Financing the Transition:
“รูปธรรม” และ “คำมั่น”
ของภาคธนาคารเพื่อผลักดันภาคธุรกิจไทยสู่ความยั่งยืน
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาคธุรกิจไทยไม่เพียงแต่เริ่มตระหนักถึงความจำเป็นในการปรับตัวไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น แต่ยังมองเห็น “โอกาส” ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทว่ามีเพียงบริษัทขนาดใหญ่จำนวนน้อยเท่านั้นที่มีศักยภาพในการปรับตัว ขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) ยังทำได้ยากด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง จึงทำให้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิลในสัดส่วนที่สูงและยังใช้เทคโนโลยีแบบเดิม ที่ยังไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่าที่ควรอยู่
ความไม่พร้อมในการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวไม่ได้หมายความว่า SMEs ไทยจะไม่สามารถปรับตัวได้เลย แต่การขาดเครื่องมือสนับสนุนหรือแรงจูงใจที่เหมาะสมกับบริบทและศักยภาพของตนเองถือเป็นข้อจำกัดสำคัญประการหนึ่ง ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงร่วมมือกับภาคธนาคารในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้ตอบโจทย์ภาคธุรกิจเพื่อจูงใจให้เกิดการปรับตัวให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
วันที่ 7 สิงหาคม 2567 ธปท. ได้จัดงาน “Financing the Transition: การเงินเพื่อการปรับตัวสู่ความยั่งยืนของภาคธุรกิจ” โดยมีธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง มานำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบใหม่ที่จะช่วยให้ภาคธุรกิจไทยปรับตัวไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น
งานครั้งนี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้การปรับตัวสู่ความยั่งยืนในภาคธุรกิจเป็น “รูปธรรม” มากขึ้นเท่านั้น หากแต่คือ “คำมั่น” ของ ธปท. และธนาคารพาณิชย์ที่มีต่อสังคมและเศรษฐกิจไทยอีกด้วย
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวในช่วงต้นของงานว่า หลักการสำคัญในการปรับตัวไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนคือ การคำนึงถึงจังหวะเวลา และความเร็วที่เหมาะกับบริบทของไทย ซึ่งต้องสร้างความสมดุลระหว่างการเดินหน้าสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืนและการป้องกันผลข้างเคียงเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นกับภาคส่วนต่าง ๆ การขับเคลื่อนในเรื่องนี้อาจต้องเริ่มจากก้าวเล็ก ๆ ที่จับต้องและปฏิบัติได้ และสามารถขยายผลในวงกว้างได้ (scalable)
“หากพิจารณาบริบทของประเทศและโครงสร้างภาคธุรกิจของไทย ต้องยอมรับว่าเรายังพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิลในสัดส่วนที่สูงและใช้เทคโนโลยีแบบเดิม ที่ยังไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่าที่ควร ขณะที่เครื่องมือสนับสนุนหรือแรงจูงใจให้แต่ละภาคส่วนปรับตัวยังมีไม่มาก โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจ SMEs ที่ต้องการปรับตัวแต่ยังไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนเข้าสู่ความเป็นสีเขียวอย่างเต็มที่ ซึ่งข้อจำกัดนี้ อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดังนั้น การสนับสนุนทางการเงินเพื่อการปรับตัวจาก Brown สู่ Less Brown หรือ Financing the Transition จึงจำเป็นอย่างยิ่งกับบริบทของประเทศเราในขณะนี้” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวถึงหลักการสำคัญในการปรับตัวไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืน และเหตุผลที่ภาคการเงินจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทในครั้งนี้
คุณรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. ได้นำเสนอแนวคิดการธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Banking) ที่ ธปท. ได้ผลักดันมาอย่างต่อเนื่องหลายปี เริ่มตั้งแต่การสร้างความตระหนักรู้ โดยทำงานร่วมกับสถาบันการเงินอย่างใกล้ชิดผ่านช่องทางที่หลากหลาย (ตั้งแต่ 2561 เป็นต้นมา) การกำหนดทิศทางการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมในระดับนโยบาย (ปี 2564-2565) การวางรากฐานระบบนิเวศด้านสิ่งแวดล้อม (เริ่มในปี 2567) และปัจจุบันอยู่ในช่วงลงมือทำจริง เพื่อให้เห็นผลการปรับตัวอย่างเป็นรูปธรรม
คุณรณดลยังเล่าตัวอย่างความสำเร็จที่ผ่านมาว่า ช่วงปลายปี 2566 ธปท. ได้ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ทดลองทำโครงการนำร่องในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ผ่านการให้สินเชื่ออัตราพิเศษเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนกระบวนการเก็บเกี่ยวอ้อยเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 โดยโครงการนี้มีตัวชี้วัดที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม เช่น สัดส่วนอ้อยเผาที่ลดลง ซึ่งในฤดูกาลหีบอ้อยที่ผ่านมามีการปล่อยสินเชื่อแก่โรงงานน้ำตาลไปแล้วประมาณ 1,250 ล้านบาท และความสำเร็จของโครงการนี้เป็นที่มาของโครงการ Financing the Transition ซึ่ง ธปท. กับธนาคารพาณิชย์อีก 8 แห่ง ได้ทำร่วมกันในครั้งนี้
“โครงการ Financing the Transition ต้องการตอบโจทย์ 3 เรื่อง นั่นคือ (1) มีผลิตภัณฑ์การเงินที่ตอบโจทย์บริบทไทย ครอบคลุมภาคเศรษฐกิจมากขึ้น และช่วยให้ SMEs ปรับตัวได้แบบค่อยเป็นค่อยไป (2) มีแรงจูงใจให้ธุรกิจปรับตัวอย่างเป็นรูปธรรม จุดประกายให้เกิดการทำตาม และขยายผลได้ (3) นำไปสู่ความร่วมมือในภาคส่วนอื่น ๆ ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐอย่างต่อเนื่อง” คุณรณดลกล่าวถึงปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโต และเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนได้
คุณชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ชี้ว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญแรงกดดันให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนจากทุกทิศทาง ไม่ว่าจะเป็นความตกลงระหว่างประเทศคู่ค้าและลูกค้า และสังคมโดยรวม แรงกดดันนี้จะเข้มข้นมากยิ่งขึ้นในอนาคต และหากภาคธุรกิจไทยไม่สามารถปรับตัวได้ก็จะส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกอย่างแน่นอน
ธนาคารกรุงเทพจึงได้สร้างสรรค์ “สินเชื่อบัวหลวงกรีนเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม” (Bualuang Green Financing for Transition to Environmental Sustainability) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนธุรกิจที่ต้องการเงินทุนสำหรับการปรับตัวเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ใน 3 ด้าน คือ (1) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (2) ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ (3) ลดการสร้างมลพิษ โดยมีข้อเสนออัตราดอกเบี้ยพิเศษ สามารถผ่อนชำระได้นานสูงสุดถึง 8 ปี โดยธนาคารได้จัดเตรียมวงเงินสินเชื่อไว้รองรับความต้องการของลูกค้าถึง 10,000 ล้านบาท
คุณธวัชชัย ชีวานนท์ ประธานผู้บริหาร Product & Business Solutions ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ท่ามกลางโลกธุรกิจในปัจจุบันที่กำลังเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและกฎเกณฑ์ทางการค้าระหว่างประเทศที่เข้มงวดขึ้น ในสถานการณ์เช่นนี้ธนาคารกรุงไทยจึงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของภาคธุรกิจไทยจาก Brown สู่ Less Brown และ Green ในที่สุด เพื่อร่วมกันลดปัญหาโลกร้อน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษ ตลอดจนมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero Emission ตามเป้าหมายของประเทศในปี 2608
ในปี 2566 ธนาคารกรุงไทยได้ร่วมกับ ธปท. ทำโครงการนำร่อง ออกแบบสินเชื่อเพื่อลดมลพิษฝุ่น PM2.5 แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย สำหรับจัดซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร อาทิ รถตัดอ้อย และอุปกรณ์ประกอบเพื่อช่วยการตัดอ้อยสด ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ พร้อมให้ระยะเวลาในการชำระคืนสูงสุด 6 ปี โดยชำระคืนเงินต้นเพียงปีละครั้ง ซึ่งหากบรรลุตามเป้าหมายในการจัดหาอ้อยสด หรือลดสัดส่วนอ้อยไฟไหม้ตามที่กำหนด จะได้ส่วนลดดอกเบี้ยในปีถัดไป
“ล่าสุดธนาคารได้ออกผลิตภัณฑ์ ‘สินเชื่อกรุงไทยเพื่อความยั่งยืน (ESG)’ ให้วงเงินกู้สูงสุด 100% ของมูลค่าการลงทุน อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 4% ต่อปี ผ่อนนานสูงสุด 10 ปี โดยสินเชื่อดังกล่าวครอบคลุมการปรับตัวทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล นอกจากนี้ ในช่วงนี้ยังมีโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยมีอัตราดอกเบี้ยเพียง 3.5% ต่อปี คงที่ 2 ปีแรก ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าเงื่อนไขตามเกณฑ์กำหนดสามารถขอสินเชื่อนี้ได้ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษที่กำหนด” คุณธวัชชัยยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์
คุณเคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นวาระที่สำคัญและเร่งด่วนมากยิ่งขึ้น ธนาคารกรุงศรีอยุธยาตระหนักถึงความจำเป็นนี้ จึงได้มุ่งส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกมาโดยตลอด
ในช่วงระหว่างปี 2564-2566 ธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้ให้การสนับสนุนด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนไปแล้วกว่า 71,000 ล้านบาท ด้วยการผสานความร่วมมือกันระหว่างเครือข่ายที่แข็งแกร่งระดับโลกของ MUFG กับความเชี่ยวชาญของธนาคาร ทำให้มั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์และโซลูชันต่าง ๆ ที่นำเสนอนั้นถูกต้องตามมาตรฐานด้านการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อมในระดับสากล ทำได้จริงและมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับความต้องการและเงื่อนไขของประเทศ
“เราเพิ่งเปิดตัวโครงการ Krungsri SME Transition Loan ออกแบบมาเพื่อสนับสนุนให้ SMEs สามารถปรับตัวและเปลี่ยนแปลงสู่เส้นทางของความยั่งยืนได้อย่างราบรื่น โดยเสนอวงเงินสินเชื่อที่สูงในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีเงินทุนสนับสนุนในการดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่ช่วยลดมลพิษและนำโซลูชันพลังงานสะอาดมาใช้ เพื่อให้ธุรกิจสามารถรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้” คุณเคนอิจิกล่าว
คุณขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยเป็นหนึ่งในธนาคารหลักที่เป็นตัวแทนของสมาคมธนาคารไทยในการประกาศเจตนารมณ์ด้าน ESG เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และได้ร่วมกับ ธปท. ในการจัดทำคู่มือของธนาคารต่าง ๆ ในการดําเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
คุณขัตติยาเปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยตั้งเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท ภายในปี 2573 โดยปัจจุบันสามารถปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 94,000 ล้านบาท และคาดว่าจะถึง 100,000 ล้านบาท ภายในสิ้นปี 2567 นี้
“สําหรับโครงการ Financing the Transition ที่ทำร่วมกับ ธปท. นี้ ธนาคารกสิกรไทยพร้อมที่จะสนับสนุนสินเชื่อให้กับลูกค้าทุกรายที่มีความพร้อมที่จะเปลี่ยนกระบวนการทำธุรกิจให้ Brown น้อยลง โดยเลือก 4 ภาคการผลิตสำคัญ ได้แก่ ชิ้นส่วนยานยนต์ บรรจุภัณฑ์และพลาสติก โรงแรมและสุขภาพ อาหารและเครื่องดื่ม เนื่องจากเป็นภาคการผลิตที่ได้รับแรงกดดันจากกฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ และเป็นภาคการผลิตที่ธนาคารได้รับการร้องขอจากลูกค้าด้วย” คุณขัตติยากล่าว
คุณอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารเกียรตินาคินภัทรให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนของภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยนอกจากจะเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของธนาคารแล้ว การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนของภาคธุรกิจนี้จะสร้างผลกระทบด้านบวกได้ค่อนข้างมาก
คุณอภินันท์เล่าต่อว่า ที่ผ่านมาธนาคารเกียรตินาคินภัทรทำงานใกล้ชิดกับลูกค้าอสังหาริมทรัพย์มาโดยตลอด ตั้งแต่การออกแบบ การกำหนดวัสดุก่อสร้าง ไปจนถึงการขาย นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่เราสามารถเข้าไปมีบทบาทต่อภาคธุรกิจ เพื่อผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน
“สำหรับโครงการ Financing the Transition ผลิตภัณฑ์และบริการที่ธนาคารเกียรตินาคินภัทรพัฒนาขึ้นเพื่อสนับสนุนธุรกิจอสังหาฯ มี 2 ส่วน ได้แก่ (1) Financial Supports โดยธนาคารจะให้การสนับสนุนวงเงินสินเชื่อเพื่อการปรับตัวเปลี่ยนผ่านด้วยการจัดสรรสินเชื่อราคาพิเศษสำหรับการลงทุนในเทคโนโลยีที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามลำดับของการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และ (2) Non-financial Supports ซึ่งธนาคารให้การสนับสนุนเป็นองค์ความรู้และการให้คำปรึกษา” คุณอภินันท์กล่าว
ดร.ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่พึ่งพิงการส่งออก และมีผู้ประกอบการ SMEs อยู่ในภาคการส่งออกเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา มีกติกาด้านสิ่งแวดล้อมกว่า 200 เรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาจากหลายประเทศที่เป็นคู่ค้ากับไทย ซึ่งกระทบกับผู้ประกอบการไทยโดยตรง สำหรับธนาคารทหารไทยธนชาตมีลูกค้าในกลุ่มนี้กว่า 4,000 ราย ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำคือการป้องกันไม่ให้คนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและรวดเร็วจนเกินไป
ดร.ปิติเล่าต่อว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาธนาคารทหารไทยธนชาตทำงานร่วมกับ SMEs ประมาณ 300 ราย เพื่อมองหาความเป็นไปได้ในการทำงานร่วมกับบริษัทขนาดใหญ่ หลังจากนั้นจึงค่อยออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมมาช่วยสนับสนุน โดยหัวใจสำคัญคือ ต้นทุนต้องต่ำมากพอ มีเวลาเพียงพอ และตอบโจทย์การเปลี่ยนผ่านของแต่ละอุตสาหกรรมที่แตกต่างกันได้
“ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล เราก็ต้องมั่นใจว่าสามารถลดการเผาได้จริง ในอุตสาหกรรมประมงก็ต้องมั่นใจว่าแนวทางปฏิบัติของเรือเป็นไปตามมาตรฐานสากล หรือในอุตสาหกรรมสุขภาพก็ต้องทำให้ผู้ซื้อเห็นว่าเป็นอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องการผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่แตกต่างกัน” คุณปิติกล่าวถึงแนวทางในการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน
คุณกฤษณ์ จันทโนทก กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและการบริการ ซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทย โดยปัจจุบันธนาคารไทยพาณิชย์ถือว่าเป็นผู้ที่สนับสนุนอุตสาหกรรมโรงแรมมากที่สุดในประเทศไทย ด้วยพอร์ตสินเชื่อรวมกว่า 1.34 แสนล้านบาท และได้วางแผนการดำเนินงานเพื่อช่วยลูกค้าในพอร์ตธุรกิจนี้ให้สามารถปรับธุรกิจเป็น Green Hotel ทั้งกระบวนการ เพื่อช่วยยกระดับให้เป็นองค์กรยั่งยืน
ธนาคารไทยพาณิชย์มีแผนในการนำผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมให้ก้าวสู่การเป็นโรงแรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่าน 3 แนวทางสำคัญ ประกอบด้วย (1) การสนับสนุนการเงินเพื่อความยั่งยืนให้ลูกค้ากลุ่มธุรกิจโรงแรมทุกระดับ ด้วยโครงการสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนและเพิ่มประสิทธิภาพกลุ่มธุรกิจโรงแรม อัตราดอกเบี้ยพิเศษสำหรับลูกค้าธุรกิจในกลุ่ม Mid-Corp และ SMEs ทั้งที่เป็นโครงการใหม่และเก่า โดยสนับสนุนทั้งโครงการที่ต้องการใบรับรองมาตรฐานและกิจกรรมความยั่งยืนของโรงแรม (2) การสร้างความตระหนักรู้และมอบองค์ความรู้ ทั้งการจัดโครงการอบรม สัมมนา และสื่อการเรียนรู้ด้านความยั่งยืน และ (3) ร่วมมือกับพันธมิตรที่เชี่ยวชาญด้าน Green Building, Carbon Measurement เพื่อให้คำแนะนำและโซลูชันแก่ลูกค้า
“ธุรกิจโรงแรมมีความสำคัญกับเศรษฐกิจของประเทศและต้องการการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน ไทยพาณิชย์พร้อมสนับสนุนตั้งแต่ระดับเริ่มต้นไปจนถึงการยกระดับสู่มาตรฐานโรงแรมระดับโลก เราเชื่อมั่นว่าธุรกิจโรงแรมและบริการจะเป็นแรงสนับสนุนให้แก่เศรษฐกิจไทยได้อย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน” คุณกฤษณ์กล่าว
คุณริชาร์ด มาโลนีย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โลกที่การเงินยั่งยืนเป็นรากฐานของระบบเศรษฐกิจ และทุกการตัดสินใจทางการเงินจะสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวก รวมไปถึงมีส่วนในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่สดใสและยั่งยืนกว่านั้น ไม่ใช่ความฝัน แต่เป็นความเป็นจริงที่เราต้องเริ่มสร้างขึ้นตั้งแต่วันนี้
นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ธนาคารยูโอบีปล่อยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนไปแล้วกว่า 33,000 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถยกระดับการบริหารจัดการให้ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น และดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม
“สิ่งที่เราเสนอไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หากแต่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้ทั้งบริษัทขนาดใหญ่และผู้ประกอบการ SMEs ปรับไปใช้มาตรการและแนวทางการทำธุรกิจที่ยั่งยืน ที่สามารถช่วยสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง” คุณมาโลนีย์กล่าวถึงหัวใจของแนวคิดเรื่องการเงินที่ยั่งยืน
สุดท้ายนี้ ธปท. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการนี้จะเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้ภาคธุรกิจเกิดการปรับตัวอย่างจริงจัง และช่วยจุดประกายให้เกิดความร่วมมือในภาคส่วนต่าง ๆ จนนำไปสู่ผลลัพธ์ในวงกว้าง และส่งผลให้เศรษฐกิจไทยสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมได้ตามเป้าหมายในที่สุด