“กลุ่มพิเศษ” ความแตกต่างที่เหมือนกัน
“เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของไทย” ข้อความนี้เป็นส่วนหนึ่งจากวิสัยทัศน์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพราะ ธปท. ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวไทยทุกกลุ่ม รวมถึงกลุ่มผู้มีความบกพร่องในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นความบกพร่องทางการมองเห็น การได้ยินหรือสื่อความหมาย ทางสติปัญญา และความบกพร่องอื่น ๆ ซึ่งต่อไปนี้จะขอเรียกผู้มีความบกพร่องในทุกรูปแบบว่า “กลุ่มพิเศษ” คนกลุ่มพิเศษมักจะพบเจอกับข้อจำกัดไม่ว่าจะทางร่างกาย สภาพจิตใจ ไปจนถึงการใช้ชีวิตประจำวัน และแน่นอนว่าคนกลุ่มพิเศษส่วนมากก็มีความต้องการต่าง ๆ เหมือนกับคนทั่วไปเช่นกัน
ในบทความนี้เราขอพาทุกท่านไปรู้จักกับงานและโครงการส่วนหนึ่ง ที่ ธปท. ได้ทำเพื่อกลุ่มพิเศษมาอย่างต่อเนื่อง
หนึ่งในบทบาทหน้าที่ที่สำคัญของ ธปท. คือ การออกและจัดการธนบัตร เพื่อความมั่นคงและปลอดภัยทางเศรษฐกิจ โดยจะผลิตธนบัตรที่มีคุณภาพสูง ยากต่อการปลอมแปลง และมุ่งเน้นให้มีความเพียงพอในทุกสถานการณ์ เพื่อความเชื่อมั่นและพึงพอใจของประชาชนทุกคน
เริ่มตั้งแต่ปี 2541 ธปท. ตระหนักถึงการใช้ธนบัตรไทยของผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็นอย่างมาก จึงได้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับวิธีแยกแยะชนิดราคาธนบัตรไทย และได้หารือกับโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ เพื่อกำหนด “สัญลักษณ์แจ้งชนิดราคาที่ประยุกต์จากอักษรเบรลล์ (Braille)” ซึ่งเป็น สัญลักษณ์แจ้งชนิดราคาบนธนบัตรไทย สำหรับผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็น (Feature for the Visually Impaired) โดยได้ข้อสรุปว่าจะใช้วิธีการกำหนดสัญลักษณ์แบบง่าย ๆ แต่มีความหมายที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับอักษรเบรลล์ ทั้งนี้ สัญลักษณ์ที่กำหนดขึ้นเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ใช้บนธนบัตรไทยเท่านั้น โดยสัญลักษณ์ที่กำหนดขึ้นมีดังนี้
ธปท. เริ่มให้มีสัญลักษณ์แจ้งชนิดราคาบนธนบัตรสำหรับผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็น ในธนบัตรที่ใช้หมุนเวียน เริ่มตั้งแต่ธนบัตรแบบ 15 โดยทำสัญลักษณ์ด้วยการ “ดุนนูน” เมื่อใช้นิ้วมือสัมผัสจะสามารถรู้สึกได้ และเกิดการพัฒนาต่อในแบบที่ 16 และ 17 ให้เป็นการ “พิมพ์นูน” และทำให้สัญลักษณ์มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อให้สังเกตได้ดียิ่งขึ้นด้วย
แม้ในธนบัตรที่ระลึกที่ไม่เน้นใช้หมุนเวียน จะไม่มีการพิมพ์สัญลักษณ์แจ้งชนิดราคาบนธนบัตรสำหรับผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็นไว้ แต่จะมีสัญลักษณ์อื่น ๆ ที่ทำให้ผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็นสามารถรับรู้ถึงชนิดราคาได้ เช่น ในธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 จะมีการดุนนูนเป็นลายดอกพิกุลขนาดเล็กภายในช่องใสรูปแปดเหลี่ยม และการพิมพ์เส้นนูนใส 4 เส้นทับบนตัวเลขไทย “๑๐๐” บนด้านหน้าธนบัตร จะรู้สึกสะดุดเมื่อสัมผัสด้วยปลายนิ้วมือ ถือเป็นจุดสัมผัสสำหรับผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็น
การสื่อสารถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ทุกฝ่ายเกิดความเข้าใจที่ตรงกัน ซึ่ง ธปท. ให้ความสำคัญอย่างมาก และสื่อสารกับประชาชนทุกคน ทุกกลุ่ม รวมถึงการสื่อสารกับคนกลุ่มพิเศษ จึงหาวิธีการที่จะสื่อสารกับกลุ่มพิเศษโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีความบกพร่องทางการได้ยิน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ยากกว่าปกติ
ครั้งหนึ่ง ธปท. มีโอกาสได้สัมภาษณ์คุณเพลงรบ ฐิติกุลดิลก ล่ามภาษามือประจำสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ในประเด็นการทำงานเป็นล่ามภาษามือ และเรายังได้เข้าใจถึงข้อจำกัดต่าง ๆ การใช้ชีวิตและการเสพสื่อของผู้บกพร่องทางการได้ยิน รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับภัยทางการเงินและรูปแบบการหลอกลวง ทำให้ผู้บกพร่องทางการได้ยินตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่กลุ่มพิเศษนี้ยังไม่ได้รับความรู้ ความเข้าใจ และการเตือนภัยที่มากพอ
เมื่อ ธปท. ได้ทราบข้อมูลข้างต้นจากผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับผู้มีความบกพร่องทางการได้ยินโดยตรงแล้ว จึงทำการขยายช่องทางการเตือนภัยให้เข้าถึงคนกลุ่มนี้ โดยได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) และสมาคมล่ามภาษามือแห่งประเทศไทย เปิดบ้านต้อนรับล่ามภาษามือ ซึ่งก็คือ “ผู้ส่งสารคนสำคัญ” ที่จะช่วยบอกต่อ และสื่อสารในเรื่องที่เป็นประโยชน์เพื่อกลุ่มพิเศษของเรา ผ่าน “โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาศักยภาพล่ามภาษามือในประเด็นเศรษฐกิจการเงิน” เพื่อส่งเสริมให้ล่ามภาษามือมีความรู้ ความเข้าใจพื้นฐานที่ถูกต้องในด้านเศรษฐกิจการเงิน สถาบันการเงิน ตลาดเงิน และเทคโนโลยีทางการเงิน รวมถึงภัยทางการเงินเพื่อป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ และนำไปถ่ายทอดให้กลุ่มพิเศษนี้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและตรงกัน รวมทั้งได้ตกลงร่วมกันถึงท่าทางภาษามือของคำศัพท์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและการเงินเพิ่มเติมผ่านโครงการนี้ นับจนถึงปัจจุบันได้จัดโครงการนี้เป็นจำนวน 4 รุ่นแล้ว
นอกจากนี้ ธปท. ได้จัดทำคลิปอธิบายคำศัพท์ประกอบท่าภาษามือที่คิดขึ้นภายใต้โครงการฯ เพื่อประโยชน์ในการใช้งาน ตลอดจนเป็น “สื่อการสอน” ให้กับล่ามภาษามือท่านอื่น ๆ ได้นำไปใช้ต่อไป สามารถรับชมคลิปได้ที่ https://www.youtube.com/playlist?list=PLFBPHXp821BU7L_B7MTELOpsJyRo6DWeZ
ความบังเอิญที่อาจเป็นพรของสวรรค์ จากจุดเริ่มต้นความประทับใจในภาพวาดที่เผยแพร่ผ่านอินสตาแกรม @nakittikoon สู่การบอกต่อกัน กระทั่ง ธปท. ได้เห็นผลงานและได้พูดคุยกับครูผู้สอนกลุ่มพิเศษนี้ ถึงแนวคิดของมูลนิธิและแนวทางการส่งเสริมกลุ่มพิเศษ ธปท. จึงเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่จะให้การสนับสนุน มูลนิธิ ณ กิตติคุณ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้กลุ่มพิเศษทุกคนได้เป็น “ศิลปินคนพิเศษ” โดยใช้งานศิลปะเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างพัฒนาการ ส่งเสริมการสื่อสาร และสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ด้วยการทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน ๆ ผ่าน 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ ดนตรี ศิลปะ การออกกำลังกาย และเบเกอรี
ในโอกาสพิเศษ “ครบรอบ 80 ปี ธปท.” เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา ธปท. ได้เห็นผลงานของมูลนิธิ ณ กิตติคุณ ผ่านช่องทางออนไลน์ จึงได้ติดต่อมูลนิธิ ณ กิตติคุณ เพื่อขอให้สร้างสรรค์ผลงานกว่า 10 ภาพเพื่อนำไปจัดแสดงในงานนิทรรศการศิลปะที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสพิเศษนี้ และต่อมาในปี 2566 ได้นำรูปภาพเหล่านี้ไปจัดทำของที่ระลึกอีกด้วย
ในปี 2567 นี้ ธปท. ได้ต่อยอดความร่วมมือกับมูลนิธิ ณ กิตติคุณอีกครั้ง เพื่อให้ศิลปินกลุ่มพิเศษสร้างสรรค์ผลงานศิลปะจำนวน 12 ภาพ โดยแต่ละภาพจะเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจการเงินที่ผ่านการตีความมาจากเหล่าศิลปิน เพื่อจัดทำปฏิทินไดอารี่ที่ระลึกประจำปี 2568 เพื่อแจกจ่ายให้พนักงานในช่วงปีใหม่ต่อไป
การร่วมมือกับมูลนิธิ ณ กิตติคุณ นอกจากจะเป็นการเปิดโอกาสให้คนกลุ่มพิเศษได้แสดงความสามารถแล้ว ยังถือเป็นจุดเริ่มต้นการสนับสนุนผลงานของศิลปินกลุ่มพิเศษที่อาจนำไปสู่การต่อยอดสู่กลุ่มอื่น ๆ อีกในอนาคต
สามารถอ่านบทความ "ศิลปินคนพิเศษ" ร่วมแสดงงานศิลปะฉลอง 80 ปี ธปท. ได้ที่ www.bot.or.th/th/research-and-publications/articles-and-publications/bot-magazine/Phrasiam-65-4/Inspiration-65-4-1.html
ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย เริ่มเปิดให้บริการเมื่อปี 2561 โดยบูรณะปรับเปลี่ยนจากอาคารโรงพิมพ์ธนบัตรเดิมที่มีการคุมเข้มพื้นที่ให้กลายเป็นพื้นที่เปิดที่ให้ทุกคนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากพื้นที่ของ ธปท. ได้ โดยมีพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมที่เหมาะสำหรับทุกคนและทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่อ่านหนังสือ นั่งทำงาน ประชุม หรืออื่น ๆ ตามที่หลายท่านได้เห็นจากสถานที่จริง หรือในช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ แต่บางท่านอาจจะยังไม่ทราบว่าอาคารนี้ถูกออกแบบด้วยแนวคิด “อารยสถาปัตย์” ซึ่งเป็นการออกแบบที่คำนึงถึงการใช้งานที่สะดวก ปลอดภัย ครอบคลุมอย่างเท่าเทียม สำหรับทุกคนในสังคมและทุกสภาพร่างกาย เพราะมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น ทางเดินลาด เส้นทางรถวีลแชร์ ป้ายสัญลักษณ์ อักษรเบรลล์ และบริการพื้นที่จอดรถสำหรับผู้ใช้วีลแชร์
นอกจากนี้แล้ว ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย ยังได้รับรางวัลสถานที่ดีเด่นที่เอื้อต่อคนพิการ ประจำปี 2563 ในระดับดี จากโครงการตรวจติดตามการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกและคัดเลือกสถานที่ดีเด่นที่เอื้อต่อคนพิการ ที่ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการออกแบบเพื่อทุกคน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จากการที่จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อดูแลให้คนพิการที่มาติดต่อหรือรับบริการได้รับความสะดวกยิ่งขึ้นอีกด้วย
ศูนย์เรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดบริการเวลา 09.30-20.00 น. (หยุดทุกวันจันทร์และวันหยุดตามประเพณีสถาบันการเงิน) สามารถเข้าชมได้โดยไม่ต้องลงทะเบียนและไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าชม
การเดินทาง www.botlc.or.th/visit https://goo.gl/maps/vsQ4fj2PNv7GwyHE6
และสามารถเข้าชมพื้นที่ต่าง ๆ ภายในศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทยแบบเสมือนจริงผ่านทางออนไลน์ได้ทาง www.bot.or.th/th/our-services/bank-of-thailand-learning-center.html
สุดท้ายของบทความนี้แต่ยังไม่ท้ายที่สุดที่ ธปท. จะทำเพื่อคนกลุ่มพิเศษในด้านเศรษฐกิจและการเงิน เพราะเราตระหนักอยู่เสมอว่ากลุ่มพิเศษก็เหมือนกับพวกเราทุกคน แม้งานและโครงการเหล่านี้จะเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ที่ทำให้กลุ่มพิเศษได้ใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น แต่ ธปท. ก็มีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะพัฒนาและริเริ่มโครงการใหม่ ๆ เพื่อคนกลุ่มพิเศษอยู่เสมอ