เตรียมพร้อมนับถอยหลัง

สู่การเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับโลก
IMF-WBG Annual Meetings 2026

 

นับถอยหลังไปอีกไม่ถึง 3 ปี ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมเศรษฐกิจการเงินที่สำคัญที่สุดของโลกในปี 2569 ที่จะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางเกือบ 400 คน ตลอดจนผู้บริหารสถาบันการเงินระดับโลก ผู้นำทางความคิด และนักวิชาการกว่า 12,000 คนเดินทางมาประเทศไทย เพื่อประชุมแลกเปลี่ยนมุมมองต่อเศรษฐกิจการเงินโลก และแนวทางการรับมือกับความท้าทายในด้านต่าง ๆ การประชุมที่ว่าคือ การประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) และธนาคารโลก (World Bank Group: WBG) หรือ IMF-WBG Annual Meetings (AM) ซึ่งผลการประชุมจะเป็นที่น่าจับตามองจากทั่วโลก

IMF

การประชุม Annual Meetings จัดขึ้นเป็นประจำในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี โดยจะจัดที่สำนักงานใหญ่ของ IMF-WBG ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน และตามพิธีปฏิบัติ ในปีที่ 3 จะเวียนจัดในประเทศสมาชิกที่ได้รับคัดเลือก เพื่อสะท้อนความเป็นสากลของทั้งสององค์กร ซึ่งในปี 2566 ประเทศโมร็อกโกได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Annual Meetings 2023 (AM2023) ระหว่างวันที่ 9-15 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ เมืองมาร์ราเกช เมืองสำคัญอันดับต้นด้านเศรษฐกิจการค้าและการท่องเที่ยวของทวีปแอฟริกา ที่มีชื่อเล่นว่า the Red City ตามบ้านเมืองที่ก่อสร้างและทาสีแดงส้มอย่างเป็นเอกลักษณ์

IMF building

อาคาร International Monetary Fund ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา

red city

เมืองมาร์ราเกซ (The Red City) เมืองสำคัญอันดับต้น ๆ ด้านเศรษฐกิจการค้าและการท่องเที่ยวของทวีปแอฟริกา

IMF

ประเด็นสำคัญของ AM2023

 

การประชุม AM2023 ที่มาร์ราเกชเป็นความท้าทายของโมร็อกโกที่เป็นเจ้าภาพในการเสริมสร้างความมั่นใจต่อผู้เข้าร่วมการประชุมเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากต้องเลื่อนกำหนดการเดิมในเดือนตุลาคม 2564 จากเหตุการแพร่ระบาดของโควิด 19 มาแล้วครั้งหนึ่ง และเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566 ก่อนการประชุมตามกำหนดการใหม่เพียงไม่กี่สัปดาห์ ก็เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขึ้นในโมร็อกโกอีก แต่สุดท้ายการประชุมก็ดำเนินำได้ต่อตามแผน และสำเร็จลุล่วงด้วยดี

 

ผลจากการประชุมแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างความมั่งคั่งและเสถียรภาพร่วมกัน ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อจากการฟื้นตัวภายหลังโควิด 19 ที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอลง และมีความไม่เท่าเทียมสูงขึ้น ขณะที่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักกลับไปเติบโตสูงกว่าช่วงก่อนวิกฤต แต่กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และกลุ่มประเทศยากจนยังคงเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างหลายประการที่กดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ประมาณ 3% ในระยะปานกลางยังเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบสามทศวรรษ ซึ่งมาพร้อมกับความเสี่ยงด้านลบหลายประการ อาทิ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความรุนแรงขึ้นและอาจกระทบกระแสโลกาภิวัตน์ ภาวะการเงินที่ตึงตัวและคาดว่าจะต่อเนื่องยาวนานสอดคล้องกับทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อรับมือกับเงินเฟ้อที่มีความหนืดสูง และระดับหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งจะกดดันความสามารถในการรองรับความผันผวนและวิกฤตในอนาคต 

WB building
IMF WB meeting
IMF WB Meeting

IMF-WBG Annual Meeting 2023 
ที่เมืองมาร์ราเกซ ประเทศโมร็อกโก 
ระหว่างวันที่ 9-15 ตุลาคม 2566

การดำเนินนโยบายมหภาคจึงต้องให้ความสำคัญกับ (1) การรักษาแนวนโยบายการเงินเพื่อนำเงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน (2) การเร่งสร้างพื้นที่การคลัง ผ่านการลดมาตรการช่วยเหลือแบบหว่านแห เพื่อให้มีเม็ดเงินสำหรับการลงทุนของภาครัฐที่จำเป็น (3) การดูแลเสถียรภาพการเงิน เพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจ เกิดขึ้นจากภาวะการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น และ (4) การยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจในการรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (climate change) และกระแส digitalization

sign MOU
MOU
sign MOU

การลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกัน 4 ฝ่าย เพื่อให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัด IMF-WBG Annual Meeting ในปี 2569 ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 2 ของประเทศไทย

จาก “the Red City” สู่ “the City of Angels”

 

นอกจากการหารือประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจการเงินโลกที่มีความเข้มข้นแล้ว ยังมีหนึ่งเหตุการณ์ที่มีความสำคัญกับประเทศไทย นั่นคือ พิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก ปี 2569 (MOU for Thailand as host of 2026 IMF-WBG Annual Meetings) โดยกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับ Mr. Ajay Banga ประธานธนาคารโลก และ Mrs. Kristalina Georgieva กรรมการจัดการ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2566 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของสัปดาห์การประชุม

 

จุดเริ่มต้นคือ กระทรวงการคลังไทยเสนอชื่อให้ไทยเข้ารับคัดเลือกเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม หลังจากนั้น IMF-WBG คัดเลือกประเทศที่เหมาะสมจากการประเมินความพร้อมในด้านต่าง ๆ อย่างละเอียดและเข้มข้น โดยมีเกณฑ์การพิจารณาครอบคลุมหลากหลายมิติ เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศนั้น ๆ จะสามารถรองรับการจัดประชุมระดับโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ  

measure

ข้อดีที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งนี้ คือการตอกย้ำศักยภาพในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับโลก การแสดงความพร้อมของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ โครงสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรมการบินและการขนส่ง รวมถึงโอกาสในการนำเสนอวัฒนธรรมและสถานที่อันสวยงาม ซึ่งล้วนมีส่วนส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศและสร้างเม็ดเงินสู่เศรษฐกิจในระยะยาว

quote

การเตรียมพร้อมสู่การเป็นเจ้าภาพ AM2026

 

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการเป็นเจ้าภาพ AM2026 ของไทย แต่ความจริงแล้ว การเตรียมการสำหรับ AM2026 ได้เริ่มขึ้นทันทีตั้งแต่ที่ไทยได้รับคัดเลือกจาก IMF-WBG และจะเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ในระยะเวลาสามปีข้างหน้า โดยกระทรวงการคลังและ ธปท. ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบหลัก จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานราชการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมให้การประชุม AM2026 เป็นไปอย่างเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ

นอกจากประสานงานกับหน่วยงานภายในประเทศแล้ว กระทรวงการคลังและ ธปท. ก็ต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ IMF-WBG เพื่อกำหนดแผนงานอย่างละเอียด และดูแลติดตามความคืบหน้าการเตรียมการในแต่ละด้านให้ครบถ้วนและทันการณ์ ตั้งแต่กระบวนการต้อนรับที่สนามบิน พิธีการตรวจคนเข้าเมือง การขนส่งระหว่างสนามบิน-โรงแรมที่พัก-สถานที่ประชุม การลงทะเบียนผู้เข้าร่วมงาน การจัดสรรพื้นที่ห้องประชุมต่าง ๆ รวมถึงการตกแต่งบริเวณที่จัดงาน ซึ่งสอดแทรกศิลปะอันสวยงามวิจิตรของประเทศเจ้าภาพ เทคโนโลยีและอุปกรณ์โสตทัศนูปกรณ์ที่ทันสมัยและถูกควบคุมอย่างมืออาชีพ การบันทึกและถ่ายทอดสดการประชุมผ่านระบบ virtual meeting การแปลเนื้อหาในการประชุมแบบ real time สำหรับผู้เข้าร่วมประชุมที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษ การต้อนรับและดูแลแขก การประชาสัมพันธ์บริเวณโดยรอบและภายในสถานที่ประชุม การดูแลสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ การ showcase เศรษฐกิจการเงิน ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของประเทศเจ้าภาพ ซึ่งในทุกรายละเอียดงานที่กล่าวมาต้องอาศัยการวางแผน ประสานงาน และที่สำคัญคือทีมงานมืออาชีพ ตั้งแต่กระบวนการกำหนดแนวคิด ออกแบบ ไปจนถึงบริษัทผู้จัดงานและผู้ประกอบการย่อย ที่จะประกอบชิ้นส่วนจิกซอว์ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน 

้่้history
cover

วารสารพระสยามที่ตีพิมพ์ในปี 2534 เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดประชุมและเบื้องหลังการเตรียมจัดงาน IMF-WBG Annual Meeting ในปี 2534

IMF WBG Meeting 2534
IMF WBG Meeting 2534
IMF WBG Meeting 2534
IMF WBG Meeting 2534

IMF-WBG Annual Meeting
ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อปี 2534

ระหว่างทางก่อนวันจัดงานจริง ตลอดช่วง 3 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะต้องเข้าร่วมการประชุม Spring และ Annual Meetings ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. นับว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ประเทศไทยจะใช้โอกาสนี้จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพ AM2026 ของไทย โดยเฉพาะในช่วงระหว่างปีปี 2569 ที่ไทยและ IMF-WBG จะจัดซีรีส์ของกิจกรรม Road to Thailand โดยคณะผู้บริหารระดับสูงของ IMF-WBG ทั้งในประเทศไทยและภูมิภาค เพื่อสร้างความรู้สึกเชื่อมโยงกับผู้ชมได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด อาทิ การจัดสัมมนาระดับสูงในประเด็นที่สำคัญและเป็นที่สนใจในขณะนั้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยสร้าง momentum ของการหารือและประชาสัมพันธ์ในวงกว้าง

 

สุดท้ายนี้ ในโอกาสที่ IMF-WBG Annual Meetings จะเวียนกลับมาจัดที่ประเทศไทยอีกครั้งในรอบ 35 ปี นับเป็นเกียรติและโอกาสสำคัญของประเทศที่ทุกคนจับตามองและให้ความสำคัญ นอกจากกระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ ที่รับผิดชอบโดยตรงจะต้องกำหนดแผนงานอย่างรอบคอบรัดกุมและดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและทันการณ์แล้ว ความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชน จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างประสบการณ์และความประทับใจให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุมที่ได้สัมผัสอัธยาศัยไมตรีและวัฒนธรรมอันเป็น soft power อย่างหนึ่งของประเทศอีกด้วย

 

มานับถอยหลังและร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมระดับโลกในอีกสามปีข้างหน้ากันนะครับ

IMF WBG Meeting 2534
krit

Tag ที่เกี่ยวข้อง

BOT Magazine Knowledge Corner Special Scoop ความร่วมมือระหว่างประเทศ