จากภัยพิบัติสู่ผืนผ้า ดิสรัปชันกับการอยู่รอดของกลุ่มทอผ้าไทย
ดิสรัปชัน กลายเป็นศัพท์ที่ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายเมื่อพูดถึงเศรษฐกิจ เทคโนโลยี หรือการจ้างงาน แต่หลายคนอาจจะนึกไม่ถึงว่า ดิสรัปชัน คำที่เราใช้กันติดปากนั้นก็เกิดขึ้นกับวงการงานฝีมือ (craftmanship) ได้เช่นเดียวกัน
ผ้าลายราชวัตรซึ่งเป็นของดี รวมถึงเป็นของฝากประจำเมืองสงขลา สินค้าที่กำลังอยู่ท่ามกลางโจทย์เก่าและความท้าทายใหม่ การเข้ามาของอุตสาหกรรมทอผ้าโดยเครื่องจักร อัตราเร็วในการผลิตของเครื่องยนต์ที่แซงหน้าสองฝ่ามือของชาวบ้าน รวมถึงโจทย์เก่าอย่างกำลังแรงงานที่จะเข้ามาสืบสานงานฝีมือเหล่านี้ที่ลดน้อยลง และยังสวนทางกับอายุของสมาชิกดั้งเดิมของกลุ่มที่เพิ่มมากขึ้นจนทอผ้าไม่ไหว
ยังไม่นับรวมที่ว่าผ้าทอเป็นสินค้าที่มีผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม การขับเคลื่อนของกลุ่มคนทอผ้ายังคงต้องเดินทางท่ามกลางพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และแน่นอนทั้งโจทย์และความท้าทายเหล่านี้ ยังรอคอยการทำงานร่วมกันจากหลายองค์กรเพื่อยกระดับสินค้า ทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และอื่น ๆ
วารสารพระสยาม BOT MAGAZINE ขอพาท่านผู้อ่านทุกท่านไปรู้จักกับ กลุ่มราชวัตถ์แสงส่องหล้าที่ 1 ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ทอผ้าในเกาะยอ จ.สงขลา ที่จะมาบอกเล่าให้ฟังถึงความเป็นมา ปัญหา และทางออกที่จะตอบโจทย์พวกเขา จากการรับฟังผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ผ่านโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจและธุรกิจระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กับภาคธุรกิจ (Business Liaison Program) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “BLP” เพื่อนำข้อมูลมาใช้ประเมินภาวะเศรษฐกิจ และออกแบบมาตรการให้ตอบโจทย์และตรงจุด
“ผ้าลายราชวัตร” มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 100 ปี เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสทางใต้ ทอดพระเนตรเห็นผ้างามของชาวเกาะยอ ก็ได้พระราชทานชื่อให้ว่าลายราชวัตร จึงกลายเป็นลายผ้าที่โด่งดังของเกาะยอและเป็นผ้าประจำจังหวัดสงขลา นักท่องเที่ยวที่มีโอกาสเดินทางมาท่องเที่ยวที่เกาะยอจึงมักนิยมซื้อเป็นของที่ระลึก
ผ้าลายราชวัตรที่ทอโดยกลุ่มราชวัตถ์แสงส่องหล้าที่ 1 ในเกาะยอ จ.สงขลา
คุณวิชัย มาระเสนา ผู้ก่อตั้งกลุ่มราชวัตถ์แสงส่องหล้าที่ 1 จากความตั้งใจที่จะอนุรักษ์อาชีพของคนท้องถิ่นและต้องการสืบสานลายผ้าให้เป็นเอกลักษณ์สืบต่อไป เล่าว่า
“เริ่มแรกเมื่อปี 2540 เริ่มจากการที่เราไม่มีอะไรเลย ช่วยกันก่อร่างสร้างกลุ่มขึ้นมา โดยไปสํารวจในท้องถิ่นว่า จากทั้ง 9 หมู่บ้านมีกี่คนที่ทอผ้า จนได้รายชื่อมาทั้งหมด ใช้เวลาในการรวบรวมสมาชิกอยู่หลายเดือน จึงได้มาทั้งหมด 56 คน แต่ทว่าหลายคนก็เริ่มหันหลังให้กับการทอผ้าไปเสียแล้ว”
คุณวิชัย มาระเสนา ประธานและผู้ก่อตั้งกลุ่มราชวัตถ์แสงส่องหล้าที่ 1
การทอผ้าที่เป็นภูมิปัญญาและอาชีพของคนในท้องถิ่นเริ่มถูกหันหลังให้เรื่อย ๆ ทั้งจากอายุของผู้ทอผ้าที่มากขึ้นจนทำไม่ไหว ทั้งจากคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้เข้ามาสานต่อ และนานาเหตุผล มิหนำซ้ำยังถูกซ้ำเติมจากภัยพิบัติทางธรรมชาติอีกด้วย
“ตอนนี้กลุ่มเราก็เหลือน้อยแล้วครับ เพราะโดนพายุมาเยอะมาก” ประธานกลุ่มกล่าวถึงพายุที่หมายถึงพายุจริง ๆ ที่เข้ามาพัดกระหน่ำเกาะยอ จนอาคารของกลุ่มราชวัตถ์แสงส่องหล้าที่ 1 พังเสียหาย และพายุของการดิสรัปชันที่หอบเอาผู้คนออกจากการทอผ้า
“เมื่อปี 2552 เจอเหตุการณ์พายุ บ้านเรือนเสียหาย กว่าจะผ่านพายุมาได้ นอกจากจะรวมกลุ่มจัดการชีวิตของตัวเองแล้ว เราก็ยังต้องรวมกลุ่มจัดการกับสินค้าอีกด้วย บางคนอายุเริ่มมากขึ้นก็เริ่มออกจากกลุ่มไปเพราะทอไม่ไหว ซึ่งเราก็ยังอยากให้มีการสืบสานต่อยอดต่อไป”
จากวิกฤตการพัดกระหน่ำของพายุที่หอบเอาความเสียหายเข้ามา และหอบเอาผู้คนออกไป อีกทั้งยังพัดพาปัญหาเข้ามาซ้ำเติมภายหลัง การที่กลุ่มจะกลับมารุ่งเรืองนั้นกลับกลายเป็นเรื่องยาก เพราะขาดทั้งเรื่องเงินทุน และการสนับสนุนจากภาคส่วนอื่น ๆ ที่จะทำให้ธุรกิจก้าวต่อไปได้
“ปัญหาที่เราต้องเผชิญมาตลอดคือ การขอทุนสนับสนุนและขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ร่วมผลักดันให้เกิดการต่อยอดไปด้วยกัน ทาง อบต. ก็ไม่มีงบ หลายหน่วยงานก็ไม่สามารถเข้ามาช่วยเหลือได้ ทั้งด้านความรู้ การออกแบบลายผ้า และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือตรงนี้ เพราะผ้าลายราชวัตรนี้ เป็นผ้าลายโบราณที่มีมากว่าร้อยปี บรรพบุรุษสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ผมก็ไม่อยากให้มันหายไป”
ไม่เพียงแต่ผ้าลายราชวัตรที่เป็นเหมือนพระเอกของกลุ่ม คุณพิกุล มาระเสนา เลขาและเหรัญญิกกลุ่มราชวัตรแสงส่องหล้าที่ 1 ที่เป็นทั้งสมาชิกกลุ่ม ผู้ทอผ้า และผู้ขายผ้า กำลังทอผ้าลาย “ช่อชบา” ที่เธอคิดค้นเอง เล่าให้ฟังว่า ผ้าของกลุ่มมีหลายลาย บางลายผู้ทอก็คิดค้นขึ้นมาเอง โดยจินตนาการจากธรรมชาติใกล้สายตา หยิบเอาเส้นสาย ความโค้งของไม้นานาพรรณมาปรับเป็นลายบนผ้าทอ
“อยู่ในกลุ่มตั้งแต่แรกเริ่มเลยค่ะ ตอนแรกก็พอขายได้นะ เพราะมีตลาดของมันอยู่ ช่วงนี้มันก็ยังพอขายได้อยู่เรื่อย ๆ เพียงแต่ลดน้อยลงมาก ไม่เหมือนเดิมแล้ว คนก็ซื้อผ้าทอโรงงานมากขึ้นด้วย”
“ผ้าทอมือเราทำเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มเตรียมเส้นด้าย เดินด้าย เก็บลาย เราทํามือหมด แต่ผ้าทอโรงงานผลิตได้ทีละมาก ๆ คนเขาก็ไปซื้อผ้าทอโรงงานเพราะรวดเร็ว ราคาถูก เราเองที่เป็นคนทอ เรารู้ แค่ดูด้วยตาก็แยกได้แล้ว ผืนไหนมือทำ ผืนไหนเครื่องทำ”
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคม คนทำงานที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรมยังต้องเผชิญกับความท้าทายมากยิ่งขึ้นกว่าที่เคย ยิ่งกับผ้าลาย ซึ่งแม้จะเป็นของฝากขึ้นชื่อของเกาะยอ แต่การขายให้ได้ก็ไม่ใช่งานง่าย โดยเฉพาะในห้วงยามที่ภาคการท่องเที่ยวของเกาะยอยังไม่ฟื้นคืนกลับมาอย่างเต็มที่นับตั้งแต่โควิด 19
“ตอนนี้เรามองกลุ่มเราเหมือนย่ำอยู่กับที่ เมื่อก่อนเราขายผ้าได้ทุกวัน แต่ตอนนี้บางวันขายผ้าไม่ได้เลย ใจจริงก็อยากเห็นหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือเพื่อยกระดับผ้าทอของกลุ่มเราให้ไปได้ไกลกว่าเดิม” คุณพิกุลกล่าว
จากการรับฟังปัญหาของกลุ่มราชวัตถ์แสงส่องหล้าที่ 1 และการรับฟังปัญหาในหลากหลายด้าน หลายมุมมองของอีกหลายกลุ่ม ทั้งผู้ผลิต ผู้ซื้อ ผู้ขาย เจ้าหนี้ และลูกหนี้ ทำให้ ธปท. ได้เห็นถึงปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หลังจากรับฟังแล้วเราจึงเกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับองค์กรต่าง ๆ และนำข้อมูลที่ได้ไปออกแบบนโยบายและมาตรการที่จะสามารถตอบโจทย์เศรษฐกิจไทยได้ เพื่อให้เกิดความเป็นอยู่ที่ดีให้กับพี่น้องชาวไทยในทุกพื้นที่