สัมมนาวิชาการสัญจร ภาคเหนือ ประจำปี 2566
หัวข้อ “ยกระดับเศรษฐกิจ สู่การพัฒนาภาคเหนือตอนล่างอย่างยั่งยืน”
05 ก.ย. 2566
สัมมนาวิชาการสัญจร ภาคเหนือ ประจำปี 2566
หัวข้อ “ยกระดับเศรษฐกิจ สู่การพัฒนาภาคเหนือตอนล่างอย่างยั่งยืน”
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ (ธปท. สภน.) ได้จัดงานสัมมนาวิชาการสัญจร ประจำปี 2566 หัวข้อ “ยกระดับเศรษฐกิจ สู่การพัฒนาภาคเหนือตอนล่างอย่างยั่งยืน” ในวันอังคารที่ 14 พ.ย. 2566 เวลา 10.00 - 12.00 น. ณ ห้องประชุม The Moon โรงแรม 42C เดอะชิค โฮเทล อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนในภาคเหนือได้รับทราบทิศทางเศรษฐกิจการเงินและนโยบายของ ธปท. พร้อมทั้งรับฟังมุมมองเกี่ยวกับอนาคตเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือ และแนวทางในการปรับตัวของธุรกิจที่เป็นรูปธรรมและปฏิบัติได้จริงเพื่อยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน ภาคธุรกิจ สถาบันการเงิน และสถาบันการศึกษาในพื้นที่เหนือล่าง โดยงานสัมมนาแบ่งเป็น 2 ช่วง
ช่วงแรก เปิดงานสัมมนาและกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ก้าวต่อไปของเศรษฐกิจการเงินไทย” โดย คุณอลิศรา มหาสันทนะ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
ช่วงที่สอง เป็นการเสวนาในหัวข้อ “ยกระดับเศรษฐกิจ สู่การพัฒนาภาคเหนือตอนล่างอย่างยั่งยืน” โดยผู้ทรงคุณวุฒิจาก 3 องค์กรได้แก่ คุณธนะชาติ เหล่าศิริพงศ์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายธุรกิจพลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) คุณศรัณย์ ไกรพฤษะวัน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์การค้า วี-สแควร์ พลาซ่า จังหวัดนครสวรรค์ และคุณอรรถพล ห้วยหงษ์ทอง ผู้จัดการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) สาขาภาคเหนือตอนล่าง และคุณพรวิภา ตั้งเจริญมั่นคง ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท. สภน. เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
สรุปประเด็นสำคัญจากการเสวนาได้ดังนี้
ปัจจุบันภาคธุรกิจกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายด้านที่เปรียบเสมือนคลื่นลูกใหญ่ที่สั่นคลอนการอยู่รอดของธุรกิจหากไม่สามารถต้านทานกระแสได้ ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านดิจิทัลที่เกิดขึ้นอย่างเป็นวงกว้าง (Digital Disruption) และความพยายามในการหาจุดสมดุลระหว่างการรักษาผลกำไรที่สูงที่สุดและการดูแลสิ่งแวดล้อมตามแนวคิดเรื่อง “ความยั่งยืน (Sustainability)” ดังนั้น การปรับตัวคือทางรอดของภาคธุรกิจเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและตอบโจทย์พฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป โดยปัจจัยสำคัญ 4 ประการที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จและสามารถดำเนินธุรกิจต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ได้แก่
(1) การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต โดยปัจจุบันเทคโนโลยีสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นและมีต้นทุนที่ถูกลงกว่าอดีต
(2) การพัฒนาผลิตภัณฑ์และเพิ่มคุณภาพสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรลุความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
(3) การหาพันธมิตรกับผู้ประกอบการรายอื่น (Partnership) ที่สนับสนุนหรือต่อยอดจากธุรกิจเดิม โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนด้วยเม็ดเงินจำนวนมาก แต่เป็นการลงทุนด้านอื่น เช่น ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Know-How)
(4) การปรับตัวไปพร้อมกับคู่ค้าตลอดห่วงโซ่การผลิต (Supply chain) เช่น การให้ความรู้และช่วยเหลือคู่ค้าในการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตให้มีคุณภาพและยั่งยืน
ตัวอย่างการปรับตัวของผู้ประกอบการในพื้นที่ อาทิ
(1) นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและหาลูกค้าใหม่ ๆ เช่น การนำระบบซอฟท์แวร์มาช่วยบริหารการขายสินค้าและการจัดเก็บข้อมูลลูกค้า เพื่อวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้า และออกแบบสินค้าและการขายให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น
(2) เปลี่ยนจากคู่แข่งให้เป็นคู่ค้า ผู้ประกอบการรายเล็กอาจไม่จำเป็นต้องแข่งกับผู้ประกอบการรายใหญ่เสมอไป เพราะมีข้อจำกัดด้านเงินทุน แต่จับมือกับรายใหญ่และทำธุรกิจไปด้วยกัน โดยที่ยังสามารถรักษาตัวตนของธุรกิจเดิมให้มีจุดขายอยู่
(3) มองหาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ที่ธุรกิจเราทำได้ แต่คู่แข่งยังไม่ได้ทำหรือทำไม่ได้ เช่น สร้างผลิตภัณฑ์แบบใหม่ที่รายใหญ่อาจผลิตแล้วไม่คุ้มทุน แต่รายเล็กยังทำได้และมีกำไร เป็นต้น และ
(4) ภาคธุรกิจในพื้นที่เข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรให้เปิดใจและกล้าใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อสร้างผลผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืนและมีคุณภาพ รวมถึงลดของเสียจากการทำการเกษตรได้มากขึ้น
นอกจากนี้ การสนับสนุนจากภาครัฐช่วยเพิ่มแรงจูงใจในการปรับตัวของภาคธุรกิจ และการร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนช่วยให้ภาคธุรกิจและชุมชนปรับตัวได้เร็วขึ้น โดยสิ่งที่ภาครัฐ (สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa) ช่วยสนับสนุนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีดังนี้
(1) สร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจได้และไม่ส่งผลเสีย เพื่อผลักดันให้มีการใช้เทคโนโลยีในวงกว้าง
(2) สนับสนุนเงินทุนให้กับธุรกิจที่มีเงินทุนไม่เพียงพอ หากอยากปรับมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้น
(3) พัฒนาและเพิ่มบุคลากรด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง และ
(4) ส่งเสริมธุรกิจด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ (startup) ให้สามารถพัฒนาสินค้าและบริการตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างตรงจุด และช่วยเหลือการจับคู่ทางธุรกิจ (business matching)
คุณธนะชาติ เหล่าศิริพงศ์
ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายธุรกิจพลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน)
คุณศรัณย์ ไกรพฤษะวัน
กรรมการผู้จัดการ ศูนย์การค้า วี-สแควร์ พลาซ่า จังหวัดนครสวรรค์
คุณอรรถพล ห้วยหงษ์ทอง
ผู้จัดการสาขาภาคเหนือตอนล่าง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)