การเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกอ้อยไทย เพื่อยกระดับรายได้ชาวไร่อ้อย

สุทธิศักดิ์ ศรีน้ำอ้อม | เพชรลักษณ์ บุญญาคุณากร ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

05 ก.ย. 2567

บทสรุป

อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ อีกทั้งยังมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมปลายน้ำ เช่น อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมยา ไปจนถึงอุตสาหกรรมพลังงาน นอกจากนี้ ยังมีอุตสาหกรรมต้นน้ำที่สำคัญ อย่างชาวไร่อ้อย บริการทางการเกษตร และอุตสาหกรรมปุ๋ย ซึ่งในแต่ละปีสามารถสร้างรายได้ให้ชาวไร่อ้อยได้กว่าแสนล้านบาท

 

ในภาพรวมของอุตสาหกรรมน้ำตาลทั่วโลก ไทยเป็นผู้เล่นรายใหญ่ รองจากบราซิลและอินเดีย โดยที่มูลค่าการส่งออกน้ำตาลของไทยในแต่ละปีอยู่ที่ประมาณ 1.2 แสนล้านบาทหรือคิดเป็นประมาณ 1.5% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไทยจะเป็นผู้เล่นรายสำคัญของโลก แต่ชาวไร่อ้อยไทยยังมีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ที่ต่ำกว่าประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่อื่น ๆ นอกจากนี้ ในประเทศไทยเองแต่ละภูมิภาคก็ยังมีความแตกต่างกันออกไป ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นสภาพภูมิอากาศ ราคา หรือแม้กระทั่งพฤติกรรมชาวไร่อ้อยเองก็ตาม

 

ดังนั้นการที่จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยนั้น ควรจะเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำในการเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกอ้อย ตลอดจนถึงการเก็บเกี่ยว วิธีการเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกอ้อย สามารถจัดกลุ่มตามขั้นตอนการจัดการไร่ได้ดังนี้ 1.การดูแล/ใส่ปุ๋ย 2. การจัดการน้ำ และ 3.การดูแลไร่หลังการเก็บเกี่ยว โดยที่การเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกอ้อยให้ชาวไร่อ้อยสามารถทำได้ 3 ด้าน ได้แก่ 1. การเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 2. การเพิ่มระยะเวลาการไว้ตอ และ 3. การเพิ่มรายได้อื่น/ลดต้นทุนการเพาะปลูก โดยการเพิ่มประสิทธิภาพฯ แต่ละด้านต้องคำนึงถึงบริบทเชิงพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน เช่น สภาพดินในแต่ละพื้นที่

 

อย่างไรก็ตาม การจะเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกอ้อยให้เห็นผลสัมฤทธิ์นั้น ต้องใช้เวลาในการปรับตัว ดังนั้นช่วงระหว่างการเปลี่ยนผ่านที่มีต้นทุน หน่วยงานต่าง ๆ ควรเข้ามาช่วยสนับสนุนในช่วงแรก ไม่ว่าจะเป็นจากโรงงานน้ำตาล หน่วยงานภาครัฐ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) และสถาบันการเงิน เพื่อจูงใจให้ชาวไร่อ้อยปรับตัว และเห็นผลได้ด้วยตนเอง นำไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน โดยการสนับสนุนนั้นควรขึ้นอยู่กับบริบทเชิงพื้นที่ และเหมาะสมกับพฤติกรรมชาวไร่อ้อยแต่ละราย การสนับสนุนควรมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มทักษะการเพาะปลูกให้เกษตรกรและไม่ทำลายกลไกตลาด



Disclaimer: งานศึกษานี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย