สัมมนาวิชาการสัญจร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปี 2566
เรื่อง “ขับเคลื่อนภาคเกษตรอีสาน ให้ “เปลี่ยนผ่าน” สู่ความยั่งยืน”

01 ธ.ค. 2566

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท. สภอ.) ได้จัดงานสัมมนาวิชาการสัญจร ประจำปี 2566 หัวข้อ “ขับเคลื่อนภาคเกษตรอีสานให้ “เปลี่ยนผ่าน” สู่ความยั่งยืน” ในวันศุกร์ที่ 1 ธันวาคม 2566 เวลา 09.00-11.30 น. ณ ห้องประชุมสามพันโบก แกรนด์บอลรูม โรงแรมเซ็นทารา อุบล อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) ได้รับทราบทิศทางเศรษฐกิจการเงิน นโยบาย ธปท. รวมถึงประมาณการเศรษฐกิจภาคอีสานในอีก 2 ปีข้างหน้า เพื่อการวางแผนของภาคธุรกิจและครัวเรือน ตลอดจนรับฟังมุมมองเกี่ยวกับแนวทางการปรับตัวของภาคเกษตรเพื่อยกระดับและขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืน โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาทั้งภาคธุรกิจ ภาคเกษตร สถาบันการเงิน การศึกษา หน่วยงานราชการ และประชาชนทั่วไป ผ่านช่องทางออนไลน์ (online) และ ณ สถานที่จัดงาน (onsite) โดยงานสัมมนาแบ่งเป็น 3 ช่วง

cover

กำหนดการ

 กำหนดการ
09.00 น.

นำชมวีดิทัศน์ “5 ทศวรรษแบงก์ชาติอีสาน มุ่งสู่เศรษฐกิจการเงินที่ยั่งยืนและทั่วถึง”
และกล่าวเปิดงานสัมมนา โดย ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

09.15 น.นำเสนอ “ชวนคุยทิศทางเศรษฐกิจ...ชวนคิดปรับโครงสร้างภาคเกษตรอีสาน”
โดย คุณมนัสชัย จึงตระกูล ผู้ช่วยผู้อำนวยการ
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
11.00 น. 

เสวนา เรื่อง “ท้องถิ่นชวนคุย ชวนคิด สร้างเศรษฐกิจอีสานใหม่”    

- คุณสินสมุทร ศรีแสนปาง ผู้จัดการ บจก. โรงสีศรีแสงดาว จ.ร้อยเอ็ดและเป็นผู้ก่อตั้ง “โครงการศรีแสงดาวหมู่บ้านนาหยอด”

- คุณนงค์ลักษณ์ อัศวสกุลชัย ผู้นำวิสาหกิจชุมชนแปรรูปข้าวอินทรีย์ แบรนด์ “ข้าวสุข” จ.นครพนม

คุณวุฒิพงษ์ พลอยวิเลิศ เกษตรกรรุ่นใหม่เจ้าของเพจ “ไทบ้านฟาร์มเมอร์” และประธานสภาเกษตรกร จ.กาฬสินธุ์ ปี 2566

รศ.ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ ผู้อำนวยการโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ดำเนินรายการโดย คุณนพภา พันธุ์เพ็ง ประธานมูลนิธิสื่อสร้างสุข 

สรุปงานสัมมนาวิชาการ

Image_session 01

ในช่วงแรก เปิดงานสัมมนาโดย ดร. ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท. สภอ. โดยนำชมวีดิทัศน์ “5 ทศวรรษแบงก์ชาติอีสาน มุ่งสู่เศรษฐกิจการเงินที่ยั่งยืนและทั่วถึง” และกล่าวเปิดงาน

Image_Session 02

ช่วงที่สอง เป็นช่วง Perspectives ในหัวข้อ “ชวนคุยทิศทางเศรษฐกิจ ชวนคิดปรับโครงสร้างภาคเกษตรอีสาน” โดย คุณมนัสชัย จึงตระกูล ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ธปท. สภอ.

 

นำเสนอผลประมาณการเศรษฐกิจอีสาน (Gross Regional Product: GRP) เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจอีสานบางช่วงแตกต่างไปจากประเทศ รวมทั้งยังไม่มีการเผยแพร่ประมาณการไปข้างหน้า ทำให้การพิจารณาเฉพาะทิศทางเศรษฐกิจประเทศอาจไม่สะท้อนทิศทางเศรษฐกิจภูมิภาค ธปท.สภอ. จึงได้ศึกษาและจัดทำประมาณการเศรษฐกิจภูมิภาคที่ให้มุมมองต่อทิศทางเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ในช่วง 2 ปีข้างหน้า เพื่อให้ธุรกิจและประชาชนได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งผลประมาณการเศรษฐกิจอีสานปี 66 คาดว่าหดตัวในช่วงร้อยละ -2.0 ถึง -1.0 โดยหดตัวเกือบทุกสาขาเศรษฐกิจ ยกเว้นภาคก่อสร้าง และปี 67 ขยายตัวเล็กน้อย อยู่ในช่วงร้อยละ 0.4-1.4 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าระดับประเทศ โดยเฉพาะกิจกรรมหลักที่อีสานพึ่งพิงมากถึง 1 ใน 3 ได้แก่ ภาคเกษตรและการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตรหดตัวจากสถานการณ์ภัยแล้ง โดยภาพรวมเศรษฐกิจอีสานในระยะสั้นจะไม่สดใสมากนัก

 

นอกจากนี้ หากมองในระยะยาวภาคเกษตรอีสานยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างอื่น ๆ อีก เช่น แหล่งน้ำทำการเกษตรที่อยู่ในพื้นที่เขตชลประทานเพียงร้อยละ 10 โดยพื้นที่ทำการเกษตรส่วนใหญ่ทำนาข้าวซึ่งเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก ทำให้รายได้เกษตรอีสานมีความผันผวนสูงตามสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ นโยบายภาครัฐส่วนใหญ่เป็นนโยบายระยะสั้นที่ไม่จูงใจให้เกษตรกรปรับตัว ทำให้ความสามารถในการทำเกษตรของไทยถดถอยลง ผลลัพธ์ทั้งหมดจึงสะท้อนมาที่ปัญหา “หนี้สิน” ที่ครัวเรือนเกษตรอีสานเป็นหนี้เกือบร้อยละ 80 และในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา หนี้เกษตรภาคอีสานมีอัตราการเติบโตสูงมาก และในระยะข้างหน้ายังมีความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ดังนั้น การทำเกษตรแบบเดิม คงไม่สามารถตอบโจทย์ได้อีกต่อไป ท้ายสุด ได้กล่าวถึงตัวอย่างจากกลุ่มที่ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลง และปรับตัวจนประสบความสำเร็จ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าภาคอีสานยังมีความหวังถ้าสามารถส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการปรับตัวได้

Image_Session 03

ในช่วงสุดท้าย เป็นการเสวนาภายใต้หัวข้อ “ท้องถิ่นชวนคุย ชวนคิด สร้างเศรษฐกิจอีสานใหม่”

 

ผ่านการเสวนากับผู้ทรงคุณวุฒิ 4 ท่าน ได้แก่ คุณสินสมุทร ศรีแสนปาง ผู้จัดการ บจก. โรงสีศรีแสงดาว คุณนงค์ลักษณ์ อัศวสกุลชัย ผู้นำวิสาหกิจชุมชนแปรรูปข้าวอินทรีย์แบรนด์ “ข้าวสุข” คุณวุฒิพงษ์ พลอยวิเลิศ ประธานสภาเกษตรกร จ.กาฬสินธุ์ และ รศ.ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ ผู้อำนวยการโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมี คุณนพภา พันธุ์เพ็ง ประธานมูลนิธิสื่อสร้างสุข เป็นผู้ดำเนินรายการ จากการเสวนาสรุปประเด็นสำคัญได้ 3 ข้อ ดังนี้

 

(1) ทำไมภาคเกษตรอีสานถึงต้องปรับเปลี่ยน จากวิกฤตและโอกาสในปัจจุบันที่เปลี่ยนไป วิกฤตเปลี่ยน ได้แก่ อากาศเปลี่ยนทำให้ปริมาณน้ำฝนเปลี่ยนและพยากรณ์ได้ยากขึ้น อายุเปลี่ยน เกษตรกรอีสานอายุสูงที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่นอีกทั้งย้ายมาอยู่ในเมืองมากขึ้น ทำให้แรงงานภาคเกษตรลดลงโดยเฉพาะรุ่นใหม่  ปัจจัยการผลิตเปลี่ยนทั้งปุ๋ย ค่าไฟฟ้าที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนจากการบริโภคข้าวลดลงแต่ต้องการข้าวที่มีคุณภาพมากขึ้นทั้งความหอม ความนุ่ม และความปลอดภัย โดยต่างประเทศที่เป็นลูกค้าหลักของไทย เช่น จีน ได้มีมาตรฐานของตนเองที่มีลักษณะเฉพาะ จึงเป็นความท้าทายที่มากกว่าเดิม ในขณะเดียวกันโอกาสเปลี่ยนจากการมีเทคโนโลยีที่จะมาช่วยทั้งการตลาดและการผลิต

 

(2) อะไรเป็นอุปสรรคในการปรับตัวของภาคเกษตรอีสาน เกษตรกรมักมองว่ายังไม่ถึงเวลาเปลี่ยนแปลง ขณะที่อีกกลุ่มปรับตัวช้า เพราะอยู่ไกลความเจริญ จึงเข้าถึงข้อมูลและบริการได้ล่าช้าและยาก อีกทั้งไม่มีการจดบันทึกเพื่อส่งต่อความรู้ นอกจากนั้น การส่งเสริมจากภาครัฐเป็นนโยบายแบบเหมารวม ไม่เหมาะสมกับเกษตรกรแต่ละกลุ่ม

 

(3) แนวทางการปรับตัวของภาคเกษตรอีสาน ต้องเริ่มจากความเชื่อ มีความรู้ และลงมือทำ ความเชื่อนั้นต้องเชื่อก่อนว่า ทุกอย่างสามารถเป็นไปได้ จึงจะเปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ เช่น การทำนาหยอดแบบแห้งที่เหมาะกับบริบทภาคอีสานเพราะทนแล้งได้ดี ช่วยให้ข้าวหยั่งรากลึก ลดต้นทุนจากการใช้เมล็ดพันธุ์จาก 35 กก.ต่อไร่ เหลือเพียง 1 กก. ต่อไร่ แต่เพิ่มผลผลิตได้ 2 เท่า ต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 2-3 ปี จึงจะเห็นผลลัพธ์ ความรู้ ควรมีความรู้ที่ถูกต้องและควรหมั่นสอบถามผู้รู้อย่างสม่ำเสมอ และการลงมือทำ ในระยะแรกอาจเริ่มจากการแบ่งพื้นที่ทำการทดลอง เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่กลัวความเสี่ยงด้านรายได้ซึ่งได้เพียงปีละครั้ง นอกจากนั้น เกษตรกรควรต้องเป็นทั้งผู้ผลิต ผู้ประกอบการ นักการตลาด และนักวิจัย โดยรวมกลุ่มเรียนรู้ด้วยกันอาศัยประโยชน์จากความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน

 

โดยสิ่งสำคัญ คือ เกษตรกรต้องตระหนักว่า ทุกอย่างย่อมมีการเปลี่ยนแปลง ต้องพร้อมปรับตัว สำหรับนโยบายภาครัฐควรปรับเปลี่ยนตัวชี้วัด (KPI) จากเน้นเป้าหมายระยะสั้นเป็นคำนึงถึงประโยชน์ระยะยาว สนับสนุนการทำงานของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญต้องทำให้เกษตรกรตระหนักว่าการช่วยเหลือจากภาครัฐไม่ได้มีตลอดไป และการช่วยเหลือจากภาครัฐไม่ควรอยู่ในรูปแบบที่ทำให้เกษตรกรไม่ปรับตัว 

.

รับชม Video

ดูทั้งหมด
-

งานสัมมนาวิชาการสัญจร ประจำปี 2566 “ขับเคลื่อนภาคเกษตรอีสานให้ “เปลี่ยนผ่าน” สู่ความยั่งยืน”

01 ธ.ค. 2566

-

ชวนคุยทิศทางเศรษฐกิจ...ชวนคิดปรับโครงสร้างภาคเกษตรอีสาน

01 ธ.ค. 2566

-

เสวนา เรื่อง “ขับเคลื่อนภาคเกษตรอีสาน ให้ “เปลี่ยนผ่าน” สู่ความยั่งยืน”

01 ธ.ค. 2566

.

ข้อมูลเพิ่มเติม

ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

0 4391 3532

Neo-econ-div@bot.or.th