งานสัมมนาวิชาการ ประจำปี 2566 “ขับเคลื่อนภาคเกษตรอีสานให้ “เปลี่ยนผ่าน” สู่ความยั่งยืน”
01 ธ.ค. 2566
สัมมนาวิชาการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปี 2566
เรื่อง “ขับเคลื่อนภาคเกษตรอีสาน ให้ “เปลี่ยนผ่าน” สู่ความยั่งยืน”
05 ก.ย. 2566
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท. สภอ.) ได้จัดงานสัมมนาวิชาการ ประจำปี 2566 “ขับเคลื่อนภาคเกษตรอีสานให้ “เปลี่ยนผ่าน” สู่ความยั่งยืน” ในวันอังคารที่ 5 กันยายน 2566 เวลา 08.30-12.00 น. ณ ห้อง Convention 2-3 โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จ.ขอนแก่น เพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) ได้รับทราบทิศทางเศรษฐกิจการเงิน นโยบาย ธปท. รวมถึงประมาณการเศรษฐกิจภาคอีสานในอีก 2 ปีข้างหน้า เพื่อการวางแผนของภาคธุรกิจและครัวเรือน ตลอดจนรับฟังมุมมองเกี่ยวกับแนวทางการปรับตัวของภาคเกษตรเพื่อยกระดับและขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืน โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาทั้งภาคธุรกิจ ภาคเกษตร สถาบันการเงิน การศึกษา หน่วยงานราชการ และประชาชนทั่วไป ผ่านช่องทางออนไลน์ (online) และ ณ สถานที่จัดงาน (onsite) โดยงานสัมมนาแบ่งเป็น 3 ช่วง
กำหนดการ | |
09.00 น. | “ชวนคุยทิศทางเศรษฐกิจ...ชวนคิดปรับโครงสร้างภาคเกษตรอีสาน” โดย ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ |
10.00 น. | สนทนากับผู้ว่าการฯ หัวข้อ “ทิศทางเศรษฐกิจการเงินไทย” โดย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย |
11.00 น. | เสวนา เรื่อง “ขับเคลื่อนภาคเกษตรอีสาน ให้ “เปลี่ยนผ่าน” สู่ความยั่งยืน” - รศ.ดร.ภูมิสิทธิ์ มหาสุวีระชัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น - คุณมานพ แก้วโกย ผู้บริหาร หจก. เนเจอร์ฟู้ดโปรดักส์แอนด์มาร์เก็ตติ้ง - ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ดำเนินรายการโดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
|
นำเสนอผลประมาณการเศรษฐกิจอีสาน (Gross Regional Product: GRP) เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจอีสานบางช่วงแตกต่างไปจากประเทศ รวมทั้งยังไม่มีการเผยแพร่ประมาณการไปข้างหน้า ทำให้การพิจารณาเฉพาะทิศทางเศรษฐกิจประเทศอาจไม่สะท้อนทิศทางเศรษฐกิจภูมิภาค ธปท.สภอ. จึงได้ศึกษาและจัดทำประมาณการเศรษฐกิจภูมิภาคที่ให้มุมมองต่อทิศทางเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ในช่วง 2 ปีข้างหน้า เพื่อให้ธุรกิจและประชาชนได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งผลประมาณการเศรษฐกิจอีสานปี 66 คาดว่าหดตัวในช่วงร้อยละ -2.0 ถึง -1.0 โดยหดตัวเกือบทุกสาขาเศรษฐกิจ ยกเว้นภาคก่อสร้าง และปี 67 ขยายตัวเล็กน้อย อยู่ในช่วงร้อยละ 0.4-1.4 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าระดับประเทศ โดยเฉพาะกิจกรรมหลักที่อีสานพึ่งพิงมากถึง 1 ใน 3 ได้แก่ ภาคเกษตรและการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตรหดตัวจากสถานการณ์ภัยแล้ง เช่นเดียวกับด้านรายได้สุทธิของครัวเรือนในภาคอีสาน ปี 66-67 ที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยเฉพาะครัวเรือนเกษตรที่มีมากถึง 4.3 ล้านครัวเรือน ทั้งนี้ GRP ที่ขยายตัวต่ำใน 2 ปีนี้ สะท้อนปัญหาเรื้อรังของโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรที่ลดต่ำลง นอกจากนี้ ธปท. สภอ. ได้พัฒนาเครื่องชี้ Well-being Index สะท้อนความกินดีอยู่ดีของคนในอีสาน พบว่า แม้มิติด้านรายได้และการจ้างงานโดยรวมอีสานต่ำกว่าระดับประเทศ แต่ด้านความปลอดภัยและโครงสร้างพื้นฐานมีความโดดเด่นกว่าภาพรวมประเทศโดยเปรียบเทียบ สะท้อนถึงโอกาสในการยกระดับความเป็นอยู่ของคนในอีสานในระยะข้างหน้า ท้ายสุด ธปท.สภอ. ให้ความสำคัญยิ่งขึ้นกับการมีส่วนร่วมกับพันธมิตรในการพัฒนาเศรษฐกิจการเงินภาคอีสานในระยะยาว ทั้งการสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน การสนับสนุนการแก้หนี้อย่างยั่งยืน และการร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ในการพัฒนาความเป็นอยู่ในพื้นที่
ได้ฉายภาพเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวต่อเนื่องตามภาคการท่องเที่ยว แม้ว่า GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 66 ออกมาต่ำกว่าคาดจากอุปสงค์ต่างประเทศเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี แนวโน้มในปีนี้ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว จากการท่องเที่ยวและการบริโภคที่ขยายตัว ทั้งนี้ ธปท. จะเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจชุดใหม่ในเดือน ก.ย. 66 โดยคาดว่าจะปรับลดลงจากภาคการผลิตและการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาด จากการชะลอของเศรษฐกิจจีนและ Global Electronic Cycle ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยว ภาพรวมยังเพิ่มขึ้นได้ตามคาด แม้นักท่องเที่ยวจีนจะฟื้นตัวช้า อย่างไรก็ดี คาดว่าอุปสงค์ในประเทศยังฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน รายได้ และการจ้างงานนอกภาคเกษตรล่าสุดเดือน ก.ค. 66 ยังอยู่ในทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สำหรับเศรษฐกิจอีสานฟื้นตัวช้ากว่าประเทศและทุกภาค เนื่องจากประเทศและภาคอื่นมีภาคการท่องเที่ยวมาสนับสนุน ขณะที่อีสานยึดโยงกับภาคเกษตรซึ่งมีปัจจัยกดดันจากภัยแล้ง สำหรับทิศทางนโยบายการเงินมาถึงจุดเปลี่ยนจากดูแลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวไม่สะดุด (Smooth take off) มาเป็นมุ่งเน้นดูแลเศรษฐกิจโดยรวมให้สอดคล้องกับเป้าหมายเงินเฟ้อ (1-3%) และศักยภาพเศรษฐกิจในระยะยาว (3-4%) ซึ่งมองว่ามีแนวโน้มเข้าใกล้จุดสมดุล (neutral) แล้ว
ด้านปัญหาหนี้ครัวเรือน ภาคอีสานมีภาระหนี้เฉลี่ยที่ต้องจ่ายต่อเดือนมากที่สุด โดยเฉพาะหนี้ภาคเกษตรที่โตเร็วมากที่สุดในรอบ 6 ปี เมื่อเทียบกับภาคอื่น และมีโอกาสจะกลายเป็นหนี้เรื้อรัง ที่ไม่สามารถปิดจบได้ รวมทั้งภาพรวมหนี้อีสานที่มีสัดส่วนหนี้ครัวเรือน (P-loan) สูงกว่าภาคอื่น ซึ่ง ธปท. ไม่ได้นิ่งนอนใจ และให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง โดยได้ออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ให้ตรงจุดและยั่งยืน อาทิ หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) เพื่อปรับพฤติกรรมเจ้าหนี้และลูกหนี้ ผ่านการยกระดับมาตรฐานกระบวนการให้สินเชื่อตลอดวงจรหนี้ นอกจากนี้ จะมีการกำหนดแนวทางให้เจ้าหนี้ช่วยเหลือลูกหนี้เรื้อรัง (persistent debt) เพื่อให้ลูกหนี้กลุ่มนี้สามารถปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น และมีเงินเหลือพอดำรงชีพ
สำหรับแนวทางการยกระดับภาคอีสาน ควรผลักดันนโยบายจากพื้นที่ (Bottom-up) ทั้งจากภาคธุรกิจ ภาควิชาการ และประชาชนในพื้นที่ ในระยะยาวเห็นโอกาสของภาคอีสานที่มีศักยภาพจาก (1) การเติบโตของเมืองที่มากกว่าภาคอื่น ๆ เช่น จากข้อมูลดาวเทียมพบว่ามีการขยายตัวของพื้นที่ก่อสร้าง โดยเฉพาะในเมืองรอง (2) การค้าชายแดน ที่ระยะยาวคาดว่าจะดีขึ้น และ (3) ความได้เปรียบด้านประชากรที่มากกว่าภาคอื่น ๆ ซึ่งเป็นทรัพยากรผลักดันการเติบโตในอนาคต
ผ่านการเสวนากับผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ได้แก่ รศ.ดร.ภูมิสิทธิ์ มหาสุวีระชัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คุณมานพ แก้วโกย ผู้บริหาร หจก. เนเจอร์ฟูดโปรดักส์แอนด์มาร์เก็ตติ้ง และ ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดยมี ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เป็นผู้ดำเนินรายการ จากการเสวนาสรุปประเด็นสำคัญได้ 4 ข้อ ดังนี้
(1) ทำไมภาคเกษตรอีสานถึงต้องปรับเปลี่ยน โดยปัจจุบันแรงงานภาคเกษตรเผชิญปัญหาสังคมสูงอายุ ทำให้ผลิตภาพ (Productivity) ต่ำ อีกทั้งเป็นอาชีพที่เสี่ยงสูงแต่ผลตอบแทนต่ำ (High Risk Low Return) กอปรกับสภาพอากาศที่ผันผวนมากขึ้น เช่น สถานการณ์ภัยแล้งในปัจจุบัน ส่งผลให้ดินจะอุ้มน้ำได้น้อยลงกระทบต่อผลผลิต รวมถึงกิจกรรมการเกษตรส่งผลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับต้น ๆ (2) อะไรเป็นอุปสรรคในการปรับตัวของภาคเกษตรอีสาน นโยบายภาครัฐส่วนใหญ่เน้นการแก้ปัญหาระยะสั้น และอุดหนุนแบบไม่มีเงื่อนไข ส่งผลให้เกษตรกรขาดแรงจูงใจในการปรับตัว นำมาซึ่งผลิตภาพภาคเกษตรที่ลดลงมาโดยตลอด และสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ นอกจากนี้ ปัญหาหนี้ภาคเกษตรที่ยังเรื้อรังทำให้เกษตรกรยังทำเกษตรรูปแบบเดิมเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการปรับเปลี่ยน (3) แนวทางการปรับตัวของภาคเกษตรอีสาน การปรับตัวของเกษตรกรเหมือนคนทั่วไปมองความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นและแรงจูงใจเป็นอันดับแรก โดยปกติการปรับเปลี่ยนอาจนำมาซึ่งต้นทุนและความเสี่ยงที่สูงขึ้น แต่หากทำให้เกษตรกรเห็นว่าผลดีที่จะเกิดขึ้นมีอะไรและช่วยลดความเสี่ยงให้กับเกษตรกรผ่านรูปแบบประกันความเสียหาย จะเป็นการสร้างแรงจูงใจที่ดีมากขึ้น และ (4) ใครต้องปรับตัว ผู้ร่วมเสวนาให้ความเห็นในทางเดียวกันว่าในการขับเคลื่อนภาคเกษตรอีสาน จำเป็นต้องปรับตัวทั้งเกษตรกร ภาครัฐ และเอกชน โดยภาครัฐควรทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) ให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การมี Platform รายงานคุณภาพดินแบบเรียลไทม์ ให้เกษตรกรสามารถใช้ปุ๋ยที่เหมาะสม ทั้งนี้ ภาครัฐทำหน้าที่ให้การสนับสนุนด้านข้อมูล (Big Data) และภาคเอกชนเป็นผู้จัดทำ Platform และโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ โดยเฉพาะระบบการจัดการน้ำให้ทั่วถึง
.