คิดให้ดี….ก่อนเป็นหนี้แทนคนอื่น

เคยหรือไม่...ที่คนรอบข้าง เช่น ญาติพี่น้อง ลูกหลาน เพื่อนสมัยเรียน เพื่อนที่ทำงาน หรือคนใกล้ชิดอีกมากมายขอให้เราช่วยเหลือเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ไม่ว่าจะขอยืมเงิน หรือให้ช่วยค้ำประกันเงินกู้ 

 

แม้ว่าการช่วยเหลือจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ก่อนที่เราจะตัดสินใจช่วยใครทันทีที่ฟังคำขอร้องหรือเรื่องราวที่น่าเห็นใจ อยากชวนให้หยุดคิดสักนิดถึงผลที่จะตามมาจนอาจส่งผลกระทบกับตัวเราและครอบครัว ก่อนจะมานั่งเสียใจภายหลังเพียงเพราะความหวังดีที่กลับมาทำร้ายตัวเราเองที่ต้องเป็นหนี้แทนคนอื่น มาดูกันว่าเคยเจอเหตุการณ์ต่อไปนี้ด้วยตัวเองหรือเคยได้ยินเรื่องราวทำนองนี้จากคนอื่นหรือไม่ และจะมีวิธีการป้องกันอย่างไร

เหตุการณ์ไหนบ้างที่อาจทำให้เราเป็นหนี้แทนคนอื่น

 

- กู้เงินมาเพื่อให้ยืมต่อ โก้ได้รับโทรศัพท์จากพี่โอซึ่งเป็นญาติสนิทโทรมาขอยืมเงินจำนวน 100,000 บาทเพื่อใช้ลงทุนทำธุรกิจขายของเล่นเด็ก แต่ตอนนี้โก้ก็ไม่มีเงินเก็บมากขนาดนั้น จึงบอกพี่โอว่าจะกดเงินจากบัตรเครดิตของตัวเองให้พี่โอยืม แล้วให้พี่โอเป็นคนผ่อนโดยโอนเงินมาให้โก้ทุกเดือนตามยอดขั้นต่ำในใบแจ้งหนี้ ซึ่งพี่โอก็ตอบตกลง โก้จึงกดเงินจากบัตรเครดิตและให้พี่โอยืมตามที่คุยกัน ต่อมาโก้ได้รับใบแจ้งหนี้จากบัตรเครดิตให้ชำระหนี้ โก้จึงติดต่อพี่โอให้โอนเงินมาให้โก้ แต่พี่โอตอบโก้ว่าของที่สั่งมาขายไม่ค่อยดี จึงไม่มีเงินที่จะให้โก้ไปจ่ายหนี้บัตรเครดิตที่กดมา สุดท้ายโก้เลยเดือดร้อนเพราะเป็นหนี้จากบัตรเครดิตที่กู้แทนพี่โอในที่สุด

 

- กู้แทนคนอื่น ก้องมีน้องสาวชื่อกิ๊บ กิ๊บเป็นเด็กจบใหม่เพิ่งเข้าทำงานรายได้จึงยังไม่สูง แต่กิ๊บใฝ่ฝันอยากจะมีรถยนต์เป็นของตัวเองเพื่อขับไปทำงาน และคอยรับส่งพ่อกับแม่ จึงไปยื่นขอสินเชื่อรถกับสถาบันการเงินแต่ไม่ผ่าน กิ๊บจึงไปขอร้องก้องให้กู้ซื้อรถยนต์เป็นชื่อก้องแทน โดยสัญญาว่าจะผ่อนชำระค่างวดในแต่ละเดือนให้ ก้องตกลงตามที่กิ๊บขอ แต่พอผ่านไป 6 เดือน เรื่องไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นเมื่อที่ทำงานของกิ๊บประสบปัญหารายได้ตกต่ำ กิ๊บถูกให้ออกจากงานและไม่สามารถจ่ายค่างวดรถตามที่ตกลงกับก้องได้ ก้องจึงต้องเป็นหนี้แทนกิ๊บในที่สุด

 

- ช่วยค้ำประกันเงินกู้ แอนกับฟลุคเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เด็ก ทั้ง 2 คนสนิทกันมากและมักจะช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี เมื่อทั้งคู่เริ่มทำงานและสร้างครอบครัวก็ยังไปมาหาสู่กันเสมอ ต่อมาวันหนึ่งฟลุคขอให้แอนช่วยค้ำประกันสินเชื่อจำนวน 400,000 บาท เพื่อเอาเงินไปร่วมหุ้นเปิดร้านกาแฟกับญาติ แอนก็ไม่ลังเลที่จะช่วยเหลือเพื่อนโดยที่ไม่ได้ปรึกษากับครอบครัวเลยเพราะคิดว่ารู้จักกับฟลุคมาตั้งแต่เด็กไม่มีวันเบี้ยวหรือหนีหนี้แน่นอน 3 เดือนต่อมาแอนก็ต้องเจอข่าวร้ายว่าฟลุคถูกให้ออกจากงานด้วยเหตุผลที่คาดไม่ถึงแถมร้านกาแฟก็ปิดตัวลงเพราะขายไม่ดี และทิ้งภาระหนี้อันหนักอึ้งไว้จนทำให้แอนกับครอบครัวต้องเดือดร้อนจากการตัดสินใจช่วยค้ำประกัน

 

(หมายเหตุ : การค้ำประกัน คือ สัญญาประเภทหนึ่งที่ผู้ค้ำประกันสัญญากับเจ้าหนี้ว่า “ถ้าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันจะชำระหนี้นั้นแทน” เมื่อมีการทำสัญญาลักษณะนี้เจ้าหนี้จะมีสิทธิเรียกร้อง หรือฟ้องให้คนค้ำประกันรับผิดแทนได้ โดยเป็นการประกันการชำระหนี้ให้บุคคลอื่นนั่นเอง ชึ่งมักจะเกิดขึ้นต่อเมื่อผู้ที่ขอกู้เงินเพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ซื้อรถใหม่ กู้อเนกประสงค์ แต่สถาบันการเงินหรือสหกรณ์ไม่อนุมัติเงินกู้ให้เนื่องจากไม่มีหลักประกันเพียงพอ จึงต้องใช้บุคคลค้ำประกันสินเชื่อ หรือว่าที่เจ้าหนี้อาจต้องการให้ผู้กู้มีทั้งหลักประกันและผู้ค้ำประกันจึงจะมีความมั่นใจมากพอที่จะปล่อยกู้ให้)

 

- ลืมประเมินสถานการณ์ตนเองให้คนอื่นยืมจนไม่พอใช้ เพื่อนของพลอยโทร. หาพลอยว่ารถกำลังจะถูกยึดเพราะขาดส่งมา 3 งวดแล้ว เดือนหน้าเก็บเงินจากลูกค้าได้จะรีบโอนคืนให้ พลอยสงสารเพื่อนมากจึงให้เพื่อนยืมเงิน 20,000 บาท ที่เก็บไว้จ่ายค่าเทอมลูกในอีก 2 เดือนข้างหน้า และลืมคิดไปว่าตอนนี้พลอยเองก็มีภาระหนี้ค่อนข้างมาก รายจ่ายของครอบครัวก็สูงจนเกือบจะเท่ากับรายได้ และลืมคิดไปว่าหากเพื่อนไม่คืนหนี้ที่ยืมไปพลอยจะหาเงินจากไหนมาจ่ายค่าเทอมลูก เมื่อถึงเวลาที่พลอยต้องจ่ายค่าเทอมลูกเพื่อนก็ยังไม่คืนเงินให้ สุดท้ายพลอยต้องไปกู้เงินมาจ่ายค่าเทอมลูก และกลายเป็นหนี้เพราะช่วยเพื่อนโดยลืมประเมินสถานการณ์ของตนเอง

ข้อควรคำนึงก่อนตัดสินใจให้ยืมเงิน หรือค้ำประกันเงินกู้

 

1. ถามวัตถุประสงค์ของการยืมเงินหรือการค้ำประกันเงินกู้

 

เราควรถามรายละเอียดต่าง ๆ จากคนที่จะขอยืมเงินหรือให้ค้ำประกันเงินกู้ ว่าจะเอาเงินไปทำอะไร วงเงินเท่าไร เหตุใดจึงต้องมาขอความช่วยเหลือจากเรา เช่น เงินไม่พอใช้จ่าย ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ จ่ายค่าบัตรเครดิต หรือค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน นอกจากนี้ เราต้องประเมินเรื่องอื่น ๆ อีก เช่น คนที่จะขอยืมเงินหรือให้ค้ำประกันเงินกู้มีความสามารถในการชำระหนี้หรือไม่ หากเรารู้อยู่แล้วว่าเขาไม่สามารถจ่ายหนี้ได้คงเป็นการช่วยเหลือที่ไม่ดีแน่นอน เราในฐานะว่าที่เจ้าหนี้หรือผู้ค้ำประกันมีสิทธิ์ที่จะซักถามจนสิ้นสงสัยและไม่ต้องเกรงใจ เพราะคำถามเหล่านี้จะช่วยทำให้เราทราบข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจว่าจะช่วยหรือไม่ ได้ดียิ่งขึ้น

 

2. ประเมินสถานะทางการเงินของตัวเอง

 

สิ่งแรกที่ควรคิดถึงก่อนก็คือ ถ้าเราช่วยเขาเราจะมีโอกาสกลายเป็นคนที่เดือดร้อนไปด้วยอีกคนหรือไม่ หากเขาไม่คืนเงินหรือเราต้องจ่ายหนี้ที่เราค้ำประกันแทนเขา เราจะไหวไหม ดังนั้น จึงต้องประเมิน “สถานะทางการเงินของตัวเราเอง” ว่า

 

-เรามีความเดือดร้อน หรือปัญหาด้านการเงินหรือไม่

 

-มีหนี้สินเท่าไร มีรายรับ-รายจ่ายเป็นอย่างไร มีสภาพคล่องเพียงพอหรือไม่ โดยให้คิดถึงทั้งสถานะปัจจุบันและคาดการณ์ไปถึงภาระที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตหากโดนเบี้ยวหนี้

 

-มีเงินออมรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ เพียงพอหรือไม่ และมีเงินออมสำหรับรายจ่ายก้อนใหญ่ที่รออยู่ข้างหน้าหรือยัง เช่น ค่าเทอมลูก ค่าผ่าตัดของสมาชิกในบ้าน เงินที่เตรียมไว้ดาวน์บ้าน ดาวน์รถ ซึ่งเงินออมทั้ง 2 ก้อนนี้เป็นเงินที่เรากันไว้เพื่อความจำเป็นในชีวิตของเรา จึงไม่ควรเอาไปให้ใครยืม

 

3. ไตร่ตรองเรื่องอื่น ๆ นอกจากเรื่องเงิน

 

นอกจากความเสี่ยงเรื่องเงินแล้ว ก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาอื่น ๆ เช่น ปัญหาความสัมพันธ์ เมื่อคนที่ยืมเงินหรือขอให้ช่วยค้ำประกันเงินกู้ไม่สามารถจ่ายคืนหนี้ได้ ก็บ่ายเบี่ยงหลบหน้า ไม่อยากเจอหน้า ไม่อยากคุย หรือเป็นปัญหาอีกด้านหนึ่งคือคนที่ให้ยืมไม่กล้าทวงเงินเพราะกลัวกระทบต่อความสัมพันธ์ อีกปัญหาที่พบบ่อยก็คือ เกิดความวิตกกังวลและความเครียดสะสมทั้งตัวผู้ให้ยืม ผู้ขอยืม และผู้ค้ำประกัน ส่งผลต่อสุขภาพและอารมณ์ บั่นทอนให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง จึงต้องคิดถึงปัญหาเหล่านี้ไว้ด้วย

 

4. ปรึกษาครอบครัว

 

ถ้าเราแต่งงานแล้ว อย่าด่วนตัดสินใจให้ยืมเงินหรือค้ำประกันเงินกู้ให้ใครโดยไม่ปรึกษาคู่ชีวิตหรือครอบครัว เพราะนอกจากใช้ชีวิตร่วมกันแล้วส่วนใหญ่ก็ใช้และรับผิดชอบเงินร่วมกันด้วย ดังนั้น ครอบครัวควรรับรู้และร่วมตัดสินใจ เช่น ช่วยเราคิดว่าจะให้ยืมเงินหรือค้ำประกันเงินกู้หรือไม่ เป็นจำนวนเงินเท่าไร ซึ่งคู่สมรสที่จดทะเบียนต้องเซ็นหนังสือยินยอมหรือรับทราบว่าสามีหรือภรรยาของตนเองค้ำประกันเงินกู้ให้คนอื่นด้วย นอกจากนี้ เรื่องราวอาจบานปลายไปสู่ปัญหาครอบครัว เช่น ทะเลาะเบาะแว้งจนต้องหย่าร้าง หรือหากถูกยึดบ้านไปขายทอดตลาดเพื่อใช้หนี้ ครอบครัวก็จะเดือดร้อนไม่มีที่อยู่อาศัยโดยไม่ได้คาดคิดมาก่อน ความคิดเห็นของครอบครัวอาจทำให้เราได้มุมมองที่ไม่เคยนึกถึง และหากครอบครัวไม่เห็นด้วย ก็ควรเคารพการตัดสินใจ และปฏิเสธการให้ยืมเงิน หรือค้ำประกันเงินกู้ไป

 

หากในที่สุดแล้ว เราตัดสินใจจะให้ยืมเงินหรือค้ำประกันเงินกู้ ก็ควรหาวิธีป้องกันความเสียหายหรือลดความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่รับได้ โดยสามารถใช้วิธีดังต่อไปนี้

วิธีป้องกันความเสียหาย หรือลดความเสี่ยง ​ 

 

การให้ยืมเงินการค้ำประกันเงินกู้
กำหนดจำนวนเงินสูงสุดที่จะช่วยเหลือ เช่น ให้ยืม หรือค้ำประเงินกู้ไม่เกิน 20,000 บาท (เรารับภาระได้เท่านี้ โดยไม่เดือดร้อน) การกำหนดจำนวนเงินสูงสุดแบบนี้ จะช่วยป้องกันความเสียหายเท่าที่เรายอมรับได้ หากไม่ได้เงินที่ให้ยืมไปคืนหรือต้องจ่ายหนี้แทน
กำหนดจำนวนเงินสูงสุดที่จะช่วยเหลือ เช่น ให้ยืม หรือค้ำประเงินกู้ไม่เกิน 20,000 บาท (เรารับภาระได้เท่านี้ โดยไม่เดือดร้อน) การกำหนดจำนวนเงินสูงสุดแบบนี้ จะช่วยป้องกันความเสียหายเท่าที่เรายอมรับได้ หากไม่ได้เงินที่ให้ยืมไปคืนหรือต้องจ่ายหนี้แทน
มีสิ่งของเป็นหลักประกัน เช่น ทองคำ วิธีนี้จะช่วยเราลดความเสี่ยงหากไม่ได้รับเงินที่ให้ยืมไปคืน เพราะยังมีหลักประกันที่สามารถขายเป็นเงินกลับมาได้
อ่านเงื่อนไขการค้ำประกันให้ครบถ้วน ก่อนที่จะลงชื่อในสัญญาค้ำประกันใด ๆ ก็ตาม ควรอ่านรายละเอียดในสัญญาให้ครบถ้วนก่อนลงชื่อทุกครั้ง ว่าเป็นการค้ำประกันหนี้อะไร จำนวนเท่าไร (เป็นไปตามที่ตกลงหรือไม่) รวมถึงรายละเอียดต่าง ๆ ของการค้ำประกันเงินกู้เพราะหากลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ เจ้าหนี้มีสิทธิ์เรียกร้องให้เราชำระหนี้แทนลูกหนี้ตามสัญญาค้ำประกัน
ไม่กู้ยืมเงินจากที่อื่นมาให้ยืม เช่น ไม่กดเงินบัตรเครดิต หรือกู้ยืมเงินจากที่
ต่าง ๆ มาให้คนอื่นยืมต่อ เราจะได้ไม่เป็นหนี้แทนคนอื่น และยังมีวงเงินกู้สำหรับตัวเองไว้ใช้ยามจำเป็นอีกด้วย
เก็บสัญญาการค้ำประกันเงินกู้ ควรเก็บสำเนาสัญญาหนังสือค้ำประกันเงินกู้ไว้เป็นหลักฐาน เพื่อให้ทราบถึงสิทธิ์และขอบเขตความรับผิดชอบจากการค้ำประกันเงินกู้ตามสัญญา

สุดท้ายที่อยากจะฝากไว้ คือ การช่วยเหลือคนที่กำลังเดือดร้อนเป็นสิ่งที่ดีถ้าเราสามารถช่วยได้ แต่ก็อย่าลืมหันมองดูตัวเราเองด้วยว่าสามารถช่วยเหลือได้เต็มที่แค่ไหน ช่วยแล้วทำให้ตัวเราเองและครอบครัวเดือดร้อนหรือไม่ ถ้าตอนนี้ยังช่วยไม่ไหวอาจจะช่วยรับฟังปัญหา หรือให้คำแนะนำไปก่อน และเมื่อถึงโอกาสหน้าที่เรามีความพร้อมมากกว่านี้ค่อยช่วยตามสมควร