ยกระดับการเติบโตของเศรษฐกิจทั้งภูมิภาค
ผ่านการเสริมศักยภาพบุคลากร 

 

“If you want to go fast, go alone, if you want to go far,
go together.”

 

คำกล่าวนี้เป็นหนึ่งในหลักคิดสำคัญในการดำเนินนโยบายด้านต่างประเทศของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่ไม่ได้มีแค่การประชุมร่วมกันเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงการเสริมสร้างศักยภาพให้กับบุคลากร เพื่อเป็นกำลังสนับสนุนในการดูแลเสถียรภาพและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้ยั่งยืนทั่วถึงทั้งภูมิภาค

capacitybuilding

กว่า 30 ปี ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับบุคลากรด้วยการศึกษา

 

ธปท. เชื่อมั่นว่าการพัฒนาบุคลากรเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการขับเคลื่อนพันธกิจของธนาคารกลางและการพัฒนาประเทศ รวมถึงช่วยให้การสอดประสานความร่วมมือระหว่างธนาคารกลางในภูมิภาคเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน

 

หนึ่งในการเสริมสร้างศักยภาพให้กับบุคลากร ที่ ธปท. ได้ทำมายาวนานกว่า 30 ปี ตั้งแต่ปี 2536 ก็คือ การให้ทุนการศึกษา[1] แก่พนักงานของธนาคารกลางกัมพูชาและธนาคารแห่ง สปป.ลาว (ธหล.) ก่อนที่จะขยายให้ครอบคลุมธนาคารกลางเมียนมาและธนาคารกลางเวียดนาม ในปี 2549 โดยมีผู้รับทุนจาก ธปท. ที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยแล้วจำนวน 26 ราย[2]  ทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ซึ่งบางท่านก็ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกลางประเทศเหล่านี้ในปัจจุบัน

 

นอกจากนี้ ธปท. ธหล. และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังได้ร่วมกันจัดโครงการปริญญาโททางบริหารธุรกิจ (ไทย-ลาว) เพื่อพัฒนาบุคลากรของ ธหล. และ ธปท. สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีทั้งอดีตผู้ว่าการ ผู้ว่าการ และรองผู้ว่าการ ธหล. คนปัจจุบันเข้าร่วมหลักสูตรดังกล่าวถึง 3 คน 

 

[1] เป็นการให้ทุนการศึกษาตามที่ธนาคารกลางแต่ละประเทศร้องขอ

[2]  ผู้รับทุนจาก ธปท. ที่สำเร็จการศึกษา เป็นระดับปริญญาตรี 13 ราย ปริญญาโท 12 ราย และปริญญาเอก 1 ราย

quote1

การพัฒนาที่สอดประสานผ่านความร่วมมือทางวิชาการ

 

ธปท. ให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านวิชาการ ซึ่งเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการพัฒนาศักยภาพบุคลากร โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างธนาคารกลางด้วยกัน ตั้งแต่กลุ่มประเทศ CLMV ไปจนถึงประเทศในภูมิภาคอื่น ๆ อย่างคาซัคสถาน ภูฏาน ซาอุดีอาระเบีย และศรีลังกา เพราะท่ามกลางเศรษฐกิจโลกและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ธนาคารกลางก็ต้องปรับตัวให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการนำข้อดีข้อเสียของแนวทางต่าง ๆ ที่ได้เห็น มาปรับใช้และต่อยอดให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศตนเอง  

meeting

Technical Meeting แลกเปลี่ยนความรู้เรื่อง Local Currency and Payment Connectivity ณ ประเทศเวียดนาม

meeting

การอบรมเชิงปฎิบัติการเรื่อง Developments of Interoperable QR Code for Payment ให้กับ ธหล. ณ สปป. ลาว โดยวิทยากรจาก ธปท. และธนาคารพาณิชย์ไทย

visit

Study visit เกี่ยวกับ BOT capacity development program ให้แก่ ธหล. เมื่อวันที่ 20-24 พฤศจิกายน 2566

ในระดับทวิภาคีนั้น ธปท. ได้มีความร่วมมือทางวิชาการกับธนาคารกลางในกลุ่มประเทศ CLMV นั่นก็คือ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนามมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการให้ผู้บริหารและพนักงานมาศึกษาดูงาน รวมถึงเข้าร่วมหลักสูตรฝึกอบรม และมาปฏิบัติงานระยะสั้นที่ ธปท. อีกทั้งยังมีการส่งวิทยากรไปบรรยายเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในงานด้านต่าง ๆ เช่น นโยบายเศรษฐกิจการเงิน การพัฒนาตลาดเงิน การกำกับแลกเปลี่ยนเงิน และการกำกับดูแลสถาบันการเงิน ตลอดจนแบ่งปันองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่อยู่ในความสนใจของธนาคารกลาง ทั้งเทคโนโลยีทางการเงิน สกุลเงินดิจิทัล ไปจนถึงการกำกับดูแลภัยทางไซเบอร์

 

ความร่วมมือทางวิชาการไม่เพียงแต่ช่วยพัฒนาศักยภาพบุคลากรเท่านั้น แต่ยังเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน ทำให้เกิดการสอดประสานเชิงนโยบาย (policy harmonization) ที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ภาคเอกชน โดยเฉพาะระหว่างประเทศที่มีการทำธุรกรรมระหว่างกันอีกด้วย

qoute2

SEACEN และ IMF CDOT กลไกสำคัญในการเรียนรู้และยกระดับศักยภาพบุคลากร

 

เครือข่ายความร่วมมือของธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asian Central Bank) หรือที่เรียกว่า SEACEN เป็นหนึ่งในความร่วมมือพหุภาคีที่ ธปท. ดำเนินการร่วมกับธนาคารกลางสมาชิก โดยในปี 2525 ได้มีการจัดตั้ง SEACEN Research and Training Centre ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์ศึกษาวิจัยและฝึกอบรมให้แก่บุคลากรจากธนาคารกลางที่เป็นสมาชิกของ SEACEN

 

SEACEN Centre นั้น ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่ช่วยยกระดับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและสร้างความร่วมมือระหว่างธนาคารกลางในภูมิภาคให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเน้นการให้ความรู้ในสาขาที่เป็นประโยชน์ต่องานธนาคารกลาง เช่น Macroeconomic and Monetary Policy Management, Financial Stability Supervision and Payment and Settlement System และ Leadership and Governance โดยมีวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรและธนาคารกลางต่าง ๆ รวมถึง ธปท. ร่วมบรรยายและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง

 

อีกหนึ่งองค์กรที่ ธปท. ได้ขยายความร่วมมือระดับประเทศคือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โดยในปี 2555 ธปท. ได้รับเลือกจาก IMF ให้เป็นสถานที่ตั้งของสำนักงานให้ความช่วยเหลือทางวิชาการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศในประเทศไทย  (IMF Capacity Development Office in Thailand) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า IMF CDOT ซึ่งสะท้อนบทบาทของไทยในฐานะผู้ให้ โดยร่วมกับ IMF ในการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค ควบคู่ไปกับการพัฒนาความรู้ให้แก่บุคลากรในประเทศเพื่อนบ้าน และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในเรื่องต่าง ๆ เช่น Public Financial Management, Monetary and Foreign Exchange Operations, Government Finance Statistics, External Sector Statistics และ Macroeconomic Management รวมถึงความรู้ใหม่ ๆ ที่เป็นความท้าทายของธนาคารกลาง อาทิ การเงินดิจิทัล และการดำเนินนโยบายเพื่อตอบสนองกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change)

 

นอกจากนี้ IMF CDOT ยังเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับพนักงาน ธปท. ในการไปปฏิบัติงานระยะสั้น เพื่อหาประสบการณ์ทำงานในองค์กรระหว่างประเทศ และนำมาปรับใช้กับการทำงานของ ธปท. ด้วย

meeting
meeting

การอบรมด้าน Macroeconomic Framework ที่จัดโดย IMF CDOT ให้แก่ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่ง สปป. ลาว ณ กรุงเวียงจันทร์ โดยมีพนักงาน ธปท. ร่วมเป็นวิทยากรด้วย

CDOT

บุคลากร IMF CDOT ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ ธปท. หมุนเวียนเข้ามาปฎิบัติงานระยะสั้นกับ CDOT ด้วย

การเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรของ ธปท. ผ่านความร่วมมือกับธนาคารกลางและองค์กรระหว่างประเทศ ไม่เพียงแต่เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านให้เติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืนเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนสำคัญของการดำเนินนโยบายด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ตลอดจนยกระดับความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจการเงินของภูมิภาค รวมถึงความสอดประสานด้านนโยบาย กฎเกณฑ์ และโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจไปในเวลาเดียวกันอีกด้วย

CDOT

ที่ทำการสำนักงานให้ความช่วยเหลือทางวิชาการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF CDOT) ซึ่งตั้งอยู่ใน ธปท. สำนักงานใหญ่

quote
writer

Tag ที่เกี่ยวข้อง

BOT Magazine Knowledge Corner Get to Know ความร่วมมือระหว่างประเทศ