สำรวจทรัพย์สินที่สามารถขายได้

การสำรวจทรัพย์สิน จะช่วยให้เราเห็นว่า เรามีทรัพย์สินที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดว่าคิดเป็นมูลค่าเท่าไหร่ เพียงพอต่อการนำไปใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตได้หรือไม่ เช่น เจ็บป่วย ตกงาน ซึ่งทำให้เรากังวลว่าจะสามารถจัดการหนี้ที่มีอยู่ต่อไปได้อย่างไร

 

นอกจากการเจรจากับเจ้าหนี้แล้ว อีกวิธีหนึ่งที่เราสามารถทำได้เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ในสถานการณ์ฉุกเฉินคือ "การตัดใจขายทรัพย์สินที่มีอยู่" เพื่อนำเงินมาจัดการกับปัญหาหนี้ที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน เช่น เมื่อมีหนี้ค้างชำระจนอาจกลายเป็นหนี้เสีย หรือเมื่อเราต้องการโปะหรือปิดหนี้ที่ยอดคงเหลือน้อยหรือหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูง เพื่อช่วยลดโอกาสที่จะจ่ายหนี้ไม่ไหว อันจะนำไปสู่ปัญหาหนี้สินที่แก้ไขยากขึ้นในอนาคต

 

ประโยชน์ของการสำรวจทรัพย์สิน

 

      1. ทำให้ไม่ลืมว่าเรามีทรัพย์สินอะไรบ้าง
      2. ทำให้รู้มูลค่าของทรัพย์สิน ณ ปัจจุบัน ว่ามีกำไรหรือขาดทุนมากน้อยแค่ไหน
      3. ทำให้รู้ระยะเวลาถือครองที่เหลืออยู่หรือวันครบกำหนดการขาย เช่น สลากออมทรัพย์ กองทุน LTF SSF RMF ประกันสะสมทรัพย์ เพื่อใช้ในการวางแผนการขาย หรือถือต่อไปเพื่อให้ได้ผลกำไรมากขึ้น
      4. ทำให้รู้ว่ามีทรัพย์สินใดที่เกินความจำเป็นหรือถูกใช้งานน้อย แต่มีค่าบำรุงรักษาที่ต้องจ่าย เช่น คอนโดมิเนียมที่ซื้อไว้เพื่อปล่อยเช่า รถยนต์เก่าที่ไม่ได้ใช้งาน และแปลงทรัพย์สินเหล่านั้นเป็นเงินสดสำหรับชำระหนี้สินได้ เพื่อช่วยลดปัญหาหนี้สินที่มีได้อีกทางหนึ่ง

 

ประเภทของทรัพย์สิน

 

       แต่ก่อนที่จะไปทำการสำรวจทรัพย์สิน เราจะพาไปทำความรู้จักทรัพย์สินประเภทต่าง ๆ เพื่อให้ง่ายต่อการสำรวจมากขึ้น ดังนี้
       1. ทรัพย์สินที่เปลี่ยนเป็นเงินสดได้ทันที เช่น เงินออมในกระปุก เงินที่ฝากไว้ธนาคาร ทรัพย์สินประเภทนี้มีไว้เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หรือบัญชีธนาคารที่เราอาจเปิดไว้เพื่อเก็บเงินออมเผื่อฉุกเฉินโดยเฉพาะ
       2. ทรัพย์สินเพื่อการลงทุน คือ ทรัพย์สินที่มีเพื่อหวังผลตอบแทนอย่างดอกเบี้ยหรือกำไร และส่วนใหญ่จะมีเงื่อนไขในการเปลี่ยนเป็นเงินสดที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น บัญชีเงินฝากประจำ สลากออมทรัพย์ พันธบัตรรัฐบาล หุ้น กองทุนรวม ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ บ้านเช่า เมื่อต้องบันทึกลงตารางสำรวจทรัพย์สิน จะต้องแจกแจงตามราคาที่สามารถขายได้ ณ วันนี้ หรือหากเป็นสลากออมทรัพย์ กองทุนรวม ควรต้องศึกษาเงื่อนไขการถือครองก่อน และต้องบันทึกด้วยมูลค่าที่หักค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ไว้เรียบร้อยแล้ว หรือหากเป็นประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ที่ยังไม่ครบกำหนด ต้องบันทึกด้วยมูลค่าเวนคืนกรมธรรม์ตามรายละเอียดที่ระบุในกรมธรรม์ สอบถามได้ที่ตัวแทนขายหรือ call center ของบริษัทประกันชีวิต
       3. ทรัพย์สินส่วนตัว เช่น บ้าน รถ ที่ดิน ทองคำ เพชร เครื่องประดับ พระเครื่อง หนังสือ เสื้อผ้า กระเป๋า ของใช้มือสองที่สามารถขายได้ จะต้องบันทึกลงตารางสำรวจทรัพย์สินด้วยมูลค่าที่จะสามารถขายได้ ณ วันนี้ เช่นกัน

 

เมื่อเข้าใจประเภทและลักษณะของทรัพย์สินแล้ว ก็เข้าสู่ขั้นตอนการใช้ตารางสำรวจทรัพย์สินที่สามารถขายได้ โดยรวบรวมข้อมูลดังต่อไปนี้

Image

หลังจากแจกแจงข้อมูลแล้ว เราจะเห็นภาพรวมของทรัพย์สินที่เราสามารถนำมาแปลงเป็นเงินเพื่อนำมาชำระหนี้ จากนั้นนำมาเปรียบเทียบกับรายการหนี้สินที่มีอยู่ ตามที่ได้แจกแจงไว้ใน ตารางสำรวจภาระว่าทรัพย์สินที่เราขายได้จะสามารถนำมาแก้ไขปัญหาหนี้สินก้อนใดก่อน โดยอาจพิจารณาตามความสามารถในการชำระหนี้ของเรา เช่น

            - หนี้ที่ไม่สามารถเจรจากับเจ้าหนี้ได้ หรือเจ้าหนี้มีมาตรการช่วยเหลือไม่เพียงพอ ทำให้เราไม่สามารถผ่อนชำระไหวตามข้อเสนอ
            - หนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงเพื่อลดภาระดอกเบี้ย เช่น ถ้าปิดหนี้ดอกเบี้ยสูงได้เร็วก็จะเสียดอกเบี้ยน้อยลงและมีเงินเหลือไปจ่ายหนี้ก้อนอื่นได้มากขึ้น
            - หนี้ที่มียอดคงเหลือน้อยเพื่อสร้างกำลังใจในการจัดการหนี้ 

 

และเมื่อทราบหนี้ที่จะต้องได้รับการแก้ไขปัญหาแล้ว อย่าลืมว่าต้องไม่ละเลยหนี้ก้อนอื่น ๆ ที่มีอยู่ในตอนนี้ เช่น บ้านที่อยู่ตอนนี้รถที่ใช้ในการทำงาน โดยสิ่งสำคัญที่สุดในการขายทรัพย์สินเพื่อนำไปจัดการหนี้คือ ตัดใจ หากตั้งใจขายทรัพย์สินเพื่อชำระหนี้แล้วต้องตัดใจให้ขาด คิดว่าเราสามารถหาใหม่ได้เมื่อสถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติ และ ตั้งใจ ชำระหนี้ตามแผนที่ได้วางไว้อย่างเคร่งครัด ไม่นำเงินที่ขายได้ไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เมื่อลดหรือแก้หนี้ได้ตามแผนที่วางไว้ ก็ต้องมีการปรับพฤติกรรมทางการเงินต่อไปหลังผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปได้