ช่วงที่ 1 : เปิดประตูสู่การยกระดับภาคเกษตรอีสาน
28 พ.ย. 2567
สัมมนาสัญจรประจำปี 2567 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรื่อง "พลิกมุมคิด สร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีด้วยภาคเกษตร"
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท. สภอ.) ได้จัดงานสัมมนาสัญจรประจำปี 2567 หัวข้อ “พลิกมุมคิด สร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีด้วยภาคเกษตร” ในวันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน 2567 เวลา 08.30-12.00 น. ณ ห้องทุ่งศรีเมืองแกรนด์บอลรูม โรงแรมเซ็นทารา อุดร จังหวัดอุดรธานี เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาซึ่งประกอบด้วย ภาคธุรกิจ ภาคเกษตร สถาบันการเงิน การศึกษา หน่วยงานราชการ และประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) ได้รับทราบสถานการณ์เศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของคนอีสาน ตลอดจนรับฟังมุมมองเกี่ยวกับหนี้สินเกษตรกรที่ฉุดรั้งการพัฒนาภาคเกษตรและเศรษฐกิจอีสานโดยรวม เพื่อให้แก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด มีประสิทธิผล และยั่งยืน โดยงานสัมมนาแบ่งเป็น 4 ช่วง
กำหนดการ | |
09.00 น. | ชมวีดิทัศน์ “5 พันธกิจแบงก์ชาติอีสานที่ผ่านมา” และกล่าวต้อนรับ “เปิดประตูสู่การยกระดับภาคเกษตรอีสาน” โดย ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ |
09.20 น. | นำเสนอ “จับชีพจรความเป็นอยู่ชาวอีสาน” โดย คุณปุญญวิชญ์ เศรษฐ์สมบูรณ์ ผู้วิเคราะห์อาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ |
09.45 น. | นำเสนอ “พาเบิ่ง...พฤติกรรมการก่อหนี้เกษตรกรอีสาน” โดย คุณมนัสชัย จึงตระกูล รองผู้อำนวยการ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ |
10.35 น. | เสวนา เรื่อง “พลิกมุมคิด สร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีด้วยภาคเกษตร” โดย - คุณจิรภัทร คาดีวี ประธาน บจก. ทรัพย์แสนฟาร์ม (แสนบุญฟาร์ม) จ.กาฬสินธุ์ - คุณเสกสรรค์ โพธิสาร ผู้ก่อตั้งพอดีฟาร์ม จ. อุดรธานี - นสพ. วิศุทธิ์ เอื้อกิ่งเพชร ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ จ. สกลนคร ดำเนินการเสวนาโดย รศ.ดร. ธีระวัฒน์ เจริญราษฎร์ คณะสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย |
ในช่วงแรกได้รับเกียรติจาก ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท. สภอ. กล่าวเปิดงานสัมมนาในหัวข้อ “เปิดประตูสู่การยกระดับภาคเกษตรอีสาน” ดร.ทรงธรรม เล่าว่า 30 ปีก่อนที่เริ่มทำงานที่แบงก์ชาติอีสาน ได้มีโอกาสลงพื้นที่สัมผัสชีวิตคนในภูมิภาคพอสมควร ก่อนจะย้ายไปทำงานที่ส่วนกลาง จนถึงวันนี้ได้กลับมาทำงานที่นี่อีกครั้ง ได้เห็นหลายอย่างในภูมิภาคมีการพัฒนาเติบโตเพิ่มขึ้นจากอดีตทั้งมาตรฐานโรงพยาบาล โรงแรม ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้าที่ทันสมัย สถานที่ท่องเที่ยวที่สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ แต่สิ่งที่ยังเหมือนเดิม คือ คนอีสานยังมีรายได้ต่ำ เนื่องจากคนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ขณะที่การก่อหนี้และอายุของเกษตรกรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมาก ท่ามกลางปัญหาต่าง ๆ ทั้งฟ้าฝนที่ไม่แน่นอน ทัศนคติการทำเกษตรที่ทำตามความเคยชิน และนโยบายภาครัฐที่บางครั้งไม่เอื้อให้เกิดการปรับตัว จึงเป็นที่มาของการจัดงานสัมมนาวันนี้ที่อยากเชิญชวนพลิกมุมคิดไปพร้อมกับสร้างแรงบันดาลใจในการยกระดับรายได้ภาคเกษตรให้มากขึ้น
ช่วงที่ 2 นำเสนอหัวข้อ “จับชีพจรความเป็นอยู่ชาวอีสาน” โดย คุณปุญญวิชญ์ เศรษฐ์สมบูรณ์ ผู้วิเคราะห์อาวุโส ธปท. สภอ. ให้ภาพแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจอีสาน (Gross Regional Product: GRP) ในปี 2567-68 ว่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัวแต่ยังเติบโตต่ำกว่าประเทศ อย่างไรก็ตาม ความกินดีอยู่ดีของคนอีสานที่เป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาไม่สามารถสะท้อนผ่านตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจาก 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจอีสานเติบโตเฉลี่ย 4% แต่รายได้ครัวเรือนเติบโตเพียง 1% ยิ่งไปกว่านั้นปัจจุบันครัวเรือนอีสานยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มรายได้น้อย และไม่เปลี่ยนแปลงตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน โดยมีสัดส่วนครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยสูงถึง 67% และหากกลุ่มที่มีรายได้น้อยที่สุดต้องการจะเลื่อนชั้นรายได้ให้ดีขึ้นต้องใช้เวลานานถึง 32 ปี สาเหตุจากแรงงานอีสานเกินครึ่งกระจุกตัวอยู่ในภาคเกษตร ซึ่งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้น้อย ดังนั้น การเข้าใจถึงความกินดีอยู่ดีของคนอีสาน จึงควรพิจารณาในมิติรายได้ครัวเรือนมากขึ้น ในด้านรายจ่าย พบว่า ภาคอีสานมีสัดส่วนการใช้จ่ายในหมวดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบริโภคสูงถึง 13% ส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายเกี่ยวกับการชำระหนี้เงินกู้ เสี่ยงโชค เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น ซึ่งเป็นรายจ่ายที่สามารถลดได้ นอกจากนั้นยังมีเรื่องหนี้ที่เป็นความท้าทาย โดยครัวเรือนอีสานมีการก่อหนี้สูงกว่าทุกภูมิภาค โดยเฉพาะอีสานตอนล่างที่ภาคเกษตรมีบทบาทสำคัญมีสัดส่วนการก่อหนี้สูงที่สุด โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อการทำเกษตร
ช่วงที่ 3 นำเสนอหัวข้อ “พาเบิ่ง...พฤติกรรมการก่อหนี้เกษตรกรอีสาน” โดยคุณมนัสชัย จึงตระกูล รองผู้อำนวย ธปท. สภอ. ได้ฉายภาพสถานการณ์หนี้เกษตรอีสานที่น่ากังวล เนื่องจากเกษตรกรอีสานมากกว่าครึ่งเป็นหนี้เรื้อรัง ชำระได้เพียงดอกเบี้ย และมีโอกาสสูงที่จะส่งต่อมรดกหนี้ให้ลูกหลาน โดยมี 3 สาเหตุที่ทำให้เกษตรกรเป็นหนี้เรื้อรัง ได้แก่ 1) รายได้และรายจ่ายไม่สอดคล้องกัน 2) มีทัศนคติทางการเงินที่อาจนำไปสู่พฤติกรรมการหมุนหนี้ การผิดนัดชำระหนี้ และการเป็นหนี้เรื้อรัง เช่น เห็นด้วยกับการกู้หนี้ใหม่ไปใช้หนี้เก่า การใช้หนี้ช้ากว่ากำหนดเล็กน้อยเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ และคิดว่าการกู้เงินจากสถาบันการเงินเป็นสิทธิที่จำเป็นต้องกู้ทุกปี และ 3) นโยบายที่อาจไม่สร้างแรงจูงใจให้รักษาวินัยการชำระหนี้ เช่น มาตรการพักหนี้ในอดีตที่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ดี มาตรการพักหนี้เกษตรกรในปัจจุบัน (เริ่มดำเนินการเมื่อไตรมาส 4 ปี 66) มีการสร้างแรงจูงใจให้ลูกหนี้ยังรักษาวินัยในการจ่ายหนี้ กล่าวคือ ถ้าเกษตรกรจ่ายหนี้ในช่วงที่เข้าร่วมมาตรการพักหนี้ เงินที่จ่ายจะไปตัดเงินต้นได้ทันที เนื่องจากรัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยให้ จึงเป็นโอกาสที่เกษตรกรจะลดหรือปลดหนี้ได้เร็วขึ้น แต่การใช้ชื่อมาตรการพักหนี้อาจทำให้เกษตรกรยังคงเข้าใจแบบเดิมได้ จึงทำการศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เพื่อทดสอบช่องทางการสื่อสารข้อมูลให้เกษตรกรรับรู้และเข้าใจข้อดีของการชำระหนี้ เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรมีพฤติกรรมการชำระหนี้ที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ผลการศึกษาชี้ว่าช่องทางเครือข่ายทางสังคมท้องถิ่น (Social Network) ที่เกษตรกรมีความคุ้นเคยไม่ว่าจะเป็น ผู้ใหญ่บ้าน ร้านค้าในชุมชน และคนในชุมชนที่ชาวบ้านเชื่อถือ (Local Influencer) สามารถกระตุ้นให้เกษตรกรมีพฤติกรรมการชำระหนี้ที่ดีขึ้นได้ โดยเฉพาะช่องทางคนในชุมชนที่ชาวบ้านเชื่อถือได้ผลมากที่สุด ซึ่งสะท้อนว่าการออกแบบนโยบายที่จูงใจให้เกิดการชำระหนี้อย่างยั่งยืน ต้องทำควบคู่กับการสื่อสารที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและสื่อสารอย่างสม่ำเสมอ
ในช่วงสุดท้าย เป็นการเสวนาหัวข้อ “พลิกมุมคิด สร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีด้วยภาคเกษตร” ผ่านการเสวนากับผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ได้แก่ คุณจิรภัทร คาดีวี ประธาน บจก. ทรัพย์แสนบุญฟาร์ม จ.กาฬสินธุ์ คุณเสกสรรค์ โพธิสาร เจ้าของพอดีฟาร์ม จ.อุดรธานี และ นสพ.วิศุทธิ์ เอื้อกิ่งเพชร ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ. สกลนคร โดยมี รศ.ดร. ธีระวัฒน์ เจริญราษฎร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย เป็นผู้ดำเนินรายการ จากการเสวนาสรุปประเด็นสำคัญ ดังนี้ 1) ปัญหาของเกษตรกรไทยที่สำคัญที่ทำให้เกษตรกรทำแบบเดิมคือ ทัศนคติ เช่น ชอบทำตามความสนใจของคนอื่น เน้นการทำมากไว้ก่อน และไม่กล้าเปลี่ยนจากสิ่งที่เคยทำเพราะกลัวจะไม่มีตลาดรองรับ รวมทั้งขาดตัวกลางสำคัญที่จะสืบทอดและขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ เนื่องจากปัญหาครอบครัวแหว่งกลางที่มีเพียงผู้สูงอายุและเด็ก 2) การเพิ่มรายได้ สินค้าควรสร้างอัตลักษณ์ให้มีความแตกต่าง เน้นความประณีต สร้างคุณค่าผ่านเรื่องเล่า ผู้ขายควรสร้างตัวตนด้วยตนเองผ่านทางออนไลน์เพื่อเพิ่มช่องทางการขาย พร้อมกับหากลุ่มลูกค้าใหม่ที่มีกำลังซื้อ และสร้างความตระหนักว่าสินค้าในทุกตลาดมีวัฏจักรอิ่มตัว ต้องพร้อมที่จะปรับตัวหาแนวทางใหม่ ๆ เช่น สินค้าเกี่ยวกับปศุสัตว์ที่ปรับจากการขายสินค้าแบบเนื้อสดเป็นพร้อมทานเพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ เป็นต้น 3) แนวทางสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการยกระดับภาคเกษตร 1. สร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่กลับสู่ภูมิลำเนาเพื่อเป็นกำลังหลักในการพาเกษตรกรรุ่นเก่าที่พร้อมปรับตัวทำสิ่งใหม่ ๆ 2. สร้างค่านิยมด้านความซื่อสัตย์ให้สินค้ามีความน่าเชื่อถือ ไม่หลอกลวงผู้บริโภค 3. มีผู้รับผิดชอบหลักเป็นเจ้าภาพในการเชื่อมเครือข่ายเพื่อสร้างการขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ นอกจากนั้นภาครัฐควรสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อธุรกิจ เช่น การลดขั้นตอนหรือกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค ท้ายสุด การเปลี่ยนแนวความคิดให้ถูกต้อง คือจุดเริ่มต้นสำคัญของการยกระดับรายได้เกษตรกรที่จะต้องใช้เวลา ทุกภาคส่วนควรให้ความสำคัญ และวางรากฐานให้แข็งแรงโดยเริ่มตั้งแต่สถาบันครอบครัวและการศึกษา
28 พ.ย. 2567
28 พ.ย. 2567
28 พ.ย. 2567
09 ก.ค. 2567
.