สัมมนาวิชาการภาคใต้ ปี 2565

11 กรกฎาคม 2565 ใช้เวลาอ่าน 999 นาที

สรุปช่วงนำเสนอผลงานศึกษา

หัวข้อ "ยกระดับเศรษฐกิจการเงินภาคใต้ ด้วยกระแส “ดิจิทัล” และ “ความยั่งยืน"
โดย นางสาวณิชมล ปัญญาวชิโรกุล และ นางสาวพิมพ์ชนก โฮว
ผู้วิเคราะห์  ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

 

 

ช่วงนำเสนองานศึกษา

 

ผ่านมาเศรษฐกิจภาคใต้มีลักษณะ “กระจุกตัวและมูลค่าเพิ่มน้อย” โดยภาคการท่องเที่ยวพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนและมาเลเซียสูง และสถานที่ท่องเที่ยวกระจุกตัวในโซนอันดามัน ขณะที่ภาคเกษตรและอุตสาหกรรมการผลิตพึ่งพาสินค้าน้อยชนิด ส่วนใหญ่เป็นการแปรรูปสินค้าขั้นกลาง รวมถึงส่งออกไปตลาดจีนกว่า 1 ใน 3 ซึ่งด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจเช่นนี้ ทำให้เมื่อเกิดวิกฤต COVID-19 เศรษฐกิจภาคใต้ได้รับผลกระทบหนักที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น

ปัจจุบัน แม้ว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภาคใต้ แต่โจทย์ใหญ่ในระยะต่อไปคือ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้มั่นคงขึ้น มูลค่าสูงขึ้น และให้เท่าทันกับกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว โดยเฉพาะกระแสดิจิทัล (Digital) และกระแสความยั่งยืน (Sustainability) ที่จะเข้ามามีบทบาทต่อเศรษฐกิจภาคใต้ในทุกมิติ แต่ด้วย 2 กระแสนี้ นับเป็นโอกาสสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจภาคใต้ไปสู่ 5 ภาพใหม่ในอนาคต ได้แก่

1) การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตได้สูงในโลกหลัง COVID-19 จากพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่สนใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น การเข้าสู่สังคมสูงวัย และกลุ่มอาชีพดิจิทัล (Digital nomad) ที่เพิ่มขึ้น โดยกระแสดิจิทัลจะทำให้เกิดเป็น Wellness ที่ครบวงจร เชื่อมโยงกัน และทันสมัยมากขึ้น สำหรับภาคใต้ ถือเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรพร้อมและมีการขับเคลื่อนในระดับหนึ่งแล้ว เช่น โครงการระเบียงเศรษฐกิจเวลเนส ที่จะเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวจากจุดเด่นของแต่ละจังหวัด เช่น ศูนย์รักษาพยาบาล จ.ภูเก็ต ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ จ.พังงา และน้ำพุร้อนบำบัด จ.กระบี่ ซึ่งจะทำให้ภาคใต้ลดการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวกลุ่มเดิม และยกระดับสู่การท่องเที่ยวมูลค่าสูงได้

2) การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) จากพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่ต้องการเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น และหลีกเลี่ยงการท่องเที่ยวในเมืองหลักมากขึ้น ซึ่งนับเป็นโอกาสของเมืองรองที่จะใช้การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ดึงดูดนักท่องเที่ยวผ่าน online platform และ soft power สำหรับภาคใต้ ปัจจุบันเริ่มเห็นหลายชุมชนปรับตัวสู่การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์มากขึ้น เช่น โครงการ Songkhla creative district ของ อ.เมือง จ.สงขลา และการเรียนรู้วิธีทำช็อกโกแลตที่ จ.นครศรีธรรมราช อย่างไรก็ตาม ภาครัฐจำเป็นต้องยกระดับโครงสร้างพื้นฐานในเมืองรอง เช่น ระบบอินเทอร์เน็ต และการเข้าถึงชุมชน เพื่อให้เกิดการปรับตัวที่แพร่หลายมากขึ้น ซึ่งจะช่วยกระจายรายได้สู่เมืองรองอย่างยั่งยืน

3) การผลิตที่มีมาตรฐานความยั่งยืน (Sustainable Manufacturing) จากความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมของทั่วโลก รวมถึงหลายประเทศมีแนวโน้มจะนำมาเป็นข้อกีดกันทางการค้ามากขึ้นในอนาคต ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตของภาคใต้หลีกเลี่ยงกระแสนี้ได้ยาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางพาราและไม้ยางพาราแปรรูปที่ผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก การปรับตัวตามมาตรฐานความยั่งยืนระดับสากลจะช่วยให้อุตสาหกรรมสามารถขยายฐานลูกค้าในตลาดใหม่ ๆ และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้ในราคาที่สูงกว่าปกติ เช่น การนำมาตรฐาน FSC มาใช้ในอุตสาหกรรมผลิตน้ำยางข้น อย่างไรก็ตาม การนำมาตรฐานเหล่านี้มาใช้ยังถือว่าน้อย แต่ระยะต่อไปแรงกดดันจากคู่ค้าและคู่แข่งที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้คาดว่าจะเห็นการปรับตัวสู่มาตรฐานความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ภาคใต้รักษาความสามารถในการแข่งขันได้ในระยะยาว

4) อาหารแห่งอนาคต (Future Food) จะเติบโตสูง จากผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืนมากขึ้นและนวัตกรรมอาหารที่ก้าวหน้า โดยเฉพาะอาหารฟังก์ชั่น (Functional Food) และอาหารโปรตีนจากพืช (Plant-based Food) โดยภาคใต้ถือว่ามีวัตถุดิบในพื้นที่มากมายที่พัฒนาเป็นอาหารแห่งอนาคตได้ เช่น อาหารทะเล ปาล์มน้ำมัน และเห็ดแครง รวมถึงมีมหาวิทยาลัยและอุทยานวิทยาศาสตร์ที่ช่วยสนับสนุนความรู้และงานวิจัย โดยปัจจุบันเริ่มเห็นตัวอย่างในพื้นที่ เช่น ผู้ผลิตอาหารทะเลแปรรูปที่สกัดน้ำมันปลาทูน่าเพื่อต่อยอดเป็นอาหารเสริม และชาวสวนยางที่นำเห็ดแครงมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืช ซึ่งต่อไปคาดว่าจะเห็นการปรับตัวที่แพร่หลายมากขึ้น ซึ่งจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมอาหารภาคใต้ให้มีมูลค่าสูงขึ้นได้

 5) เกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) เป็นการทำเกษตรรูปแบบใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยีและข้อมูลดิจิทัลในการควบคุมสภาพแวดล้อม เพิ่มผลิตภาพ และลดต้นทุนจากการใช้ปัจจัยการผลิตที่มากเกินจำเป็น สำหรับภาคใต้ ปัจจุบันมีการใช้เกษตรแม่นยำในกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่แล้ว เช่น การใช้ระบบเซนเซอร์วัดคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงกุ้งผ่านโทรศัพท์มือถือ (smart phone) และการใช้โดรนพ่นยากำจัดโรคของต้นทุเรียน อย่างไรก็ตาม สำหรับเกษตรกรส่วนใหญ่ที่เป็นรายย่อย จำเป็นต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาครัฐ การรวมกลุ่มของเกษตรกร และกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการปรับตัวในอนาคต

ทั้ง 5 ภาพนี้ ถือเป็นโอกาสของภาคใต้ที่จะได้ใช้ทรัพยากรในพื้นที่ เพื่อสร้างการเติบโตในรูปแบบใหม่ให้สอดคล้องกับกระแสโลก อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีการขับเคลื่อนร่วมกันทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา รวมถึงภาคการเงิน ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการออกแนวนโยบายด้านการเงิน เพื่อช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจปรับตัวเข้าสู่กระแสดิจิทัลและความยั่งยืนได้มากขึ้น เช่น

1) เปิดกว้างให้ผู้ให้บริการทางการเงินแข่งขันกันพัฒนานวัตกรรม และบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการมากขึ้น ทั้งผู้เล่นรายเดิมที่จะสามารถปรับตัวสู่รูปแบบใหม่ เช่น บริการแลกเงินผ่าน QR code และผู้เล่นรายใหม่ เช่น ธนาคารพาณิชย์แบบดิจิทัลเต็มตัว (Virtual bank) ซึ่งจะช่วยให้บริการทางการเงินมีความหลากหลายขึ้น รวมถึงมีต้นทุนที่เหมาะสมมากขึ้น

2) พัฒนาระบบการเงินให้เอื้อต่อการทำธุรกิจดิจิทัลมากขึ้น โดยการขยายผลของระบบพร้อมเพย์ (Promptpay) ไปสู่การชำระเงินดิจิทัลที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศมากขึ้น รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับธุรกรรมการค้าและการชำระเงินสำหรับภาคธุรกิจให้แบบดิจิทัลครบวงจร ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและปรับกระบวนการธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

3) จัดทำแนวนโยบายด้านการเงิน เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจปรับตัวสู่ความยั่งยืน เช่น การจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจสีเขียวตามนิยามเดียวกัน (Taxonomy) การกำหนดมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลของสถาบันการเงิน (Disclosure) และการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นเครื่องมือช่วยให้ธุรกิจปรับตัวสู่ความยั่งยืนได้เร็วและง่ายขึ้นในอนาคต

โดยสรุป กระแสดิจิทัลและความยั่งยืนจะสร้างโอกาสในการยกระดับเศรษฐกิจภาคใต้จากโครงสร้างที่ "กระจุกตัวและมูลค่าเพิ่มน้อย" ไปสู่ "เศรษฐกิจมูลค่าสูงและยั่งยืน" จาก 5 ภาพข้างต้น โดยจะมีภาคการเงิน ทั้งในส่วนของการเงินดิจิทัลและการเงินเพื่อความยั่งยืน เป็นตัวช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า