คิดเป็นวงเงินรวม 145.5 ล้านบาท
A YEAR IN REVIEW
เศรษฐกิจไทยตลอดทั้งปีขยายตัวที่ 2.5% โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังฟื้นตัวช้าจากปัญหาเชิงโครงสร้างและการแข่งขันสินค้าจากต่างประเทศ ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนหดตัว แม้ได้รับแรงสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน การท่องเที่ยว และการส่งออกในกลุ่มเทคโนโลยีที่ขยายตัวสูง รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้จ่ายจากภาครัฐที่เร่งขึ้นหลัง พรบ. งบประมาณฯ ปี 2567 มีผลบังคับใช้
เหตุการณ์สำคัญและความท้าทายที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2567 สามารถสรุปโดยสังเขป ดังนี้
หลังสถานการณ์โควิด 19 สินค้าจีนเข้ามาแข่งขันกับสินค้าไทยอย่างต่อเนื่องทั้งในตลาดโลกและในไทย ต้นตอสำคัญมาจากการที่จีนขยายกำลังการผลิตเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าในหลายสินค้า ซึ่งเป็นมาตรการในการรับมือการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐฯ ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจจีนกลับชะลอตัวจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์จนส่งผลให้อุปสงค์ภายในประเทศฟื้นตัวได้ช้า และไม่สามารถรองรับการผลิตที่เพิ่มขึ้นได้ จึงมีการระบายสินค้าสู่ตลาดโลกมากขึ้น ทั้งนี้ การระบายสินค้าอุปโภคบริโภคของจีน ส่งผลกระทบต่อภาคผลิตของไทย เพราะต้องแข่งขันกับสินค้าราคาถูกจากจีน
ปัจจุบันไทยขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้นราว 5 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงก่อนสถานการณ์โควิด 19 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเพื่อบริโภค โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้า โลหะ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ที่มีสัดส่วนการนำเข้าสินค้าจีนเร่งขึ้นและเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่การผลิตในไทยหดตัว
การเข้ามาของค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนพร้อมกับกลยุทธ์ลดราคาตั้งแต่ต้นเทศปี 2567 กดดันให้รถยนต์สันดาปและไฮบริดต้องลดราคา กลายเป็นสงครามราคารถยนต์ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์และธุรกิจที่เกี่ยวข้องในวงกว้าง เนื่องจากราคารถยนต์มือหนึ่งที่ลดลง กดดันให้ราคารถยนต์มือสองลดลงด้วย ทำให้ผู้บริโภคที่ต้องการเปลี่ยนรถ (ขายรถเก่าเพื่อซื้อรถใหม่) มีเงินดาวน์สำหรับซื้อรถใหม่น้อยลง อีกทั้งผู้บริโภคบางส่วนชะลอการซื้อรถยนต์เพราะคาดหวังว่าราคาจะถูกลงอีก ราคารถยนต์ที่ลดลงส่งผลต่อเนื่องให้สถาบันการเงินระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ เพราะความเสี่ยงด้านเครดิตเพิ่มขึ้นมากจากการที่มูลค่าหลักประกันลดลง ส่งผลให้อุปสงค์รถยนต์ในประเทศชะลอลงแรง การผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนหดตัวสูง กระทบต่อธุรกิจอื่น ๆ ในห่วงโซ่อุปทาน อาทิ ผู้จำหน่ายรถยนต์และชิ้นส่วน ธุรกิจรถยนต์มือสอง และธุรกิจเช่าซื้อ เห็นได้จากการปิดโรงงานผลิตรถยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และธุรกิจค้ายานยนต์ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ธุรกิจยานยนต์บางส่วนปิดกิจการชั่วคราว การชะลอตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ส่งผลต่อการจ้างงานและรายได้ของแรงงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้
ตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2567 ภาครัฐมีนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยทยอยให้สิทธิยกเว้นการตรวจลงตรา (วีซ่าฟรี) เพิ่มเติมอีก 36 ประเทศ รวมทั้งสิ้นเป็น 93 ประเทศ โดยกลุ่มประเทศสำคัญ ได้แก่ จีน อินเดีย ไต้หวัน คาซัคสถาน ซึ่งสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นจากปีก่อนอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจากจีน ไต้หวัน และอินเดีย ซึ่งมีสัดส่วนรวม 28.5% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด ส่งผลดีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น ที่พักแรม บริการด้านอาหาร การขนส่งผู้โดยสาร และภาคการค้า ทำให้รายรับภาคการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น
พรบ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งมีกรอบวงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 หลังล่าช้ากว่าปกติราว 7 เดือน ซึ่งส่งผลให้การใช้จ่ายภาครัฐที่ชะงักไปในครึ่งปีแรกกลับมาเร่งขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนที่อัตราการเบิกจ่ายเร่งขึ้น โดยเพิ่มขึ้นจาก 14% ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ เป็น 65% ของวงเงินรายจ่ายลงทุนทั้งหมดเมื่อสิ้นปีงบประมาณ
สถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือ อีสาน และใต้ ที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง แม้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมไม่มากนัก แต่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ประสบภัยและซ้ำเติมกลุ่มเปราะบาง โดยน้ำท่วมในภาคเหนือและอีสานมีผลกระทบกับครัวเรือน เส้นทางคมนาคม พื้นที่เกษตร และภาคการค้าเป็นสำคัญ และในภาคใต้มีผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวด้วย โดยนักท่องเที่ยวมาเลเซียได้ยกเลิกการจองห้องพักราว 20% ในช่วงที่ประสบเหตุ
ทั้งนี้ ธปท. ได้ผ่อนปรนหลักเกณฑ์ และขอความร่วมมือสถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบตามความจำเป็นและเหมาะสม อาทิ ปรับลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำสำหรับสินเชื่อบัตรเครดิตสำหรับผู้ที่เข้าเงื่อนไข และปรับเงื่อนไขสินเชื่อเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนและสภาพคล่องแก่ลูกหนี้ไว้ใช้ซ่อมแซมหรือดำเนินธุรกิจ
วันที่ 25 กันยายน 2567 เป็นวันแรกที่รัฐบาลได้เริ่มโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน ผ่านเงินโอน 10,000 บาท ระยะที่ 1 โดยให้กับกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้พิการ ซึ่งมีผู้ได้รับสิทธิ 14.55 ล้านคน คิดเป็นวงเงินรวม 145.5 พันล้านบาท โครงการนี้ฯ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับกลุ่มเปราะบางได้ โดยช่วยกระตุ้นการบริโภคและเพิ่มสภาพคล่องในมือ แต่อาจยังไม่ได้ส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจมากนัก
คิดเป็นวงเงินรวม 145.5 ล้านบาท
ธนาคารกลางในหลายประเทศ นำโดยประเทศเศรษฐกิจหลัก เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และอังกฤษ เริ่มเข้าสู่วัฏจักรการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย (easing cycle) หลังอัตราเงินเฟ้อปรับลดลงต่อเนื่อง และตลาดแรงงานมีสัญญาณชะลอลง ซึ่งเป็นการลดลงจากระดับที่นโยบายการเงินตึงตัว (over-tightening) ในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจการเงินในประเทศไทยนั้นต่างออกไป กล่าวคือ นโยบายการเงินไทยอยู่ใกล้เคียงกับระดับที่เป็นกลางแล้ว (broadly neutral stance)
ตั้งแต่หลังโควิดเป็นต้นมา การลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นกว่าอดีตและส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ส่วนหนึ่งเกิดจากการกระจายฐานการลงทุนของต่างชาติออกจากจีน เพื่อลดผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ สะท้อนจากมูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในปี 2567 ที่ขยายตัว 72% จากปีก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนใน
(1) การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่รองรับการเติบโตของศูนย์ข้อมูล (data center) อาทิ อุปกรณ์โทรคมนาคม
(2) แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) ที่มีความซับซ้อนสูง
(3) เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ
(4) ยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน และ
(5) data center
ส่งผลให้การขยายตัวของพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์
หลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 ตลาดเงินและตลาดทุนผันผวนมากขึ้น โดยเฉพาะค่าเงินและตลาดหลักทรัพย์ของประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดย 2 วันหลังประกาศผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ เงินบาทอ่อนค่าลง 1.1% ขณะที่ดัชนี SET Index ลดลง 1.2% นอกจากนี้นโยบายทรัมป์ 2.0 ที่ประกาศจะยกระดับมาตรการกีดกันทางการค้ากับทุกสินค้าและทุกประเทศ โดยเฉพาะกับจีน ได้เพิ่มความไม่แน่นอนต่อการดำเนินโนบายเศรษฐกิจการเงินของประเทศหลักและทิศทางเศรษฐกิจการเงินทั่วโลก