“Your Data” ข้อมูลของคุณ สู่บริการทางการเงินที่ตอบโจทย์
“Data is the new oil” เป็นประโยคที่สะท้อนความสำคัญของข้อมูลในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลได้เป็นอย่างดี เพราะข้อมูลไม่ได้มีเพียงมูลค่าและราคาในตัวเองเท่านั้น แต่ยังเป็น “ทรัพยากร” สำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล มีค่าไม่ต่างจากน้ำมันที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา
ข้อมูลที่จะนำไปสู่การสร้างมูลค่าและขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลได้ ต้องผ่านกระบวนการเพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ไม่ต่างจากกระบวนการกลั่นน้ำมันดิบ ที่สำคัญต้องไม่ลืมหัวใจของการใช้ข้อมูลก็คือ การป้องกันความเสี่ยงให้กับเจ้าของข้อมูลไม่ให้มีการนำไปใช้ในทางที่ผิด
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลภาคการเงินอย่างยืดหยุ่นเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถปรับตัว ขณะเดียวกันก็เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมและรับมือกับความเสี่ยงรูปแบบใหม่ ๆ ได้อย่างเท่าทัน โดยการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อพัฒนานวัตกรรมด้านการเงินเป็นหนึ่งในงานสำคัญที่ ธปท. ได้ร่วมมือกับพันธมิตรและผู้เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง
“โครงการ Your Data” เป็นโครงการเรือธงของนโยบายการรับส่งข้อมูลตามสิทธิของผู้ใช้บริการ ภายใต้ความร่วมมือของ ธปท. กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยมีผู้บริหารระดับสูงขององค์กรภาคีเข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็นคุณพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คุณชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย คุณวรัชญา ศรีมาจันทร์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท.
งานนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Your Data ข้อมูลของคุณ สู่บริการทางการเงินที่ตอบโจทย์” โดยมีผู้บริหารระดับสูงของแต่ละหน่วยงานมานำเสนอนโยบายและแนวทางการพัฒนากลไกการใช้ข้อมูล เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์และเหมาะสมกับแต่ละบุคคลมากขึ้น
คุณพิชัย ชุณหวชิร กล่าวถึงสิทธิของประชาชนในฐานะเจ้าของ “ข้อมูลส่วนบุคคล” ซึ่งในปัจจุบันยังมีข้อมูลหลายประเภทที่ถูกจัดเก็บอย่างกระจัดกระจาย แต่สามารถรวบรวมข้อมูลเหล่านี้และนำมาใช้ประโยชน์ผ่านช่องทางดิจิทัลได้
“ไม่มีองค์กรใดประสบความสำเร็จ ถ้าไม่สามารถผลักดันและยกระดับการบริหารจัดการฐานข้อมูลที่เชื่อถือได้” คุณพิชัยกล่าว หากผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้ให้บริการทางการเงินมีข้อมูลที่ทำให้เข้าใจพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าได้อย่างถูกต้อง ก็จะสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์และสร้างโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจได้ ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กัน
ที่ผ่านมา ไทยยังมีช่องว่างในแง่บริการทางการเงินอยู่พอสมควร ส่งผลต่อการออมและการเข้าถึงสินเชื่อของประชาชน ซึ่งข้อมูลเป็นหัวใจสำคัญที่จะมาเติมเต็มช่องว่างนี้ได้ โดยช่วยให้สถาบันการเงินสามารถประเมินความเสี่ยงได้ดีขึ้น และกล้าที่จะปล่อยสินเชื่อ เพราะสามารถคิดอัตราดอกเบี้ยและค่าบริการที่สอดคล้องกับความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละรายได้มากขึ้น เป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ผู้ไม่มีรายได้ประจำ และกลุ่ม SMEs ขณะเดียวกันก็ทำให้ภาครัฐเข้าใจความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชนมากขึ้น เพื่อนำไปออกแบบนโยบายที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ตรงจุด และสามารถจัดสรรงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพได้
นโยบายที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลจะเป็นไปได้จริงต้องอาศัยคลังขนาดใหญ่ที่เก็บรวบรวมข้อมูล จากแหล่งต่าง ๆ ตลอดจนกลไกรับส่งข้อมูลที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ซึ่งในปัจจุบันมีสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลประชาชนจากหน่วยงานภาครัฐให้อยู่ในที่เดียวกัน ทำให้ประชาชนสามารถทำธุรกรรมกับภาครัฐ รวมถึงลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมโครงการช่วยเหลือต่าง ๆ ได้สะดวกขึ้นผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐ
นอกจากนี้ รัฐบาลกำลังดำเนินการจัดทำร่างกฎหมายสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ (National Credit Guarantee Agency: NaCGA) เพื่อรองรับการนำข้อมูลที่หลากหลายมาประกอบกันในการประเมินความเสี่ยง และทำให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น รวมถึงกรมสรรพากรก็ได้ดำเนินโครงการคัดแบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนขอข้อมูลการยื่นภาษีเพื่อนำมาใช้ประกอบการขอสินเชื่อได้
“ผมเชื่อว่า Your Data จะกลายเป็น Game Changer ที่ช่วยลดช่องว่างการเข้าถึงบริการทางการเงิน และเพิ่มนวัตกรรมทางการเงินที่ตอบโจทย์ประชาชน และจะเป็นเครื่องยนต์ใหม่ที่นำพาเศรษฐกิจไทยให้ก้าวไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้ในที่สุด” คุณพิชัยทิ้งท้าย
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ได้กล่าวถึงการไหลเวียนของข้อมูลที่จะเป็น Game Changer ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในอนาคต ถัดจากระบบ Fast Payment, PromptPay และ QR Code เพราะจะทำให้มีการพัฒนาบริการใหม่ ๆ รวมถึงยกระดับบริการเดิมให้ตอบโจทย์ความต้องการมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ไกลเกินฝันและได้เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ ทั้งในประเทศพัฒนาแล้วอย่างอังกฤษ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และในประเทศกำลังพัฒนาอย่างอินเดียและบราซิล แต่จะต้องอาศัยกลไกรับส่งข้อมูลที่มี 3 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ (1) การจัดเก็บข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์ได้ (Machine Readable) (2) มาตรฐานข้อมูลกลาง (Data Standard) ตัวกลางที่เชื่อมต่อระหว่างผู้ใช้บริการกับผู้ให้บริการ (Application Programming Interface: API) และระบบรักษาความปลอดภัย ซึ่งเปรียบเสมือนหัวปลั๊กที่ทำให้องค์ประกอบต่าง ๆ เชื่อมต่อระหว่างกันได้ และ (3) กฎกติกา ว่าใครบ้างที่จะมีสิทธิเข้าถึงและเชื่อมต่อข้อมูลได้ เพื่อให้มีความรัดกุมและทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ
นอกจากระบบหลังบ้านที่ต้องบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ระบบหน้าบ้านที่สะดวกรวดเร็วจะเอื้อให้เกิดการใช้งานจริงตามเป้าหมายที่วางไว้ตามภูมิทัศน์ใหม่ของภาคการเงินไทย ซึ่ง Open Data จะเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยแก้ปัญหาที่พบในระบบการเงินปัจจุบันได้ เช่น ต้นทุนการดำเนินการและความเสี่ยงในการให้สินเชื่อที่สูง
“เราอยากเห็นการไหลเวียนของข้อมูลที่ไม่ถูกปิดกั้น เช่น ค่าธรรมเนียมต้องไม่แพงเกินไป” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว หน่วยงานกำกับดูแลทั้งหลายจึงต้องทำงานแบบร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับผู้ให้บริการ เพื่อให้สามารถเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของประชาชน และเมื่อมองไปข้างหน้า Open Data จะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น กลไกค้ำประกันเครดิต และธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ที่มีประสิทธิภาพ
คปภ. มีการทำงานโดยใช้ข้อมูลใน 4 มิติสำคัญ คือ (1) การใช้ข้อมูลในการพัฒนาบริการและผลิตภัณฑ์ประกันภัย ผ่านโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางด้านการประกันภัย (Insurance Bureau System: IBS) (2) การเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ การประกันภัยรถภาคบังคับ (Compulsory Motor Insurance System: CMIS) โดยความร่วมมือกับกรมการขนส่งทางบกและภาคเอกชน รวมถึงระบบ e-Claim ของโรงพยาบาล ที่ใช้บันทึกข้อมูลการให้บริการสาธารณสุขและการเบิกชดเชยค่าบริการทางการแพทย์ (3) การเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ และ (4) การส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรม Open Insurance โดยได้เปิดใช้ OIC Gateway เพื่อให้เป็นตัวกลางเชื่อมโยงข้อมูลด้านประกันภัยแบบ real-time ระหว่าง คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกกับประชาชนในการตรวจสอบเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลกรมธรรม์ ใบอนุญาตตัวแทน/นายหน้าประกันภัย หรือที่ตั้งบริษัทประกันภัย ซึ่งปัจจุบันมีการเชื่อมกับ DGA และแอปพลิเคชันทางรัฐ และมีการเปิดเผยสถิติเกี่ยวกับการประกันภัยที่สำคัญให้คนทั่วไปและนักวิเคราะห์ได้เข้ามาใช้ประโยชน์ด้วย
“การเปิดกว้างให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลได้ จะช่วยเรื่องการเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ประกันภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถคำนวณความคุ้มครองและค่าเบี้ยประกันที่เหมาะสมกับตนเองได้” คุณชูฉัตรทิ้งท้าย
คุณวรัชญา ศรีมาจันทร์ กล่าวว่า ในมิติของการลงทุน ข้อมูลยิ่งทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นเป็นหลายเท่า ก.ล.ต. จึงมุ่งเน้นให้ประชาชนใช้ข้อมูลของตนมาใช้ในการจัดการเงินทุน ซึ่งจะช่วยทำให้เกิดการพัฒนาตลาดทุนให้ตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุน และสร้างสุขภาวะทางการเงินที่ดี
เบื้องหลังการทำงานนั้น การวางกฎกติกาและการกำกับดูแลกระบวนการตลอดสายธาร ตั้งแต่ก่อนเชื่อมต่อและหลังจากเชื่อมต่อแล้วเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดมาตรฐาน การรักษาความปลอดภัย ธรรมาภิบาลของข้อมูล และความคุ้มครองผู้บริโภค สิ่งสำคัญคือกลไก “ให้” และ “ถอน” ความยินยอมที่จะสร้างความมั่นใจให้กับทุกฝ่าย การรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ทั้งจากฝั่งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ ตั้งแต่ SMEs ไปจนถึงรายเล็ก ๆ
ปัจจุบันมีการผลักดันเรื่องนี้ผ่านคณะกรรมการขับเคลื่อนและคณะทำงาน ซึ่งมีผู้แทนจากผู้ให้บริการทางการเงิน สมาคมธุรกิจ หน่วยงานกำกับดูแล หน่วยงานที่ช่วยดูแลมาตรฐาน สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPC) ผู้แทนจากสภาองค์กรผู้บริโภคและ SMEs ต่าง ๆ เข้าร่วม โดยภายในปี 2568 จะมีการเริ่มใช้งานข้อมูลนอกภาคการเงินบางส่วน และในปี 2569 จะมีการเริ่มใช้ข้อมูลภาคการเงินเป็นลำดับถัดไป
“เปลี่ยนข้อมูลเป็นพลัง สู่โอกาสสินเชื่อที่ดีกว่า” คุณณัฐ เพชระบูรณิน Chief Data & AI Officer บริษัท อบาคัส ดิจิทัล จำกัด
“สงสัยหรือไม่ ทำไม Digital Banking ถึงยังใช้เอกสารกระดาษในการขอสินเชื่อ” นั่นก็เป็นเพราะธนาคารต่าง ๆ ยังไม่สามารถแบ่งปันข้อมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ ภาระจึงตกไปเป็นของผู้บริโภค ที่หากไม่สามารถส่งข้อมูลได้ครบถ้วนก็อาจถูกปฏิเสธสินเชื่อได้
มันนี่ทันเดอร์ (Money Thunder) แอปพลิเคชันสำหรับกู้เงินที่พัฒนาโดย บริษัท อบาคัส ดิจิทัล จำกัด มุ่งมั่นขยายโอกาสทางการเงินให้กลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินได้ (underserved) โดยใช้เอกสารทางการเงินและบัญชีในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Statement) ข้อมูลใช้งานโทรศัพท์มือถือ ข้อมูลขายสินค้าออนไลน์ พฤติกรรมการใช้แอปพลิเคชัน มาประกอบการพิจารณาอนุมัติ ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าสามารถขยายโอกาสทางการเงินให้มากขึ้นได้จริง
“Better Finance for Better Life” คุณพิพัฒน์พงศ์ โปษยานนท์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
การเข้าถึงสินเชื่อเป็นประเด็นสำคัญ ที่ผ่านมาคนต้องกู้เพราะมีเงินไม่พอใช้และไม่มีวินัยเรื่องการออม การบริหารจัดการการเงินที่ดีจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้ โดยมีหลักคิดสำคัญ คือ (1) Mindful Spending มีเครื่องมือช่วยให้ใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง (2) Better Saving ใช้ข้อมูลและ AI เพื่อช่วยให้เข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าว่าจะทำอย่างไรให้มีวินัยในการออม (3) Better Investment แนะนำการลงทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยง ณ เวลาที่เหมาะสม และ (4) Healthy Borrowing มีการจัดการหนี้อย่างเหมาะสม
โครงการ Your Data จะช่วยให้ธนาคารมีการบูรณาการและการบริหารจัดการข้อมูล (Data Consolidation) และช่วยให้ลูกค้ามีวินัยทางการเงินมากขึ้นด้วย
“Your Wealth Aggregator” คุณชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน)
ภูมิทัศน์การลงทุนในปัจจุบัน ข้อมูลของผู้ลงทุนที่ไม่ต่อเนื่องทำให้ประเมินการใช้สิทธิต่าง ๆ โดยเฉพาะการซื้อกองทุนรวมเพื่อลดหย่อนภาษีว่าครบหรือยังจึงไม่สะดวก การดำเนินการข้ามบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จึงกลายเป็นปัญหาสำคัญ นอกจากนี้ ผู้ลงทุนยังต้องให้ความยินยอมทีละ บลจ. เพื่อให้ส่งข้อมูลไปยังสรรพากร ซึ่งอาจทำให้เกิดการตกหล่นและได้ลดหย่อนภาษีไม่ครบ
Open Data จึงเปรียบเป็น Wealth Aggregator ที่รวบรวมข้อมูลการลงทุน การทำประกัน ฯลฯ เพื่อให้สะดวกในการบริหารจัดการลงทุน การติดตามภาษี และการวางแผนทางการเงินได้ในที่เดียว
“เปิดมิติใหม่ตลาดทุนไทยด้วย Open Data” คุณพิเชษฐ สิทธิอำนวย นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง จำกัด (มหาชน)
ที่ผ่านมาการมีข้อมูลไม่เพียงพอเป็นต้นทุนของบริษัทหลักทรัพย์ ดังนั้น โครงการ Your Data จึงจะช่วยให้ทำงานได้ง่ายขึ้น ตั้งแต่การเปิดบัญชี การทำความเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะมีข้อมูลที่ Up to date มาประกอบการประเมิน ทั้งในมิติของ Personal Finance เพื่อใช้ในการออมเงินและการวางแผนการเงิน และมิติของ Wealth Management ในการวางแผนการลงทุนระยะยาว ตลอดจนช่วยเตรียมการเกษียณ
ไม่เพียงแต่ข้อมูลที่ครบถ้วนเพียงพอจะช่วยให้เราเข้าใจลูกค้าได้ดียิ่งขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มความไว้วางใจและความปลอดภัยในการทำงานด้วย
“Unlocking Insurance Innovation, The Power of Open Data” คุณวิชชุกร นิลมานัตต์ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์เทคโนโลยีสารสนเทศองค์กร บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน)
ประกันภัยนับว่าเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สำคัญ ซึ่งจะได้รับประโยชน์จาก Open Data เพราะเมื่อข้อมูลเชื่อมต่อมาถึงบริษัทประกันภัยเร็วขึ้น และได้รับการยินยอมจากผู้เอาประกันภัย บริษัทก็จะเชื่อถือข้อมูลนั้นว่าเกิดขึ้นจริง กิจกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่การรับประกันและการเคลมก็จะรวดเร็วมากขึ้น นอกจากนี้ การแบ่งปันข้อมูลระหว่างบริษัทประกัน เช่น ประกันสุขภาพที่ซับซ้อน ลูกค้าจะสามารถตรวจสอบได้ว่าผลิตภัณฑ์ของแต่ละบริษัทเข้ากันได้มากน้อยเพียงใด
โครงการ Your Data จึงจะช่วยให้บริษัทประกันภัยสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อประสบการณ์ที่ดีของลูกค้าได้มากขึ้น และยังสามารถลดต้นทุน เพิ่มความโปร่งใส และลดความไม่เท่าเทียมกันของข้อมูลได้
“Empowering Business Opportunities and Sustainability” คุณอุษาวรรณ สุวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารกลุ่ม สายงานบริหารจัดการทางการเงินเพื่อธุรกิจ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
Open Data จะสร้างประโยชน์ให้กับเจ้าของข้อมูลและผู้ใช้ข้อมูล เปรียบเสมือนเป็นการติดอาวุธสำหรับ SMEs เพราะช่วยให้ธนาคารรู้จัก SMEs ได้ดีขึ้น จึงมีโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินที่เหมาะสม ไม่เสียโอกาสทางธุรกิจและอยู่ได้อย่างยั่งยืน
Open Data เป็นการต่อยอดจาก Open Infrastructure เช่น PromptBiz ที่ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ และ ธปท. ได้ร่วมมือกัน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินของประเทศ
“Open Data เป็นองค์ประกอบหนึ่งของภูมิทัศน์ทางการเงินในโลกดิจิทัล” ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
หากเปรียบข้อมูลคือการเดินทางสัญจร เราต้องสร้างถนนให้ข้อมูลวิ่งเข้าหากัน
ทุกวันนี้ ถนนในระดับชุมชนมีอยู่บ้างแล้ว แต่วันนี้เราจะขยายให้ถนนเชื่อมโยงระหว่างชุมชนมากขึ้น เป็นระบบถนนที่ใหญ่ ได้มาตรฐาน และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น และที่สำคัญราคาไม่แพงจนเกินไป ขณะที่กติกาต้องมีความเป็นธรรม
ธปท. มุ่งมั่นสร้างกติกาและกลไก ผลักดัน Use Cases ให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง เพราะข้อมูลคือสิ่งที่ขับเคลื่อนและยกระดับประเทศไทย