กลโกงอื่น ๆ

 

​​​​นอกจากการหลอกลวงที่เกี่ยวข้องกับบริการของสถาบันการเงินแล้ว มิจฉาชีพอาจหาทางหลอกลวงเหยื่อด้วยวิธีอื่น ๆ อีก เช่น เข้ามาทำความรู้จักและเสนอผลประโยชน์ที่เหยื่อจะได้เป็นสิ่งจูงใจ เพื่อหลอกล่อเหยื่อให้หลงเชื่อและนำเงินหรือของมีค่าอื่น ๆ มาให้มิจฉาชีพ

 

ลักษณะกลโกง

 

มิจฉาชีพอาจใช้ข้ออ้างดังต่อไปนี้ 

 

  • 1. นายหน้าพาเข้าทำงาน

มิจฉาชีพจะอ้างกับเหยื่อว่าตนเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงในบริษัท หรือรู้จักกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของบริษัทนั้น สามารถช่วยเหลือเหยื่อให้เข้าทำงานได้ โดยจะรับหน้าที่เจรจากับทางบริษัทให้ แต่เหยื่อต้องจ่ายเงินเพื่อเป็นค่าจ้างหรือค่านายหน้าในการช่วยเหลือให้เหยื่อได้เข้าทำงานให้ก่อน

ข้อควรสังเกต
มิจฉาชีพมักจะขอเงินล่วงหน้าจากเหยื่อ โดยที่ยังไม่ได้ดำเนินการหรือติดต่อใด ๆ กับบริษัท เพราะในความเป็นจริงแล้วมิจฉาชีพไม่สามารถทำตามที่สัญญากับเหยื่อไว้ได้

Imgae
  • 2. นายหน้าหาสินเชื่อ

มิจฉาชีพจะอ้างกับเหยื่อว่าสามารถเจรจากับเจ้าหน้าที่ธนาคารให้ปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ที่มีประวัติทางการเงินไม่ดีได้ แต่ขอให้เหยื่อจ่ายค่าจ้างในการเจรจาก่อนจึงจะไปเจรจาให้

ข้อควรสังเกต
มิจฉาชีพจะร้องขอค่านายหน้าก่อนที่จะช่วยเหลือเหยื่อเพราะจริง ๆ แล้วมิจฉาชีพไม่สามารถช่วยเหลือเหยื่อได้ นอกจากนี้ สถาบันการเงินมีเงื่อนไขและเกณฑ์ในการพิจารณาสินเชื่ออยู่แล้ว ซึ่งผู้ที่จะขอกู้ได้จะต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่สถาบันการเงินกำหนด

Image
  • 3. เงินคืนประกันชีวิต

มิจฉาชีพอ้างกับเหยื่อซึ่งเป็นญาติผู้ตายในงานศพว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากบริษัทประกันชีวิตที่ผู้ตายได้ทำไว้ แต่ผู้ตายขาดชำระเบี้ยประกันอีกเพียงหนึ่งงวด หากญาติชำระค่าเบี้ยประกันแทนผู้ตาย ก็จะได้รับเงินก้อนใหญ่ตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์

ข้อควรสังเกต
การทำประกันชีวิตจะมีกรมธรรม์ที่บอกรายละเอียดสัญญาระหว่างผู้รับประกันและผู้เอาประกัน จึงไม่ควรผลีผลามรีบจ่ายเงินทันที แต่ควรหากรมธรรม์ตัวจริงของผู้ตายให้เจอและทำความเข้าใจกับเงื่อนไขก่อนจ่ายเงินใด ๆ และควรติดต่อบริษัทประกันชีวิตที่ถูกอ้างถึงโดยตรงเพื่อสอบถามข้อเท็จจริง

Image
  • 4. นายหน้าขายที่

กลโกงลักษณะนี้จะมีมิจฉาชีพมากกว่า 2 คน มิจฉาชีพคนแรกจะแอบอ้างว่าเป็นเจ้าของที่และต้องการขายที่แปลงหนึ่ง และขอร้องให้เหยื่อช่วยติดต่อหากมีผู้สนใจซื้อ เมื่อเวลาผ่านไป มิจฉาชีพคนที่สองจะแสดงตัวว่าเป็นผู้ที่ต้องการซื้อที่ดินของมิจฉาชีพคนแรก จึงขอให้เหยื่อติดต่อเจ้าของที่ให้

เมื่อเหยื่อพามิจฉาชีพคนที่สองไปพบกับมิจฉาชีพคนหนึ่ง มิจฉาชีพคนที่สองจะทำทีว่าต้องการที่ดินนั้นเป็นอย่างมากแต่มีเงินไม่พอจ่ายค่ามัดจำ จึงขอให้เหยื่อช่วยจ่ายค่ามัดจำโดยสัญญาว่าจะจ่ายคืนให้ในวันซื้อขายพร้อมค่านายหน้าจำนวนหนึ่ง เมื่อเหยื่อหลงเชื่อช่วยจ่ายเงินค่ามัดจำไป มิจฉาชีพทั้งสองก็จะหายไป โดยไม่มีการซื้อขายที่ดินใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้แล้วที่ดินที่กล่าวถึงนั้น ก็ไม่ได้เป็นของมิจฉาชีพคนที่หนึ่ง

ข้อควรสังเกต
มิจฉาชีพจะทำทีว่าต้องการที่ดินเป็นอย่างมากเพื่อเร่งการตัดสินใจของเหยื่อ โดยไม่ให้เหยื่อมีเวลาทบทวนหรือปรึกษาคนอื่น

Image
  • 5. ตกทอง

มิจฉาชีพจะทำทีว่าเก็บทองได้แต่ติดธุระต้องรีบไป จึงเสนอให้เหยื่อนำทองไปขายโดยจะต้องจ่ายส่วนแบ่งให้กับมิจฉาชีพก่อน เมื่อเหยื่อหลงเชื่อจ่ายเงินสดให้แก่มิจฉาชีพ แล้วนำทองไปขาย ก็จะพบว่าทองนั้นเป็นทองปลอม

ข้อควรสังเกต
มิจฉาชีพจะทำทีว่ารีบ และเร่งให้เหยื่อตัดสินใจ เพื่อให้เหยื่อไม่มีเวลาคิดทบทวน และตรวจสอบทองปลอมที่มิจฉาชีพถือมาให้

Image
  • 6. หวยปลอม

มิจฉาชีพอ้างว่ามีสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ถูกรางวัลที่หนึ่งอยู่ แต่ไม่สะดวกที่จะนำไปแลกรางวัล จึงเสนอขายให้เหยื่อในราคาถูก เมื่อเหยื่อหลงเชื่อซื้อและนำสลาก ฯ ไปขึ้นรางวัล จึงพบว่าสลาก ฯ นั้นเป็นของปลอม นอกจากไม่ได้เงินแล้ว ยังต้องโทษตามกฎหมายอีกด้วย

ข้อควรสังเกต
มิจฉาชีพมักจะหลอกขายสลากกินแบ่งรัฐบาลปลอมมาหลังจากที่มีการประกาศรางวัลแล้ว เพื่อให้เหยื่อเข้าใจว่าสลาก ฯ ใบนั้นเป็นใบที่ถูกรางวัลจริง

Image
  • 7. เงินกู้เพื่อเกษตรกร

มิจฉาชีพจะหลอกใช้เครือข่ายในชุมชน เช่น ผู้นำชุมชนหรือผู้กว้างขวาง กระจายข่าวหรือประกาศผ่านสื่อต่าง ๆ ว่าได้รับเงินทุนจากองค์กรต่างประเทศจำนวนมาก เพื่อนำมาให้เกษตรกรหรือคนในชุมชนกู้ยืมในระยะยาว ดอกเบี้ยต่ำ และไม่ต้องมีหลักประกัน โดยคนที่สนใจสามารถสมัครเป็นสมาชิกโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการดำเนินการ หรือค่าจัดทำเอกสาร เช่น รายละ 200 – 500 บาท เมื่อเหยื่อหลงเชื่อสมัครและจ่ายเงิน มิจฉาชีพจะแจ้งเหยื่อว่า ยังไม่สามารถให้เงินกู้ได้ด้วยเหตุผลต่าง ๆ เช่น เงินอยู่ระหว่างการตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือองค์กรอื่น ๆ รวมทั้งอาจมีเอกสารที่แสดงการติดตามเรื่องถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อซื้อเวลาและสร้างความมั่นใจว่าไม่ได้หลอกลวง โดยอาจขอให้เหยื่อจ่ายค่าธรรมเนียมหรือค่าดำเนินการอื่น ๆ เพิ่มเติม

ดังนั้น หากมีคนชักชวนให้เข้าร่วมโครงการในลักษณะนี้ ควรตรวจสอบข้อเท็จจริงจากที่ว่าการอำเภอ ศาลากลางจังหวัด หรือหน่วยงานที่มิจฉาชีพนำมาแอบอ้างโดยตรง ก่อนที่จะตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ หรือจ่ายเงินค่าธรรมเนียมต่างๆ ไม่ควรหลงเชื่อจากคำโฆษณา และหรือเอกสารที่ผู้ชักชวนนำมาแสดงเพียงฝ่ายเดียว เพราะอาจเป็นเอกสารปลอม หรือเอกสารที่จงใจทำขึ้นเพื่อหลอกลวงเกษตรกรได้

Image
วิธีป้องกัน
  • ทบทวนข้อมูลที่ได้รับจากมิจฉาชีพว่ามีความน่าจะเป็นมากน้อยแค่ไหน
  • หากมีการกล่าวอ้างถึงสถาบันการเงิน หรือบุคคลที่สาม ควรติดต่อกับสถาบันการเงินหรือบุคคลนั้น ๆ เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง
  • ไม่ควรหลงเชื่อกับผลประโยชน์ที่มิจฉาชีพนำมาหลอกล่อ
สิ่งที่ควรทำเมื่อตกเป็นเหยื่อ
  • รวบรวมเอกสารและหลักฐาน (หากมี) แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อเป็นหลักฐานและเบาะแสในการติดตามคนร้าย