การเงินนอกระบบ
การเงินนอกระบบไม่ได้หมายถึงหนี้นอกระบบเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงแชร์ลูกโซ่ การระดมทุน หรือการใช้เงินในการทำธุรกิจที่ไม่อยู่ภายใต้ระบบการควบคุมกำกับดูแลของทางราชการ ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่มิจฉาชีพมักจะแฝงตัวเข้าไปหลอกเงินจากเหยื่อ
เงินกู้โดยตรง
ผู้ให้บริการเงินกู้นอกระบบมักเป็นผู้ให้กู้ที่ไม่อยู่ในระบบสถาบันการเงิน ส่วนมากจะคิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าสถาบันการเงินกำหนด โดยจะบอกตัวเลขดอกเบี้ยหรือเงินคืนน้อย ๆ เพื่อดึงดูดผู้กู้ นอกจากนี้ผู้ให้กู้บางรายยังบังคับให้ลูกหนี้เซ็นสัญญาเงินกู้ที่ไม่ได้กรอกข้อความ หรือระบุจำนวนเงินกู้เกินจริง เช่น กู้ 10,000 บาท แต่ให้กรอกตัวเลขสูงถึง 30,000 บาท แต่ที่น่ากลัวคือ การทวงหนี้ด้วยวิธีที่โหดร้ายหรือผิดกฎหมาย เช่น ขู่กรรโชก ประจาน หรือทำร้ายร่างกาย
ยกตัวอย่าง
โฆษณาบอกว่า "กู้ 10,000 บาท ผ่อนแค่วันละ 150 บาท"
แต่ในความเป็นจริง
ต้องจ่ายคืน = 150x90 = 13,500 บาท
ดอกเบี้ย = 13,500-10,000 = 3,500 บาท
อัตราดอกเบี้ยจ่ายต่อ 3 เดือน
= (3,500+10,000)x100
= 35% ต่อ 3 เดือน
อัตราดอกเบี้ยจ่ายต่อปี = (35/3)x12
= 140% ต่อปี
จำนวนจ่ายคืนหรือดอกเบี้ยที่นายทุนเงินกู้แจ้งต่อผู้กู้นั้น มักจะเป็นจำนวนจ่ายคืนหรือดอกเบี้ยต่อวันเพื่อให้ผู้กู้รู้สึกว่าเป็นจำนวนเงินน้อย แต่เมื่อคำนวณเงินที่ต้องจ่ายคืนเทียบกับเงินต้นแล้วจะพบว่าดอกเบี้ยที่นายทุนเงินกู้เรียกเก็บ จะสูงกว่าสถาบันการเงินที่มีทางการกำกับดูแลเป็นจำนวนมาก
สัญญาอำพรางเงินกู้ (หลีกเลี่ยงการให้กู้โดยตรง)
นายทุนเงินกู้จะให้ผู้กู้ใช้บัตรผ่อนสินค้าหรือบัตรเครดิตซื้อสินค้าที่มีมูลค่าแพงว่าเงินกู้ เช่น ต้องการกู้เงิน 20,000 จะให้ซื้อสินค้ามูลค่า 26,000 บาท เมื่อได้สินค้านายทุนเงินกู้จะให้ผู้กู้นำสินค้านั้นมาแลกกับเงินกู้จำนวน 20,000 บาท แล้วผู้กู้จะต้องรับผิดชอบชำระค่าสินค้ากับบริษัทบัตรผ่อนสินค้าหรือบัตรเครดิตพร้อมทั้งดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมอื่น ๆ
นายทุนเงินกู้ไม่ต้องรับความเสี่ยงในการปล่อยกู้เงินในครั้งนี้ เพราะทันทีที่จ่ายเงินให้กับผู้กู้ไป นายทุนเงินกู้จะได้รับสินค้าที่มีมูลค่าสูงกว่าเงินที่จ่ายให้ผู้กู้ไป
หลอกให้ทำธุรกิจขายตรงแอบแฝงแชร์ลูกโซ่
แชร์ลูกโซ่บางครั้งจะแอบแฝงมากับธุรกิจขายตรง ซึ่งมิจฉาชีพจะโฆษณาชวนเชื่อให้เหยื่อทำธุรกิจขายตรงที่มีผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูง โดยที่เหยื่อไม่ต้องทำอะไร เพียงแค่ชักชวนเพื่อนหรือญาติพี่น้องให้ร่วมทำธุรกิจ เมื่อเหยื่อเริ่มสนใจ จะให้เหยื่อเข้าร่วมฟังสัมมนาและจ่ายค่าสมัครสมาชิก หรือซื้อสินค้าแรกเข้าในมูลค่าที่ค่อนข้างสูง (สินค้าส่วนมากมักไม่มีคุณภาพ) หรืออาจให้เหยื่อซื้อหุ้นหรือหน่วยลงทุนโดยไม่ต้องรับสินค้าไปขาย แล้วก็รอรับเงินปันผลได้เลย ปัจจุบันยังมีการโฆษณาชักชวนผู้ลงทุนผ่านอินเทอร์เน็ตอีกด้วย
แชร์ลูกโซ่ในคราบธุรกิจขายตรงจะไม่เน้นการขายสินค้า การสาธิตสินค้า หรือทำให้สมาชิกเข้าใจในตัวสินค้า แต่จะเน้นการหาสมาชิกใหม่เพราะค่าสมัครสมาชิก/ค่าซื้อสินค้าแรกเข้า/ค่าหุ้นหรือหน่วยลงทุนจะถูกนำมาจ่ายเป็นผลตอบแทนให้กับสมาชิกเก่า แต่หากไม่สามารถหาสมาชิกใหม่ได้ ก็จะไม่สามารถจ่ายผลตอบแทนให้แก่สมาชิกเก่าได้
ชักชวนให้ซื้อสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ต
มิจฉาชีพจะใช้วิธีประกาศขายสินค้าราคาถูกผ่านทางอินเทอร์เน็ต ส่วนมากจะเป็นสินค้าใหม่หรืออาจเป็นสินค้าที่ยังไม่วางขายในประเทศไทย เช่น สมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ล่าสุด ตุ๊กตาหรือของเล่นที่กำลังเป็นที่นิยมในต่างประเทศ โดยให้ผู้ที่สนใจแจ้งจำนวนที่ต้องการพร้อมโอนเงินค่ามัดจำ หรือจ่ายเงินเต็มจำนวน ส่วนมากเหยื่อจะได้รับสินค้าตรงตามคำสั่งซื้อ เหยื่อจึงหลงเชื่อสั่งสินค้ารอบที่ 2 โดยมักจะชักชวนเพื่อน หรือญาติ ๆ ให้ซื้อพร้อมกันเป็นจำนวนมาก เมื่อมิจฉาชีพได้รับเงินแล้วก็จะหนีไปโดยไม่มีการส่งมอบสินค้าใด ๆ บางครั้งมิจฉาชีพยังหลอกให้ร่วมลงทุนในสัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า การซื้อขายหรือเก็งกำไรจากการขึ้นลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศอีกด้วย
มิจฉาชีพจะขายสินค้าในราคาถูกมาก และส่วนใหญ่จะส่งสินค้าตามคำสั่งซื้อในครั้งแรกที่มีการสั่ง เพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อและสั่งสินค้าเพิ่มในจำนวนที่มากขึ้นกว่าเดิมมาก ๆ
เงินกู้นอกระบบ
หนี้นอกระบบส่วนมากเป็นหนี้ที่ผู้กู้ต้องรับภาระดอกเบี้ยค่อนข้างสูง ผู้กู้จึงควรหาแหล่งเงินกู้ในระบบที่มีดอกเบี้ยถูกกว่ามาชำระคืน แต่หากไม่สามารถกู้ยืมในระบบได้ ผู้กู้อาจต้องยอมขายทรัพย์สินบางส่วนเพื่อนำมาชำระหนี้ แก้ไขปัญหาดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจนไม่สามารถชำระคืนได้ หากตกเป็นเหยื่อเงินกู้นอกระบบ สามารถขอรับคำปรึกษาได้ดังนี้
กลโกงแชร์ลูกโซ่
หากตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่ ควรรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด แล้วติดต่อขอรับคำปรึกษาได้ที่:
สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง
ซอยอารีย์สัมพันธ์ ถนนพระราม 6 สามเสนใน พญาไท กรุงเทพฯ โทร. 1359