รู้จักกับกลยุทธ์ด้านต่างประเทศ
หางเสือของ ธปท. ในเวทีโลก

 

งานด้านต่างประเทศของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นงานที่ต้องประสานกับธนาคารกลางอื่น ๆ องค์กรการเงินระหว่างประเทศ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อกำหนดนโยบายด้านต่างประเทศที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจการเงินของไทย งานนี้จึงเปรียบเสมือนประตูด่านแรกระหว่าง ธปท. กับองค์กรภายนอก และมีส่วนช่วยในการดำเนินภารกิจสำคัญของ ธปท. ในการดูแลรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน และพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ตลอดจนเสริมสร้างความน่าเชื่อถือในการดำเนินนโยบายของ ธปท. ทั้งต่อองค์กรการเงินระหว่างประเทศที่ ธปท. เป็นสมาชิก และต่อประชาชนคนไทย

 

ด้วยเหตุนี้ ธปท. จึงวาง “กลยุทธ์ด้านต่างประเทศ” ซึ่งเป็นเสมือนหางเสือเรือที่ช่วยกำหนดทิศทางการทำงาน และบทบาทของ ธปท. ให้เหมาะสมกับแต่ละเวที เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณชนให้มั่นใจได้ว่าการดำเนินงานด้านต่างประเทศของ ธปท. มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมมิติที่สำคัญ และได้รับการยอมรับจากนานาประเทศว่าทั้ง “รู้จริง” และ “มีหลักการ” 

collaboration

กำหนดกลยุทธ์อย่างเท่าทัน ติดอาวุธบุคลากรให้ทัดเทียม

 

การจัดทำกลยุทธ์ด้านต่างประเทศต้องเริ่มจากทำความเข้าใจและเท่าทันกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เห็นโอกาส ความท้าทาย และประเมินความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกอยู่เสมอ ทั้งในมุมของการดูแลภาวะเศรษฐกิจและการกำกับดูแล เพื่อให้การดำเนินนโยบายของ ธปท. เหมาะสมกับบริบทของไทย สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจการเงินโลก และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล

 

นอกจากความเข้าใจและการประเมินสถานการณ์ในภาคทฤษฎีแล้ว การเตรียมทีมงานให้มีความพร้อมเป็นสิ่งจำเป็น หนึ่งในวิธีลับอาวุธให้กับทีมงานด้านต่างประเทศคือ การได้ลงสนามจริงผ่านการเข้าร่วมประชุมภาคการเงินที่สำคัญ เช่น IMF (International Monetary Fund) - World Bank Group Annual Meetings, BIS (Bank for International Settlements) Bi-monthly meeting, ASEAN Finance Ministers and Governors Meeting นับเป็นโอกาสอันดีที่จะได้สั่งสมประสบการณ์ รับฟัง และเรียนรู้จากมุมมองที่หลากหลาย ทั้งกลุ่มประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดเล็กแบบเปิด (small and open economy) คล้ายไทย ไปจนถึงกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว สามารถเชื่อมโยงประเด็นที่ประชาคมโลกให้ความสำคัญ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการจัดทำท่าทีของ ธปท. เพื่อนำไปเจรจาและให้ความเห็นในเวทีต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังสามารถนำประสบการณ์และแนวคิดของประเทศที่มีความก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ มาใช้ประโยชน์ในการดำเนินนโยบายของไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และปรับให้เหมาะสมกับบริบทของไทยอีกด้วย

asean

การประชุม ASEAN Finance Ministers and Central Bank Governors (AFMGM) ครั้งที่ 10 เมื่อเดือนสิงหาคม 2566 ที่ประเทศอินโดนีเซีย

จับมือร่วมเสริมสร้างการเติบโตตามบริบทของภูมิภาค

 

การเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับต่างประเทศ โดยเฉพาะกับธนาคารกลางในภูมิภาคที่มีภาวะเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน ก็มีส่วนสำคัญในการสร้างความเข้าใจเชิงลึก และเพิ่มพันธมิตรในการทำนโยบายภายใต้ความไม่แน่นอนจากภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งจะช่วยให้ท่าทีหรือนโยบายของ ธปท. ในเวทีต่างประเทศ ได้รับการยอมรับและสนับสนุนจากพันธมิตรในภูมิภาค

 

หลายครั้งที่เราพบว่า มาตรฐานสากลที่จัดทำโดยกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ไม่เหมาะกับบริบทของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งการรวมเสียงของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาทั้งในภูมิภาคและนอกภูมิภาคเพื่อแสดงข้อกังวลประเด็นต่าง ๆ ก็ทำให้เสียงของเราดังขึ้น ชัดเจนขึ้น จนนำไปสู่การปรับปรุงมาตรฐานที่ยืดหยุ่นและเหมาะสมมากขึ้นในเวลาต่อมา

 

สำหรับการเลือกประเด็นที่ ธปท. จะปักหมุดลงในกลยุทธ์การต่างประเทศนั้น จะพิจารณาจากผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับการดำเนินนโยบายของ ธปท. และประเทศไทยเป็นสำคัญ เพื่อให้มีท่าทีที่ชัดเจน  ผลักดันงานได้ตรงเป้าหมาย และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดทั้งในแง่ของผลลัพธ์และการใช้ทรัพยากร

 

จากโจทย์นี้เองส่งผลให้หัวใจของการกำหนดกลยุทธ์ด้านต่างประเทศให้ความสำคัญกับการช่วยสร้างความยืดหยุ่น (resiliency) ให้เศรษฐกิจไทยและการดำเนินนโยบายของ ธปท. เท่าทันกับสถานการณ์ในต่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับบทบาทของ ธปท. ใน 2 เรื่อง

meeting

การประชุมเสวนา BI-BOT High-Level Policy Dialogue ในหัวข้อ "Frameworks for Intergrated Policy: Experiences and the Way Forward" ที่จัดขึ้นโดย ธปท. และธนาคารกลางอินโดนีเซีย เมื่อเดือนสิงหาคม 2566 ที่ประเทศอินโดนีเซีย

เรื่องแรกคือ การดำเนินนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน โดยสนับสนุนให้ไทยสามารถดำเนินนโยบายที่ยืดหยุ่นและเหมาะสมกับบริบทของประเทศ พัฒนากลไกความช่วยเหลือทางการเงินระดับภูมิภาคให้มีประสิทธิภาพและพร้อมใช้ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงและผลกระทบต่อไทย หากประเทศในภูมิภาคประสบปัญหา และสนับสนุนการทำธุรกิจระหว่างประเทศให้มีเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลาย รวมถึงการใช้เงินสกุลท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นทางเลือกเพื่อรองรับความไม่แน่นอนจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์

 

เรื่องที่สองคือ เพื่อช่วยพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล ผ่านการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินระหว่างประเทศในการอำนวยความสะดวกด้านการค้า การท่องเที่ยว และการเคลื่อนย้ายแรงงาน รวมถึงให้ ธปท. มีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรฐานและการกำกับดูแลระบบการเงินระหว่างประเทศ ตลอดจนสนับสนุนการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวให้มีอุปสรรคและต้นทุนน้อยที่สุด 

สนับสนุนการดำเนินนโยบายยืดหยุ่นเหมาะกับบริบทประเทศ

 

เมื่อมีการกำหนดกลยุทธ์ด้านต่างประเทศให้สอดคล้องกับบทบาทของ ธปท. ตามที่เล่ามาข้างต้น ในช่วงที่ผ่านมา ธปท. จึงได้ดำเนินการตามกลยุทธ์ฯ เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมที่เห็นผลสำเร็จชัดเจนในหลายมิติ ทั้งด้านการดำเนินนโยบาย และด้านการพัฒนา

 

สำหรับด้านการดำเนินนโยบาย ภายหลังจากการระบาดของโควิด 19 คลี่คลายลง โครงสร้างทางเศรษฐกิจในหลายประเทศมีความซับซ้อนมากขึ้น ทำให้ธนาคารกลางต้องลุกขึ้นมาใช้เครื่องมือที่หลากหลาย และดำเนินนโยบายแบบผสมผสาน (Integrated Policy Framework: IPF) ในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน เช่น เดิมใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว ก็อาจเพิ่มมาตรการดูแลความเสี่ยงเฉพาะจุด (macroprudential: MaPP) เพื่อลดการก่อตัวของความเสี่ยงเชิงระบบ ซึ่ง IMF ค่อนข้างไม่เห็นด้วยกับการดำเนินนโยบายแบบนี้ อย่างไรก็ดี ธปท. เป็นหนึ่งในประเทศหลักผู้ร่วมสร้างความเข้าใจกับ IMF ให้เห็นความจำเป็นของ IPF ต่อโครงสร้างและบริบทของเศรษฐกิจไทย และประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ  

 

โดยเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 ธปท. และธนาคารกลางอินโดนีเซียร่วมจัดการประชุมเสวนา BI-BOT High-Level Policy Dialogue ภายใต้หัวข้อ “Frameworks for Integrated Policy: Experiences and the Way Forward” ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เพื่อเป็นเวทีให้ผู้ออกนโยบายและองค์กรระหว่างประเทศได้แลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ รวมถึงถอดบทเรียนที่เป็นประโยชน์ของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เพื่อส่งเสริมการพัฒนากรอบการดำเนินนโยบายแบบผสมผสานในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน การเสวนานี้ช่วยสร้างความเข้าใจและมุมมองที่สอดคล้องกันมากขึ้นระหว่างองค์กรระหว่างประเทศกับธนาคารกลางในภูมิภาคอาเซียน โดยผู้ร่วมเสวนาเห็นพ้องถึงความสำคัญและความท้าทายของการใช้นโยบายแบบผสมผสาน ซึ่งต้องอาศัยความยืดหยุ่นและการตัดสินใจ ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่ต้องคำนึงถึงบริบทของเศรษฐกิจที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศเป็นสำคัญ

ลดอุปสรรคผู้ประกอบการไทยผ่านการส่งเสริมให้ใช้เงินสกุลท้องถิ่น

 

ธปท. ผลักดันการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในภูมิภาคมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ภาคธุรกิจในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และความผันผวนของเงินสกุลหลัก เนื่องจากไทยมีการค้ากับประเทศในภูมิภาคเป็นสัดส่วนที่สูง แม้จะยังใช้เงินสกุลท้องถิ่นระหว่างกันไม่มาก แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

แผนระยะกลางของ ธปท. เน้นสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่น 4 สกุล ได้แก่ หยวน เยน ริงกิต และรูเปีย ซึ่ง ธปท. ร่วมกับธนาคารกลาง หน่วยงานกำกับดูแล และภาคเอกชนผลักดันการใช้มาอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างสกุลเงินหยวน นอกจากจะมีการจัดตั้งธนาคารเพื่อการชำระดุล (clearing bank) เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจที่จะทำธุรกรรมชำระเงินหยวนในไทย ยังมีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนโดยตรงระหว่างเงินหยวนและเงินบาทในตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศของสาธารณรัฐประชาชนจีน (China Foreign Exchange Trade System: CFETS) เพื่อเพิ่มผู้เล่นและสภาพคล่องสกุลเงินหยวนและบาท รวมถึงมีจัดทำความตกลงทวิภาคีแลกเปลี่ยนเงินสกุลท้องถิ่นระหว่าง ธปท. และธนาคารกลางจีน เพื่อเป็นกลไกช่วยเสริมสร้างสภาพคล่องสำหรับการชำระเงินค่าสินค้าและการลงทุนระหว่างกันด้วยเงินบาทหรือเงินหยวน ซึ่ง ธปท. มุ่งหวังให้ต้นทุนการแลกเปลี่ยนเงินลดลง

 

ในระยะถัดไป ธปท. จะหารือกับธนาคารกลางในภูมิภาค เพื่อหาแนวทางความร่วมมือเพิ่มเติม ซึ่งรวมไปถึงการพิจารณาผ่อนคลายหลักเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคกับผู้ประกอบการ และร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ และภาคธุรกิจเพื่อประชาสัมพันธ์และส่งเสริมความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการ ตลอดจนหาแนวทางอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศให้ได้มากที่สุด

OR payment

การเปิดตัวบริการชำระเงินข้ามพรมแดนผ่าน QR code ระหว่างฮ่องกงและไทย เมื่อเดือนธันวาคม 2566

เชื่อมโยงเอเชียกับไทยด้วย QR Payment

 

อีกความสำเร็จด้านการชำระเงินระหว่างประเทศคือ “ระบบ” ที่รวดเร็ว ทันสมัย ปลอดภัย และต้นทุนต่ำ ธปท. สนับสนุนให้ภาคการเงินไทยปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลผ่านการพัฒนาเชื่อมโยงระบบการชำระเงินระหว่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการชำระเงินระหว่างประเทศ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ธปท. เป็นผู้นำการผลักดันของภูมิภาค

 

ปัจจุบัน ธปท. เชื่อมโยง Cross-border QR payment กับธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ไปแล้วถึง
7 แห่ง[1] ล่าสุดคือธนาคารกลางฮ่องกง เมื่อเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งไทยถือว่ามีเครือข่ายเชื่อมโยงมากที่สุดในภูมิภาค อีกทั้ง ธปท. และธนาคารกลางสิงคโปร์ยังเป็นคู่แรกของโลกที่เชื่อมโยงบริการโอนเงินข้ามประเทศแบบทันที (Real Time Remittance) ระหว่างระบบพร้อมเพย์และเพย์นาว สำเร็จไปเมื่อปี 2564 ซึ่งสามารถลดค่าธรรมเนียมการโอนเงินจากไทยไปสิงคโปร์ให้เหลือเพียง 150 บาทต่อรายการ จากเดิมเริ่มต้นที่ 400 บาท และลดเวลาการโอนจาก 1-2 วัน เหลือเพียง 2 นาทีเท่านั้น อย่างไรก็ดี ธปท. ยังคงเดินหน้าพัฒนาระบบการชำระเงินระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งท่านผู้อ่านสามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับระบบการชำระเงินระหว่างประเทศในบทความคอลัมน์ Payment Systems 

 

[1] ได้แก่ สิงคโปร์ กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และฮ่องกง

ตัวอย่างข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของหน้างานที่ ธปท. ผลักดันในเวทีต่างประเทศเท่านั้น ซึ่งการจะผลักดันงานให้ได้ตามเป้าหมายที่วางแผนไว้นั้น ต้องอาศัยกำลังจากทุกภาคส่วนใน ธปท. ที่มีเป้าหมายร่วมกัน และช่วยผลักดันให้การดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยทีมงานด้านต่างประเทศพร้อมทำหน้าที่เป็นหน้าบ้านที่แข็งแกร่ง และสนับสนุนงานของ ธปท. เพื่อแสดงศักยภาพของภาคการเงินไทยให้เป็นที่ประจักษ์ในเวทีต่างประเทศ และเพื่อประโยชน์ของชาวไทยทุกคน

writer

Tag ที่เกี่ยวข้อง

BOT Magazine Knowledge Corner ความร่วมมือระหว่างประเทศ The Knowledge