บัตรเครดิตคืออะไร

 

"บัตรเครดิตเป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ออกบัตร (Issuer) ซึ่งได้แก่ธนาคารพาณิชย์​ ​​และผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) ออกให้แก่ลูกค้า (ผู้ถือบัตร หรือ Card Holder) ซึ่งประโยชน์ที่ผู้ถือบัตรจะได้รับมีหลายประการ เช่น​

  • ใช้แทนเงินสดเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการโดยยังไม่ต้องจ่ายเงินในทันที ณ ร้านค้าที่รับบัตร รวมถึงร้านค้าบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะสังเกตได้จากโลโก้ของเครือข่ายผู้ให้บริการบนบัตรและที่ร้านค้า ตัวอย่างเครือข่ายบัตรเครดิต เช่น VISA, Master Card, American Express, China Union Pay (CUP), Japan Credit Bureau (JCB)
  • เบิกถอนเงินสดจากเครื่อง ATM มาใช้ล่วงหน้าได้
  • รับสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ตามรายการส่งเสริมการขาย เช่น คะแนนสะสมเพื่อแลกของรางวัล ส่วนลดจากร้านค้า การผ่อนชำระสินค้าดอกเบี้ย 0 % เงินคืนจากการใช้จ่าย (cash back) ที่จอดรถ ห้องรับรองตามสถานที่ต่าง ๆ ความคุ้มครองเมื่อเดินทางไปต่างประเทศ

แต่ผู้ถือบัตรก็ต้องรู้จักใช้อย่างมีวินัยและเหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ ไม่เช่นนั้นจะเป็นการก่อหนี้โดยไม่จำเป็น เกิดภาระดอกเบี้ยและค่าบริการ หรือมีหนี้สินล้นพ้นตัว ถูกฟ้องร้อง ประวัติสินเชื่อเสียจนเป็นเหตุให้ขอสินเชื่ออื่นที่สำคัญกว่าไม่ได้​

 

วงเงินบัตรเครดิต

 

กรณีที่พิจารณาจากรายได้ของผู้ขอบัตรเครดิต วงเงินที่ได้รับอนุมัติเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังนี้

รายได้ต่อเดือนวงเงินอนุมัติ
ตั้งแต่ 15,000 บาท แต่น้อยกว่า 30,000 บาท1.5 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อเดือน
ตั้งแต่ 30,000 บาท แต่น้อยกว่า 50,000 บาท3 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อเดือน
ตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป5 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อเดือน

 

การคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม

 

ผู้ออกบัตรจะเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใด ๆ (ในที่นี้ขอเรียกโดยย่อว่าดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม) รวมกันได้ไม่เกิน 16% ต่อปี โดยมีวิธีคำนวณ 2 แบบตามการใช้บัตรดังนี้

(1) การชำระค่าสินค้าและบริการไม่เต็มจำนวนภายในวันที่กำหนดหรือชำระล่าช้า ผู้ออกบัตรสามารถคิดดอกเบี้ยตามการใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ผู้ออกบัตรได้สำรองจ่ายให้ร้านค้า หรือตั้งแต่วันที่สรุปยอดรายการใช้จ่าย หรือตั้งแต่วันที่ครบกำหนดชำระก็ได้แต่โดยทั่วไปจะเริ่มคิดตั้งแต่วันที่ผู้ออกบัตรสำรองจ่ายเงินให้แก่ร้านค้า ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ คิดเต็มจำนวนจนถึงวันก่อนครบกำหนดชำระเงิน และคิดตามยอดคงค้าง (หักส่วนที่ชำระแล้วออก) นับจากวันที่ชำระจนถึงวันสรุปยอดถัดไป
(2) การเบิกถอนเงินสด จะเริ่มคำนวณตั้งแต่วันที่เบิกถอนเงินสดออกมา

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต​​​
นอกจากนี้ อาจมีค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามข้อกำหนดของผู้ออกบัตรแต่ละแห่ง เช่น
​​​- ค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าธรรมเนียมรายปี ซึ่งเราสามารถต่อรองกับผู้ออกบัตร เพื่อขอยกเว้นการเรียกเก็บได้
- ค่าธรรมเนียมในการชำระเงินผ่านช่องทางต่าง ๆ
- ค่าธรรมเนียมการเบิกถอนเงินสดผ่านบัตรเครดิต โดยผู้ออกบัตรเรียกเก็บค่าธรรมเนียมประเภทนี้ได้ไม่เกิน 3 % ของจำนวนเงินสดที่เบิกถอน และต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งคิดจากยอดค่าธรรมเนียมการเบิกถอนด้วย
- ค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงินในการใช้บัตรเครดิตในต่างประเทศ 2 - 2.5 % ของอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิง
- ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามที่ได้จ่ายไปจริงและพอสมควรแก่เหตุ เช่น ค่าใช้จ่ายในการติดตามทวงถามหนี้ (ซึ่งจะต้องมีการติดตามทวงถามแล้วจึงเรียกเก็บได้)

​ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ได้จาก website แบงก์​ชาติ หรือสอบถามข้อมูลจากผู้ออกบัตร

 

การชำระหนี้บัตรเครดิต

 

ผู้ถือบัตรต้องชำระหนี้ขั้นต่ำในแต่ละงวดไม่น้อยกว่า 10% ของยอดคงค้างทั้งสิ้น โดยอาจชำระผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น
​​​
- สาขาของสถาบันผู้ออกบัตรเครดิต
- จุดบริการรับชำระเงินที่เป็นตัวแทนรับชำระ (บริการ Bill Payment​) เช่น สาขาธนาคารอื่น Pay@Post เคาน์เตอร์เซอร์วิส
- ช่องทางต่าง ๆ ของธนาคาร เช่น เครื่องเอทีเอ็ม อินเทอร์เน็ต ข้อตกลงให้หักจากบัญชีเงินฝาก (Debit Transfer)

ทั้งนี้ การชำระเงินในแต่ละช่องทางอาจมีเงื่อนไขแตกต่างกันไป เช่น ค่าธรรมเนียม จำนวนเงินสูงสุดที่รับชำระ ดังนั้น ผู้ใช้บริการควรศึกษาค่าธรรมเนียมและเงื่อนไขบริการก่อนใช้บริการ ตามที่ระบุในใบแจ้งยอดหนี้

 

วิธีการเลือกสมัครบัตรเครดิต

 

ก่อนเลือกใช้บริการเราควรศึกษารายละเอียด สิทธิประโยชน์และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ผู้ออกบัตรแต่ละแห่งกำหนด แล้วเลือกสมัครบัตรที่สอดคล้องกับรายได้และลักษณะการใช้จ่ายของเรามากที่สุด

- ค่าธรรมเนียมแรกเข้า ค่าธรรมเนียมรายปี และค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ที่เราต้องจ่ายให้ผู้ออกบัตร
- รวมถึงเงื่อนไขการขอยกเว้นค่าธรรมเนียม
- รอบระยะเวลาบัญชี
- หรือระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยในแต่ละรอบบิล ก่อนจะเริ่มคิดดอกเบี้ยตามที่ได้กำหนดไว้
- การชำระเงินผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น ความสะดวกรวดเร็ว
- ค่าใช้จ่ายในการชำระเงิน
- สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่จะได้รับ โดยพิจารณาว่าตรงกับความต้องการหรือการใช้ชีวิตของเราหรือไม่

 

คำแนะนำในการใช้บัตรเครดิต

 

- เลือกใช้ประเภทบัตรเครดิตให้เหมาะสมเพื่อให้เกิดความคุ้มค่า เพราะอัตราค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตที่ให้รับสิทธิประโยชน์อื่นเพิ่มเติมมักจะแพงกว่ากรณีบัตรเครดิตทั่วไป
- เมื่อได้รับบัตรเครดิตแล้ว ต้องอ่านข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บัตรให้เข้าใจก่อนแจ้งเปิดใช้บัตรเสมอ เพราะอาจมีเงื่อนไขสำคัญ เช่น การยินยอมให้สถาบันการเงินหักเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้ถือบัตรที่มีอยู่กับ- สถาบันการเงินนั้น มาชำระหนี้ของผู้ถือบัตรได้ทันที ซึ่งในกรณีนี้หากคุณเป็นหนี้บัตรเครดิตที่ค้างชำระ สถาบันการเงินก็มีสิทธิที่จะหักเงินฝากของคุณโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า
- ลงลายมือชื่อเจ้าของบัตรทันทีที่ได้รับบัตรใหม่
- จดรายละเอียดต่าง ๆ ของบัตร เช่น หมายเลขบัตร วงเงิน ภาระหนี้ที่มีอยู่ วันครบกำหนดชำระเงิน เพื่อวางแผนการใช้บัตรเครดิตและการชำระหนี้ให้ตรงเวลา และจดจำหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ออกบัตร เพื่อสามารถติดต่อได้ทันทีในกรณีบัตร สูญหาย ถูกขโมย หรือสอบถามข้อสงสัย
- ตลอดจนเมื่อมีปัญหาจากการใช้บัตร
- เก็บรักษาบัตรเสมือนเป็นเงินสด
- เก็บไว้ในที่ปลอดภัย อย่าวางบัตรไว้ใกล้แหล่งที่เป็นแม่เหล็ก เพราะแถบแม่เหล็กด้านหลังบัตรอาจได้รับความเสียหาย ทำให้เครื่องไม่สามารถอ่านข้อมูลจากบัตรได้
- กำหนดรหัสถอนเงินให้ยากต่อการสุ่มเดา เช่น ไม่ใช้หมายเลขโทรศัพท์ บ้านเลขที่ วันเกิด ไม่เก็บรหัสไว้รวมกับบัตร รวมทั้งไม่เปิดเผยรหัสกับผู้อื่น จัดเก็บไว้ในที่ปลอดภัยและเป็นความลับ หรือหากจำรหัสได้แล้วก็ควรฉีกทิ้งทำลายไป และควรเปลี่ยนรหัสอยู่เสมอ ไม่ควรใช้รหัสเดียวกันสำหรับบัตรทุกใบ
- ควรให้บัตรอยู่ในสายตาตลอดเวลาเมื่อมีการชำระเงินให้แก่ร้านค้า เพื่อป้องกันการถูกนำบัตรไปคัดลอกข้อมูลด้วยเครื่อง Skimmer แล้วทำบัตรปลอมนำไปใช้ในอนาคต หรือป้องกันการแอบจดเลขที่บัตรเครดิต วันหมดอายุของบัตร และรหัส CVV (หมายเลข 3 หลัก ด้านหลังบัตร) เพื่อไปทำรายการซื้อสินค้าผ่านทางอินเทอร์เน็ต อีกทั้งตรวจสอบว่าบัตรที่ได้รับเป็นบัตรของเรา ไม่ได้สลับกับบัตรของผู้อื่น นอกจากนี้ พึงระวังว่า- ในการซื้อสินค้าและบริการแต่ละครั้ง หากมีการรูดบัตรเกินกว่า 1 ครั้ง ควรสอบถามเหตุผลและขอทำลาย Sale Slip ที่บันทึกข้อมูลผิดหรือรายการที่ยกเลิกแล้ว เพื่อป้องกันการนำไปใช้ในทางทุจริต
ตรวจสอบจำนวนเงินให้ถูกต้องก่อนเซ็นชื่อบน Sales Slip ซึ่งร้านค้าจะเก็บไว้เป็นหลักฐานการรับชำระ และให้สำเนา Sales Slip อีกฉบับแก่ลูกค้า อย่าเซ็นชื่อลงในใบบันทึกรายการที่ยังมิได้เขียนจำนวนเงินไม่ว่าจะเป็นกรณีใด
- เก็บSales Slip ไว้เพื่อตรวจสอบกับใบแจ้งยอดประจำเดือน และตรวจสอบยอดเงินในบัญชีอย่างสม่ำเสมอ หากมีรายการเรียกเก็บเงินใดที่ไม่ถูกต้องให้แจ้งผู้ออกบัตรทันที เพราะหากแจ้งล่าช้า เกินระยะเวลาที่กำหนด จะถือว่าเรายอมรับค่าใช้จ่ายนั้น และหากไม่ได้รับใบเรียกเก็บเงินประจำเดือนตรงตามเวลา ให้สอบถามไปยังผู้ออกบัตรถึงสาเหตุที่ล่าช้า
- แจ้งธนาคารทันทีที่รู้ว่าบัตรหาย หรือมีรายการที่เจ้าของบัตรไม่ได้เป็นผู้ทำรายการเกิดขึ้น
- เลือกใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเฉพาะในเรื่องที่จำเป็นเพื่อไม่ให้มีภาระหนี้มากเกินความสามารถที่จะจ่าย เช่น ค่าน้ำมันเดินทางไปทำงาน ค่ารักษาพยาบาล ค่าสินค้าอุปโภคบริโภคในซุปเปอร์มาร์เก็ต
- คิดให้ดีถ้าจะใช้บัตรเพื่อหาผลประโยชน์เล็ก ๆ น้อย ๆ แต่มีความเสี่ยงสูง เช่น รูดบัตรซื้อสินค้าหรือบริการแทนผู้อื่น โดยหวังแต้มสะสมหรือดอกเบี้ยจากบุคคลนั้น เพราะหากเขาไม่ชำระตามที่ตกลงกัน เราจะต้องเป็นคนรับผิดชอบภาระหนี้ทั้งหมดต่อสถาบันผู้ออกบัตร
- หากไม่มีความจำเป็นต้องใช้บัตรเครดิต สามารถแจ้งขอยกเลิกใช้บัตรได้ โดยโทรติดต่อที่ Call Center หรือทำหนังสือแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อยกเลิกบัตรแล้วอย่าลืมตัดทำลายบัตรทิ้ง โดยเฉพาะตรงแถบแม่เหล็กหรือชิพเพราะเป็นแหล่งเก็บข้อมูลส่วนตัวของเรา เพื่อไม่ให้มิจฉาชีพนำข้อมูลไปทำบัตรปลอมได้
- อาจต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มหากมีการขอใช้บริการอื่น เช่น การขอสำเนา Sale Slip (ชุดที่ 2) การขอรหัสใหม่ทดแทนรหัสเดิม
ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละสถาบันการเงิน
- อย่าให้ข้อมูลส่วนตัว (เช่น หมายเลขบัตร หมายเลขโทรศัพท์มือถือ วันเดือนปีเกิด วงเงินบัตรเครดิต) ทางโทรศัพท์แก่ผู้ที่อ้างว่าเป็นสถาบันผู้ออกบัตร เนื่องจากสถาบันผู้ออกบัตรจะไม่มีการติดต่อลูกค้าเพื่อขอข้อมูล เว้นแต่ลูกค้าเป็นผู้โทรติดต่อ Call center เอง รวมไปถึงการไม่ตอบกลับข้อมูลดังกล่าวผ่านช่องทางอีเมลหรืออินเทอร์เน็ต
- การซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ตควรพิจารณาเรื่องความปลอดภัยของทั้งร้านค้าออนไลน์และผู้ให้บริการชำระเงิน ร้านค้าออนไลน์ที่เชื่อถือได้จะได้รับใบรับรองดิจิตอล (Digital Certificate) ซึ่งส่วนใหญ่จะมีระบบความปลอดภัยของข้อมูลโดยการเข้ารหัสก่อนส่งทุกครั้ง โดยมีเครื่องหมายรับรองความปลอดภัยของการส่งผ่านข้อมูลแบบ SSL (Secure Socket Layer) ซึ่งแสดงว่าเว็บไซต์นี้ได้รับการรับรองความปลอดภัยในการส่งผ่านข้อมูลระหว่างกัน หรือร้านค้าออนไลน์บางแห่งอาจมีการใช้ระบบลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Signature) ด้วย

- การชำระเงินผ่านบัตรเครดิตที่มีระบบรักษาความปลอดภัยที่สูงขึ้น และสามารถลดความเสี่ยงจากการทำธุรกรรมการเงินผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งลูกค้าจำเป็นต้องลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ของธนาคารผู้ออกบัตร เพื่อใช้ Verified by Visa (VBV), Master Card Secure Code (MCSC) และ JCB J/Secure

 

2 ประเด็นควรใส่ใจ : ชำระไม่เต็มจำนวนและเบิกถอนเงินสด

 

- ชำระไม่เต็มจำนวน ใครว่าเรื่องหยวน ๆ อยากชักชวนให้ตั้งใจและพยายามชำระเต็มจำนวนและภายในเวลาที่กำหนด เพื่อรักษาประวัติการชำระหนี้ ซึ่งสำคัญมากต่อการได้รับอนุมัติสินเชื่อประเภทอื่น หากชำระไม่เต็มจำนวน หรือหากชำระไม่ทันในเวลาที่กำหนด ก็จะต้องจ่ายดอกเบี้ย ค่าบริการต่าง ๆ และเบี้ยปรับสูงสุดถึง 18 % ต่อปี และอย่าลืมว่าโดยทั่วไปผู้ออกบัตรจะต้องสำรองเงินเต็มจำนวนเพื่อจ่ายให้ร้านค้าแทนผู้ถือบัตร ดังนั้น ผู้ออกบัตรจึงมักเริ่มคำนวณตั้งแต่วันที่สำรองเงินจ่ายให้แก่ร้านค้าโดยคิดจากยอดเต็มจำนวนเช่นกัน ไม่ใช่แค่ยอดคงค้างที่เหลือหลังจากที่เราไปชำระเงินบางส่วนแล้ว
- ควรหลีกเลี่ยงการเบิกถอนเงินสด นอกจากจะถูกคิดดอกเบี้ยฯ ตั้งแต่วันที่เบิกถอนเงินออกมาแล้ว ยังจะต้องเสียค่าธรรมเนียมอีก 3% ของจำนวนเงินสดที่เบิกถอนและภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งคิดจากยอดค่าธรรมเนียมการเบิกถอนด้วย