สัมมนาวิชาการภาคใต้ ปี 2566
10 กรกฎาคม 2565 ใช้เวลาอ่าน 999 นาที
เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการบริโภคภายในประเทศและภาคท่องเที่ยว แม้ว่าภาคผลิตและส่งออกฟื้นตัวได้ช้ากว่าคาดจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว
เศรษฐกิจภาคใต้ในปีนี้เติบโตได้ดีจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ขณะที่เงินเฟ้อภาคใต้ชะลอลงไปในทิศทางเดียวกับประเทศ สำหรับนโยบายการเงิน อัตราดอกเบี้ยนโยบายถือว่าเข้าใกล้จุดสมดุล (neutral) มากขึ้น ในระยะข้างหน้า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะพิจารณานโยบายการเงินให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจระยะยาวและปานกลางที่กำลังเข้าสู่ระดับศักยภาพ ประกอบกับเงินเฟ้อที่อยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน และไม่มีปัญหาเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจ ส่วนปัญหาหนี้ครัวเรือนยังไม่ทำให้เกิดวิกฤต แต่อยู่ในระดับสูงมาต่อเนื่อง แม้การขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้ภาระหนี้เพิ่มขึ้น แต่ไม่ใช่ทุกกลุ่มจะถูกกระทบ เพราะสินเชื่อรายย่อยส่วนใหญ่ได้รับอัตราดอกเบี้ยคงที่ (fixed rate) และยอดผ่อนชำระหนี้คงที่ โดย 40% ของหนี้ครัวเรือนในภาคใต้เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต สินเชื่อเช่าซื้อ
ที่ผ่านมา ธปท. ให้ความสำคัญกับปัญหาหนี้ครัวเรือนและต้องเร่งแก้ไข จึงได้ออกหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (responsible lending) (บังคับใช้ 1 ม.ค. 67) ผ่านการยกระดับมาตรฐานกระบวนการให้สินเชื่อตลอดวงจรหนี้ นอกจากนี้ จะกำหนดแนวทางให้เจ้าหนี้ช่วยเหลือลูกหนี้เรื้อรัง (persistent debt) (บังคับใช้ 1 เม.ย. 67) ซึ่งก็คือกลุ่มที่ยังจ่ายหนี้ได้ตามปกติ แต่ปิดจบหนี้ไม่ได้ เพื่อให้ลูกหนี้กลุ่มนี้สามารถปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น รวมทั้งในระยะข้างหน้าจะมีมาตรการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ (risk based pricing) และมาตรการกำหนดภาระหนี้ต่อรายได้ (debt service ratio: DSR) เพื่อดูแลการให้สินเชื่อที่สอดคล้องกับศักยภาพของผู้กู้ ซึ่งจะพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการบังคับใช้ ทั้งนี้ในการออกมาตรการทางการเงิน แม้จะไม่สามารถเจาะจงรายภูมิภาคได้ แต่ ธปท. ก็ได้พูดคุยกับคนในพื้นที่ค่อนข้างมากเพื่อให้สามารถออกแบบมาตรการตอบโจทย์พื้นที่ได้ เช่น มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ (Asset Warehousing) ที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาคใต้ได้ค่อนข้างมาก
นอกจากนี้ ด้วยเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงกับต่างประเทศสูงจากการส่งออกและภาคท่องเที่ยว ทำให้ได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนทั้งจากปัจจัยภายนอก (การดำเนินนโยบายการเงินของประเทศหลัก แนวโน้มเศรษฐกิจโลก) และปัจจัยภายในประเทศ (การซื้อขายทองคำของไทย สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ)
ทั้งนี้ ระยะถัดไป ค่าเงินบาทอาจยังคงมีความผันผวน ผู้ประกอบการภาคธุรกิจจึงควรป้องกันและบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งมองว่าธุรกิจภาคใต้จะได้ประโยชน์จากระบบนิเวศใหม่ของอัตราแลกเปลี่ยน (New FX Ecosystem) ที่ ธปท. ได้ผลักดัน เพื่อให้ภาคเอกชนมีความพร้อมในการรับมือความผันผวนจากค่าเงินด้วยต้นทุนที่ต่ำลง และเพิ่มทางเลือกให้ผู้ประกอบการสามารถป้องกันความเสี่ยงได้คล่องตัวและยืดหยุ่นขึ้น โดยการปรับเกณฑ์และผ่อนคลายกฎระเบียบการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยง (hedging) และการใช้บัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Deposit, FCD) ให้สะดวกและคล่องตัวขึ้น รวมทั้งสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่น (local currencies) ในการค้ากับประเทศภูมิภาคให้มากขึ้น โดยเฉพาะเงินหยวนของจีนที่เป็นคู่ค้าหลักภาคใต้ ที่ปัจจุบันการค้ากับจีนและมาเลเซียของภาคใต้ 95% และ 70% ของการค้าระหว่างประเทศรวม ยังอยู่ในรูปดอลล่าร์สหรัฐ ฯ หากใช้สกุลเงินท้องถิ่นโดยตรงจะเป็นทางเลือกช่วยบริหารความเสี่ยงได้
นอกจากนี้ ธปท. ได้ผลักดันโครงสร้างพื้นฐาน Cross-border QR payment เพื่อเชื่อมโยงระบบการชำระเงินกับหลายประเทศในภูมิภาค ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม กัมพูชา และญี่ปุ่น ซึ่งเศรษฐกิจภาคใต้จะได้รับประโยชน์ในส่วนนี้ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับประเทศมาเลเซีย ซึ่งช่วยให้ประชาชนทั้ง 2 ประเทศ สามารถใช้จ่ายข้ามประเทศกันได้อย่างสะดวกและคล่องตัวขึ้น ตลอดจนรองรับการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวมาเลเซียที่เข้ามา โดยจะเป็นผลดีต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยวในภาคใต้ สำหรับในระยะต่อไป ธปท. จะเร่งประชาสัมพันธ์โครงการดังกล่าวให้เป็นที่รับรู้มากยิ่งขึ้น ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์และร้านค้าในพื้นที่ต่อไป
เศรษฐกิจภาคใต้ผันผวนมากกว่าภาคอื่นเพราะการกระจุกตัวในบางสาขาเศรษฐกิจอย่างภาคท่องเที่ยวและภาคเกษตร ความเจริญก็กระจุกตัวในบางพื้นที่ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำรายได้สูง ทำให้เริ่มเห็นขีดจำกัดของการพัฒนาในระยะยาว ทุกภาคส่วนจึงต้องช่วยสร้างความแข็งแกร่ง (resilience) ให้แก่เศรษฐกิจภาคใต้ ผ่านการเติบโตที่กระจายตัวขึ้น มีเครื่องยนต์ใหม่ๆ และพลังของคนรุ่นใหม่ที่รู้โจทย์ความต้องการในพื้นที่ รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในอนาคต โดยธปท. พร้อมเป็นผู้สนับสนุนการพัฒนาท้องถิ่น