ผลกระทบจาก China Flooding ต่อภาคเศรษฐกิจของไทย (Impact of China Flooding on Thailand’s Economy)

Economic Pulse | Issue 8 | 12 พฤศจิกายน 2567

เกริกเกียรติ พรหมมินทร์
กฤชกนก ศรีเมือง
นรีกานต์ วงศ์เจริญยศ
รณชาติ ผาติหัตถกร
และ อรุณ ธนกิจโกฏินนทน์

containers

“นับแต่สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ทาให้เกิด China Flooding สินค้าเข้ามาในภูมิภาคต่าง ๆ รวมถึงไทย และอาเซียน ส่งผลต่อภาคการส่งออก ภาคการผลิตเพื่อขายในประเทศ และการจ้างงานในหลายอุตสาหกรรมสาคัญของไทย”


บทคัดย่อ

 

อุปทานส่วนเกินและผลของสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ประกอบกับนโยบายพึ่งพาการผลิตในประเทศของจีนเป็นปัจจัยกดดันให้เกิดการทะลัก (Flooding) ของสินค้าจีนมายังภูมิภาคต่าง ๆ รวมถึงไทยและอาเซียน ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไทยทั้งด้านการแข่งขันของภาคการส่งออกโดยเฉพาะในตลาดอาเซียน และการแข่งขันของภาคการผลิตเพื่อขายในประเทศ โดยเฉพาะสินค้าเพื่ออุปโภคและบริโภค ทั้งนี้ จากการประเมินผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวต่ออุตสาหกรรมไทย พบว่า อุตสาหกรรมหลักที่ได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมโลหะ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และสิ่งทอ ซึ่งถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อภาคการผลิตไทย โดยมีขนาด 1 ใน 4 ของภาคการผลิตและมีการจ้างงานในระบบประกันสังคมถึง 8 แสนคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของการจ้างงานในภาคการผลิตในระบบประกันสังคม จึงเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดและพิจารณาการพัฒนาศักยภาพของประเทศในด้านการแข่งขันก่อนที่ผลกระทบจะเริ่มลุกลามกว่าในปัจจุบัน


 

1. บทนำ
 

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อาเซียนและไทยเสียดุลการค้าให้กับจีนอย่างต่อเนื่องและยังคงมีแนวโน้มขาดดุลเพิ่มขึ้น (รูปที่ 1) เนื่องจากการนำเข้าสินค้าจากจีนที่สูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับการส่งออกไปยังจีนที่ปรับเพิ่มขึ้นไม่มาก งานศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์ คือ 1) วิเคราะห์สาเหตุของ China Flooding ต่ออาเซียนและไทย โดยศึกษาทั้งผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่จีนอาจใช้อาเซียนและไทยเป็นฐานการผลิตใหม่ และผลจากการระบายอุปทานที่ผลิตเกินความต้องการในจีน (Oversupply) และ 2) วิเคราะห์ผลกระทบของ China Flooding ต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งภาคการผลิต และการจ้างงาน ในทั้งกรณีที่สินค้าจีนเข้าตีตลาดในไทย และสินค้าจีนเข้ามาแย่งตลาดอาเซียนจากไทย 

 

รูปที่ 1 ดุลการค้าอาเซียนกับจีนรายประเทศ

picture1

ที่มา: Trademap, คำนวณโดย ธปท.

2. สาเหตุของ China Flooding 
 

สาเหตุสำคัญที่ทำให้สินค้าจากจีนเข้ามายังอาเซียนและไทยมากขึ้น คือผลจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2018 ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการค้าโลกในระยะยาว โดยพบว่าการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยสัดส่วนการค้าลดลงจากค่าเฉลี่ย 14% ช่วงปี 2016-2018 มาอยู่ที่ 12% ในช่วงหลัง COVID-19 ในปี 2021-2023 ขณะที่จีนหันมาค้าขายกับกลุ่มอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โลหะ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร และเคมีภัณฑ์ โดยสัดส่วนการค้าเพิ่มขึ้นจาก 12.5% ในช่วงปี 2016-2018 เป็น 15.1% ในช่วงปี 2021-2023 

 

การค้าขายของจีนกับกลุ่มอาเซียนที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนมายังกลุ่มอาเซียนที่เร่งขึ้นหลังปี 2018 (รูปที่ 2) เพื่อใช้เป็นช่องทางการส่งสินค้าไปยังสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ นอกจากนี้ จีนมีการกระจายการผลิตและส่งออกในตลาดอาเซียนมากขึ้น เนื่องจากผลของนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ประกอบกับในระยะหลังจีนกับอาเซียนมีความร่วมมือทางการค้ามากขึ้น ผ่านโครงการ China Plus One และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) เป็นต้น โครงการเหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยให้จีนระบายสินค้าออกนอกประเทศสะดวกขึ้น

 

รูปที่ 2 Net outward FDI ของจีนไปยังประเทศต่างๆ

Pic2

ที่มา: CEIC คำนวณโดย ธปท.

 

ปัญหาของ China Flooding ในอาเซียนและไทย ยังมาจากปัญหา Oversupply ของสินค้าจีนที่เกิดขึ้นตั้งแต่วิกฤต COVID-19 ซึ่งเป็นผลมาจากการที่จีนมีอุปทานส่วนเกินจากทั้งอุปสงค์จีนที่ชะลอลงและอุปทานที่มีมากขึ้น ในส่วนของปัจจัยด้านอุปสงค์ เกิดการชะลอลงของการบริโภคภายในประเทศที่จีนเคยคาดหวังให้เป็นเครื่องยนต์สำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจจีน นอกจากนี้ การเข้าควบคุมตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่อลดภาวะฟองสบู่รวมถึงวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่เกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2021 ยังทำให้อุปสงค์ภายในประเทศจีนฟื้นตัวได้ช้า (รูปที่ 3)  ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันจะเริ่มเห็นการบริโภคทยอยฟื้นตัวจากการท่องเที่ยวในประเทศจีนที่ปรับดีขึ้นตามการสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศของรัฐบาลจีน อย่างไรก็ดี การลงทุนยังไม่ฟื้นตัว ตามภาคอสังหาฯ ที่ยังซบเซาต่อเนื่อง 

 

แม้อุปสงค์ชะลอตัว ประเทศจีนมีนโยบายสนับสนุนภาคการผลิตอย่างต่อเนื่อง จากรูปที่ 3 จะสังเกตได้ว่าภาคการผลิตของจีนฟื้นตัวได้ดี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบาย Made in China 2025 ที่ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2015 เพื่อสนับสนุนการผลิตในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ และนโยบาย Dual Circulation ที่ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2020 เพื่อสนับสนุนการเติบโตของอุปสงค์ในประเทศ นโยบายทั้งสองนี้ทำให้จีนสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น (self-sufficient) รวมทั้งช่วยให้จีนลดการนำเข้าจากอาเซียนและไทยได้ในบางสินค้า เช่น ปิโตรเคมี และชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้จีนเกินดุลการค้ากับอาเซียนและไทยมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

 

นอกจากนี้ ในช่วงเวลาเดียวกัน ถึงแม้ว่าจีนเผชิญกับวิกฤตและอุปสงค์ที่ชะลอตัว รัฐบาลจีนยังมีความพยายามที่จะรักษาการเติบโตของภาคการผลิตไว้ โดยการบริหารการผลิตของรัฐวิสาหกิจและบริษัทที่ภาครัฐถือหุ้น ซึ่งมีสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มมาอยู่ที่ 30% ในช่วงปี 2022-2023 จาก 28% ในปี 2019 รวมถึงรักษาระดับการจ้างงานของคนในประเทศไว้ผ่านกลไกการถือหุ้นดังกล่าว ทำให้อัตราการว่างงานเฉลี่ยในช่วงปี 2020-2023 อยู่ที่ 5.3 % ใกล้เคียงกับปี 2019 ที่ 5.2% และเป็นระดับที่ไม่เกินเป้าทางการของประเทศจีนที่ 5.5% 

 

รูปที่ 3 เครื่องชี้เศรษฐกิจที่สำคัญของจีน

pic3

ที่มา: CEIC คำนวณโดย ธปท.

 

ผลจากปัจจัยทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานของจีนข้างต้น ส่งผลให้จีนมีอุปทานส่วนเกินในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น สะท้อนจากระดับสินค้าคงเหลือในจีนที่ปรับสูงขึ้นในหลายหมวดสินค้า (รูปที่ 4) เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ เหล็ก และยานยนต์ เป็นต้น นอกจากนี้ ข้อมูลเชิงประจักษ์ในงานศึกษาถึงห่วงโซ่อุปทานการผลิตของจีน (Kwon et al., 2024; Chen et al., 2023) พบว่า ในปี 2022 มีปริมาณสินค้าเกินกว่าความต้องการของตลาดในประเทศ ทั้งสินค้าแบบดั้งเดิม (Traditional products) เช่น เหล็ก พลาสติก PVC เคมีภัณฑ์ รถยนต์นั่งส่วนบุคคล เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และรองเท้า รวมถึงสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม (High value-added products) เช่น รถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ลิเทียม และแผงโซล่าร์เซลล์ 

 

ปัญหา Oversupply เหล่านี้สะสมมาถึงในปัจจุบัน และมีแนวโน้มเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะ 5 ปีข้างหน้า (ปี 2025 - 2030) สะท้อนจากหลายอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วน Oversupply ratio มากกว่า 1 ในปี 2022 และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 5 ปีข้างหน้า ซึ่งบางส่วนเป็นไปตามนโยบายด้านอุตสาหกรรมที่จีนคาดหวังจะใช้เป็นอุตสาหกรรมใหม่ในการเติบโตในอนาคต เช่น แผงโซล่าร์เซลล์ แบตเตอรี่ลิเทียม เป็นต้น (รูปที่ 5) 

 

รูปที่ 4 ดัชนีระดับสินค้าคงเหลือของจีน

picture 4

รูปที่ 5 China Oversupply Ratio (1= neutral)*

picture 5

หมายเหตุ: * Oversupply Ratio = Domestic supply/Domestic demand

ที่มา: Goldman Sachs และ CEIC คำนวณโดย ธปท.

3. ผลกระทบของ China Flooding ต่อเศรษฐกิจไทย
 

China Flooding จะเป็นแรงกดดันต่อภาคการผลิตและภาคการส่งออกของไทยในระยะถัดไป ผ่านช่องทางผลกระทบ ดังนี้

 

ผลกระทบช่องทางที่ 1: สินค้าจีนเข้ามาตีตลาดยอดขายสินค้าในไทย (มังกรลอดท้องช้าง)

 

ในช่วงเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ไทยนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง1 โดยสินค้าเหล่านี้ประกอบไปด้วยสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าขั้นกลาง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่จีนขายในราคาถูกกว่าประเทศอื่น ๆ (รูปที่ 6) เป็นการสะท้อนว่าการบริโภคของไทยพึ่งพาสินค้านำเข้าราคาถูกจากจีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเป็นที่น่าสังเกตว่าการบริโภคของไทยพึ่งพาสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สะท้อนจากสัดส่วนการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากจีน (import of consumer goods) ต่อการบริโภคภายในประเทศ  (รูปที่ 7)

 

รูปที่ 6 มูลค่านำเข้าสินค้า Consumer goods1/ และ Raw materials & intermediate goods จากจีนแบ่งตามระดับราคาเทียบการนำเข้าประเทศอื่น2/

picture 6

หมายเหตุ: 1/ Consumer goods เช่น สิ่งทอ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ ไม่รวมยานยนต์และโทรศัพท์มือถือ
2/ สินค้าราคาถูกจากจีน หมายถึง unit value ของสินค้าจากประเทศจีนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย unit value จากทุกประเทศ

ที่มา: กรมศุลกากร คำนวณโดย ธปท.

 

รูปที่ 7 การเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนการนำเข้าสินค้าบริโภคอุปโภคจากจีนต่อการบริโภคภายในประเทศ

Picture 7

ที่มา: กรมศุลกากร, Trademap, CEIC คำนวณโดย ธปท.

 

นอกจากนี้ สินค้านำเข้าจากจีนยังเข้ามามีบทบาทในไทยอย่างแพร่หลาย (broad-based) โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่พึ่งพาตลาดในประเทศเป็นหลัก (สัดส่วนมูลค่าการส่งออกต่ำกว่าร้อยละ 60)  สะท้อนจากสัดส่วนสินค้านำเข้าจากจีนต่ออุปสงค์ในประเทศทั้งหมดรายอุตสาหกรรม (import penetration ratio) (Edwards & Jenkins, 2015) ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่าง broad-based ในปี 2023 เทียบกับค่าเฉลี่ยในปี 2016-2018 ทั้งในอุตสาหกรรมที่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่พึ่งพายอดขายในประเทศมาก อาทิ เหล็ก เคมีภัณฑ์ และวัสดุก่อสร้าง สังเกตได้จากระยะห่างระหว่างแท่งสีน้ำเงินกับจุดสีดำในอุตสาหกรรมเหล่านี้ที่สูงกว่าอุตสาหกรรมอื่น (รูปที่ 8)

 

ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญที่ทำให้สัดส่วนการนำเข้าจากจีนต่ออุปสงค์ในประเทศเพิ่มขึ้น สืบเนื่องจากความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของไทยที่ด้อยกว่าจีน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเหล็ก เนื่องจากจีนมีความได้เปรียบในการแข่งขันผลิตได้ตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ เพราะจีนมีทั้งแหล่งวัตถุดิบในประเทศ ที่ทำให้มี economy of scale ในการผลิต (Mamchii, 2023) ขณะที่ไทยต้องนำเข้าวัตถุดิบ (ผลิตภัณฑ์จากการผลิตขั้นต้น) มาแปรรูป นอกจากนี้ ในช่วงปี 2023 จีนเพิ่มปริมาณการผลิตเหล็กเกินกว่าความต้องการใช้ในประเทศ ทำให้จีนมีการส่งออกเหล็กเพิ่มขึ้นและขายในราคาทุ่มตลาด  ผู้ผลิตเหล็กในไทยจึงต้องออกมาเรียกร้องความช่วยเหลือจากภาครัฐ นอกจากนี้ ผลกระทบจากการนำเข้าสินค้าจากจีนยังส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในไทย จากแนวโน้มความนิยมรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน ในขณะที่ไทยยังไม่สามารถผลิตสินค้าประเภทนี้ได้และต้องพึ่งพาการนำเข้าจากจีนในช่วงที่ผ่านมา (Xirui, 2024)  

รูปที่ 8 สัดส่วนการนำเข้าสินค้าจากจีนต่ออุปสงค์ในประเทศรายอุตสาหกรรม

picture 8

หมายเหตุ: คำนวณจากสัดส่วนมูลค่าการนำเข้าจากจีนต่อมูลค่าจำหน่ายในประเทศของโรงงานที่ใช้จัดทำข้อมูล MPI (shipment value) และมูลค่านำเข้าทั้งหมด
*สินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง **สินค้าอุปโภคบริโภค ***สินค้าทุน

ที่มา: กรมศุลกากร และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม คำนวณโดย ธปท.

 

ผลกระทบช่องทางที่ 2: จีนเข้ามาแย่งตลาดส่งออกในอาเซียนจากไทย (มังกรสยายปีก ช้างต้องหลีกทางให้)

 

นอกจากจีนจะเข้ามาตีตลาดยอดขายสินค้าในไทยแล้ว จีนยังส่งออกสินค้าไปยังอาเซียนที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยด้วย ทำให้จีนมีส่วนแบ่งการตลาดในอาเซียนเพิ่มขึ้นทดแทนไทย (Chunanantatham & Partihuttakorn, 2019) โดยสินค้าที่จีนมีส่วนแบ่งการตลาดในอาเซียนเพิ่มขึ้น ในช่วงปี 2021-2022 เทียบกับปี 2017-2018 (ช่วงก่อนการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่เร่งให้เกิดการเบี่ยงเบนทางการค้า) คิดเป็น 60% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดที่ไทยส่งออกไปยังอาเซียน ซึ่งแสดงอยู่ใน Quadrant 1 และ 2 (รูปที่ 9) โดยสินค้าเหล่านี้ ได้แก่ รถยนต์นั่งส่วนบุคคล เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กในครัวเรือน และเคมีภัณฑ์ นอกจากนี้ สินค้าส่วนใหญ่ยังเป็นสินค้าที่อาเซียนมีอุปสงค์นำเข้าเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนว่าไทยกำลังเสียโอกาสในการส่งออกสินค้าไปยังตลาดอาเซียน ซึ่งเป็นสินค้าที่อยู่ใน Quadrant 1 ซึ่งรวมถึงรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเป็นสำคัญ 

 

รูปที่ 9 สินค้าส่งออกไทยที่จีนแย่งตลาดไทยในอาเซียน (Quadrant 1 & 2)

picture 9

หมายเหตุ: Marker สีแดงแสดงสินค้าที่ไทยเสีย competitiveness ในตลาดอาเซียน ขณะที่จีนได้ competitiveness เพิ่มขึ้น โดยใช้วิธี Constant market Share Model (CMSA) (Bonanno, 2016)

ที่มา: Trademap คำนวณโดย ธปท.

 

สาเหตุที่ไทยเสียส่วนแบ่งในตลาดอาเซียนให้จีนนั้น เกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างของไทยเป็นสำคัญ เนื่องจากไทยกำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในหลายอุตสาหกรรม ซึ่งปรากฏการณ์นี้ สะท้อนจากการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการส่งออกในระดับรายสินค้าด้วยเครื่องมือการวิเคราะห์ส่วนแบ่งตลาดคงที่ (Constant Market Share Analysis: CMSA2) ซึ่งแบ่งการเปลี่ยนแปลงของส่วนแบ่งตลาดของการส่งออกเป็น 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ (1) ผลจากความสามารถในการแข่งขัน (2) ผลจากด้านผลิตภัณฑ์ ซึ่งสะท้อนปัจจัยเชิงโครงสร้าง และ (3) ผลจากปัจจัยด้านตลาดที่สะท้อนปัจจัยเชิงวัฏจักร 

 

จากผลการศึกษา หากเปรียบเทียบเฉพาะปัจจัยด้านความสามารถในการแข่งขันของการส่งออกไทยเทียบกับการส่งออกของจีนในตลาดอาเซียน พบว่า สินค้าที่ไทยกำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดอาเซียน ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า เกษตรแปรรูป ยานยนต์ และสินค้าทางการเกษตร ในทางกลับกัน จีนกลับมีส่วนแบ่งการตลาดในสินค้าเหล่านี้เพิ่มขึ้น (รูปที่ 10) ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าไทยกำลังเสียความสามารถในการแข่งขันและส่วนแบ่งตลาดของหลายสินค้าในตลาดอาเซียนให้กับจีน นอกจากนี้ สินค้าส่งออกที่ไทยกำลังแข่งขันกับประเทศอื่นอยู่ในตลาดอาเซียน มีหลายสินค้าที่อาเซียนไม่ได้พึ่งพาการนำเข้าจากไทยเป็นประเทศหลัก สะท้อนจากสัดส่วนการนำเข้าของอาเซียนจากหลายประเทศคู่ค้า และสามารถวัดได้โดย Herfindahl-Hirschman Index (HHI)3 ที่มีค่าต่ำกว่า 3,000 กล่าวคือ ไทยกำลังเผชิญความท้าทายในตลาดส่งออกจากสภาวะการแข่งขันที่สูง และการสูญเสียส่วนแบ่งตลาดที่น่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระยะข้างหน้าเนื่องจากจีนมีแนวโน้มส่งออกสินค้าที่มีต้นทุนต่ำ ทั้งนี้ ไทยยังขาดแผนที่จะเพิ่มขีดความสามารถของประเทศในการแข่งขันในตลาดส่งออกอาเซียน

 

รูปที่ 10 Competitiveness effect (Constant market share analysis) 2018-2022

Picture 10

ที่มา: Trademap คำนวณโดย ธปท.

 

ความเสี่ยงจากผลกระทบ China flooding ต่อภาคการผลิตไทย

 

สถานการณ์อุปทานส่วนเกิน (excess supply) ประกอบกับการเบี่ยงเบนทางการค้า (trade diversion) ออกจากสหรัฐฯ มาอาเซียนมากขึ้นของจีน สร้างความท้าทายต่อไทยทั้งในมิติของตลาดการส่งออกและตลาดในประเทศ ดังนั้น งานศึกษานี้จึงต้องการชี้ให้เห็นถึงกลุ่มอุตสาหกรรมเสี่ยงสูง ที่จำเป็นต้องได้รับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อตอบสนองต่อปัญหาที่เร่งด่วน จึงทำการจัดอันดับอุตสาหกรรมตามความเสี่ยงโดยการคำนึงถึงผลกระทบในหลากหลายด้านดังแสดงในตารางที่ 11 ทั้งนี้ ผลกระทบด้านการส่งออก ได้แก่ (1) การเสียส่วนแบ่งตลาดในอาเซียนให้กับจีน (2) การได้ส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ ทดแทนจีนในบางสินค้า (3) ผลของนโยบายการพึ่งพาการผลิตในประเทศของจีน ที่ทำให้จีนมีความต้องการสินค้าจากไทยน้อยลง และ (4) การเข้ามาแย่งตลาดส่งออกอาเซียนทดแทนไทย รวมถึงผลกระทบต่อตลาดในประเทศ ได้แก่ (5) สัดส่วนการพึ่งพิงการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าจากจีนที่เพิ่มขึ้นสะท้อนแรงกดดันต่อผู้ผลิตในประเทศ (6) ระดับความเสี่ยงของตลาดในประเทศ ที่สินค้าจีนเข้ามาตีตลาดยอดขายในไทยมากขึ้น โดยความเสี่ยงในภาพรวม (Overall Risk score) ในช่องที่ (8) ในตารางที่ 11 คำนวณมาจากการถ่วงน้ำหนักผลกระทบในแต่ละด้าน (รายละเอียดตามภาคผนวก ก) และสะท้อนอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงในการได้รับผลกระทบมากที่สุดไปยังน้อยที่สุด

 

รูปที่ 11 ตารางสรุปความเสี่ยง (Overall Risk score) ของภาคอุตสาหกรรมจากผลกระทบ China flooding

Picture 11

หมายเหตุ: ( )* หมายถึง สัดส่วนแรงงานต่อแรงงานทั้งหมด ของผู้ประกันตนภาคบังคับในระบบประกันสังคม (มาตรา 33)

 

เมื่อพิจารณาผลกระทบโดยรวม อุตสาหกรรมที่ได้รับความเสี่ยงมากที่สุด (High risk) จากสถานการณ์ excess supply ของจีน และ trade diversion ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก เคมีภัณฑ์ สิ่งทอ เครื่องซักผ้า รถยนต์นั่ง เครื่องปรับอากาศ และตู้เย็น กลุ่มสินค้า High risk นี้มีผลกระทบ (exposure) ต่อเศรษฐกิจไทยพอสมควร โดยปัจจุบันคิดเป็น 20% ของการส่งออกรวม และ 25% ของการผลิตรวม รวมถึงมีสัดส่วนการจ้างงาน 7% ของการจ้างงานในระบบประกันสังคม (33% ของการจ้างงานในภาคการผลิต) 

 

ทั้งนี้ ในแต่ละรายสินค้ามีที่มาของความเสี่ยง (source of risk) ที่แตกต่างกัน (รายละเอียดในรูปที่ 11) เช่น เหล็ก เป็นกลุ่มที่ได้รับความเสี่ยงสูง เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่พึ่งพายอดขายในประเทศสูง และได้รับผลกระทบจากการเข้ามามีบทบาทของสินค้าจีน แต่มีความเสี่ยงจากด้านการส่งออกต่ำ เพราะไทยได้รับประโยชน์จากการเป็นผู้ส่งออกไปสหรัฐฯ ทดแทนจีนได้บ้าง เช่นเดียวกับเครื่องซักผ้าที่ได้รับความเสี่ยงสูง ทั้งจากการเข้ามาแข่งขันของสินค้าจีน และการส่งออกที่มีความเสี่ยงจากการถูกจีนเข้ามาแย่งตลาดอาเซียน รวมถึงกรณีที่ไทยไม่สามารถส่งออกทดแทนจีนได้ในตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากมาตรการ safeguard การนำเข้าเครื่องซักผ้าของสหรัฐฯ (U.S. International Trade Commission, 2023) 

 

ปัญหา China flooding จึงอาจเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่ฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในกลุ่ม High risk ที่ทั้งภาคการส่งออก การผลิต รวมถึงการจ้างงานโน้มลงอย่างต่อเนื่องในช่วงปีที่ผ่านมา (รูปที่ 12) อีกทั้งปัญหา Overcapacity ในจีนที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มความรุนแรงได้อีกในอนาคต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่จีนมีแผนการณ์ที่จะเพิ่มกำลังการผลิต และอุตสาหกรรมยานยนต์จากแนวโน้มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั้งรถยนต์นั่งและรถกระบะของจีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมไปถึงความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ปัญหา China flooding ในตลาดอาเซียนทวีความรุนแรงขึ้นอีกในอนาคต

 

รูปที่ 12 พัฒนาการของการส่งออก การผลิต และการจ้างงานในระบบประกันสังคม แบ่งตามความเสี่ยงของสาขา

Picture 12

ที่มา: กรมศุลกากร สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และสำนักงานประกันสังคม คำนวณโดย ธปท.

 

สรุปสาระสำคัญและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

 

China flooding เป็นสถานการณ์ที่สร้างความท้าทายให้กับภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกทั่วโลกรวมทั้งไทย เพราะเป็นปัญหาที่ภาคอุตสาหกรรมของไทยประสบกับความลำบากในการแข่งขันทั้งในการส่งออกสินค้าและการผลิตเพื่อบริโภคในประเทศ ซึ่งปัญหา China flooding เป็นปรากฏการณ์ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ส่วนหนึ่งเพราะสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของภาคอุตสาหกรรมไทย ซึ่งในการแก้ปัญหาต้องอาศัยนโยบายที่เหมาะสมและตรงจุด โดย สินค้าที่มีความเสี่ยงสูงเนื่องจากได้รับผลกระทบในตลาดส่งออกมากจากการสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้แก่จีน ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งอาจจำเป็นต้องปรับตัวด้วยการหาตลาดใหม่ทดแทน ในขณะที่สินค้าที่มีความเสี่ยงจากตลาดในประเทศ ได้แก่ เหล็ก ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ อาจต้องการนโยบายจากภาครัฐในการปกป้องทางการค้าที่ส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม ซึ่งจะมีส่วนช่วยปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศที่มีความเสี่ยงได้รับความเสียหายตามความเหมาะสม นอกจากนี้ การกำหนดมาตรฐานหรือคุณภาพสินค้านำเข้า รวมถึงมาตรการยกระดับความสามารถทางการผลิต (production capability) ซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับห่วงโซ่อุปทานโลกพร้อมกับการลงทุนในเทคโนโลยี นวัตกรรม และพัฒนาศักยภาพแรงงานเพื่อการพัฒนาสู่การผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มสูง จะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคการผลิตไทยในระยะยาว 

End Notes

 

1 ปัจจุบัน ปี 2023 สัดส่วนการนำเข้าจากจีนต่อการนำเข้ารวมของไทยคิดเป็น 24% เพิ่มขึ้น 10% จาก 10 ปีก่อน

  

2 CMSA เป็นเครื่องมือวิเคราะห์แยกองค์ประกอบของการเปลี่ยนแปลงส่วนแบ่งตลาดออกเป็น 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ (1) ปัจจัยด้านตลาด (market effect) ที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์โดยรวมของตลาดประเทศคู่ค้า (2) ปัจจัยด้านผลิตภัณฑ์ (product effect) ที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงด้านองค์ประกอบการนำเข้าสินค้าแต่ละชนิดของประเทศคู่ค้า และ (3) ปัจจัยด้านความสามารถในการแข่งขัน (competitiveness effect) ที่สะท้อนความสามารถในการชิงส่วนแบ่งตลาดในสินค้าเดียวกันกับประเทศคู่แข่ง (Bonanno, 2016)

 

3 ค่า Herfindahl-Hirschman Index (HHI) เป็นดัชนีชี้วัดภาวการณ์แข่งขันของตลาด โดยค่า HHI ของการนำเข้าของ ASEAN คำนวณจากผลรวมของสัดส่วนการนำเข้าสินค้าจากแต่ละประเทศของ ASEAN ยกกำลังสองในแต่ละสินค้าถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าการส่งออกของไทย โดยหากค่า HHI มีค่าต่ำกว่า 3,000 หมายถึง สินค้าในตลาดนั้นมีการนำเข้ามาจากหลายประเทศ สะท้อนถึงภาวะการแข่งขันในตลาดที่สูง

 

References

 

Bonanno, G. (2016). Constant Market Share Analysis: A Note. Brussels: Economics and Econometrics Research Institute.

 

Chen, T., Chang, A., Du, J., Zheng, N., & Cheng, M. (2023). China in Transition at The Crossroads of the Supply Chain. Goldman Sachs.

 

Chunanantatham, S., & Partihuttakorn, R. (2019, November 28). https://www.bot.or.th/. Retrieved from Bank of Thailand: https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/articles-and-publications/articles/Article_2Nov2019.html

 

Douglas, J., & Sebastian, D. (2024). China Shock 2.0 Sparks Global Backlash Against Flood of Cheap Goods. Singapore and Hong kong: The Wall Street Journal.

 

Edwards, L., & Jenkins, R. (2015). The Impact of Chinese Import Penetration on the South African Manufacturing Sector. The Journal of Development Studies, 447-463.

 

Kwon, G., Choi, I., Wei, M., & Tilton, A. (2024). Asia Economics Analyst Macro Implications of Ongoing Supply Chain Shifts. Goldman Sachs Ecomomics Research.

 

Mamchii, O. (2023, December 21). www.bestdiplomats.org. Retrieved from Best Diplomats: https://bestdiplomats.org/why-is-it-cheaper-to-manufacture-in-china/

 

Soyres, F. d., & Moore, D. (2024). Assessing China’s efforts to increase self-reliance. London: The Centre for Economic Policy Research (CEPR).

 

U.S. International Trade Commission. (2023). Large Residential Washers: Evaluation of the Effectiveness of Import Relief. Washington D.C.: U.S. International Trade Commission.

 

Xirui, L. (2024). How China’s EVs are Taking Thailand by Storm. Washington D.C.: The Diplomat.

 

ภาคผนวก ก

 

ผลกระทบจาก China flooding ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของไทย 2 ช่องทาง ได้แก่ ผลกระทบต่อภาคการส่งออก และ ผลกระทบต่อภาคการผลิตที่พึ่งพายอดขายในประเทศ โดยสามารถประเมินความเสี่ยงต่อภาคการผลิตของไทยโดยรวมได้ ดังตารางในรูปที่ 11 ดังนี้

 

  1. ผลกระทบต่อภาคการส่งออก ประกอบด้วยความเสี่ยง 4 ด้าน ได้แก่
    1/ การเข้ามาแย่งตลาดส่งออกของจีนในตลาดอาเซียน ประเมินจากการเปลี่ยนแปลง market share ใน ASEAN ของไทย (x) โดยสามารถแบ่งระดับความเสี่ยงตามคำนวณ score 
    โดยกำหนดเงื่อนไขโดยที่ x>3% จะมีระดับความเสี่ยง Risk = -2, 
    เมื่อ  0.2<x<3 จะมีระดับความเสี่ยง Risk = -1, 
    เมื่อ -0.2<x<0.2 จะมีระดับความเสี่ยง Risk = 0,
    เมื่อ -3<x<-0.2 จะมีระดับความเสี่ยง Risk = 1,
    เมื่อ  x<-3 จะมีระดับความเสี่ยง Risk = 2
    2/ ผลดีจากการได้ส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ ทดแทนจีนจาก Trade diversion ประเมินจากการเปลี่ยนแปลง market share ในสหรัฐฯ ของไทย (x) โดยสามารถแบ่งระดับความเสี่ยงตามคำนวณ score โดยกำหนดเงื่อนไขโดยที่ x>3% จะมีระดับความเสี่ยง Risk = 2,
    เมื่อ 0.2<x<3 จะมีระดับความเสี่ยง Risk = 1,
    เมื่อ -0.2<x<0.2 จะมีระดับความเสี่ยง Risk = 0,
    เมื่อ -3<x<-0.2 จะมีระดับความเสี่ยง Risk = -1,
    เมื่อ  x<-3 จะมีระดับความเสี่ยง Risk = -2
    3/ ผลจากนโยบายการพึ่งพาการผลิตในประเทศของจีน ประเมินจากสัดส่วน Self sufficiency ratio (domestic supply/domestic demand) (x) คาดการณ์ช่วง 2025- 2030 ของจีน (Goldman Sach (2023)) โดยคำนวณ risk score 
    กำหนดให้ (x<0.5)=-2, (0.5<x<1) = -1, (x=1)=0, (1<x<1.5) = 1, (x>1.5) = 2 หรือ 
    Z-Score ของ inventory หาก Z≤-0.5 จะมี Risk score = -2, 
    (-0.5<Z<0) จะมี Risk score = -1,
    (Z=0) จะมี Risk score = 0,
    (0<Z<0.5)  จะมี Risk score  = 1,
    (Z≥0.5) จะมี Risk score = 2

  2. ผลกระทบต่อภาคการผลิตที่เน้นตลาดในประเทศ ประเมินจาก
    4/ การเปลี่ยนแปลงของสัดส่วน import penetration (x) = import from China/(Domestic shipment + import) ระหว่าง ปี 2023 VS Avg. 2016-2018
    5/ คำนวณ score กำหนดให้การเปลี่ยนแปลงของสัดส่วน import penetration x<-5 จะมี risk score = -2, (-5<x<0) = -1, (x=0) = 0, (0<x<5) = 1, (x>5) = 2

  3. ผลกระทบรวมของ China flooding
    6/ คำนวณโดย weighted Export Risk Score กับ Domestic Risk Score ด้วย Export ratio by sector

คณะผู้เขียนขอขอบคุณผู้บริหารและเพื่อนร่วมงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย สำหรับความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่องานศึกษาครั้งนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณจิรายุ จันทรสาขา สำหรับการให้คำปรึกษา ตลอดจนทีม Editor ดร.พิม มโนพิโมกษ์ สำหรับความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์และช่วยให้งานศึกษาครั้งนี้มีความสมบูรณ์มากขึ้น

 

คณะผู้เขียน

Kerkkia

เกริกเกียรติ พรหมมินทร์: kerkkiap@bot.or.th

 

เจ้าหน้าที่ลงทุนอาวุโส ฝ่ายบริหารเงินสารอง สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีประสบการณ์การวิเคราะห์และติดตามด้านเศรษฐกิจและตลาดการเงินของจีน เป็นระยะเวลาประมาณ 3 ปี นอกจากนี้ ยังเคยทางานด้านการสร้างแบบจำลองเพื่อพยากรณ์เศรษฐกิจและสร้างเครื่องชี้เพื่อติดตามเศรษฐกิจ เป็นระยะเวลาประมาณ 4 ปี

Krichkanok

กฤชกนก ศรีเมือง: krichkas@bot.or.th

 

เศรษฐกร ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย สำเร็จการศึกษาด้าน Journalism จาก Thammasat University และด้าน Economics จาก National Institute of Development Administration ประเทศไทย มีประสบการณ์การทำงานข่าวเศรษฐกิจ การวิเคราะห์งบประมาณสำหรับดำเนินนโยบายการคลัง รวมถึงการวิเคราะห์สนเทศธุรกิจและครัวเรือน (Business Liaison Program: BLP)

์Nareegarn

นรีกานต์ วงศ์เจริญยศ: nareegaw@bot.or.th

 

เศรษฐกร ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้ติดตามภาวะอุตสาหกรรมในประเทศ โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาวะการเปิดปิดกิจการและโรงงาน รวมทั้งตลาดน้ำมันดิบโลก

Ronachart

รณชาติ ผาติหัตถกร: ronachap@bot.or.th

 

เศรษฐกรอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้สำเร็จการศึกษาด้าน Finance and Economics จาก University of East Anglia ประเทศอังกฤษ มีประสบการณ์การวิเคราะห์และติดตามด้านการค้าระหว่างประเทศ และตลาดแรงงาน ปัจจุบันศึกษาต่อด้าน Data Science ที่ University of Chicago ประเทศสหรัฐอเมริกา

Aroon

อรุณ ธนกิจโกฏินนทน์: aroont@bot.or.th

 

เศรษฐกร ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ปัจจุบันอยู่ส่วนดุลการชำระเงิน ติดตามภาวะส่งออก – นำเข้าสินค้า และมีความสนใจพิเศษด้าน data science

Disclaimer:

ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และการกล่าว คัด หรืออ้างอิงข้อมูลบางส่วนตามสมควรในบทความนี้ จะต้องกระทำโดยถูกต้องและอ้างอิงถึงผู้เขียนโดยชัดแจ้ง

 

Tags:

China flooding, Trade deficit, Production, Labor

 

Economic Pulse เป็นบทความวิชาการขนาดสั้นโดยบุคลากรของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งนำเสนองานวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจการเงินหรือด้านนโยบาย เพื่อสื่อสารต่อสาธารณชน นักวิชาการ และนักวิเคราะห์