Generative AI ผู้ช่วยยุคใหม่ของมนุษย์สมัยนี้

“AI เป็นเครื่องมือทรงพลังที่สุดในช่วงเวลาของเรา มันคือไฟฟ้าแห่งโลกยุคใหม่ ไม่ต่างจากไฟฟ้าเมื่อร้อยกว่าปีก่อนที่เปลี่ยนทุกอย่างไปตลอดกาล ผมนึกไม่ออกเลยว่า ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะมีวงการไหนที่ไม่ใช้ AI”

 

เจนเซน ฮวง (Jensen Huang) อดีตผู้ลี้ภัยชาวไต้หวัน ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ NVIDIA บริษัทผลิตชิปชั้นแนวหน้าของโลก พูดถึงแนวคิด “AI คือไฟฟ้าของโลกยุคใหม่” มาตั้งแต่ปี 2560 อีกทั้ง NVIDIA ยังเป็นบริษัทแนวหน้าที่มีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) มาพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างเข้มข้น นอกจากช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้บริษัทแล้วยังเพิ่มการเรียนรู้ของ AI ให้ก้าวหน้าไปด้วย ทั้งผลการวิจัยที่บริษัทของเขาได้สนับสนุน และการเติบโตของบริษัทหลังจากใช้ AI ยืนยันความเชื่อของเขาว่า AI คือสิ่งประดิษฐ์ทรงพลังของโลกยุคใหม่และจะพลิกโฉมทั้งธุรกิจและชีวิตประจำวันของผู้คนไปตลอดกาล 

man with ai

ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เราล้วนต่างใช้และเห็นผลงานของ AI กันตั้งแต่ลืมตาตื่นยันก่อนหลับตานอน โดยเฉพาะ Generative AI หนึ่งในประเภทของปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถสร้างเนื้อหาใหม่ในหลายรูปแบบ เช่น ภาพ ข้อความ วิดีโอ ดนตรี ฯลฯ ผ่านขั้นตอนหลักในการเก็บข้อมูล (big data)-ประมวลคำสั่ง (prompt)-เรียนรู้ (deep learning)-รับฟีดแบ็ก (feedback loop) คล้ายกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ ต่างเพียงที่ AI รวบรวมข้อมูลจากมนุษย์ทั่วโลกทั้งในอดีตและปัจจุบัน หนำซ้ำยังคาดการณ์ล่วงหน้าได้จากแพตเทิร์นที่รับและเรียนรู้มา

 

ดังที่ฮวงกล่าวไว้ว่าเขานึกไม่ออกเลยว่าจะมีวงการไหนที่ไม่ใช้หรือไม่ได้รับผลกระทบจาก AI ในไม่กี่ปีข้างหน้า เอาแค่วันนี้รู้ตัวอีกทีหันไปทางไหน เราก็เจอการใช้ AI ในทุกวงการ ตั้งแต่ผู้ช่วยคำสั่งเสียงในมือถือ (Chatbot/virtual assistant) ฟิลเตอร์ที่ใช้ในโซเชียลมีเดีย ลองเสื้อผ้าออนไลน์ (virtual try-on), แปลภาษาสด ไปจนถึงออกแบบบ้าน วิเคราะห์ข้อมูลการตลาด จนกระทั่งวินิจฉัยโรคด้วยข้อมูลภาพทางการแพทย์ (medical imaging) แค่ตัวอย่างที่ว่ามานี้ก็ประหยัดเวลาและการทำงานของมนุษย์ไปมหาศาล

 

ลองหันมาดูใกล้ตัวกันบ้างว่า Generative AI จะเข้ามาช่วยสถาบันการเงินและธนาคารทั้งในแง่ของการจัดการความเสี่ยง การบริการลูกค้า และการดำเนินงานได้อย่างไร

จัดการความเสี่ยงและตรวจจับการฉ้อโกง (Risk Management and Freud Detection)

 

คุณสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา อดีตผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า[1] รูปแบบมิจฉาชีพเปลี่ยนไปไม่เว้นแต่ละวัน โดยเฉพาะการโจรกรรมทางการเงินออนไลน์ที่เปลี่ยนรูปแบบไวและทำได้เร็ว หนึ่งในหนทางป้องกันที่ดีที่สุดคือการตรวจจับและรับมือ ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลจำนวนมากจากหลายหน่วยงาน Generative AI สามารถเข้ามาช่วยตรงนี้ได้ด้วยการประมวลรูปแบบการฉ้อโกงที่เคยมี และประเมินรูปแบบความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตเพื่อหาทางป้องกันก่อนปัญหาจะเกิด

 

[1]  บทสัมภาษณ์จากวารสารพระสยาม BOT MAGAZINE เผยแพร่ในเว็บไซต์ ธปท. เมื่อเดือนกันยายน 2566 

ผู้ช่วยส่วนตัว (Virtual Assistant)

 

ที่ผ่านมา เราคุ้นเคยกับคอลเซนเตอร์ในการตอบคำถาม ทว่าสถาบันทางการเงินและธนาคารทำงานเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย ข้อมูลกระจัดกระจายจนหลายคำถามอาจต้องใช้เวลานานในการได้มาซึ่งคำตอบ Generative AI ในรูปแบบ Chatbot เข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ให้กับทั้งฝ่ายผู้ให้บริการและรับบริการ ช่วยลดเวลาการประสานงานหาคำตอบ และช่วยให้ผู้รับบริการได้รับคำตอบได้ทันท่วงที

man with robot

วางแผนทางการเงิน (Financial Planning)

 

หลายคนหันมาใช้ Generative AI ในการวางแผนกิจกรรมและธุรกรรมทางการเงินส่วนตัว เครื่องมือนี้มีประโยชน์อย่างมาก ความสามารถในการวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้เงิน พร้อมประมวลผลเข้ากับแนวทางการลงทุนที่มีให้นั้นสามารถตอบโจทย์เป้าหมายทางการเงินของแต่ละบุคคลหรือกลุ่มธุรกิจ

พัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน (Operational Optimization)

 

ลองคิดดูว่าเราต้องใช้พนักงานกี่คน เวลาเท่าไรในการป้อนและจัดการข้อมูลหลังบ้านมหาศาล การนำ Generative AI มาช่วยในการใช้จัดการข้อมูล ช่วยประมวลผลตามคำสั่งที่ต้องการ นอกจากจะลดเวลาการทำงานแล้ว ยังลดความผิดพลาดที่อาจเกิดได้อีกด้วย

 

นอกจากนั้นแล้ว ยังคาดการณ์ว่าทุกตัวอย่างที่ว่ามาจะถูกพัฒนายิ่งขึ้นไปตามความสามารถการเรียนรู้ของ AI ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง เช่น ผู้ช่วยตอบคำถามที่รู้ใจลูกค้ารายบุคคล (hyper-personalization) จากข้อมูลในฐานระบบที่บอกโดยนัยถึงพฤติกรรม ความเสี่ยง ความต้องการของบุคคลนั้น และตอบสนองได้ราวกับมนุษย์มากขึ้น การจัดการความเสี่ยงที่คาดการณ์รูปแบบโจรกรรมได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นจากการป้อนข้อมูลสังเคราะห์ (synthetic data generation for testing) เพื่อจำลองสถานการณ์จริงและป้องกันภัยที่อาจเกิดขึ้นได้แม่นยำขึ้น

 

นี่เป็นเพียงบางตัวอย่างที่ Generative AI สามารถเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและพลิกโฉมทุกวงการไปตลอดกาล แน่นอนว่าความสามารถของ AI ไม่ได้จำกัดเพียงเท่านี้และในสถาบันทางการเงินและธนาคารเท่านั้น แต่ความสามารถรวมทั้งคลังข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) ย่อมเสริมพลังการเรียนรู้เชิงลึก (deep learning) และเร่งความไวพัฒนาการของเจ้าปัญญาประดิษฐ์ไปในทิศทางที่เรายากจะตามทันได้ อย่างไรก็ตาม แม้ AI จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพมากเพียงใด มนุษย์ที่ประดิษฐ์เทคโนโลยีนี้ขึ้นมาก็ไม่ควรทำเพียงแค่ใช้ หากแต่ควรตรวจสอบการใช้งานอยู่เสมอ ดังเช่นที่ซุนดาร์ พิไช (Sundar Pichai) ซีอีโอกูเกิล ที่แม้เขาจะมองว่า AI คือหนึ่งในสิ่งประดิษฐ์สำคัญที่สุดที่มนุษย์เคยพัฒนาขึ้นมา อาจยิ่งใหญ่กว่าไฟฟ้า ช่วยแก้ปัญหาทั้งโรคของมนุษย์และโลกร้อนได้ด้วยซ้ำ ก็ยังส่งสัญญาณความเป็นห่วงว่า

 

“AI ทำให้เกิดคำถามเชิงจริยธรรมมากมาย ตั้งแต่ความเป็นส่วนตัวไปจนถึงความลำเอียงทางข้อมูล เราต้องแน่ใจว่าเมื่อเทคโนโลยีนี้พัฒนายิ่งขึ้นไป มันต้องถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมด้วยความเท่าเทียม โปร่งใส และมีความรับผิดชอบ”

ai in phone

ถึงตอนนี้คงยากที่จะมีใครค้านผลกระทบของ “ไฟฟ้าแห่งโลกยุคใหม่” อย่างปัญญาประดิษฐ์และ Generative AI ที่มีต่อชีวิตประจำวันของเราและในวงการที่เราทำงานอยู่ บางคนเริ่มกังวลเรื่องจะโดน AI แย่งงานไป หรือจะทำอย่างไรให้ใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วย AI ได้

 

“แม้ฉันจะช่วยให้คุณทำงานได้ง่ายขึ้น อย่าลืมว่ามันสำคัญมากที่มนุษย์จะต้องเป็นศูนย์กลางการตัดสินใจและทำหน้าที่หลัก งานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ความเห็นอกเห็นใจ แก้ไขปัญหาซับซ้อน และการคิดเชิงกลยุทธ์เป็นสิ่งที่ AI แทนที่ไม่ได้ AI ควรส่งเสริมงานอื่น ๆ และให้มนุษย์ได้พุ่งความสนใจไปในงานที่ต้องใช้ความคิดชั้นสูง ปัญญา และความเข้าใจทางอารมณ์ มีโอกาสมากมายให้มนุษย์และเทคโนโลยีได้ทำงานร่วมกันจากการใช้ความสามารถของกันและกันในการสร้างนวัตกรรม พัฒนา และสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้ในหลายวงการ”

 

ใครรู้บ้างว่าคำกล่าวข้างต้นเป็นของใคร? ใช่แล้ว นี่คือคำตอบของ ChatGPT แชตบอทยอดฮิตที่เป็นผู้ช่วยให้คนทั่วโลก รวมทั้งช่วยให้ข้อมูลประกอบการเขียนบทความนี้ด้วย! เรียกได้ว่าเราเชิญ AI เขามาตอบข้อกังวลใจนี้ให้ผู้อ่านด้วยตัวเองเลยค่ะ

 

Tag ที่เกี่ยวข้อง

BOT Magazine Global Trend Others