เกาะติดพัฒนาการ Cross-border QR Payment ในภาคใต้

ระบบชำระเงินดิจิทัลของไทยได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่พร้อมเพย์ ตามมาด้วย Thai QR payment ที่ถูกต่อยอดเป็นบริการชำระเงินระหว่างประเทศ (cross-border QR payment) เพื่อเชื่อมโยงกับประเทศต่าง ๆ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในคอลัมน์ Payment Systems หน้า 24) สำหรับเป็นทางเลือกในการชำระเงินที่ปลอดภัย ง่าย และรวดเร็ว แค่ปลายนิ้วคลิกให้กับชาวต่างชาติ ช่วยลดความยุ่งยากของร้านค้าจากการบริหารจัดการเงินสด อีกทั้งผู้ประกอบการคนไทยก็คุ้นเคยเพราะมีลักษณะและวิธีใช้คล้าย QR code ที่เราสแกนจ่ายกันอยู่ทุกวัน

 

มาเลเซียเป็นประเทศแรก ๆ ที่ร่วมกับไทยในการพัฒนาระบบสแกนจ่ายข้ามประเทศ และหากพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียแล้ว ผู้อ่านหลายท่านคงนึกถึงพื้นที่ภาคใต้ของไทยที่ชายแดนสองประเทศมาบรรจบ ในครั้งนี้ เราจะชวนทุกท่านล่องใต้ไปที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่มีชายแดนติดกับประเทศมาเลเซีย นั่งรถเพียงไม่กี่ชั่วโมงผ่านด่านสะเดา ก็มาท่องเที่ยว ชอปปิง และชิมอาหารไทยอร่อย ๆ ได้แล้ว ที่นี่ได้รับความนิยมจนชาวมาเลเซียเดินทางมาท่องเที่ยวตลอดทั้งปี ไปค่ะ ตามไปดูพัฒนาการของ cross-border QR payment ที่อำเภอหาดใหญ่กัน

cross border payment

ชาวมาเลเซียสแกนจ่ายเพิ่มขึ้นกว่า 40 เท่า

 

ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 มีนักท่องเที่ยวมาเลเซียที่เดินทางมาที่จังหวัดสงขลาจำนวน 1.89 ล้านคน ในช่วงแรกชาวมาเลเซียยังไม่ค่อยจ่ายเงินในไทยด้วยการสแกน QR code เพราะมีสถาบันการเงินของมาเลเซียไม่กี่แห่งที่เปิดให้บริการนี้ แม้ว่าจะมีธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ของไทยให้บริการจำนวนมาก[1] จนกระทั่งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา MayBank และ Touch ’n Go สถาบันการเงินรายใหญ่อีกสองแห่งของมาเลเซียเริ่มเข้ามาร่วมให้บริการ ส่งผลให้มีผู้ให้บริการจากฝั่งมาเลเซียรวม 5 ราย ได้แก่  CIMB, Hong Leong Bank, MayBank, Public Bank และ Touch ’n Go ทำให้จำนวนผู้เข้าถึงบริการและการทำธุรกรรมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีถึง 46,561 รายการ ในเดือนกันยายน 2566 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 40 เท่า จากเดือนมกราคม 2566

 

[1] ปัจจุบันมีธนาคารพาณิชย์ไทยที่ร่วมให้บริการมี 6 ราย ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารซีไอเอ็มบีไทย

cross border payment between Thailand and Malaysia

ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ดันยอดขายปัง

 

จากการลงพื้นที่พูดคุยกับผู้ประกอบการและร้านค้าในอำเภอหาดใหญ่ เพื่อรับฟังความคิดเห็นและติดตามผลการใช้งานจริง ทำให้เห็นว่าผู้ประกอบการที่รับทราบข้อมูลต่างก็ให้ความสนใจและนำมาใช้งานทันที  อย่างผู้ประกอบการตลาดกรีนเวย์ ซึ่งเป็น night market ที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมจากชาวมาเลเซีย ได้ปรับระบบชำระเงินภายในศูนย์อาหารเพื่อให้รองรับการสแกน QR code โดยทางตลาดก็ได้ช่วยประชาสัมพันธ์ให้ทางร้านค้าติดต่อขอใช้บริการ QR code จากสถาบันการเงินที่เข้าร่วม และให้ข้อมูลนักท่องเที่ยวผ่านสื่อสิ่งพิมพ์และเสียงตามสายเป็น 4 ภาษา ทั้งไทย อังกฤษ จีน และมลายู เพื่อประชาสัมพันธ์ด้วย ผลที่ตามมาก็คือทำให้ร้านค้ามียอดขายเพิ่มขึ้น เพราะลูกค้ายังสามารถจับจ่ายใช้สอยได้แม้ว่าเงินสดที่เตรียมมาจะไม่เพียงพอ อีกทั้งร้านค้าเองก็สังเกตพบว่า มีชาวมาเลเซียมาสอบถามเกี่ยวกับการแลกเงินสดลดลง แถมยังมีลูกค้าทำรีวิวเกี่ยวกับความสะดวกของการสแกนจ่ายลงบนโซเชียลมีเดีย และ Google Business ซึ่งถือเป็นการบอกต่อปากต่อปากด้วย

green way market

อีกเคสจากร้านข้าวมันไก่เบตงชื่อดังในหาดใหญ่เล่าให้ฟังว่า มีลูกค้าชาวมาเลเซียที่ได้ยินข่าวประชาสัมพันธ์จากประเทศเขา มาขอทดลองสแกนจ่ายที่ร้านด้วย ทั้งยังมีชาวมาเลเซียใช้จ่ายผ่าน digital wallet มากขึ้น โดยลูกค้าที่ได้ทดลองใช้ต่างก็ชื่นชอบ เพราะใช้งานง่ายและสะดวกแถมยังตอบโจทย์กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีและไม่อยากยุ่งยากกับการแลกเงินสด ที่สำคัญ ในบางครั้งก็อาจได้อัตราแลกเปลี่ยนที่ดีกว่าอัตราของร้านรับแลกเงิน และยังสามารถทราบอัตราแลกเปลี่ยนทันที ไม่มีค่าธรรมเนียมอีก ซึ่งในแง่นี้ถือว่าดีกว่าชำระด้วยบัตรเครดิต

chicken rice shop
vendor at green way market

ผู้ประกอบการร้านข้าวมันไก่เบตงและผู้ประกอบการในตลาดกรีนเวย์ ที่ให้บริการ QR payment สำหรับชาวต่างชาติ

ธปท. เดินหน้าเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการ

 

อีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่จะไขไปสู่ความสำเร็จและทำให้ cross-border QR payment มีการใช้งานอย่างแพร่หลายก็คือ การเสริมความพร้อมให้กับร้านค้าในไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สถาบันการเงิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประสานการทำงาน และร่วมมือกันพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีผู้ให้บริการเพิ่มขึ้น และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานทุกที่ทุกเวลา

จากการลงพื้นที่สำรวจของทีมงาน ธปท. พบว่า ปัจจุบันยังมีร้านค้าที่ไม่ทราบว่ามีบริการสแกนจ่ายผ่าน QR code สำหรับชาวมาเลเซียอยู่ อย่างเช่น “ร้านอ้า” ซึ่งเป็นร้านอาหารจีนที่ได้รับความนิยมจากชาวมาเลเซีย ที่ผ่านมาเคยมีลูกค้ามาถามถึงจำนวนมาก แต่เพราะว่ายังไม่รู้จักเลยไม่ได้นำมาให้บริการ เมื่อทางร้านได้รับข้อมูลจากทาง ธปท. ก็ได้ติดต่อไปยังสถาบันการเงินที่ใช้บริการอยู่เพื่อนำ QR code มาให้บริการแก่ชาวต่างชาติทันที ใช้เวลาดำเนินการเพียงวันเดียวก็เริ่มใช้งานได้แล้ว ทำให้ตอบโจทย์ลูกค้าชาวมาเลเซียได้เพิ่มขึ้น

 

สำหรับผู้ประกอบการ ร้านค้า และนักท่องเที่ยวที่ยังไม่ทราบข้อมูล หรือยังสับสนระหว่าง QR code ของพร้อมเพย์กับ QR code ที่ใช้ชำระเงินระหว่างประเทศ ธปท. รับทราบปัญหาแล้ว และอยู่ระหว่างปรับปรุงเพื่อขยายการใช้งานไปในวงกว้างมากขึ้น โดยที่ผ่านมาได้เพิ่มการสื่อสารทั้งในฝั่งไทยและมาเลเซียผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อสร้างการรับรู้และความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้งาน รวมถึงการประชาสัมพันธ์ข้อมูล ณ จุดผ่านแดน การติดตั้งสัญลักษณ์กลางเพื่อให้ชาวมาเลเซียเห็นปุ๊บแล้วรู้ปั๊บเลยว่าสามารถสแกน QR code เพื่อชำระเงินได้ ทั้งยังมีการแสดงป้ายสัญลักษณ์ของผู้ให้บริการในมาเลเซียที่เข้าร่วมตามร้านค้า

 

สุดท้ายนี้ เป้าหมายของ cross-border QR payment ไม่ใช่แค่เพิ่มความสะดวกสำหรับชาวต่างชาติและร้านค้าภายในประเทศเท่านั้น แต่การใช้งานที่แพร่หลายจะกลายเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ช่วยเสริมสร้างรายได้ให้กับภาคธุรกิจ ตลอดจนนำไปสู่การจ้างงาน และกระจายความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้คนในพื้นที่อย่างทั่วถึงนั่นเอง

เรื่อง : สำนักงานภาคใต้

Tag ที่เกี่ยวข้อง

BOT Magazine เศรษฐกิจติดดิน Knowledge Corner Cross-border payment ความร่วมมือระหว่างประเทศ