งานสัมมนาวิชาการสัญจร ประจำปี 2566 “ขับเคลื่อนภาคเกษตรอีสานให้ “เปลี่ยนผ่าน” สู่ความยั่งยืน”
01 ธ.ค. 2566
สัมมนาวิชาการสัญจร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปี 2566
เรื่อง “ขับเคลื่อนภาคเกษตรอีสาน ให้ “เปลี่ยนผ่าน” สู่ความยั่งยืน”
01 ธ.ค. 2566
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท. สภอ.) ได้จัดงานสัมมนาวิชาการสัญจร ประจำปี 2566 หัวข้อ “ขับเคลื่อนภาคเกษตรอีสานให้ “เปลี่ยนผ่าน” สู่ความยั่งยืน” ในวันศุกร์ที่ 1 ธันวาคม 2566 เวลา 09.00-11.30 น. ณ ห้องประชุมสามพันโบก แกรนด์บอลรูม โรงแรมเซ็นทารา อุบล อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) ได้รับทราบทิศทางเศรษฐกิจการเงิน นโยบาย ธปท. รวมถึงประมาณการเศรษฐกิจภาคอีสานในอีก 2 ปีข้างหน้า เพื่อการวางแผนของภาคธุรกิจและครัวเรือน ตลอดจนรับฟังมุมมองเกี่ยวกับแนวทางการปรับตัวของภาคเกษตรเพื่อยกระดับและขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืน โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาทั้งภาคธุรกิจ ภาคเกษตร สถาบันการเงิน การศึกษา หน่วยงานราชการ และประชาชนทั่วไป ผ่านช่องทางออนไลน์ (online) และ ณ สถานที่จัดงาน (onsite) โดยงานสัมมนาแบ่งเป็น 3 ช่วง
กำหนดการ | |
09.00 น. | นำชมวีดิทัศน์ “5 ทศวรรษแบงก์ชาติอีสาน มุ่งสู่เศรษฐกิจการเงินที่ยั่งยืนและทั่วถึง” ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ |
09.15 น. | นำเสนอ “ชวนคุยทิศทางเศรษฐกิจ...ชวนคิดปรับโครงสร้างภาคเกษตรอีสาน” โดย คุณมนัสชัย จึงตระกูล ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ |
11.00 น. | เสวนา เรื่อง “ท้องถิ่นชวนคุย ชวนคิด สร้างเศรษฐกิจอีสานใหม่” - คุณสินสมุทร ศรีแสนปาง ผู้จัดการ บจก. โรงสีศรีแสงดาว จ.ร้อยเอ็ดและเป็นผู้ก่อตั้ง “โครงการศรีแสงดาวหมู่บ้านนาหยอด” - คุณนงค์ลักษณ์ อัศวสกุลชัย ผู้นำวิสาหกิจชุมชนแปรรูปข้าวอินทรีย์ แบรนด์ “ข้าวสุข” จ.นครพนม - คุณวุฒิพงษ์ พลอยวิเลิศ เกษตรกรรุ่นใหม่เจ้าของเพจ “ไทบ้านฟาร์มเมอร์” และประธานสภาเกษตรกร จ.กาฬสินธุ์ ปี 2566 - รศ.ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ ผู้อำนวยการโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ดำเนินรายการโดย คุณนพภา พันธุ์เพ็ง ประธานมูลนิธิสื่อสร้างสุข |
นำเสนอผลประมาณการเศรษฐกิจอีสาน (Gross Regional Product: GRP) เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจอีสานบางช่วงแตกต่างไปจากประเทศ รวมทั้งยังไม่มีการเผยแพร่ประมาณการไปข้างหน้า ทำให้การพิจารณาเฉพาะทิศทางเศรษฐกิจประเทศอาจไม่สะท้อนทิศทางเศรษฐกิจภูมิภาค ธปท.สภอ. จึงได้ศึกษาและจัดทำประมาณการเศรษฐกิจภูมิภาคที่ให้มุมมองต่อทิศทางเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ในช่วง 2 ปีข้างหน้า เพื่อให้ธุรกิจและประชาชนได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งผลประมาณการเศรษฐกิจอีสานปี 66 คาดว่าหดตัวในช่วงร้อยละ -2.0 ถึง -1.0 โดยหดตัวเกือบทุกสาขาเศรษฐกิจ ยกเว้นภาคก่อสร้าง และปี 67 ขยายตัวเล็กน้อย อยู่ในช่วงร้อยละ 0.4-1.4 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าระดับประเทศ โดยเฉพาะกิจกรรมหลักที่อีสานพึ่งพิงมากถึง 1 ใน 3 ได้แก่ ภาคเกษตรและการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตรหดตัวจากสถานการณ์ภัยแล้ง โดยภาพรวมเศรษฐกิจอีสานในระยะสั้นจะไม่สดใสมากนัก
นอกจากนี้ หากมองในระยะยาวภาคเกษตรอีสานยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างอื่น ๆ อีก เช่น แหล่งน้ำทำการเกษตรที่อยู่ในพื้นที่เขตชลประทานเพียงร้อยละ 10 โดยพื้นที่ทำการเกษตรส่วนใหญ่ทำนาข้าวซึ่งเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก ทำให้รายได้เกษตรอีสานมีความผันผวนสูงตามสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ นโยบายภาครัฐส่วนใหญ่เป็นนโยบายระยะสั้นที่ไม่จูงใจให้เกษตรกรปรับตัว ทำให้ความสามารถในการทำเกษตรของไทยถดถอยลง ผลลัพธ์ทั้งหมดจึงสะท้อนมาที่ปัญหา “หนี้สิน” ที่ครัวเรือนเกษตรอีสานเป็นหนี้เกือบร้อยละ 80 และในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา หนี้เกษตรภาคอีสานมีอัตราการเติบโตสูงมาก และในระยะข้างหน้ายังมีความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ดังนั้น การทำเกษตรแบบเดิม คงไม่สามารถตอบโจทย์ได้อีกต่อไป ท้ายสุด ได้กล่าวถึงตัวอย่างจากกลุ่มที่ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลง และปรับตัวจนประสบความสำเร็จ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าภาคอีสานยังมีความหวังถ้าสามารถส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการปรับตัวได้
ผ่านการเสวนากับผู้ทรงคุณวุฒิ 4 ท่าน ได้แก่ คุณสินสมุทร ศรีแสนปาง ผู้จัดการ บจก. โรงสีศรีแสงดาว คุณนงค์ลักษณ์ อัศวสกุลชัย ผู้นำวิสาหกิจชุมชนแปรรูปข้าวอินทรีย์แบรนด์ “ข้าวสุข” คุณวุฒิพงษ์ พลอยวิเลิศ ประธานสภาเกษตรกร จ.กาฬสินธุ์ และ รศ.ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ ผู้อำนวยการโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมี คุณนพภา พันธุ์เพ็ง ประธานมูลนิธิสื่อสร้างสุข เป็นผู้ดำเนินรายการ จากการเสวนาสรุปประเด็นสำคัญได้ 3 ข้อ ดังนี้
(1) ทำไมภาคเกษตรอีสานถึงต้องปรับเปลี่ยน จากวิกฤตและโอกาสในปัจจุบันที่เปลี่ยนไป วิกฤตเปลี่ยน ได้แก่ อากาศเปลี่ยนทำให้ปริมาณน้ำฝนเปลี่ยนและพยากรณ์ได้ยากขึ้น อายุเปลี่ยน เกษตรกรอีสานอายุสูงที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่นอีกทั้งย้ายมาอยู่ในเมืองมากขึ้น ทำให้แรงงานภาคเกษตรลดลงโดยเฉพาะรุ่นใหม่ ปัจจัยการผลิตเปลี่ยนทั้งปุ๋ย ค่าไฟฟ้าที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนจากการบริโภคข้าวลดลงแต่ต้องการข้าวที่มีคุณภาพมากขึ้นทั้งความหอม ความนุ่ม และความปลอดภัย โดยต่างประเทศที่เป็นลูกค้าหลักของไทย เช่น จีน ได้มีมาตรฐานของตนเองที่มีลักษณะเฉพาะ จึงเป็นความท้าทายที่มากกว่าเดิม ในขณะเดียวกันโอกาสเปลี่ยนจากการมีเทคโนโลยีที่จะมาช่วยทั้งการตลาดและการผลิต
(2) อะไรเป็นอุปสรรคในการปรับตัวของภาคเกษตรอีสาน เกษตรกรมักมองว่ายังไม่ถึงเวลาเปลี่ยนแปลง ขณะที่อีกกลุ่มปรับตัวช้า เพราะอยู่ไกลความเจริญ จึงเข้าถึงข้อมูลและบริการได้ล่าช้าและยาก อีกทั้งไม่มีการจดบันทึกเพื่อส่งต่อความรู้ นอกจากนั้น การส่งเสริมจากภาครัฐเป็นนโยบายแบบเหมารวม ไม่เหมาะสมกับเกษตรกรแต่ละกลุ่ม
(3) แนวทางการปรับตัวของภาคเกษตรอีสาน ต้องเริ่มจากความเชื่อ มีความรู้ และลงมือทำ ความเชื่อนั้นต้องเชื่อก่อนว่า ทุกอย่างสามารถเป็นไปได้ จึงจะเปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ เช่น การทำนาหยอดแบบแห้งที่เหมาะกับบริบทภาคอีสานเพราะทนแล้งได้ดี ช่วยให้ข้าวหยั่งรากลึก ลดต้นทุนจากการใช้เมล็ดพันธุ์จาก 35 กก.ต่อไร่ เหลือเพียง 1 กก. ต่อไร่ แต่เพิ่มผลผลิตได้ 2 เท่า ต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 2-3 ปี จึงจะเห็นผลลัพธ์ ความรู้ ควรมีความรู้ที่ถูกต้องและควรหมั่นสอบถามผู้รู้อย่างสม่ำเสมอ และการลงมือทำ ในระยะแรกอาจเริ่มจากการแบ่งพื้นที่ทำการทดลอง เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่กลัวความเสี่ยงด้านรายได้ซึ่งได้เพียงปีละครั้ง นอกจากนั้น เกษตรกรควรต้องเป็นทั้งผู้ผลิต ผู้ประกอบการ นักการตลาด และนักวิจัย โดยรวมกลุ่มเรียนรู้ด้วยกันอาศัยประโยชน์จากความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน
โดยสิ่งสำคัญ คือ เกษตรกรต้องตระหนักว่า ทุกอย่างย่อมมีการเปลี่ยนแปลง ต้องพร้อมปรับตัว สำหรับนโยบายภาครัฐควรปรับเปลี่ยนตัวชี้วัด (KPI) จากเน้นเป้าหมายระยะสั้นเป็นคำนึงถึงประโยชน์ระยะยาว สนับสนุนการทำงานของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญต้องทำให้เกษตรกรตระหนักว่าการช่วยเหลือจากภาครัฐไม่ได้มีตลอดไป และการช่วยเหลือจากภาครัฐไม่ควรอยู่ในรูปแบบที่ทำให้เกษตรกรไม่ปรับตัว
.
.