้งสมองและสองมือปลุกปั้นไร่ชรินทร์พรรณ เพื่อจำหน่ายเมลอนปลอดสารสายพันธุ์ญี่ปุ่นแท้ที่มีรสชาติหวานหอมไม่เหมือนใคร พร้อมปั้นแบรนด์ให้เป็นที่จดจำ 

จากพนักงานบริษัท สู่คนทำธุรกิจการเกษตร 

 

    คุณณัฐนิชเป็นคนเชียงใหม่โดยกำเนิด แต่เข้ามาเรียนต่อมหาวิทยาลัยจนจบระดับปริญญาโทครุศาสตร์ และทำงานประจำในกรุงเทพฯ เป็นเวลายาวนานกว่าสิบปี กระทั่งเริ่มเกิดความรู้สึกอิ่มตัวกับงานที่ทำ ประกอบกับอยากกลับมาดูแลพ่อแม่ที่นับวันอายุยิ่งมากขึ้น จึงตัดสินใจชวนสามีกลับบ้านเกิด ลองผิดลองถูกจนกระทั่งมาลงเอยกับธุรกิจการเกษตรฟาร์มเมลอนที่มาจากแพสชันควบคู่กับการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลอย่างดี

 

    “เรามาจากครอบครัวเกษตรกร เห็นพื้นที่ในชุมชนทำเกษตรมาตั้งแต่เด็ก และพอมีพื้นที่นาส่วนหนึ่งจากคุณพ่อคุณแม่สามีเป็นต้นทุนเดิม เราจึงขอมาลงทุน โดยคิดกันว่าอะไรเป็นพืชเศรษฐกิจสร้างรายได้ในระยะเวลาสั้นและเป็นกระแส เริ่มแรกมองไปที่เมลอนเพราะเราชอบกิน (ยิ้ม) และเมลอนใช้พื้นที่จำกัด หลังจากลองวิเคราะห์ถึงความคุ้มค่าในการใช้พื้นที่และโอกาสทางธุรกิจกับพืชชนิดอื่น ปรากฏว่าเมลอนให้ผลผลิตและมูลค่าที่มากที่สุด  แล้วก็ใช้ระยะเวลาสั้นที่สุดในการเก็บเกี่ยว อีกทั้งย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เชียงใหม่ยังต้องนำเข้าเมลอนจากญี่ปุ่น ลูกหนึ่งราคาเป็นพันบาท ก็เลยคิดว่าเราจะนำสายพันธุ์จากญี่ปุ่นมาปลูกในบ้านเรา โดยมีคอนเซปต์ว่าอยากให้คนไทยกินเมลอนในราคาที่จับต้องได้ ซึ่งถือว่าตอบโจทย์ ตอนนั้นทำแล้วผลผลิตแทบไม่พอขายเลย”

 

 

farm owner

จากเกษตรโลกสวยสู่กลยุทธ์เกษตรยั่งยืนด้วยระบบ “วิสาหกิจชุมชน”

 

    “ถึงแม้ก่อนลงมือทำ เราวิเคราะห์ศึกษาหาความรู้มาก่อนแล้ว แต่ต้องบอกตามตรงว่าเราก็คือเกษตรโลกสวย ตอนลาออกจากงานแล้วมาทำเกษตร ก็คิดว่าทำเต็มร้อยแล้วจะได้ผลลัพธ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่พอทำไปสักพัก ได้เห็นหน้างานจริง ก็พบว่าไม่ใช่ การปลูกพืชเชิงเดี่ยวร้อยเปอร์เซ็นต์ ผลผลิตปีแรกดี แต่ปีที่สองปีที่สาม ผลผลิตเริ่มตกต่ำ ยังมีเรื่องของสายพันธุ์ ปัญหาโรคพืช เมืองไทยอากาศร้อน แมลงเยอะ บางทีพายุเข้า และยังมีปัญหาการขนส่ง ซึ่งเราไม่ได้คิดถึงผลกระทบจากปัจจัยภายนอกเหล่านี้เลย แต่เราก็ผ่านจุดนั้นมาได้ด้วยการเรียนรู้จากปัญหาที่เจอจริง ๆ เลิกเป็นเกษตรโลกสวย และเก็บข้อมูลว่าปัญหาทั้งหมดเกิดจากอะไร แล้วปรับเปลี่ยนตามพฤติกรรม ตามธรรมชาติของสิ่งแวดล้อมที่มันควรจะเป็น”

 

    หนึ่งในกลยุทธ์ที่เลือกใช้เพื่อให้ไปต่อได้คือรวมกันเราอยู่ (รอด) โดยจัดตั้งเป็น “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรหางดงพัฒนา” รวมกลุ่มเครือข่ายเกษตรกร 13 ฟาร์มที่มีแนวคิดและวิสัยทัศน์ตรงกันในการพัฒนาคุณภาพพร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เมลอน

 

    “ด้วยความที่เราเป็นเหมือนสตาร์ตอัปเล็ก ๆ เราไม่อยากใช้คนงานเยอะในการขยายฟาร์มเพื่อให้ผลผลิตมีมากพอที่จะส่งตามออร์เดอร์ได้ เราก็เลยมองหาเครือข่าย กลุ่มเพื่อนที่ชอบปลูกชอบกินเมลอนเหมือนกัน เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีวิสัยทัศน์เดียวกัน ตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจเลยดีกว่า  

 

    “ยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจนก็คือสมัยรุ่นพ่อรุ่นแม่ เวลาเห็นผลไม้อะไรขายดีอย่างเช่นลำไย ก็แห่ปลูกกันทุกบ้าน แล้วพอล้นตลาดก็ราคาตก เรานำประสบการณ์ตรงนั้นมาวิเคราะห์และแก้ไขโดยการวางแผนการปลูกร่วมกัน ถ้าความต้องการเยอะ ก็กระจายงานไปแต่ละฟาร์ม คุณภาพผลผลิตย่อมดีกว่าปลูกคนเดียว จะไม่มีปัญหาล้นตลาด ราคาไม่ตก นอกจากนี้ ยังมีหลักการร่วมอีกอย่างหนึ่งคือเราจะไม่กู้เงินมาทำ เพราะการทำเกษตร เราไม่ควรจะเป็นหนี้ จึงจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา ขณะเดียวกัน ระบบวิสาหกิจชุมชนยังเปิดโอกาสให้มีส่วนช่วยสร้างงานให้คนในละแวกบ้านได้ด้วย” 

melonfarm

เปิดประตูสู่ความสำเร็จ ด้วยการสร้างแบรนด์ “ชรินทร์พรรณ”

 

    “การสร้างแบรนด์คือโมเดลสำคัญในความสำเร็จสำหรับไร่ของเรา เพราะประเทศไทยเป็นแหล่งที่มีผลไม้เยอะมาก แต่การสร้างตัวตนให้ลูกค้าจดจำได้ว่าเมลอนต้องมาจากไหน ส้มต้องมาจากไหน เป็นเรื่องของการสร้างแบรนด์ ซึ่งชรินทร์พรรณก็มีแบรนด์โมเดลที่ชัดเจนมาตั้งแต่ต้นว่าเราอยากเป็นแม่เลี้ยง (นักธุรกิจ) ผลไม้เมืองเหนือแบบที่คนเชียงใหม่เขาเรียกกัน (ยิ้ม) อยากมีตัวตนที่ชัดเจนให้ผู้บริโภครับรู้ได้ มองว่าต้องมีการผสมผสานทั้งความรู้ด้านการเกษตรและการตลาดเข้าด้วยกัน   

 

    “เป้าหมายสำหรับเราคือสร้างแบรนด์ชรินทร์พรรณให้เป็นที่รู้จัก เมลอนเชียงใหม่ต้องไร่ชรินทร์พรรณ เพราะเราปลูกทุกอย่างด้วยความรักและอยากจะส่งมอบสิ่งดี ๆ ให้กับผู้บริโภค ซึ่งตอนนี้ไม่มีเฉพาะเมลอน ยังมีผลไม้ในกลุ่มเครือข่ายจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นอาโวคาโด ส้ม สตรอว์เบอร์รี ผลไม้ตามฤดูกาล เราอยากคัดสรรสิ่งที่ดีให้กับผู้บริโภคและอยากเห็นสังคมเชียงใหม่เป็นสังคมที่ปลอดสารเคมี เราไม่อยากให้พ่อแม่เรากินแบบไหน เราก็ไม่อยากให้ลูกค้ากินแบบนั้นเช่นกัน

 

    “กระบวนการปลูก เราคัดเลือกตั้งแต่สายพันธุ์ที่ดี เพราะเชื่อว่าการเลือกเมล็ดพันธุ์ที่ดีเท่ากับคัดต้นที่สมบูรณ์ไป 50% แล้ว หลังจากนั้นก็ดูแลบำรุงต้นเมลอน โดยจะเลือกไว้แค่หนึ่งต้นหนึ่งลูก เพื่อให้สารอาหารไปเลี้ยงได้เต็มที่ ได้ความหวานตามมาตรฐาน จากนั้นส่งให้ลูกค้าออนไลน์และโมเดิร์นเทรดในเชียงใหม่ ท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต ฟู้ดฮอลล์ของเซ็นทรัล รวมถึงห้างท้องถิ่นอย่างริมปิงซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งจะส่งไปยังสาขาที่ สปป. ลาวด้วย และยังมีส่งให้เซเว่นอีเลฟเว่นออนไลน์สำหรับลูกค้าที่สั่งผ่านแอปฯ เซเว่น ส่วนผลที่ตกเกรดโมเดิร์นเทรดแต่รสชาติหวานเหมือนกัน เราเอาไปทำน้ำปั่นสมูทที และเข้าโรงงานเพื่อแปรรูปเป็นเมลอนอบกรอบ” 

 

    เมลอนทั้งหมดถูกส่งออกจำหน่ายภายใต้แบรนด์ “ไร่ชรินทร์พรรณ” โดยสองเจ้าของไร่รับหน้าที่หลัก ในการหาตลาดเพื่อจัดจำหน่ายผลผลิต

 

    “ในด้านการตลาดที่เกษตรกรส่วนใหญ่มักโฟกัสแค่เรื่องการผลิต เราต้องศึกษาเพิ่มเติม เพื่อหาช่องทางให้เจอ เลือกกลุ่มเป้าหมายหรือผู้บริโภคให้ดีและควรอยู่ให้ถูกจุด สินค้าถึงจะขายได้”

 

    ถึงแม้จะประสบความสำเร็จในการปั้นแบรนด์ให้ลูกค้าประจำติดใจ มีตลาดโมเดิร์นเทรดเป็นเส้นเลือดหลักในการส่งไปจำหน่าย พร้อมขยายช่องทางเพื่อรุกตลาดผลไม้ออนไลน์ในเมืองไทยจนหล่อเลี้ยงธุรกิจเกษตรมาได้เกิน 10 ปีแล้ว หากอุปสรรคก็ยังมีเข้ามาท้าทายให้หาทางแก้ปัญหากันเป็นระยะ

 

    “ช่วงที่ได้รับผลกระทบหนักจริง ๆ คือช่วงแรก ๆ ที่โรคโควิด 19 ระบาด ทุกอย่างล็อกดาวน์ ทุกคนต้องเซฟเงินในกระเป๋า ทำให้ยอดเราตก 50% ส่งออกต่างประเทศไม่ได้ ก็คิดกันสองคนกับแฟนว่าทำอย่างไรดี เมลอนลูกหนึ่ง ถ้าลองเอามาซอยย่อยเพื่อให้คนควักกระเป๋าจ่ายในราคาที่ถูกลง ก็เลยเป็นที่มาของร้านน้ำปั่น ขายแก้วละ 50-60 บาท ในห้างสรรพสินค้า 3 แห่งที่ยังเปิดให้บริการได้อยู่ตอนนั้น ปรากฏว่าผลตอบรับดีมาก จากเริ่มต้นที่เมนูเมลอนปั่น ซิกเนเชอร์กลายมาเป็นเมนูอาโวคาโดเมลอนสำหรับสายเฮลที ตอนนี้มีอยู่ประมาณ 10-20 เมนูที่เป็นผลไม้ตามฤดูกาลจากเครือข่ายของเรา เช่น  มะม่วง สตรอว์เบอร์รี อาโวคาโด การเติบโตต่อปีเพิ่มขึ้นเกือบ 60% จากยอดขายที่มีอยู่เดิม จนตอนนี้น้ำปั่นเป็นรายได้หลักแซงยอดส่งเมลอนโมเดิร์นเทรดไปแล้ว ทำให้เรามีแผนธุรกิจเพิ่มมาอีกหนึ่งนั่นคือไลน์น้ำปั่นชรินทร์พรรณสมูทที”

quote2

วางเป้าหมายสามระยะ ยึดคุณภาพ สร้างตัวตน 

 

    “เป้าหมายระยะสั้นที่เราวางไว้ในตอนนี้ก็คือพัฒนาร้านน้ำปั่นสมูททีของไร่ชรินทร์พรรณให้เป็นที่รู้จัก ส่วนเป้าหมายระยะกลางน่าจะเป็นการขยายสาขา รวมทั้งดูแลกลุ่มเกษตรกรให้ทำผลผลิตให้มีคุณภาพแบบนี้ไปเรื่อย ๆ แต่ยังคงตัวตนของเราอยู่ ในอนาคตอยากขยายเครือข่ายเพื่อที่จะเป็น hub ผลไม้ ส่วนหนึ่งเพื่อให้เอาของในชุมชนของเกษตรกรมาใช้ในธุรกิจของเรา ช่วยกระจายสินค้าผลผลิตให้เขามีรายได้ แทนที่จะไปขายให้คนกลางแล้วโดนกดราคา อยากให้อยู่ได้ด้วยตัวของเขาเอง เพราะเราจะพูดเลยว่าสตรอว์เบอร์รีมาจากสวนไหน มะม่วงมาจากสวนไหน ลูกค้าก็จะได้รู้จักไปพร้อม ๆ กันว่ามีผลผลิตอะไรบ้างอยู่ในกลุ่มเครือข่ายไร่ชรินทร์พรรณ

 

    “ด้วยความที่เราไม่รู้อนาคตว่าจะเป็นยังไง จะมีอุปสรรคภายนอกหรืออะไรเข้ามาก็แล้วแต่ แต่ทั้งหมดทั้งมวล เรามีแผนหนึ่งแผนสองที่จะแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง เราทำวันนี้ให้ดีก่อน เพราะ 10 ปีแรกผ่านมาแล้ว สิ่งที่ยากที่สุดคือการครองตนอยู่ต่อไปได้ยังไงในอีก 10 ปีข้างหน้า และมีความหวังว่าถ้าวันหนึ่งแม้ตัวเราไม่อยู่ อาจเลิกทำหรือเกษียณตัวเองไปแล้ว แต่แบรนด์เราก็ยังอยู่”

กำลังใจให้ยังมุ่งมั่นบนเส้นทางเกษตร 

 

    คำชมจากลูกค้าคือกำลังใจสำคัญที่ทำให้เจ้าของธุรกิจเกษตรยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าต่อบนเส้นทางสายนี้ด้วยความรักและเชื่อมั่น

 

    “คำตำหนิก็มี แต่เรานำคำวิจารณ์มาปรับปรุง บางทีเมลอนไปถึงลูกค้าแล้วเสียจากอะไรที่เราคาดไม่ถึง เขาก็ให้อภัย ไม่เป็นไรสั่งใหม่ หรือสินค้ารอบนี้ไม่หวานเท่าไร เขาก็บอกมาตามตรง เราก็น้อมรับแล้วกลับมาปรับปรุงพัฒนา จนตอนนี้ลูกค้าเป็นเหมือนเพื่อนกันไปแล้ว

กำลังใจถึงเพื่อนร่วมวงการธุรกิจเกษตร  

 

    “อยากฝากถึงผู้ประกอบการหรือคนที่อยากเริ่มทำการเกษตร เราต้องมองเป็น 2 ส่วนก็คือ ความรู้สึก เรามีแพสชัน รักที่จะทำได้ไม่ผิด แต่ความรักต้องอยู่บนพื้นฐานของเหตุผลว่าทำแล้วจะประสบความสำเร็จไหม ทำแล้วขาดทุนหรือได้กำไร เป็นภาระของคนข้างหลังไหม คิดจะลาออกจากงาน คุณมีต้นทุน มีองค์ความรู้อะไร วิเคราะห์อย่างละเอียดส่วนหนึ่งก่อน และแน่นอนต้องเจอปัญหาหน้างาน เพราะฉะนั้นวางแผน มีแผนหนึ่งแผนสอง ถ้าไม่ได้ตามที่คาดหวังไว้ จะเปลี่ยนเป็นยังไง การที่เรามีแผนทั้งแบรนด์โมเดลและแผนธุรกิจเป็นเหมือนฟูกที่จะรองรับให้เราไม่เดินนอกลู่นอกทาง และไม่เจ็บตัวมาก

 

    “ส่วนหลักในการทำงาน ปกติแล้วจะยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ‘3 ห่วง-2 เงื่อนไข’ คือเงื่อนไขพอประมาณ ต้องรู้จักประมาณตน อย่าทำอะไรให้ใหญ่เกินตัว และเงื่อนไขการมีเหตุมีผล อย่าใช้แต่อารมณ์ ส่วน 3 ห่วงคือ ชีวิตต้องสมดุลทั้งความสุขตัวเอง ทั้งการทำงาน อย่าหักโหมเกินไป และความรู้เป็นสิ่งสำคัญ ถ้ายังไม่มีความรู้ เราต้องหาความรู้เพิ่ม ยิ่งกลัวมากก็ยิ่งต้องหาความรู้มาก อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือคุณธรรม เราคงจะทำต่อเนื่องมาจนถึงปีที่ 10 ไม่ได้เลย ถ้าเราไม่มีกลุ่มไม่มีเพื่อนพ้อง ถ้าเห็นแก่ตัว เอาแต่ได้ ขายของไม่มีคุณภาพ ไม่มีคุณธรรม เอาแต่เงิน เราจะอยู่ไม่ได้เลย ไร่ชรินทร์พรรณเติบโตมาได้ทุกวันนี้ก็เพราะยึดหลักนี้”

DID YOU KNOW?

ไร่ชรินทร์พรรณ มาจากชื่อคุณพ่อและคุณแม่เจ้าของไร่  รวมกันแล้วได้ความหมายใหม่ว่า “พืชพันธุ์อันเป็นที่รัก”

Tag ที่เกี่ยวข้อง

BOT Magazine Inspiration Interview เศรษฐกิจภูมิภาค