สำนักงานตัวแทน ธปท. ในนิวยอร์ก ลอนดอน ปักกิ่ง
ต่อยอดความรู้ควบคู่สานสัมพันธ์

ผู้อ่านที่ติดตามเรามาตลอดอาจจะทราบแล้วว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีสำนักงานภาคที่เป็นเหมือนประตู-หน้าต่างที่เปิดให้เราได้มองเห็น รับฟัง ยื่นมือ หรือแม้แต่ก้าวย่างเข้าไปสัมผัสเศรษฐกิจและสังคมในระดับภูมิภาค แต่มีน้อยคนที่รู้ว่า ธปท. มีสำนักงานตัวแทนอยู่ในต่างประเทศด้วย คนแบงก์ชาติมักเรียกสำนักงานตัวแทนว่า “Rep” ที่ย่อมาจาก representative เป็นเหมือน ธปท. ขนาดย่อมที่มีเจ้าหน้าที่ประจำแต่ละแห่งไม่เกินห้าคน แต่ทำงานที่สำคัญและหลากหลาย ตั้งแต่เชื่อมต่อความสัมพันธ์เหมือนสถานทูต จับชีพจรเศรษฐกิจ ลงทุนและบริหารเงินสำรอง รวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน

 

ในโอกาสนี้ เราจะขอพาทุกท่านไปพูดคุยกับสำนักงานตัวแทนทั้ง 3 แห่ง ที่ตั้งอยู่ที่จุดยุทธศาสตร์สำคัญทางเศรษฐกิจใน 3 ทวีป ได้แก่ นิวยอร์ก ลอนดอน และปักกิ่ง ถึงการทำงานและแง่มุมจากประสบการณ์ที่แตกต่างกัน

Rep

จับชีพจรเกาะติดการลงทุนในเมืองหลวงแห่งการเงินโลก

 

ท่ามกลางผู้คนที่เดินขวักไขว่และตึกสูงระฟ้าใจกลางย่านธุรกิจ มีสำนักงานตัวแทน ธปท. ประจำมหานครนิวยอร์กตั้งอยู่ตั้งแต่ปี 2533[1] นับเป็นสำนักงาน ธปท. แห่งแรกที่ตั้งอยู่นอกประเทศไทย ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้บริหารในช่วงนั้นที่เห็นว่านิวยอร์กเป็นศูนย์กลางทางการเงิน และสหรัฐอเมริกาก็เป็นผู้นำในเวทีโลก ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นที่นี่จะส่งผลไปสู่ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก การมาตั้งสำนักงานแห่งนี้จะช่วยให้เกาะติดสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะตลาดการเงินได้อย่างใกล้ชิด รวมถึงยังได้มีประสบการณ์ตรงด้านนวัตกรรมทางการเงินที่หลากหลายและนำสมัยอีกด้วย

 

หน้าที่หลัก ๆ ของสำนักงานตัวแทนนครนิวยอร์กมี 3 ด้าน ด้านแรก คือ งานบริหารเงินสำรอง (investment arm) ถือเป็นส่วนหนึ่งของ “ห้องค้า” ของฝ่ายบริหารเงินสำรองที่ ธปท. สำนักงานใหญ่ในกรุงเทพฯ เพื่อให้การดูแลบริหารเงินสำรองทางการครอบคลุมตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ธปท. ได้ศึกษาและใช้ประโยชน์จากเครื่องมือทางการเงินหลากหลายรูปแบบมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารความเสี่ยงให้กับเงินสำรองทางการ โดยเฉพาะตราสารอนุพันธ์ต่าง ๆ ซึ่งมีสภาพคล่องสูงในช่วงตลาดสหรัฐฯ เปิดทำการ ด้านที่สองคือการ เป็น intelligence arm จับชีพจรเศรษฐกิจ รวมถึงเทรนด์ใหม่ ๆ ในตลาดการเงิน และด้านที่สาม งานเชื่อมต่อความสัมพันธ์ (connectivity arm) เพื่อเป็นสะพานเชื่อมกับผู้ร่วมตลาดและหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน

 

คุณสุวดี กุกเรย่า หัวหน้าสำนักงานตัวแทนฯ และคุณรัตนชัย อำนวยเรืองศรี ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานตัวแทนฯ เล่าให้เราฟังว่า ในแต่ละวันจะได้ทำงานหลากหลายเนื่องจากต้องดูแลการลงทุนของสินทรัพย์หลายประเภท และต้องคอยเกาะติดสถานการณ์ในตลาดสหรัฐฯ เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การเงินในวงกว้าง รวมถึงมีการสื่อสารและถ่ายทอดข้อมูลกับสำนักงานใหญ่อย่างต่อเนื่อง โดยต้องหมั่นศึกษาเครื่องมือทางการเงินรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการบริหารเงินสำรอง ซึ่งการลงทุนถือเป็นหัวใจสำคัญและเป็นจุดเด่นที่แตกต่างจากสำนักงานตัวแทนสาขาอื่น
 

ตัวแทนทั้งสองท่านยังเล่าต่อว่า นิวยอร์กเป็นเมืองที่ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา “ต้องยอมรับว่าข่าวสารสมัยนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ‘ความเร็ว’ ของข่าว ไม่ว่าจาก The Wall Street Journal หรือ Financial Times คงไม่ต่างกันระหว่างที่นิวยอร์กกับกรุงเทพฯ แต่การมาอยู่ที่นี่ เราจะได้สัมผัส on-the-ground มากขึ้น อย่างกรณี SVB[2] ที่สื่ออาจนำเสนอว่าคนแห่กันไปถอนเงินเพราะธนาคารกำลังจะปิดตัวลง แต่หากมองไปรอบ ๆ เราไม่เห็นถึงความตื่นตระหนกของธนาคารอื่น ๆ เลย หรือในช่วงภาวะเงินเฟ้อสูง แต่เราเห็นการจับจ่ายของชาวนิวยอร์กที่ยังครึกครื้นสะท้อนความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจที่ต่างจากมุมมองของนักวิเคราะห์ที่ประเมินว่าจะเกิดภาวะถดถอย” นอกจากนี้ มีโอกาสได้เห็นพลวัตด้านเทคโนโลยีที่พัฒนาการอย่างก้าวกระโดดในภาคธุรกิจ อาทิ ร้านสะดวกซื้อไร้พนักงานอย่าง Amazon go ที่นำ AI มาใช้ ซึ่งจุดประกายให้เราทำการวิเคราะห์ผลกระทบด้าน AI[3] โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขีดความสามารถของเทคโนโลยีที่จะมีผลเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของบริบทโลกในอนาคต

 

นอกจากนี้ ยังต้องรวบรวมข้อมูล insight จากแหล่งที่เชื่อถือได้เพื่อมาประเมินสถานการณ์ อาทิ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสถาบันการเงินขนาดใหญ่ ผู้จัดการกองทุนระดับโลก รวมถึงธนาคารกลางและกองทุนบริหารความมั่งคั่ง ซึ่งจะขาด “ความสัมพันธ์” ที่ดีไปไม่ได้ ความพิเศษของสำนักงานตัวแทนที่นี่คือ ที่ตั้งของสำนักงานที่อยู่ใจกลางย่านธุรกิจของนิวยอร์ก ซึ่งมีสำนักงานของธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ในละแวกเดียวกัน เช่น เยอรมนี เกาหลีใต้ สิงค์โปร์ และออสเตรเลีย ฯลฯ ทำให้อาจจบวันด้วยการเดินไปพูดคุยหารือ แลกเปลี่ยนความเห็นกัน

 

ด้วยความสัมพันธ์แน่นแฟ้นในกลุ่มตัวแทนทำให้เกิด “สมาคมธนาคารกลาง (central bank community)” ที่สามารถปรึกษาหารือและเชื่อมโยงประเด็นต่าง ๆ ที่เผชิญไปพร้อมกันได้ เรียกได้ว่าเป็น “สังคมแห่งการแบ่งปันความรู้” ที่มีค่าและอบอุ่นมาก ๆ บ่อยครั้งที่ได้โอกาสไปประชุมร่วมกับธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งนอกจากจะจัดขึ้นเพื่อแบ่งปันความรู้ แล้วยังเป็นการกระชับสัมพันธ์ด้วย ซึ่งการพบปะแบบนี้ทำให้เข้าใจข้อมูลเชิงลึกมากกว่าการอ่านจากบทวิเคราะห์หรือข่าว

 

“ส่วนตัวยังคงประทับใจจากการที่ได้รับเชิญไปร่วมงาน round-table discussion ที่จัดโดยประธานเฟด สาขานิวยอร์ก Mr. John Williams, Vice Chair of Federal Open Market Committee ที่ยินดีแบ่งปันข้อมูล บทวิเคราะห์ ความคิดเห็น และให้ตัวแทนจากธนาคารกลางของประเทศอื่น ๆ สอบถามได้อย่างเป็นกันเอง”

Rep NY

ทีมงานสำนักงานตัวเแทนนครนิวยอร์กในปัจจุบัน

quote
NY  team

ทีมงานสำนักงานตัวแทนนิวยอร์กได้แลกเปลี่ยนมุมมองเศรษฐกิจและการลงทุนโลกกับ Professor Myron Scholes ผู้คิดค้นแบบจำลอง Black-Scholes model ที่นักลงทุนใช้ในการประเมินมูลค่าของ Options อย่างแพร่หลาย

ตัวแทนสื่อสารของธนาคารกลางที่ทำงานแบบมืออาชีพ

 

กรุงลอนดอน เมืองที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์แต่ก็ผสานกับความทันสมัยของโลกยุคใหม่อย่างกลมกลืน เป็นศูนย์กลางทางการเงินของยุโรป และยังเป็นเมืองต้นแบบของการธนาคารกลางและการกำกับดูแลทางการเงินที่ยังคงนำสมัยอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นจุดเด่นที่ทำให้ ธปท. จัดตั้งสำนักงานตัวแทนแห่งที่สองเมื่อปี 2536

 

ปัจจุบันเมืองหลวงของสหราชอาณาจักรแห่งนี้ มีคุณลักษณะพิเศษที่เป็นทั้งศูนย์กลางราชการ ศูนย์กลางการเงิน และศูนย์กลางฟินเทค รวมทั้งมีงานด้านการธนาคารเพื่อความยั่งยืนที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยแม้สหราชอาณาจักรจะออกจากสหภาพยุโรปแล้ว แต่กรุงลอนดอนยังมีบทบาทสำคัญในฐานะศูนย์กลางทางการเงินระหว่างประเทศที่มีพัฒนาการทันสมัยอยู่ตลอดเวลา โดยเมืองหลวงของสหราชอาณาจักรแห่งนี้มีหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินแถวหน้าของโลก ซึ่งเชี่ยวชาญทั้งด้านนโยบายการเงินดิจิทัลและการเงินเพื่อความยั่งยืน ตลอดจนมี think tank บริษัทฟินเทค และมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกอยู่จำนวนมากทั้งในด้านเทคโนโลยี เศรษฐศาสตร์ และการเงิน

 

บทบาทแรกเริ่มของสำนักงานตัวแทนกรุงลอนดอนนั้นไม่ต่างจากที่นิวยอร์ก คือช่วยบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศที่ลงทุนอยู่ในตลาดสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป ติดตามพัฒนาการด้านเศรษฐกิจและการเงิน เพื่อส่งข้อมูลข่าวสารที่ทันต่อเหตุการณ์กลับไปให้สำนักงานใหญ่ อีกทั้งช่วยติดต่อประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลในประเด็นที่สำนักงานใหญ่สนใจ 

 

ในปี 2564 คณะผู้บริหารได้ทบทวนบทบาทหน้าที่สำนักงานตัวแทนที่กรุงลอนดอนให้อยู่ในฐานะสถานทูตเล็ก ๆ ของ ธปท. ที่จะช่วยสนับสนุนงานที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญ โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและการเงินเพื่อความยั่งยืน โดยยุติบทบาทเรื่องการบริหารเงินสำรองลง เนื่องจากปัจจุบันการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศสามารถทำจากสำนักงานตัวแทน ธปท. ที่นครนิวยอร์กและสำนักงานใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

เมื่อปรับบทบาทแล้ว สำนักงานตัวแทนฯ จึงหันมามุ่งเน้นงานสำคัญ 4 ด้าน คือ ด้านแรก การเงินดิจิทัล ได้แก่ การหาความรู้ ผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐและเอกชนมาแลกเปลี่ยนมุมมองและให้ความเห็นเชิงนโยบายต่องานที่ ธปท. กำลังขับเคลื่อนอยู่ เช่น virtual banking, open banking, new payment architecture, artificial intelligence และ central bank digital currency ด้านที่สอง การเงินเพื่อความยั่งยืน เพื่อช่วยสร้างความเข้าใจในการขับเคลื่อน green finance อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งมุมของผู้กำกับดูแล สถาบันการเงิน think tank และหน่วยงานที่ไม่แสวงหากำไร ด้านที่สาม การส่งเสริมความน่าเชื่อถือของ ธปท. ในเวทีระหว่างประเทศ ตลอดจนนำผลงานของ ธปท. มาเผยแพร่ตาม forum ต่าง ๆ ในสหราชอาณาจักรและยุโรป และด้านที่สี่ สนับสนุนงานด้านบุคลากรของ ธปท. เช่น การดูแลนักเรียนทุนและพนักงานที่มา secondment ตลอดจนการ recruit นักเรียนไทยที่อาจสนใจกลับไปร่วมงานกับ ธปท.

 

อีกทั้งยังมีหน้างานที่กว้างขึ้นในการเป็นศูนย์รวบรวมองค์ความรู้ (intelligence hub) ที่ต้องติดตามหน้างานอยู่ตลอดเวลา โดยประเด็นหลักในฝั่งยุโรปขณะนี้คือ เทคโนโลยีดิจิทัลและความยั่งยืน ซึ่งอังกฤษมีหน่วยงานทั้ง regulator ภาครัฐ ภาคเอกชน และนักคิด ที่มีความรู้ความสามารถมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน โดยเฉพาะเรื่องความยั่งยืนที่ฝั่งยุโรปก้าวหน้ากว่าภูมิภาคอื่นอย่างเห็นได้ชัด สำนักงานตัวแทนฯ จึงมีโอกาสเจาะเข้าไปสร้างความสัมพันธ์โดยตรงกับหน่วยงานเหล่านี้ในประเด็นที่ ธปท. กำลังขับเคลื่อนอยู่ อาทิ ในด้านดิจิทัล ในเรื่อง virtual bank ได้แลกเปลี่ยนหารือกับ Bank of England’s New Bank Unit ในเรื่องการออกกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหารือข้อคิดเห็นทางธุรกิจและทางเทคนิคจากผู้ให้บริการจากเอกชน ในเรื่อง open banking ได้แลกเปลี่ยนหารือกับ Competition and Markets Authority และ OpenBanking.org ตลอดจน think tank เช่น Cambridge Centre for Alternative Finance และผู้ให้บริการภาคเอกชน ในเรื่อง crypto-assets regulation และ New Payment Architecture ได้หารือกับ Financial Conduct Authority (FCA) และ Payment Systems Regulator และผู้ให้บริการภาคเอกชน ขณะที่เรื่อง CBDC ได้จัดให้มีการแลกเปลี่ยนเชิงเทคนิคกับทั้ง Bank of England’s Digital Pound Unit และ BIS Innovation Hub London Centre รวมทั้งประสานงานขอส่ง Data Scientist จาก ธปท. ไป secondment ดูงานด้าน Data and Innovation ที่ FCA ขณะที่ในด้านความยั่งยืนได้หารือกับ Bank of England และธนาคารเอกชน รวมไปถึงการประสานงานกับ Green Finance Institute และ Oxford Sustainable Finance Group เพื่อศึกษาและสร้างเข้าใจในการขับเคลื่อน green finance อย่างเป็นรูปธรรม

 

การไปร่วมเวทีสัมมนาด้านต่าง ๆ ก็มีส่วนช่วยผลักดันการเชื่อมสัมพันธ์กับองค์กรหรือบุคคลที่น่าสนใจ ด้วย คุณธรรมรักษ์ หมื่นจักร์ หัวหน้าสำนักงานตัวแทนฯ และคุณปิยะวรรณ เข็มทองประดิษฐ์ รองหัวหน้าสำนักงานตัวแทนฯ เล่าให้เราฟังว่า “ไม่ใช่ว่าเราเป็นผู้รับข้อมูลข่าวสารเพียงอย่างเดียว แต่ในทางกลับกัน หากจะสร้างความสัมพันธ์ให้ยั่งยืน เราก็ต้องให้ความรู้และความเห็นในเรื่องที่เราทำได้ดีที่จะเป็นประโยชน์กับคนอื่นด้วย ที่ผ่านมาทาง Bank of England ตลอดจนธนาคารกลางอื่น ๆ ในภูมิภาคยุโรป BIS Innovation Nordic Centre หรือ think tank อย่าง Official Monetary and Financial Institutions Forum (OMFIF) ก็ขอให้เราแชร์ความรู้และบรรยายเรื่อง CBDC และ PromptPay หลายครั้ง ขณะที่ทาง Financial Conduct Authority (FCA) ก็ขอให้ ธปท. ส่งผลงานการนำใช้ AI ในการสนับสนุนงานด้านนโยบายไป showcase ในงานสัมมนา เราจึงใช้เวทีเหล่านี้เป็นกระบอกเสียงในงานที่ ธปท. ทำ ให้ต่างชาติได้รู้ว่า ‘แม้เราจะเป็นประเทศเล็ก แต่เราต้องเป็นประเทศเล็กที่เป็นมืออาชีพ’ ซึ่งคนที่คุยกับเรา เขาก็จะสัมผัสได้

 

“สิ่งที่ท้าทายที่สุดในการเป็นตัวแทนสื่อสารที่ต้องทำทั้ง ‘ให้’ และ ‘หา’ ข้อมูล อยู่ที่การหาจุดสมดุลระหว่างความเร่งด่วน และความสมบูรณ์ของข้อมูล ต้องคิดว่าจะถามอะไร ถามใคร และถามอย่างไร เพื่อให้ได้คำตอบที่เป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่ายและทันเวลา บางเรื่องกลายเป็นว่าอาจต้องขอให้ภาคเอกชนติดต่อกับคนของภาครัฐที่นี่หรือในยุโรปให้โดยตรงเพราะเขารู้จักคนที่ทำเรื่องนี้จริง ๆ ขณะเดียวกัน ยังต้องบริหารความสัมพันธ์กับ stakeholders แต่ละกลุ่มให้ดี เพราะมีทั้งกลุ่มใหม่ ๆ และกลุ่มเดิมที่ต้องรักษาความสัมพันธ์ อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือการบริหารเวลา เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่เพียง 2 คนเท่านั้น บางช่วงต้องเข้าร่วมสัมมนาเฉลี่ยสัปดาห์ละ 2-3 วัน และต้องบริหารจัดการงานภายในและประสานความสัมพันธ์กับ stakeholders ต่าง ๆ ด้วย ในหลายครั้งงานสัมมนาที่น่าสนใจและจะเป็นประโยชน์กับ ธปท. มีหลายงานในช่วงเดียวกัน จึงต้องจัดลำดับความสำคัญ จัดสรรเวลาและทรัพยากรให้ดี”

 

นอกจากนี้ ยังมีงานพัฒนาคน อย่างการดูแลนักเรียนทุน ธปท. และพนักงานที่มาเรียนรู้งานที่สหราชอาณาจักร รวมถึงการเสาะหาพนักงานใหม่ที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะด้าน ผ่านการประสานกับสามัคคีสมาคมในการรับสมัครพนักงานใหม่จากนักศึกษาที่อยู่ในสหราชอาณาจักร  โดยตัวแทนทั้งสองเห็นตรงกันว่า การทำงานที่นี่ช่วยเปิดโอกาสให้พัฒนาศักยภาพ ทักษะ และมุมมองหลายด้าน เพราะธรรมชาติของคนอังกฤษมีความลุ่มลึก ทำให้การพูดคุย สัมมนา หรือแลกเปลี่ยนความรู้มีความลึกตามไปด้วย เราเองก็ต้องศึกษาความรู้เพื่อพัฒนาให้เท่าทันด้วย ขณะเดียวกันกับการเรียนรู้งานด้านอื่น ๆ ไปพร้อมกัน สำนักงานตัวแทนกรุงลอนดอนจึงถือเป็นสถานที่ช่วยพัฒนาบุคลากรของ ธปท. ให้มีประสบการณ์ที่ครบเครื่อง เพื่อไปต่อยอดในการทำงานอื่น ๆ ของ ธปท. ต่อไป

rep NY

อาคารในย่าน Bank Station ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานตัวแทนกรุงลอนดอน และอยู่ใกล้กับ Bank of England

rep team

ทีมงานสำนักงานตัวแทนกรุงลอนดอนในปัจจุบัน

rep team

นักเรียนทุน ธปท. และพนักงาน ธปท. ที่มาเรียนและ
แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ณ กรุงลอนดอน

เปิดประตูสู่ข้อมูลผ่านความสัมพันธ์บนโต๊ะอาหาร

 

จีนเป็นอีกหนึ่งประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก มีกรุงปักกิ่งเป็นเมืองหลวงที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนาน เป็นศูนย์กลางการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของประเทศ พื้นที่กว่า 16,800 ตารางกิโลเมตรของกรุงปักกิ่งมีคนอาศัยอยู่กว่า 20 ล้านคน ด้วยเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มีเอกลักษณ์พิเศษในการเป็นประเทศที่ “การเมืองนำเศรษฐกิจ” และเป็นประเทศที่มีการควบคุมข้อมูลข่าวสารค่อนข้างมาก ธปท. จึงตั้งสำนักงานตัวแทนแห่งที่ 3 ณ กรุงปักกิ่ง ในปี 2554 เพื่อประโยชน์ด้านการติดต่อประสานและสานสัมพันธ์กับหน่วยงานต่าง ๆ ของจีน รวมถึงสำนักงานธนาคารกลางของหลายประเทศ ที่ตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่งเป็นหลัก

 

บุคลากรของสำนักงานตัวแทนกรุงปักกิ่ง จะมีทั้งที่ประจำการที่ปักกิ่ง 3 คน (เป็นคนจีน 1 คน) และประจำการที่สำนักงานใหญ่อีก 1 คน ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมข้อมูลระหว่างสำนักงานตัวแทนกับสำนักงานใหญ่ให้งานเดินไปได้อย่างราบรื่น

 

โจทย์ที่สำนักงานตัวแทนฯ ได้รับคือ การเป็นสถานทูตเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง ธปท. กับทางการจีนและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เรียกสั้น ๆ ว่า strategic relationship hub พร้อมทั้งเป็น intelligence hub ให้กับ ธปท. ในการติดตามสภาวะเศรษฐกิจ การเมือง การเงินการธนาคาร และนโยบายของทางการจีนควบคู่ไปด้วย

 

คุณวิสาข์ กิติชัยวัฒน์ หัวหน้าสำนักงานตัวแทนฯ และคุณอรดา รัชตานนท์ ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานตัวแทนฯ เล่าถึงความท้าทายแรกที่ต้องเจอก็คือ “จะทำอย่างไรให้สำนักงานตัวแทนฯ สามารถเข้าถึงชุดข้อมูลที่แตกต่าง และสามารถวิเคราะห์เศรษฐกิจ การเงิน และการเมืองจีนเชิงลึกจากการอยู่ในพื้นที่ได้ หลายครั้งข้อมูลเหล่านี้อาจแตกต่างจากข้อมูลนอกประเทศจีนหรือข้อมูลจากสื่อทางการที่สำนักงานใหญ่มี” ซึ่งถือเป็นจุดที่สำคัญมากเพราะ “การควบคุมข้อมูลข่าวสารที่นี่ค่อนข้างเข้ม สื่อต่างชาติ เช่น Financial Times, The Wall Street Journal, CNN, Bloomberg ไม่สามารถเข้าถึงได้ที่จีน ในขณะที่เนื้อหาในสื่อจีนเองก็ถูกควบคุมค่อนข้างมาก ซึ่งนอกจากการควบคุมสื่อแล้ว บุคลากรของหน่วยงานทางการหรือธนาคารกลางจีน หากมีการพบปะต่างชาติก็จะต้องขออนุญาตอย่างเป็นทางการทุกครั้ง” ดังนั้น การจะได้ข้อมูลเชิงลึกเพื่อประกอบการวิเคราะห์ประเทศจีนให้ครบเครื่องจึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายทักษะทางการทูตของเจ้าหน้าที่สำนักงานตัวแทนกรุงปักกิ่งเป็นอย่างยิ่ง

 

ที่ผ่านมา จึงต้องอาศัยการพลิกแพลงวิธีสร้างและรักษาความสัมพันธ์ให้เหมาะสมกับโอกาส ทั้งทำความรู้จักผ่านการประชุม หรือตามงานอิเวนต์ต่าง ๆ ทั้งในฐานะ regulator ที่สวมบทบาทธนาคารกลาง นักวิเคราะห์หรือกระทั่งนักลงทุนที่บริหารเงินสำรอง (ซึ่งการแลกเปลี่ยนมุมมองหลายเรื่องจะสามารถพูดคุยได้ลึกและตรงไปตรงมามากกว่า)

 

“การชวนกินข้าวเพื่อพูดคุยหารือเจาะข้อมูล insight จากโต๊ะอาหารเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่เราใช้ในการสร้างความสัมพันธ์กับหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ใช่เฉพาะกับหน่วยงานจีน แต่รวมถึงหน่วยงานต่างชาติอื่น ๆ ในปักกิ่งด้วย การหารือบนโต๊ะกินข้าวทำให้การสอบถามประเด็นต่างๆ หรือแลกเปลี่ยนมุมมองหลายเรื่องสามารถทำได้ง่ายกว่า เพราะเป็นการคุยแบบไม่เป็นทางการ เช่น การวิเคราะห์การเมือง หรือนโยบายที่หาอ่านได้จำกัด” นอกจากนี้ วัฒนธรรมของคนที่นี่อีกอย่างคือ การแลก WeChat ซึ่งนำไปสู่การประชุมแบบกลุ่มเล็ก ๆ ที่ไม่เป็นทางการกับแหล่งข้อมูลที่เป็นทางการ และมักจะได้ข้อมูลสำคัญที่นำไปต่อยอดงานได้

 

สำหรับ stakeholders ของสำนักงานตัวแทนฯ มีหลากหลาย เช่น ภาครัฐของจีน สำนักงานธนาคารกลางต่างประเทศในจีน ซึ่งรวมถึงสำนักงาน IMF และ World Bank ปักกิ่ง ภาคเอกชน รวมถึงธุรกิจไทยที่ไปลงทุนในจีน ธนาคารพาณิชย์ทั้งไทยและจีน ข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากการพบปะหน่วยงานเหล่านี้จะถูกกลั่นกรองและวิเคราะห์ก่อนส่งมายังสำนักงานใหญ่ โดยเฉพาะสายนโยบายการเงินและสายตลาดการเงินที่นำไปใช้ประกอบการทำงานให้ครอบคลุมมิติต่าง ๆ มากที่สุด คุณวิสาข์เล่าเสริมถึงงานที่สนุกอีกอย่างคือ การพบผู้ประกอบการ โดยเฉพาะบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยที่มาตั้งบริษัทในจีน ทำให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจจีนจากมุมมองผู้ประกอบการและยังได้เรียนรู้โมเดลธุรกิจใหม่ ๆ รวมถึงได้เห็นวิธีและกฎเกณฑ์ที่รัฐบาลจีนออกใช้กับผู้ประกอบการ ซึ่งช่วยประกอบให้การวิเคราะห์ชีพจรเศรษฐกิจจีน ณ ช่วงเวลาต่าง ๆ ครบเครื่องขึ้น

 

“เราไม่ได้ทำ Business Liaison Program[4] แค่ที่เมืองไทย แต่ทำกับผู้ประกอบการไทยและจีนที่เมืองจีนด้วย ข้อดีคือได้เรียนรู้มุมมองใหม่ ๆ จากภาคธุรกิจ การที่เราศึกษานโยบายจีน เราจะได้แค่ภาคทฤษฎี แต่การได้คุยกับเขา เราจะได้รู้ถึงความรู้สึกจริง ๆ ของผู้ประกอบการ รวมถึงวิธีการปรับตัวให้เข้ากับกฎเกณฑ์ และผลกระทบของนโยบายรัฐบาลต่อภาคเศรษฐกิจจริง”

 

งานหลักอีกด้านของสำนักงานตัวแทนกรุงปักกิ่งคือการสร้างความร่วมมือกับทางการจีน โดยปัจจุบันงานที่มีความสำคัญค่อนข้างมากคือ การผลักดันการใช้เงินสกุลท้องถิ่น (บาท-หยวน) กับทางการจีน ที่จะช่วยลดต้นทุนและความเสี่ยงให้กับผู้ประกอบการไทย โดยสำนักงานตัวแทนฯ มีบทบาทหลักในการประสานกับหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนแบบไม่เป็นทางการ ก่อนจะมีการพูดคุยอย่างเป็นทางการ เพื่อหารูปแบบความร่วมมือของไทยและจีนที่เหมาะสมที่สุด

 

นอกจากนี้ สำนักงานตัวแทนกรุงปักกิ่งยังทำหน้าที่เป็นกองทัพเสริมให้ส่วนงานที่สำนักงานใหญ่ในการสร้างสัมพันธ์ ประสานงานหรือหาข้อมูลเพิ่มเติม เช่น โครงการ mBridge เรื่อง CBDC ความร่วมมือด้าน payment รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์กับหน่วยงานกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินจีน

 

เมื่อถามว่า หนึ่งวันของสำนักงานตัวแทนกรุงปักกิ่งเป็นอย่างไร ตัวแทนทั้งสองเล่าว่า เนื่องจากสำนักงานมีบุคลากรน้อย หนึ่งวันของที่นี่อาจมีหมวกที่หลากหลาย บ่อยครั้งต้องออกไปพบปะพูดคุยนอกสถานที่แบบไม่ค่อยเป็นเวลา ช่วงที่เข้าออฟฟิศก็จะทำงานวิเคราะห์สรุปส่งรายงานกลับมาที่สำนักงานใหญ่ หรือประชุมกับสำนักงานใหญ่ และในบางครั้งต้องเข้าร่วมงานที่จัดในกรุงปักกิ่งตามคำเชิญของสถานทูตไทยหรือของรัฐบาลจีน นอกจากนี้ยังต้องบริหารจัดการงานธุรการเอกสารต่าง ๆ ของสำนักงานตัวแทนฯ ให้เป็นไปตามกฎหมายของไทยและจีน ซึ่งมีรายละเอียดค่อนข้างซับซ้อน นอกจากนี้ ยังมีโจทย์งาน HR เพิ่มบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจภาษาจีนให้ ธปท. ด้วย โดยล่าสุด สำนักงานตัวแทนฯ ได้จัด open house เป็นครั้งแรกเพื่อให้ข้อมูลนักศึกษาไทยในประเทศจีนที่สนใจทำงานกับ ธปท. ซึ่งก็ได้รับความสนใจค่อนข้างมาก

 

สุดท้ายนี้ ทั้งสองคนเห็นพ้องต้องกันว่า ข้อดีของการมาทำงานที่สำนักงานตัวแทนในกรุงปักกิ่ง คือพนักงานจะได้ทักษะที่ครบเครื่องในการเจรจา พูดคุยกับคนหลากหลาย รวมถึงมีโอกาสได้เจอและแลกเปลี่ยนความรู้กับกลุ่มคนที่น่าสนใจจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้รับการคัดเลือกมาแล้วให้มาประจำที่จีน หากใครสนใจจะมาทำงานที่นี่รับรองว่าได้ประสบการณ์ exclusive แบบครบรส แต่นอกจากต้องพกความรู้ด้านเศรษฐกิจและการลงทุนมาด้วยแล้ว ยังต้องมีทักษะสื่อสารภาษาจีนที่สำคัญเป็นลำดับต้น ๆ ต่อการทำงานที่นี่ด้วย

nexus

ร่วมประชุมงาน China-Thailand Financial Corporation

CN rep team

ทีมงานสำนักงานตัวแทนกรุงปักกิ่งในปัจจุบัน ทั้งพนักงานที่ประชุมในจีน ในไทย และลูกจ้างท้องถิ่นคนจีน

rep CN

คุณวิสาข์ กิตติชัยวัฒน์ หัวหน้าสำนักงานตัวแทนฯ ในการประชุม China - ASEAN Summit Forum

[1] สำนักงานตัวแทน ธปท. นครนิวยอร์ก เป็นสำนักงานของธนาคารกลางเอเชียกลุ่มแรก ๆ ที่ตั้งขึ้นในนครนิวยอร์ก ช่วงเดียวกับ Monetary Authority of Singapore และ Bank Negara Malaysia

 

[2] ธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ (Silicon Valley Bank) หรือ SVB หนึ่งในธนาคารยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ซึ่งได้เกิดความไม่สอดคล้องกันระหว่างสินทรัพย์และหนี้สินจนกลายเป็นปัญหาสภาพคล่อง โดยช่วงเดือนมีนาคม 2566 SVB ล้มละลายและถูกประกาศปิดตัว นับเป็นวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ นับตั้งแต่วิกฤตซับไพรม์ในปี 2551

 

[3] ปัจจุบันสำนักงานตัวแทนนิวยอร์กมีการจัดทำ bulletin ชื่อ “The Big Buzz” ซึ่งเป็นบทความที่จับประเด็นสำคัญที่กำลังเป็นที่น่าสนใจในตลาดการเงินสหรัฐฯ โดยตัวอย่าง series ปัจจุบันเป็นการประเมินผลกระทบของ AI ต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจและการเมือง

 

[4] Business Liaison Program (BLP) คือ การพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลากหลายกลุ่ม เช่น ผู้ประกอบการ สมาคม องค์กรภาคเอกชน หน่วยงานของรัฐ และภาคครัวเรือน เพื่อให้ได้รับข้อมูลเชิงลึกอย่างทันการณ์ 

Tag ที่เกี่ยวข้อง

BOT Magazine The Knowledge Knowledge Corner ความร่วมมือระหว่างประเทศ