CBDC การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจากภายใน
สู่ความร่วมมือระหว่างประเทศ 

 

เกือบสองทศวรรษแล้วที่เราได้เห็นกระแสการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปฏิรูประบบการชำระเงิน เริ่มตั้งแต่การออกบิตคอยน์ เงินดิจิทัลสกุลแรกของโลกในปี 2552 หลังจากนั้นการปฏิวัติเงินดิจิทัลโดยภาคเอกชนก็มีพัฒนาการมาเรื่อย ๆ จนไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกเริ่มหันมาสนใจสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC) ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถือเป็นธนาคารกลางกลุ่มแรก ๆ ที่ได้ศึกษาและเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับ CBDC รวมถึงผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อพัฒนาโครงการให้เชื่อมโยงสู่นานาชาติ

collaboration

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมเสวนา (panel discussion) เรื่อง Central Bank Digital Currency กับ Kristalina Georgieva กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ François Villeroy de Galhau ผู้ว่าการธนาคารกลางฝรั่งเศส และ Axel Lehmann ประธานกรรมการของ Credit Suisse ในการประชุม World Economic Forum ครั้งที่ 22 ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์  

เส้นทางที่ต่อเนื่องของการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลไทย

 

นับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา ธปท. ได้เริ่มศึกษาและพัฒนา CBDC มาอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มต้นจาก “โครงการอินทนนท์” ซึ่งเป็นโครงการนำร่องในการพัฒนา CBDC เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการทำธุรกรรมโอนเงินระหว่างสถาบันการเงินภายในประเทศ (domestic wholesale CBDC)  ก่อนขยายขอบเขตการทดลองไปยังภาคธุรกิจและภาคประชาชน หรือที่เรารู้จักในชื่อ retail CBDC

 

โดย ธปท. ได้ทดลองเชื่อมต่อการใช้งานโอนเงินแบบหลายสกุลเงิน (multiple currency CBDC) ระหว่างประเทศ ซึ่งจากการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทำให้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับจาก PwC Global CBDC Index ในปี 2566 ด้านการพัฒนา retail CBDC และ wholesale CBDC สูงเป็นอันดับที่ 3 และอันดับที่ 1 ของโลกตามลำดับ ซึ่งนับว่าเป็นเครื่องชี้วัดความสำเร็จ และสะท้อนถึงประสิทธิภาพในการลดต้นทุนการทำธุรกรรมทางการเงินของประเทศ

 

ต่อมาในปี 2566 ธปท. ได้พัฒนา CBDC ภายใต้โครงการบางขุนพรหม และโครงการ Multiple Currency CBDC Bridge (mBridge) สำหรับการทำธุรกรรมการโอนเงินของประชาชน และสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ไปสู่การทดสอบใช้งานจริงในขอบเขตจำกัด เพื่อประเมินศักยภาพการพัฒนาและใช้งาน CBDC ทั้งด้านเทคโนโลยี ด้านธุรกิจ และการนำไปต่อยอดเชิงนวัตกรรมเพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วน

 

timeline

Timeline ในการพัฒนางานด้าน CBDC ของ ธปท. 

โครงการบางขุนพรหม พื้นฐานสำคัญของการส่งเสริมนวัตกรรมการเงินของประเทศ

 

โครงการบางขุนพรหมเป็นโครงการนำร่องในการทดสอบการใช้งาน retail CBDC โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงประโยชน์ ข้อจำกัด และโอกาสของ CBDC ในการเป็นโครงสร้างพื้นฐาน ที่เปิดโอกาสให้เอกชนที่เป็นผู้ให้บริการทางการเงินสามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานได้ ซึ่งจะช่วยเปิดโอกาสการแข่งขันทางธุรกิจ ส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงิน รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการชำระเงินในอนาคต โดยขอบเขตการทดสอบได้ครอบคลุมถึงการออก CBDC ทั้งกระบวนการ และการนำมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการของกลุ่มผู้ใช้งานที่จำกัดไว้ไม่เกิน 10,000 ราย ซึ่งกำหนดโดย ธปท. ร่วมกับผู้ให้บริการ 3 ราย ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด ในช่วงระหว่างปลายปี 2565 - ตุลาคม 2566

 

นอกจากนี้ การทดสอบดังกล่าวยังนำกรณีศึกษาจากภาคเอกชนที่นำเสนอในงาน CBDC Hackathon1 มาเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดเงื่อนไขการโอนเงิน (programmability) ร่วมกับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของภาคธุรกิจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในระบบการเงิน

 

ภายหลังจากที่โครงการได้สิ้นสุดลงในเดือนตุลาคม 2566 ธปท. อยู่ระหว่างประเมินผลลัพธ์และความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ จากการทดสอบ โดย ธปท. ยังไม่มีแผนการออกใช้งาน retail CBDC ในวงกว้าง แต่กล่าวได้ว่าการทดสอบ retail CBDC ข้างต้นเป็นก้าวย่างที่สำคัญของการพัฒนา CBDC ในการเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่สำคัญในอนาคต (open infrastructure) ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้สะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น 

meeting

Mr. Mu Changchun, Director of the Digital Currency Reserch Institute ของ PBC 

meeting
meeting
meeting

บรรยากาศการประชุมระหว่าง ธปท. และสถาบันศึกษาสกุลเงินดิจิทัลของ PBC เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566

mBridge โครงการเชื่อมต่อการทำธุรกรรมโอนและแลกเปลี่ยนเงินระหว่างประเทศให้ดีขึ้น

 

mBridge เป็นโครงการเชื่อมต่อ CBDC ของไทยสู่นานาชาติ ที่ขยายขอบเขตการศึกษาจากโครงการ “Inthanon-LionRock” เพื่อธุรกรรมการโอนและแลกเปลี่ยนเงินระหว่างประเทศ โดย mBridge มุ่งเน้นทดสอบการนำ CBDC ที่ออกโดยธนาคารกลางทั้ง 4 ประเทศ ได้แก่ ธปท. ธนาคารกลางฮ่องกง (HKMA) ธนาคารกลางแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (CBUAE) และธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (PBC) มาทำธุรกรรมจริงเป็นครั้งแรกของโลก ภายใต้การสนับสนุนจากศูนย์พัฒนานวัตกรรมของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BISIH) ณ ฮ่องกง และปัจจุบันมีธนาคารกลางและองค์กรระหว่างประเทศมากกว่า 20 แห่ง เข้าร่วมเป็นสมาชิกสังเกตการณ์ อาทิ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank)

ความสำเร็จก้าวแรกจากโครงการ mBridge

 

จากความร่วมมือของธนาคารกลางทั้ง 4 ประเทศ และธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการมากกว่า 20 แห่ง ทำให้โครงการ mBridge ได้ทดสอบการทำธุรกรรมโอนเงินและแลกเปลี่ยนเงินระหว่างประเทศ ระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน 2565 โดยมีจำนวนธุรกรรมทั้งหมด 164 ธุรกรรม คิดเป็นมูลค่ารวมกันกว่า 22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือเทียบเท่า 827 ล้านบาท) และพบว่า CBDC สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการโอนเงินระหว่างประเทศได้เมื่อเทียบกับระบบที่มีอยู่ในปัจจุบัน จากเดิมที่ใช้ระยะเวลาโอนเงินระหว่างประเทศเฉลี่ย 3-5 วัน แต่ด้วยระบบของ mBridge ช่วยลดระยะเวลาลงเหลือเพียงหลักวินาที อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรมการโอนเงินได้มากถึง 50% ลดความเสี่ยงด้านการชำระดุล (settlement risk) และเอื้อให้เกิดการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการชำระเงินระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยส่งผลให้ประชาชนได้รับบริการโอนเงินระหว่างประเทศที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากขึ้น

ความร่วมมือร่วมใจระหว่างประเทศ คือ “หัวใจสำคัญ"

 

การดำเนินโครงการ mBridge ได้เผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมา อาทิ ความหลากหลายของนโยบายการเงินและกฎเกณฑ์ที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ การหารูปแบบการกำกับดูแลที่เหมาะสม โดยปัจจัยสำคัญที่จะทำให้โครงการ mBridge ดำเนินการทดสอบได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ คือ การร่วมมือกันระหว่างธนาคารกลางทั้ง 4 ประเทศ ในการศึกษาและพัฒนานวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ ตลอดจนร่วมกันแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น โดยตั้งอยู่บนหลักการที่สำคัญ 5 ประการ ประกอบด้วย (1) ไม่สร้างผลกระทบเชิงลบ (do no harm) (2) เพิ่มประสิทธิภาพ (enhancing efficiency) (3) มีความยืดหยุ่นและเท่าทันความเสี่ยงในรูปแบบต่าง ๆ (improving resilience) (4) สนับสนุนการเชื่อมโยงระบบและข้อมูลระหว่างกัน (assuring coexistence and interoperability) และ (5) ส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน (enhancing financial inclusion) 

team

การเตรียมพร้อมทดสอบระบบ mBridge ร่วมกับ PBC

มองไปข้างหน้า เพื่อก้าวต่อไป

 

ก้าวต่อไปของการดำเนินโครงการ mBridge จะมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาระบบและคุณสมบัติต่าง ๆ ให้สามารถรองรับการทำธุรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยแบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านธุรกิจ มีการพัฒนาระบบที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานมากขึ้น โดยเพิ่มการทำงานอัตโนมัติของระบบงานและช่องทางการสื่อสาร (2) ด้านเทคโนโลยี มีการปรับระบบให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เช่น ISO 20022 และมีการพัฒนาระบบให้สามารถรับรองธุรกรรมได้มากขึ้น และ (3) ด้านกฎหมาย มีการกำหนดกรอบการดำเนินการ หลักเกณฑ์ กฎระเบียบ และเอกสารที่จำเป็นสำหรับการทำธุรกรรมโอนเงินระหว่างประเทศบนระบบของ mBridge

 

สุดท้ายนี้ ธปท. คาดหวังว่าโครงการ mBridge จะเข้ามาเป็นหนึ่งในทางเลือกของการโอนเงินระหว่างประเทศในอนาคต โดยจะพิจารณาความเหมาะสมในการขยายขอบเขตการพัฒนาและทดสอบในบริบทของการนำมาใช้งานจริง
ต่อไป

1CBDC Hackathon เป็นการแข่งขันนำเสนอแนวคิดการประยุกต์ใช้สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) สำหรับประชาชนและภาคธุรกิจในการสร้างนวัตกรรมทางการเงิน จัดโดย ธปท. ซึ่งเปิดกว้างให้บุคคลทั่วไป นักศึกษา ผู้ประกอบธุรกิจ ที่สนใจมีส่วนร่วมในการออกแบบพัฒนา retail CBDC ของไทย

writer

Tag ที่เกี่ยวข้อง

BOT Magazine Knowledge Corner ความร่วมมือระหว่างประเทศ The Knowledge CBDC