ความร่วมมือที่เป็นมากกว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

"Alone we can do so little; together we can do so much." - Helen Keller

 

ในโลกปัจจุบันที่เศรษฐกิจแต่ละประเทศมีความเชื่อมโยงกันสูง กระแสการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การมีพันธมิตรที่ดีในต่างประเทศที่จะร่วมมือและฝ่าฟันความท้าทายในระยะข้างหน้าไปด้วยกัน ยิ่งทวีความสำคัญเป็นอย่างมาก

collaboration

สำหรับในวงการของธนาคารกลาง เวทีที่ใหญ่ที่สุดคงไม่พ้นการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก ที่มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่าหนึ่งหมื่นคน (อ่านเรื่องการประชุม IMF-WBG เพิ่มเติมได้ในคอลัมน์ Special Scoop หน้า 12) หรือการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ที่มีผู้เข้าร่วมประชุมร้อยกว่าคน แต่ยังมีการประชุมและกิจกรรมแบบทวิภาคี หรือที่เรียกว่า “bilateral meeting” ที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนไม่มาก เป็นอีกกิจกรรมที่มีส่วนสำคัญในการช่วยเสริมสร้างความเข้าใจ ความสัมพันธ์ และความร่วมมือระหว่างกันได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญความสัมพันธ์แบบทวิภาคียังช่วยให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีพันธมิตรในการร่วมกันผลักดันยุทธศาสตร์ต่างประเทศในเวทีใหญ่ระดับสากล เพื่อดูแลให้เศรษฐกิจการเงินของประเทศและภูมิภาคเติบโตอย่างยั่งยืนและทั่วถึง

 

ตลอดช่วงเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา ธปท. สลับกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมทวิภาคีกับธนาคารกลางในภูมิภาคอาเซียนเกือบทุกแห่ง การประชุมแต่ละครั้งนอกจากจะหารือแลกเปลี่ยนมุมมองเศรษฐกิจการเงิน ความท้าทายในการดำเนินนโยบายของธนาคารกลาง อย่างเช่นเรื่อง digitalization การเงินสีเขียว และการปรับตัวขององค์กรแล้ว ยังเป็นโอกาสในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันด้วย โดยล่าสุดเมื่อต้นปี 2566 เป็นการลงนามในสัญญาความตกลงแลกเปลี่ยนเงินสกุลท้องถิ่นและเงินตราต่างประเทศกับธนาคารกลางมาเลเซีย เพื่อส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการชำระค่าสินค้าและบริการระหว่างกัน และยังมีการเปิดตัวการชำระเงินระหว่างไทย-กัมพูชาด้วย QR code ระยะที่ 2 ที่ทำให้นักท่องเที่ยวไทยสามารถชำระเงินค่าสินค้าที่ร้านค้าในประเทศกัมพูชาด้วย cross-border QR payment ผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารได้แล้วเมื่อกลางปี 2566 ซึ่งความสัมพันธ์กับธนาคารกลางในภูมิภาคเดียวกันถือว่ามีความแน่นแฟ้นและช่วยเหลือเกื้อกูลกันเป็นอย่างมาก

governer
meeting

การประชุมทวิภาคีระหว่าง ธปท. กับธนาคารกลางมาเลเซีย เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 ที่กรุงเทพมหานคร

 

Ms. Nor Shamsiah Mohd Yunus อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางมาเลเซีย เข้าร่วมการประชุมและถือโอกาสนี้ร่วมลงนามความตกลงทวิภาคีว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเงินตรา (Bilateral Swap Agreement: BSA) เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถชำระค่าสินค้าและการลงทุนเป็นเงินสกุลท้องถิ่นที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต 

meeting
meeting

การประชุมทวิภาคีระหว่าง ธปท. กับธนาคารกลาง สปป. ลาว เมื่อวันที่ 10-11 พฤษภาคม 2566 ที่กรุงเทพมหานคร

 

Mr. Bounleua SINXAYVORAVONG ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่ง สปป.ลาว และ Mrs. Khankeo Lamaningao รองผู้ว่าการ ธนาคารกลางแห่ง สปป.ลาว พูดคุยกับ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. และ
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ช่วงก่อนการประชุม

meeting
meeting
meeting

การประชุมทวิภาคีระหว่าง ธปท. กับธนาคารกลางเวียดนาม เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566 ที่กรุงเทพมหานคร

 

Ms. Nguyen Thi Hong ผู้ว่าการธนาคารกลางเวียดนาม และ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกลางทั้งสองแห่ง ได้แลกเปลี่ยนมุมมองด้านเศรษฐกิจ และความท้าทายในการดำเนินนโยบายของธนาคารกลาง รวมถึงแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสองธนาคารกลาง 

meeting

การประชุมทวิภาคีระหว่าง ธปท. กับธนาคารกลางกัมพูชา
เมื่อวันที่ 5-6 มิถุนายน 2566 ที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา 

 

ธนาคารกลางกัมพูชาพาคณะผู้บริหารระดับสูงของ ธปท. เยี่ยมชม SOSORO Museum ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยธนาคารกลางกัมพูชาเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของประเทศกัมพูชา ผ่านมุมมองด้านเศรษฐกิจการเงินและการเมือง

meeting

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. และ Mr. Chea Chanto อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางกัมพูชา ในการประชุมทวิภาคีที่โรงแรม Sofitel Phnom Penh Phokeethra 

meeting
meeting

Mr. Sum Sannisith รองผู้ว่าการธนาคารกลางกัมพูชา ให้การต้อนรับคณะผู้บริหาร ธปท. ที่ท่าอากาศยานนานาชาติพนมเปญ ก่อนการประชุมทวิภาคีระหว่าง ธปท. กับธนาคารกลางกัมพูชา

meeting

งานเปิดตัวการชำระเงินด้วย QR code ระหว่างไทย-กัมพูชา ระยะที่ 2 หลังการประชุมทวิภาคีเสร็จสิ้น

เสริมสร้างเครือข่ายในเวทีระดับโลก

 

นอกจากความร่วมมือกับธนาคารกลางในภูมิภาคแล้ว ธปท. ยังมีความสัมพันธ์อันดีกับธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements: BIS) โดยล่าสุดได้ร่วมกันจัดงาน BOT-BIS Conference ในวาระครบรอบ 80 ปี ธปท. และได้รับเกียรติจากผู้ว่าการธนาคารกลางมากกว่า 10 ประเทศทั่วโลก ผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรระหว่างประเทศและในประเทศ มาร่วมหารือเกี่ยวกับการทำหน้าที่ตามพันธกิจหลักของธนาคารกลาง ท่ามกลางบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้ ธปท. สามารถ "ปฏิบัติให้เท่าทัน" ในวันที่โลกหมุนเร็วและแรงกว่าเดิม

meeting
meeting
visit
meeting

ผู้ว่าการและผู้บริหารระดับสูงจาก BIS ธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมงาน BOT-BIS Conference ในวาระครบรอบ 80 ปี ธปท. 

quote

กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ สานสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดกันกว่าเดิม

 

นอกจากความสัมพันธ์จากเรื่องงานที่เข้มข้นแล้ว ธนาคารกลางในภูมิภาคอาเซียนยังกระชับมิตรกันผ่านกีฬา ทุก ๆ ปี ธปท. จะส่งตัวแทนทัพนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาระหว่างธนาคารกลาง (Inter-Central Bank Games: ICBG)  ที่ประกอบด้วยตัวแทนจาก 5 ประเทศ คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และไทย ทำให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของธนาคารกลางเหล่านี้ได้ทำความรู้จักและสานความสัมพันธ์ที่มีทั้งเสียงหัวเราะ รอยยิ้ม และความเป็นกันเอง ผ่านกิจกรรมการแข่งกีฬาประเภทต่าง ๆ อย่างเช่น บาสเกตบอล ปาเป้า และสควอช เรียกได้ว่า workhard, play harder!!

 

นอกเหนือจากกีฬา ICBG แล้ว การแข่งขันกีฬามิตรภาพระหว่าง ธปท. และธนาคารแห่ง สปป. ลาวก็นับเป็นอีกกิจกรรมที่มีมายาวนานกว่า 20 ปี ตั้งแต่ปี 2544 ซึ่ง ธปท. และธนาคารแห่ง สปป. ลาวจะสลับกันเป็นเจ้าภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารและพนักงาน อันเป็นประโยชน์ต่อการติดต่อประสานงาน และผลักดันความร่วมมือเชิงนโยบายของทั้งสองธนาคารกลางมาอย่างต่อเนื่องด้วย

sport
sport

กิจกรรม ICBG ล่าสุด เมื่อวันที่ 20-22 ตุลาคม 2566
ณ เกาะบาหลี อินโดนีเซีย มีตัวแทนนักกีฬากว่า 180 คน
จาก 5 ประเทศ

sport
sport

การแข่งขันกีฬามิตรภาพฯ ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 17-19 พฤศจิกายน 2566 ณ ธปท. สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ. ขอนแก่น

writer

Tag ที่เกี่ยวข้อง

BOT Magazine Knowledge Corner ความร่วมมือระหว่างประเทศ The Knowledge